HAIR

อะไรที่ควรรู้และควรเลี่ยงส่วนผสมเหล่านี้หากมีอาการแพ้ยาสระผม!

ส่วนผสมในยาสระผมตัวไหนบ้างที่มักก่อให้เกิดอาการแพ้ มาดูพร้อมกันได้ที่นี่

     ยาสระผมหรือแชมพูเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทุกคนใช้เกือบทุกวันในชีวิตประจำวันสำหรับทำความสะอาดเส้นผม รวมถึงช่วยดูแลเส้นผมให้มีสุขภาพดี โดยทั่วไปแล้วการเลือกยาสระผมมาใช้สักตัวก็ควรมองหาสูตรที่เหมาะกับสภาพเส้นผมหรือปัญหาเส้นผมเป็นหลัก แต่อย่างไรก็ตามส่วนผสมที่อยู่ในยาสระผมบางอย่างนั้นอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ต่อบางคน โดยมีอาการตั้งแต่จามไปจนถึงผิวหนังอักเสบ (หนังศีรษะแห้ง คัน และระคายเคือง) ดังนั้นสำหรับใครที่กำลังสงสัยว่าตัวเองกำลังแพ้ยาสระผมอยู่หรือไม่ วันนี้โว้กบิวตี้จะพาไปรู้จักกับสาเหตุ อาการ รวมถึงมีส่วนผสมใดบ้างในในยาสระผมที่ควรหลีกเลี่ยง

 

 

อาการแพ้คืออะไร

     อาการแพ้เกิดจากสารก่อภูมิแพ้ เช่น ละอองเกสร หรือ ฝุ่นละออง เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนอง สิ่งนี้ทำให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ โดยการผลิตแอนติบอดี้อิมมูโนโกลบูลิน E (IgE) ซึ่งแอนติบอดี้เหล่านี้จะทำหน้าที่เป็น "ตัวทำความสะอาด" และกำจัดสารก่อภูมิแพ้ออกจากร่างกายของคุณ ส่งผลให้มีการปลดปล่อยฮีสตามีน ซึ่งเป็นสารเคมีที่สร้างขึ้นในร่างกาย ถูกปล่อยออกมาจากเซลล์เม็ดเลือดขาวเข้าสู่กระแสเลือดเมื่อระบบภูมิคุ้มกันคิดว่าถูกโจมตี โดยสัญญาณของอาการแพ้มีหลายระดับตั้งแต่น้อย ปานกลาง จนถึงรุนแรง พบอาการได้ทั้งผื่นคัน บวม จนถึงหายใจลำบาก

 

 

แพ้ยาสระผมมีอาการอย่างไรบ้าง

     แม้ว่ายาสระผมจะไม่ได้สัมผัสกับหนังศีรษะและผิวหนังเป็นเวลานาน เนื่องจากท้ายที่สุดจะถูกน้ำชะล้างออกไป แต่ก็ยังมีโอกาสก่อให้เกิดอาการแพ้ได้เช่นกัน โดยจุดที่มักพบอาการแพ้ส่วนใหญ่จะเป็นบริเวณที่สัมผัสกับยาสระผม เช่น หนังศีรษะ ใบหน้า หู หลังคอ มือ และลำตัวส่วนบน ซึ่งอาการที่พบบ่อยที่สุดจะปรากฏขึ้นระหว่าง 24-48 ชั่วโมง ได้แก่ ผิวหนังแดง เกิดสะเก็ด มีอาการแสบร้อนและคันอย่างรุนแรง มีอาการบวม และเป็นลมพิษ เป็นต้น 

 



WATCH



 

สาเหตุของการแพ้ยาสระผม

     เนื่องจากยาสระผมส่วนใหญ่มักมีส่วนผสมจากสารเคมีต่างๆ ซึ่งโดยปกติแล้วจะไม่เป็นอันตราย แต่หากระบบภูมิคุ้มกันของบางคนมีปฏิกิริยาต่อสารเคมีเหล่านี้มากเกินไปก็นำไปสู่อาการแพ้ได้ในที่สุด ในปัจจุบันมียาสระผมมากมายที่มีสารเคมีที่อาจเป็นสารก่อภูมิแพ้ ไม่ว่าจะเป็นน้ำหอม สารที่เติมเพื่อทำให้ข้น สารกันบูด และสารลดแรงตึงผิวซึ่งสร้างโฟมหรือฟอง เป็นต้น 

 

 

ส่วนผสมในยาสระผมที่ควรหลีกเลี่ยง

ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผิว มักแนะนำให้หลีกเลี่ยงส่วนผสมในยาสระผมและครีมนวดผมบางอย่างดังต่อไปนี้ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีอาการแพ้ง่าย 

1. ซัลเฟต หรือ โซเดียมลอริลซัลเฟต (SLS) และโซเดียมลอริลซัลเฟต (SLES) ทำหน้าที่เป็นสารทำความสะอาดและทำให้เกิดฟอง ซึ่งนอกจากมันจะเป็นตัวการดึงน้ำมันตามธรรมชาติออกจากเส้นผมแล้วก็ยังมีส่วนทำให้เกิดอาการแพ้ได้ เช่น อาการระคายเคืองต่อผิวหนัง ความแห้งกร้าน และอักเสบ

2. ฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) ทำหน้าที่เป็นสารกันบูดในยาสระผม สามารถนำไปสู่การแพ้สัมผัสหรือผิวหนังอักเสบ

3. พาราเบน (Parabens) สารกันเสียที่ถูกนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์ความงามเพื่อยืดอายุการเก็บรักษา มีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา แต่พวกมันยังดูดซึมอย่างรวดเร็วผ่านผิวหนัง ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาผิวต่างๆ เช่น การระคายเคือง รอยแดง ลอกเป็นขุย และลมพิษ

4. เฮกซะคลอโรฟีน (Hexachlorophene) สารฆ่าเชื้อที่มีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรีย แต่ก็สามารถทำให้ดวงตาและผิวหนังระคายเคืองได้

5. พาทาเลต (Pthalate) สารเคมีช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับพลาสติกหลายชนิด โดยในยาสระผมจะทำหน้าที่เป็นสารยึดเกาะ และดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย ซึ่งเป็นหนึ่งในสารอันตรายในเครื่องสำอางที่คุณควรหลีกเลี่ยง

 

 

แพ้ยาสระผมควรใช้อะไรดี

     หากพบอาการแพ้เนื่องมาจากการใช้ยาสระผมเมื่อไหร่ ควรหยุดใช้ยาสระผมดังกล่าวก่อน ไม่ต้องรอให้อาการหายก็สามารถไปพบแพทย์ได้ทันที และอย่าลืมที่จะนำยาสระผมไปด้วย เพื่อทำการทดสอบหาสารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ต่อไป จากนั้นให้หันไปใช้ยาสระผมที่ปราศจากสารเคมีที่กล่าวไว้ข้างต้น และมีความอ่อนโยนต่อทั้งผิวหนัง หนังศีรษะ และเส้นผม แนะนำให้ใช้เป็นแชมพูธรรมชาติหรือสมุนไพรที่มีส่วนผสมของน้ำมันหอมระเหย พืช หรือสารสกัดจากผลไม้ เพราะสามารถทำความสะอาดเส้นผมได้อย่างอ่อนโยนมากขึ้น พร้อมช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นโดยไม่ทำให้หนังศีรษะระคายเคือง หรือดึงน้ำมันตามธรรมชาติออกจากเส้นผม

     เพราะเราทุกคนล้วนใช้ยาสระผมเพื่อดูแลรักษาเส้นผมให้สะอาด นุ่มนวล เงางาม และมีสุขภาพดี แต่เมื่อยาสระผมเป็นสาเหตุของอาการแพ้ ไม่ว่าจะเล็กน้อยหรือรุนแรงก็ถึงเวลาพิจารณาที่จะต้องเลิกใช้ และหากเมื่อไหร่ที่อาการแพ้ยาสระผมเกิดขึ้น ไม่ว่าจะอาการแสบ คัน ผิวแดง หรือผื่นลมพิษ อย่ารอช้าเพื่อดูว่าจะหายไปเองหรือไม่ แต่ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อจะรักษาได้ทันการที่สุด

 

ข้อมูล : Healthline, Webmd, Verywellhealth

WATCH