WELLNESS

‘บุก’ ดีต่อสุขภาพอย่างไร ตัวช่วยสำหรับคนที่อยากลดน้ำหนัก

หนึ่งในพืชที่มีสารอาหารสำคัญต่อร่างกาย ทางเลือกยอดฮิตสำหรับคนที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก

     ‘บุก’ (Konjac) เป็นพืชสมุนไพรที่มีใยอาหารสำคัญที่ละลายในน้ำได้เรียกว่า กลูโคแมนแนน (Glucomannan) ในทางการแพทย์และผู้ประกอบการใช้ในการผลิตเป็นอาหารและผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภท เช่น อาหารเสริม, ข้าวบุก, วุ้นบุก และเส้นบุก เป็นต้น บุกอาจไม่ได้โดดเด่นในเรื่องของสารอาหารมากเท่ากับอาหารประเภทอื่นๆ แต่มีคุณสมบัติหลักที่ช่วยควบคุมน้ำหนักและช่วยลดระดับคอเรสเตอรอลได้ จึงไม่แปลกใจที่ใครหลายคนเลือกที่จะนำมาประกอบอาหารในช่วงเวลาที่ต้องการลดน้ำหนักนั่นเอง โว้กบิวตี้พาไปดูประโยชน์เพิ่มเติมของ ‘บุก’ ว่านอกจากช่วยควบคุมน้ำหนักแล้วยังมีประโยชน์อะไรที่น่าสนใจอีกบ้าง

 

 

ช่วยลดน้ำหนัก

     จากที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าเนื้อแป้งที่ได้จากหัวบุก มีสารกลูโคแมนแนน สารนี้จะช่วยดูดซึมน้ำในกระเพาะอาหาร ทำให้รู้สึกอิ่มได้เร็ว ชะลออัตราการย่อยอาหาร จึงเหมาะกับคนที่ต้องการลดปริมาณของอาหารในแต่ละมื้อ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มระดับพลังงานและการเผาผลาญในร่างกายให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

ป้องกันท้องผูกและมะเร็งลำไส้ใหญ่

     เมื่อสารกลูโคแมนแนนดูดซึมน้ำในกระเพาะอาหาร จะกระตุ้นทางเดินอาหารส่วนล่าง โดยเฉพาะลำไส้ใหญ่ให้บีบตัวขับกากอาหารที่คั่งค้างออกมา ช่วยปรับสมดุลระบบย่อยอาหาร นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันอาการท้องผูกและรักษาริดสีดวงทวาร ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเกิดมะเร็งในลำไส้ใหญ่ได้

 

 

ป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน

     นอกจากจะช่วยดูดซึมน้ำในกระเพาะอาหารแล้ว ยังสามารถดูดซับไขมันและกรดน้ำดี ให้สามารถขับถ่ายออกนอกร่างกายได้ จึงช่วยลดระดับคอเรสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในหลอดเลือด ซึ่งสามารถช่วยป้องกันโรคเบาหวานและโรคไขมันในเลือดสูง

 

รักษาสุขภาพช่องปาก

     บุกสามารถช่วยต่อต้านเชื้อแบคทีเรียที่อาจเกิดคราบหินน้ำลายหรือหินปูน จนทำให้หงือกอักเสบและปวดฟันได้ บุกจึงช่วยแก้ไขปัญหาสุขภาพช่องปาก เช่น ลดอาการปวดฟันจากเหงือกอักเสบหรือฟันโยก หากใครที่มีปัญหาปวดฟันจากปัญหาสุขภาพส่วนตัวหรือเพิ่งทำทันตกรรมมา บุกถือเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ช่วยเรื่องสุขภาพช่องปากได้

 



WATCH



 

แก้อาการอักเสบของผิว

     ในส่วนของหัวบุก สามารถนำมาใช้เป็นยาแก้แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก บาดแผล ใช้แก้ฝีหนองบวมอักเสบ หรือแม้แต่ทำเป็นยาแก้ปวดบวม แก้ฟกช้ำดำเขียวจากอุบัติเหตุได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นอาจไม่ใช่การรับประทานโดยตรง แต่เราสามารถนำพืชสมุนไพรชนิดนี้มาใช้ประโยชน์กับผิวพรรณได้เช่นกัน

 

ภาพ : www.wongnai.com, www.freepik.com

WATCH