FASHION
VOGUE SCOOP | สำรวจสถานการณ์โลกแฟชั่น ในวันที่รายได้แบรนด์ดังผันผวนเพราะตลาดจีนเป็นใหญ่!#VogueScoop ครั้งนี้โว้กขอชวนคุยถึงสถานการณ์ยอดขายของเหล่าแบรนด์สินค้าลักชัวรีชื่อดัง ที่เกิดการผันผวนครั้งใหญ่ หลังจากที่ีตลาดจีนกลายเป็นตลาดใหญ่สำคัญที่เข้ามาแทรกแซงอุตสาหกรรมแฟชั่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะเป็นอย่างไรต่อในอนาคต ต้องติดตาม... |
ย้อนกลับไปเมื่อช่วงปี 2021 หรือเมื่อราว 3 ปีที่แล้ว ตลาดสินค้าลักชัวรียังต้องฮือฮากับปรากฏการณ์ Revenge Shopping ที่สร้างความเติบโตอย่างก้าวกระโดดให้กับอุตสาหกรรมแฟชั่น หลังจากที่ต้องซบเซามานานแรมปี จากพิษของสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก่อนหน้านั้น หลายแบรนด์ดังมียอดการขายและกำไรเติบโตอย่างก้าวกระโดดและไม่เคยเป็นมาก่อน โดยในเวลานั้นตลาดที่เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดสถานการณ์ “การช็อปปิ้งเพื่อแก้แค้น” ที่ถูกพูดถึงไปทั่วโลกก็เห็นจะหนีไม่พ้นตลาดเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีนที่ถือเป็นตัวแปรสำคัญเรื่อยมา
กระทั่งที่เริ่มมีสัญญาณของการชะลอตัวของการจับจ่ายใช้สอยของชาวจีน ที่ส่งผลกระทบให้เราได้เห็นผลลัพธ์กันผ่านรายรับและการเติบโตของกำไรของหลายแบรนด์ดังที่เริ่มชะลอตัวตั้งแต่ช่วงปลายปี 2023 หรือหลายแบรนด์ที่ต้องเผชิญหน้ากับการลดลงของกำไรแบบครึ่งต่อครึ่ง และยิ่งชัดเจนขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2024 นี้ ที่บริษัท องค์กร และแบรนด์ลักชัวรีชื่อดัง ต่างต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ Luxury Slowdown ที่เลวร้ายที่สุดในรอบหลายปีก็ว่าได้ สร้างความปั่นป่วนให้กับโลกแฟชั่น ที่คนแฟชั่นต้องคอยติดตามไม่ให้คลาดสายตา
บริษัท LVMH กับการเผชิญหน้ากับยอดขายที่ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี
บริษัท LVMH ที่ในไตรมาสที่ 3 นี้มียอดขายสินค้าแฟชั่นและเครื่องหนังตกลงเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี นับตั้งแต่ช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19 ซึ่งแบรนด์ Louis Vuitton และ Dior ที่นับเป็นแบรนด์หัวเรือใหญ่ของเครือ LVMH มียอดขายลดลง 5 เปอร์เซ็นต์ทั้งสองแบรนด์ เนื่องจากความต้องการซื้อสินค้าลักชัวรีของลูกค้าสำคัญอย่างชาวจีนลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาพรวมของยอดขายบริษัท LVMH ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่สถานการณ์ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคชาวจีนลดต่ำลงเทียบเท่ากับเมื่อครั้งที่ต้องเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งมีการรายงานตัวเลขว่าในไตรมาสนี้ยอดขายออร์แกนิกของ LVMH ในประเทศจีนลดลงถึง 16 เปอร์เซ็นต์ และยังคงต้องจับตาดูกันต่อไป
บริษัท Kering และสถานการณ์ยอดขายที่ถูกจับตาจากทั่วโลก
บริษัท Kering ได้ออกมาเผยยอดขายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2024 ว่าลดลงรวมทั้งเครือบริษัท 16 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งตัวเลขดังกล่าวยังนับเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าที่มีการประเมินสถานการณ์เอาไว้ก่อนหน้านี้ ทั้งนี้สองแบรนด์ใหญ่ของเครืออย่าง Gucci และ Saint Laurent มีตัวเลขยอดขายที่ลดลงมากถึง 25 เปอร์เซ็นต์ และ 12 เปอร์เซ็นต์ ที่นับได้ว่าเป็นความท้าทายทายครั้งยิ่งใหญ่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของหลายแบรนด์ในเครืออีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้น เพราะสื่อแฟชั่นธุรกิจอย่าง Business of Fashion รายงานว่า บริษัท Kering ลงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า เหตุปัจจัยที่ทำให้ยอดขายสินค้าลักชัวรีตกฮวบในตอนนี้มีสาเหตุสำคัญมาจากพฤติกรรมการซื้อสินค้าลักชัวรีของตลาดหลักในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่มีท่าทีชะลอตัวลง โดยเฉพาะในประเทศจีนที่เป็นกำลังสำคัญที่มียอดขายสินค้าลักชัวรีตกลงอย่างต่อเนื่อง จากวิกฤตเศรษฐกิจอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศ
การเติบโตแบบสวนกระแสของแบรนด์ Hermès
WATCH
แบรนด์ Hermès คือหนึ่งในไม่กี่บริษัทที่ประสบความสำเร็จกับยอดขายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2024 ซึ่งมีการเติบโตที่สูงขึ้นถึง 11 เปอร์เซ็นต์ ท่ามกลางการชะลอตัวของการจับจ่ายสินค้าลักชัวรีทั่วโลก โดยสามารถทำยอดขายไปได้ทั้งหมดราว 134,700 ล้านบาท และมีรายได้รวมทั้งหมดนับจากเดือนมกราคม ถึงเดือนกันยายน 2024 ที่ผ่านมา อยู่ที่ราว 407,700 ล้านบาท โดยมีหมวดหมู่สินค้าอย่างเครื่องหนังและอานม้าที่เติบโตขึ้น 17 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนับว่าเป็นหมวดสินค้าเรือธงของแบรนด์ที่มีอัตราส่วนในการเติบโตมากที่สุด จากยอดช็อปปิ้งของประเทศญี่ปุ่น ตามมาด้วยยุโรป และฝรั่งเศส ที่มีส่วนในการเติบโตของยอดขายในไตรมาสล่าสุดนี้ของ Hermès
การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของ PRADA Group และแสสุดฮอตของแบรนด์ในเครือ
ตามการรายงานอ้างอิงว่า Prada Group มีรายได้ตลอด 9 เดือนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นถึง 15 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบรายได้แบบรายปี และเพิ่มขึ้นถึง 18 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบเป็นไตรมาส (ในไตรมาสที่ 3) โดยการเติบโตดังกล่าวนั้นถูกขับเคลื่อนโดยแบรนด์ Miu Miu หนึ่งในแบรนด์เครือข่ายที่สะท้อนพลังของวัยรุ่นผ่านเสื้อผ้า จนสามารถกระตุ้นยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าในไตรมาสที่ 3 โดยเพิ่มขึ้นมากถึง 105 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งนับเป็นการขยายตัวที่น่าสนใจ เนื่องจากมีการเติบโตขึ้นมากกว่า 58 เปอร์เซ็นต์จากปีที่แล้ว และแม้ว่ายอดค้าปลีกของแบรนด์ Prada แบรนด์หัวเรือใหญ่ของกรุ๊ปนี้จะชะลอตัวเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก แต่ก็ยังคงอยู่ในแดนบวก โดยมียอดค้าปลีกในไตรมาสที่ 3 เพิ่มขึ้น 2 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบเป็นรายปี
จากทั้งหมดนี้ เราจะเห็นได้ว่าหนึ่งในปรากฏการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงสามปีให้หลังมานี้ คือกำลังซื้อของตลาดเอเชียที่นำหน้ามาเป็นลูกค้ากลุ่มแรกที่การตัดสินใจของพวกเขานั้นสามารถสร้างแรงกระเพื่อมและผลกระทบให้กับแบรนด์ดังระดับตำนานได้มากทีเดียว อีกทั้งนอกจากปัจจัยนั้นแล้ว วัฒนธรรมใหม่ของกลุ่มลูกค้าที่เด็กลง ทั้ง Dupe Culture, Loud Budgeting หรือ YONO Culture ที่เข้ามาแทรกแซงและทำให้ยอดขายของแบรนด์สินค้าลักชัวรีต้องผันผวนไปตามๆ กันอีกด้วย
WATCH