LIFESTYLE
เจาะลึกถึงสัญญาณของยุคใหม่แห่ง ‘วงการภาพยนตร์ไทย’ เพื่อตีแผ่ไกลสู่เวทีระดับโลก#VogueScoop สัปดาห์นี้ขอพามาเจาะลึกปัจจัยของภาพยนตร์ไทยที่ผ่านการวิเคราะห์มาแล้วว่า เพราะเหตุใดภาพยนตร์ไทยถึงกลายเป็นที่พูดถึงไปทั่วโลกมากยิ่งขึ้นทั้งในแง่ของรูปธรรมและนามธรรม |
เป็นที่รู้กันดีว่าในยุคปัจจุบันอุตสาหกรรมบันเทิงไทยนั้นเริ่มเป็นที่จับตามองมากขึ้นในทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นวงการเพลง ซีรี่ส์ หรือแม้แต่ภาพยนตร์เองก็มีโอกาสได้ก้าวไกลสู่เวทีระดับโลก รวมถึงการนำเสนอในเทศกาลภาพยนตร์ต่างๆ ตามหัวเมืองสิ่งนั้นเองก็เป็นการสร้างจุดสนใจให้แก่ผู้ชมไม่แพ้กัน และหากสังเกตดูดีๆ หลายปีให้หลังมานี้ภาพยนตร์ไทยเริ่มมีการนำเสนอเนื้อเรื่องที่มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ด้วยการพาตัวละครนำให้เล่าเรื่องในเนื้อหาที่แปลกใหม่และเล่าถึงแก่นแท้ของคาแร็กเตอร์ได้อย่างสุดโต่ง ไม่ใช่เพียงแค่ขายเลิฟซีนหรือความน่ารักในเชิงโลกสวยเสมอไป #VogueScoop สัปดาห์นี้จึงขอพามาเจาะลึกปัจจัยของภาพยนตร์ไทยที่ผ่านการวิเคราะห์มาแล้วว่า เพราะเหตุใดภาพยนตร์ไทยถึงกลายเป็นที่พูดถึงไปทั่วโลกมากยิ่งขึ้นทั้งในแง่ของรูปธรรมและนามธรรม
ปรับเนื้อหาให้เข้ากับยุคสมัย
แน่นอนว่าอาจจะมีภาพยนตร์ไทยบางเรื่องที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับยุคสมัยเก่าหรือย้อนเนื้อหาให้ผู้ชมได้เข้าถึงยุคอดีตตามแบบฉบับที่ตัวละครหรือเรื่องราวนั้นๆ ทว่าส่วนใหญ่ภาพยนตร์ไทยสมัยนี้เริ่มเปิดรับความก้าวล้ำของโลก เรื่อยไปจนถึงเทคโนโลยีที่ใช้นำเสนอก็ยิ่งสมจริงมากยิ่งขึ้น ไม่เพียงแต่จะวนเวียนแค่เนื้อหาตลกหรือคลายเครียดทั่วไป หรือแม้แต่การวนเวียนแย่งชิงความรักที่มาในรูปแบบของภรรยาหลวงหรือน้อยที่จะต้องคอยอิจฉาริษยาอยู่ร่ำไป เพราะเอาเข้าจริงผู้ชมในยุคเจนเนอเรชั่นใหม่ล้วนต้องการเสพสื่อที่สร้างสรรค์และชวนคิดตามที่ภาพยนตร์ได้สร้างปมขมวดเอาไว้ หรือแม้แต่การนำเสนอความร่วมสมัยทั้งลักษณะการใช้คำพูด การแต่งกาย การเลือกสถานที่ถ่ายทำก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีของภาพยนตร์ไทยที่ผู้ชมอาจชอบและส่งไปให้ถึงเวทีโลกได้
ไม่ได้นำเสนอแค่ความรักของคู่พระนางในเชิงชู้สาว
สืบเนื่องมาจากการปรับเนื้อหาให้เข้ากับยุคสมัย เพราะภาพยนตร์ไทยช่วงหลายปีให้หลังมานี้มีหลายเรื่องที่ไม่ได้เน้นตัวละครอย่างพระเอกนางเอกให้รักกันเฉกเช่นอย่างคนรัก เพราะยังมีหลายประเด็นให้เล่าถึงสิ่งที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการเล่าเรื่องเหตุการณ์ย้อนอดีตหรือการอ้างอิงถึงเหตุการณ์จริงอย่างเช่นภาพยนตร์สยองขวัญเรื่อง ‘ธี่หยด’ ที่ได้กระแสตอบรับที่ดีอย่างท่วมท้นจนนำมาซึ่งเนื้อเรื่องภาคที่ 2 ที่เตรียมจะเข้าฉายในเดือนตุลาคมนี้แล้ว โดยเนื้อหาชวนหลอนภาคแรกที่มาพร้อมกับการไล่ล่า ‘ปอบ’ ที่เนื้อหานำเสนอว่าเป็นผีชนิดหนึ่งที่ไม่เหมือนวงการภาพยนตร์ไทยเคยนำเสนอมาก่อน และนี่ถือเป็นการแสดงความรักระหว่างคนในครอบครัวอันมีตัวละครหลักอาทิ ‘ยักษ์’ ที่รับบทโดย ‘ณเดชน์ คูกิมิยะ’ และ ‘แย้ม’ น้องสาวที่ลาจากโลกนี้ไปที่รับบทโดย ‘มิ้ม-รัตนวดี วงศ์ทอง’ เพราะโดนปอบเข้าสิงและกินอวัยวะภายในจนหมดสิ้น เนื้อหาชวนติดตามที่มีพระเอกและบรรดาพี่ๆ คอยช่วยเหลือน้องสาวจึงน่าสนใจเพราะบางทีพระเอกหรือนางเอกก็ไม่ต้องมาในรูปแบบของคู่ชีวิตกันก็ได้
WATCH
นำเสนอประเด็นทางสังคมที่เกิดขึ้นจริง
หากจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนที่สุดคงหนีไม่พ้นภาพยนตร์ไทยสองเรื่องแห่งปีจากค่ายหนัง GDH ที่ปีนี้ได้ส่งภาพยนตร์เรื่อง ‘หลานม่า’ และ ‘วิมานหนาม’ ให้ผู้ชมได้ติดตาม และแน่นอนว่ากระแสตอบรับนั้นดีอย่างล้นหลาม และถือเป็นอีกก้าวของจีดีเอชที่ฉีกแนวการทำภาพยนตร์ให้แตกต่างจากเดิมกับที่ผ่านมา หลานม่าถือเป็นการนำเสนอประเด็นทางสังคมที่หยิบยกเอาเรื่องราวครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนมาถ่ายทอดปมชีวิตของตัวละครที่มีการลำดับความสำคัญของลูกหลาน หรือแม้แต่การให้ความสำคัญกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิงซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคม และหลานม่าสามารถถ่ายทอดออกมาได้สมจริงจนขึ้นแท่นกลายเป็นภาพยนตร์พันล้านและได้ออกฉายไปตามหัวเมืองต่างๆ ทั่วโลก ส่วนภาพยนตร์เรื่องวิมานหนามก็นำเสนอประเด็นความเท่าเทียมระหว่างการสมรสในหมู่ LGBTQ+ เรื่อยไปจนถึงการวางลำดับชนชั้นที่วิมานหนามนำเสนอด้วยสัญญะบางอย่างที่แยบยลและสะท้อนให้เห็นว่ายังมีความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นในยุคสมัยนี้ ภาพยนตร์สองเรื่องนี้จึงเป็นดั่งกระบอกเสียงที่จะตีแผ่ให้ทั่วโลกรู้ว่าปัญหาบางปัญหาหากได้รับการแก้ไขจะเป็นผลดีต่อบุคคลรุ่นสู่รุ่นต่อไป
ส่งต่อวัฒนธรรมและค่านิยมไทยอันเป็นเอกลักษณ์
ในหัวข้อนี้ผู้เขียนขอยกตัวอย่างจากภาพยนตร์เรื่อง ‘แมนสรวง’ ที่ได้นักแสดงชื่อดังแห่งยุคอย่าง ‘มาย-ภาคภูมิ ร่มไทรทอง’ และ ‘อาโป-ณัฐวิญญ์ วัฒนกิติพัฒน์’ มารับบทนำ ซึ่งถือเป็นการฉีกกรอบการรับบทบาทของพวกเขาที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง แน่นอนว่าเนื้อหานำเสนอย้อนไปยังยุคสมัยอดีตและเป็นภาพยนตร์แนวแนวดราม่าที่สอดแทรกความระทึกขวัญเอาไว้อย่างสมบูรณ์แบบ นอกจากเรื่องราวที่ดำเนินไปอย่างเข้มข้นแล้วต้องยอมรับทั้งฉากและองค์ประกอบ เรื่อยไปจนถึงการกล่าวถึงค่านิยมด้านวัฒนธรรมออกมาได้อย่างงดงาม ไม่ว่าจะเป็นการสวมบทบาทของเหล่านักแสดงให้เป็นนางรำละคร และนักดนตรีในวงดนตรีไทย รวมถึงการนำเสนอยุคสมัยในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ซึ่งสมัยนั้นยุคโรงละครและความบันเทิงนั้นรุ่งเรืองอย่างมาก จนสามารถเรียกได้ว่าเป็นยุคทองแห่งโรงละครก็ว่าได้ นี่จึงถือเป็นจุดเด่นของภาพยนตร์เรื่องนี้ที่สามารถสอดแทรกความเป็นไทยให้เข้ากับเนื้อหาชวนติดตามกับคดีอันน่าพิศวงนั่นเอง ผู้ชมมากหน้าหลายชาติจึงได้ซึมซับวัฒนธรรมไทยและได้รับรู้ถึงบรรยากาศความเป็นไทยแท้ในยุคก่อนอย่างแท้จริง
นักแสดงผู้สวมคาแร็กเตอร์ได้สมจริง
สุดท้ายนี้นอกจากจะให้เครดิตแก่เหล่าผู้สร้างและทีมงานทุกคนแล้ว นักแสดงผู้รับบทบาทเป็นคาแร็กเตอร์ในแต่ละตัวละครก็ควรยกย่องและให้ความสนใจเช่นกัน เพราะหากพวกเขาไม่หมั่นฝึกฝนหรือทำการบ้านมาอย่างหนัก ผู้ชมก็คงเข้าไม่ถึงของเนื้อหาและความรู้สึกของตัวละครเช่นนี้ ซึ่งนักแสดงไทยส่วนมากล้วนให้ความสำคัญแก่หน้าที่และบทบาทที่ตนได้รับ ทั้งการหมั่นฝึกฝนเองที่บ้าน แม้กระทั่งการหาคอร์สเรียนการแสดงเพิ่มแม้จะผ่านการแสดงมาหลายบทบาทแล้วก็ตาม ทว่าตัวละครที่ได้รับนั้นล้วนยากง่ายแตกต่างกันไป เพราะฉะนั้นการศึกษาตัวละครและการพัฒนาศักยภาพอย่างสม่ำเสมอก็เป็นสิ่งที่ทำให้นักแสดงประสบความสำเร็จร่วมกับภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ เช่นกัน
กราฟิก : จินาภา ฟองกษีร
WATCH