Vogue Scoop TV Series
LIFESTYLE

เมื่อความหลากหลายในซีรี่ส์ไทยแนว LGBTQIA+ ถูกตั้งแง่ว่า 'ไม่ได้นำเสนอความหลากหลายอย่างที่ควรจะเป็น'

#VogueScoop สัปดาห์นี้ขอพาผู้อ่านทุกคนเจาะประเด็นไปถึงวงการภาพยนตร์หรือซีรี่ส์ LGBTQIA+ ในประเทศไทยที่ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด โดยมีนักแสดงนำที่เป็นตัวละครนำเสนอเนื้อเรื่องให้เข้าถึงผู้คนมากที่สุด ทั้งยังสร้างชื่อเสียงอย่างล้นหลามจนกลายเป็นการแจ้งเกิดของเหล่านักแสดงดังกล่าวในวงการบันเทิงนี้อีกด้วย เผื่อใครยังมีข้อสงสัยอยู่เบื้องลึกบางแง่มุมว่า “แก่นแท้ของวงการภาพยนตร์และซีรี่ส์ LGBTQIA+ ของไทย นำเสนอถึงความหลากหลายได้จริง หรือสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อเพียงให้เกิดกระแสโด่งดังแก่ตัวนักแสดงและเนื้อเรื่อง?”

     คงเป็นเรื่องที่ชินตาและคุ้นเคยกันไปแล้วสำหรับเดือนมิถุนายนของทุกปี เมื่อเวลากวาดสายตาไปทางไหนจะเห็นเหล่าธงสีรุ้ง หรือเหล่าสัญลักษณ์สีรุ้งปรากฏขึ้นตามสถานที่ราวกับนัดกันมาอย่างไรอย่างนั้น แท้จริงไม่เชิงเรียกว่านัดกัน ทว่าผู้คนร่วมใจที่จะชูสัญลักษณ์เหล่านี้ขึ้นมาเพื่อบอกให้ทุกคนได้ตระหนักรู้ว่าก้าวเข้าสู่ “เทศกาล Pride Month” หรือ “เดือนแห่งความหลากหลาย” แล้วเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งหมายถึงเป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลองให้แก่เหล่า LGBTQIA+ หรือผู้มีความหลากหลายทางเพศเพื่อแสดงจุดยืนว่าพวกเขาเหล่านี้ไม่ใช่บุคคลแปลกแยก และสามารถได้รับสิทธิเท่าเทียมเฉกเช่นเพศชายและหญิงอย่างเท่ากัน ซึ่งสัญลักษณ์ดังกล่าวจะมีให้เห็นตลอดทั้งเดือนมิถุนายนนี้

     ทว่าหากมองหวนสู่ในแต่ละอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นแวดวงแฟชั่น หรือแม้แต่วงการบันเทิงก็เห็นได้ทั่วไปว่าทุกแวดวงล้วนนำเสนอถึงความหลากหลายอยู่เสมอผ่านเหล่าผลงานที่ถูกสร้างสรรค์ออกมาสู่สายตาชาวโลก เรื่อยไปจนถึงเหล่าเซเลบริตี้เองก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มคนผู้ทรงอิทธิพลที่ส่วนใหญ่มักเป็นกระบอกเสียงชูเรื่องความหลากหลายให้ทั่วถึงทุกสังคมอย่างต่อเนื่อง แต่หากจะให้เห็นภาพชัดเจนที่สุด #VogueScoop สัปดาห์นี้ขอพาผู้อ่านทุกคนเจาะประเด็นไปถึงวงการภาพยนตร์หรือซีรี่ส์ LGBTQIA+ ในประเทศไทยที่ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด ไม่ว่าจะเป็นชาย-ชายหรือหญิง-หญิงเพื่อนำเสนอถึงความรักอันไร้ขีดจำกัดของเพศ โดยมีนักแสดงนำที่เป็นตัวละครนำเสนอเนื้อเรื่องให้เข้าถึงผู้คนมากที่สุด ทั้งยังสร้างชื่อเสียงอย่างล้นหลามจนกลายเป็นการแจ้งเกิดของเหล่านักแสดงดังกล่าวในวงการบันเทิงนี้อีกด้วย เผื่อใครยังมีข้อสงสัยอยู่เบื้องลึกเฉกเช่นผู้เขียนในบางแง่มุมว่า “แก่นแท้ของวงการภาพยนตร์และซีรี่ส์ LGBTQIA+ ของไทย นำเสนอถึงความหลากหลายได้จริง หรือสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อเพียงให้เกิดกระแสโด่งดังแก่ตัวนักแสดงและเนื้อเรื่อง?”

 

 

ยุคบุกเบิกวงการภาพยนตร์และซีรี่ส์ไทยแนว LGBTQIA+ จนได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน

     ย้อนกลับไปสู่ต้นตอของวงการบันเทิงไทยว่าเริ่มผลิตสื่อสร้างสรรค์เพื่อนำเสนอเนื้อหาถึงความหลากหลายตั้งแต่เมื่อไหร่ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะหาคำตอบไปเสียหน่อย แต่หากให้ยกตัวอย่างว่าเรื่องที่ทำให้เป็นที่กล่าวถึงไปทั่วประเทศหรือดังไปสู่ต่างประเทศคงหนีไม่พ้นภาพยนตร์อมตะ ‘รักแห่งสยาม’ ที่ออกฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศในปี 2007 ซึ่งถือเป็นการแจ้งเกิดนักแสดงนำดาวรุ่งอย่าง ‘มาริโอ้ เมาเร่อ’ รับบท โต้ง และ ‘พิช-วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล’ รับบทเป็น มิว โดยเนื้อเรื่องนั้นมีการนำเสนอถึงปัญหาภายในครอบครัวของโต้ง เรื่อยไปจนถึงความรักระหว่างโต้งและมิวที่ในช่วงแรกถูกกีดกันจากครอบครัว ซึ่งสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคมว่าในบางครอบครัวอาจไม่ได้ยอมรับเรื่องเพศเท่าที่ควร แต่ในท้ายที่สุดหากพวกเขาเหล่านั้นเป็นคนดี อยู่ในกรอบศีลธรรมและไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน การมีความรักในเพศเดียวกันก็คงจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร และแน่นอนว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้นจนสามารถคว้ารางวัลใหญ่จากหลายสถาบัน ไม่ว่าจะเป็นรางวัลแห่งชาติ สุพรรณหงส์ หรือแม้แต่การถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลถึง 3 สาขาในงานเทศกาลภาพยนตร์ซีเนมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ โดยมาริโอ้สามารถคว้ารางวัลสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมได้อีกด้วย

 

 

มุ่งสู่ยุคทองแห่งวงการภาพยนตร์และซีรี่ส์ไทยแนว LGBTQIA+ ที่เกิดขึ้นราวกับดอกเห็ด

     หลังจากนั้นเว้นทิ้งช่วงไปนานนับสิบปี วงการภาพยนตร์ไทยเริ่มเข้าสู่การทำละครและซีรี่ส์เพื่อมุ่งเข้าสู่กลุ่มวัยรุ่นเป็นส่วนใหญ่โดยหนึ่งในนั้นคือการนำเสนอถึงเรื่องราวของความรักในเพศเดียวกันมากยิ่งขึ้น จนเกิดเป็นกระแส “คู่จิ้น” ระหว่างตัวนักแสดงนำเอง ซึ่งซีรี่ส์ LGBTQIA+ แห่งวงการบันเทิงไทยที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามทั้งในและต่างประเทศ อาทิ ‘เพราะเราคู่กัน 2gether The Series’ นำแสดงโดย ‘วิน-เมธวิน โอภาสเอี่ยมขจร’ และ ‘ไบร์ท-วชิรวิชญ์ ชีวอารี’, ‘แปลรักฉันด้วยใจเธอ’ นำแสดงโดย ‘บิวกิ้น-พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล’ และ ‘พีพี-กฤษฏ์ อำนวยเดชกร’ , ‘Theory of Love ทฤษฎีจีบเธอ’ นำแสดงโดย ‘ออฟ-จุมพล อดุลกิตติพร’ และ ‘กัน-อรรถพันธ์ พูลสวัสดิ์’ , ‘TharnType The Series เกลียดนักมาเป็นที่รักกันซะดีๆ’ นำแสดงโดย ‘มิว-ศุภศิษฏ์ จงชีวีวัฒน์’ และ ‘กลัฟ-คณาวุฒิ ไตรพิพัฒนพงษ์’ , ‘Dark Blue Kiss จูบสุดท้ายเพื่อนายคนเดียว’ นำแสดงโดย ‘เต-ตะวัน วิหครัตน์’ และ ‘นิววี่-ฐิติภูมิ เตชะอภัยคุณ’ , ‘KinnPorscheTheSeries’ นำแสดงโดย ‘มาย-ภาคภูมิ ร่มไทรทอง’ และ ‘อาโป-ณัฐวิญญ์ วัฒนกิติพัฒน์’ , ‘23.5 องศาที่โลกเอียง’ นำแสดงโดย ‘มิ้ลค์-พรรษา วอสเบียน’ และ ‘เลิฟ-ภัทรานิษฐ์ ลิ้มปติยากร’ และ ‘ทฤษฎีสีชมพู GAP The Series’ นำแสดงโดย ‘ฟรีน-สโรชา จันทร์กิมฮะ’ และ ‘เบ็คกี้-รีเบคก้า แพทรีเซีย อาร์มสตรอง’ ซึ่งกล่าวได้อย่างเต็มปากว่าด้วยผลงานการแสดงที่ตอกย้ำกระแสนิยมของวงการซีรี่ส์ LGBTQIA+ ส่งผลให้เหล่าศิลปินและนักแสดงนำนั้นโด่งดังไกลถึงระดับโลกทั้งในวงการภาพยนตร์และวงการแฟชั่น จนแฟนๆ ทั่วโลกต่างขนานนามว่า “วงการซีรี่ส์ LGBTQIA+ ไทยนั้นแข็งแกร่งยิ่งกว่าชาติไหนๆ”

 



WATCH




 

แก่นแท้ของวงการภาพยนตร์และซีรี่ส์ LGBTQIA+ ของไทย นำเสนอถึงความหลากหลายได้จริง หรือสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อเพียงให้เกิดกระแสโด่งดังแก่ตัวนักแสดงและเนื้อเรื่อง?”

     ประโยคคำถามข้างต้นผู้เขียนขอยกมาปิดท้ายในบทความนี้ เชื่อมโยงกับประโยคก่อนหน้าที่ได้กล่าวไปแล้วว่า “แฟนๆ ทั่วโลกต่างขนานนามว่าวงการซีรี่ส์ LGBTQIA+ ไทยนั้นแข็งแกร่งยิ่งกว่าชาติไหนๆ” จริงอยู่ที่วงการซีรี่ส์  LGBTQIA+ ในไทยนั้นมีความแข็งแกร่งอย่างแน่นอนเพราะความโด่งดังของเนื้อหาและตัวนักแสดงเองที่กล้าพูดได้ว่า “ใครได้แสดงซีรี่ส์ LGBTQIA+ ก็ดังทั้งนั้น” จนเกิดแรงกระเพื่อมและสร้างฐานแฟนคลับไปทั่วโลกและตั้งตารอคอยซีรี่ส์ไทยแนวนี้กันอย่างใจจดใจจ่อ ทั้งนี้ยังได้เห็นเหล่านักแสดงนำมีโอกาสได้ผันตัวไปยังบทบาทอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นคาแร็กเตอร์ตัวแทนของฝั่งความหลากหลายอีกด้วย นี่จึงถือเป็นการประสบความสำเร็จแห่งวงการซีรี่ส์ LGBTQIA+ ในประเทศไทยอย่างแท้จริงทั้งในเนื้อเรื่องและตัวนักแสดง แต่แล้วก็มีช่องโหว่บางอย่างที่ยังคงเป็นเรื่องถกเถียงกันในตอนนี้ คือการใช้นักแสดงหญิงแท้หรือชายแท้มารับบทนำเป็นเพศผู้มีความหลากหลาย แทนที่จะใช้นักแสดงที่เป็น LGBTQIA+ จริงๆ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมีหลายด้านโจมตีว่าที่ทำเช่นนี้เพียงเพราะดังเร็ว ได้เงินไว แต่ไม่ได้นำเสนอเรื่องราวของความหลากหลายเลยด้วยซ้ำ เพียงแค่มีฉากเลิฟซีนชวนฟินก็เท่านั้น มิหนำซ้ำยังให้นักแสดง LGBTQIA+ มารับคาแร็กเตอร์เป็นตัวตลกและตัวประกอบมากกว่าการเป็นผู้ดำเนินเรื่องหลัก ซึ่งผิดจุดประสงค์การรณรงค์เรื่องความหลากหลายไปเสียหน่อย

     มากไปกว่านั้นเมื่อกล่าวถึงการตลาดในการโปรโมตซีรี่ส์หรือภาพยนตร์ที่กำลังออกฉายไปสู่สาธารณะ สิ่งที่เรียกว่า “แฟนเซอร์วิส” ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ชวนตั้งคำถาม เพราะให้เหล่านักแสดงนำมาโชว์ความหวานด้วยการถึงเนื้อถึงตัว หรือร่วมมีโมเมนต์หวานน่ารักซึ่งกันและกันเพื่อให้เหล่าแฟนๆ ได้หวนนึกย้อนถึงบทบาทที่พวกเขาแสดงด้วยกันจนเกิดการ “อิน” เกิดขึ้นและทำให้ซีรี่ส์เรื่องนั้นๆ ได้รับการพูดถึงมากกว่าเดิม จนทุกคนอาจลืมไปว่านี่ไม่ใช่การยอมรับเรื่องความหลากหลาย แต่ทั้งหมดคือการเอนเตอร์เทนเพื่อสนองความฟินของเหล่าแฟนคลับก็เท่านั้น

 

     แน่นอนว่าเหล่าผู้จัดและนักแสดงไม่ได้มีความผิดหรือมีการเหยียดผู้มีความหลากหลายทางเพศแต่อย่างใด เพราะสุดท้ายแล้วพวกเขาส่วนใหญ่ต่างเลือกเป็นกระบอกเสียงให้แก่สังคมเพื่อชูเหล่า LGBTQIA+ ให้ได้รับความเท่าเทียมและมีจุดยืนในสังคมเทียบเท่ากับผู้อื่น เพียงแต่การนำเสนอมุมมองของวงการภาพยนตร์หรือซีรี่ส์แนวนี้อาจลงถึงเบื้องลึกของการมีอยู่ของพวกเขามากกว่าการขายความรักและเลิฟซีนระหว่าง ‘ชาย-ชาย’ หรือ ‘หญิง-หญิง’ ทั้งที่จริงยังมีประเด็นสังคมอื่นๆ ที่เหล่าผู้คนยังมองข้ามและไม่เห็นถึงความตื้นลึกหนาบางที่เหล่า LGBTQIA+ ยังประสบพบเจอ ลองนำ ‘ความจริง’ และให้โอกาสผู้มีความหลากหลายมาเป็นแรงขับเคลื่อนหลักดูบ้าง เพื่อให้วงการภาพยนตร์และซีรี่ส์ไทยได้ก้าวไปข้างหน้า และสามารถเอ่ยได้เต็มภาคภูมิว่า “ซีรี่ส์ LGBTQIA+ ของประเทศไทย สามารถผลักดันเรื่องความหลากหลายและความเท่าเทียมได้อย่างแท้จริง” เพื่อนำมาสู่ความเสมอภาคที่จะสามารถเกิดขึ้นจริงได้ ไม่ใช่เพียงพูดและหวังลมๆ แล้งๆ ไปเท่านั้น...

 

กราฟิก : จินาภา ฟองกษีร

WATCH