
LIFESTYLE
เมื่ออันธพาลกลับมาเขย่าจอเงิน! หรือนี่จะเป็นการสานต่อยุคทองของภาพยนตร์นักเลง?การหวนคืนกลับมาเป็นกระแสอีกครั้งของภาพยนตร์นักเลงที่เคยรุ่งเรืองในยุค 90s จนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ที่มีการผลิตภาพยนตร์นักเลงมาฉายอยู่หลายเรื่อง หากแต่เป็นในเลนส์ ‘ยุคใหม่’ จนเกิดเป็นข้อสงสัยว่าหรือนี่จะเป็นการหวนคืนจอเงินยุคทองของภาพยนตร์นักเลง |
ภาพยนตร์นักเลงบู๊แอ็กชั่นอาชญากรรมหรือตีกันข้ามแก๊งได้กลับมาเป็นกระแสบนโลกโซเชียลอยู่พักหนึ่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพยนตร์แขนงนี้ถูกผลิตออกมาอยู่ตลอดช่วงสิบหรือยี่สิบปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงยุค 90s จนถึงช่วง 00s ที่มีภาพยนตร์แนวนี้ผุดออกราวดอกเห็ด จนแทบจะเรียกได้ว่าช่วงเวลานั้นเป็น ‘ยุคทอง’ เลยก็ว่าได้ แต่หลังผ่านพ้นช่วงเวลานั้นไปยุคทองก็ซบเซาลงแม้จะมีผลิตออกมาแต่กลับไม่ได้เป็นที่พูดถึงเท่าช่วงยุค 90s มากนัก จนช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็ได้ผุดขึ้นมาเป็นกระแสอีกครั้งจนเป็นที่พูดถึงบนโลกโซเชียล ไม่ว่าจะเป็นนักแสดง ชั้นเชิงการกำกับ หรือแม้แต่ประเด็นสังคมที่ถูกสอดแทรกอยู่ในเนื้อเรื่อง ด้วยองค์ประกอบเหล่านี้ส่งให้เกิดข้อสงสัยว่าหรือนี่จะเป็นการกลับมาสานต่อ ‘ยุคทอง’ ของภาพยนตร์นักเลงในยุคใหม่
ดูโพสต์นี้บน Instagram
ตี๋ใหญ่ ฤกษ์ดาวโจร
ขอเปิดประเดิมด้วยภาพยนตร์แอ็กชั่นดราม่าฟอร์มยักษ์ที่จ่อคิวเข้าฉายในปี 2025 อย่าง ‘ตี๋ใหญ่ ฤกษ์ดาวโจร’ ผลงานของผู้กำกับมากฝีมืออย่าง ‘อุ๋ย-นนทรีย์ นิมิบุตร’ ที่เคยฝากผลงานภาพยนตร์นักเลงที่ดังทั่วบ้านทั่วเมืองไว้อย่าง ‘2499 อันธพาลครองเมือง’ เรื่องราวที่สะท้อนภาพกรุงเทพฯ ช่วงยุค 1980 กับสองอาชญากรที่จำต้องใช้ชีวิตหลบๆ ซ่อนๆ อย่างยากลำบาก เมื่อเจ้าหน้าที่สืบสวนตามไล่ล่าปราบปรามแก๊งโจรชื่อกระฉ่อนอย่างเอาเป็นเอาตาย ทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งสองอาชญากรถึงคราวต้องสั่นคลอน โดยตัวละคร ตี๋ใหญ่ เป็นจอมโจรในตำนานของประเทศไทยที่เคยมีชีวิตอยู่จริงและถูกดัดแปลงเป็นละครมาแล้วถึงสามรอบ นี่จึงเป็นครั้งแรกที่ถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ผ่านการแสดงของ ‘อาโป-ณัฐวิญญ์ วัฒนกิติพัฒน์’ ที่มารับบทนักแสดงนำเรื่องนี้
ดูโพสต์นี้บน Instagram
อันธพาล 2499 The Musical
การกลับมาอีกครั้งของภาพยนตร์นักเลงในตำนานอย่าง ‘2499 อันธพาลครองเมือง’ กับวลีเด็ด “เป็นเมียเราต้องอดทน” ของแดง ไบเล่ ที่รับบทโดย ‘ติ๊ก-เจษฎาภรณ์ ผลดี’ โดยครั้งนี้เป็นการกลับมาอีกครั้งในรูปแบบ The Musical สานต่อการกำกับโดย ‘บอย-ถกลเกียรติ วีรวรรณ’ แสดงนำโดย ‘นาย-ณภัทร เสียงสมบุญ’ ที่มารับบท แดง ไบเล่, ‘ไอซ์-พาริส อินทรโกมาลย์สุต’ รับบท ปุ๊ ระเบิดขวด เรื่องราวของนักเลงในตำนานที่เคยมีตัวตนอยู่จริงกับการตีกันของแก๊งวัยรุ่นคึกคะนองในยุคก่อนปี 1957 สมัยที่กรุงเทพฯ ยังถูกเรียกว่าพระนคร ด้วยอิทธิพลจากฝั่งตะวันตกที่หลั่งไหลมาและพื้นฐานครอบครัวที่ไม่ค่อยดีส่งให้แดงสร้างปมเด่นด้วยการเป็นหัวโจกแก๊งอันธพาลเพื่อกลบปมด้อย และตามมาด้วยเรื่องราวทะเลาะวิวาทอันซับซ้อนในเวลาต่อมา 2499 อันธพาลครองเมืองเวอร์ชั่น 1997 เป็นที่พูดถึงอย่างมากมาจนถึงปัจจุบันนี้ จึงเป็นที่น่าสนใจว่าการกลับมารีเมกครั้งนี้จะประสบผลสำเร็จหรือไม่
วัยเป้งนักเลงขาสั้น 2
เป็นภาพยนตร์อีกเรื่องที่กลับมาอีกครั้งหลังจากที่ทิ้งช่วงห่างหายไป 10 ปีกับเรื่อง ‘วัยเป้งนักเลงขาสั้น’ ภาพยนตร์ที่เคยเป็นกระแสในช่วงที่ฉายภาคแรกกับไอคอนิกประจำเรื่องอย่างกางเกงนักเรียนชาย ผลงานการกำกับของ ‘พจน์-อานนท์ มิ่งขวัญตา’ ผู้กำกับที่ฝากผลงานไว้มากมาย โดยเป็นเรื่องราวการกลับมาในรอบ 10 ปีของ เป้ง หลังจากที่ลาวงการนักเลงไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศส น้องชายอย่าง ป๋องแป๋ง จึงหันหน้าเข้าสู่โลกสีเทา ทำให้เป้งต้องเผชิญหน้ากับปัญหาส่วนตัวที่มาพร้อมการรับมือกับความขัดแย้งของกลุ่มวัยรุ่นนักเรียนเลือดร้อนสองโรงเรียนอย่าง แก๊งดีแตก และ แก๊งกะโหลกหมา ที่ก่อความรุนแรงจนลุกลามเป็นเรื่องโต โดยได้นักแสดงทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่าจากภาคเดิมมาร่วม นับเป็นภาพยนตร์นักเลงอีกหนึ่งเรื่องที่สะท้อนสังคมวัยรุ่นนักเรียนตีกันและผลของการกระทำได้อย่างดี
ขุนพันธ์ 3
ภาพยนตร์ไตรภาคที่โลดแล่นมาแล้วถึง 10 ปีและได้ปิดจบลงอย่างสมบูรณ์กับบทสรุปการพิพากษาอาคมของตำรวจชั้นดีและชุมโจรเสือร้าย ผลงานของ ‘โขม-ก้องเกียรติ โขมศิริ’ ที่ได้นักแสดงมากฝีมืออย่าง ‘อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม’ รับบทนายตำรวจชั้นดีตำนานของเมืองไทยที่เคยมีตัวตนอยู่จริง ขุนพันธรักษ์ราชเดช, ‘มาริโอ เมาเร่อ’ รับบทเสือมเหศวร, ‘เป้-อารักษ์ อมรศุภศิริ’ รับบทเสือใบ, ‘โตโน่-ภาคิน คำวิลัยศักดิ์’ รับบทเสือดำ โดยภาคสามที่เป็นบทสรุปไตรภาคปิดจบเรื่องราวทั้งหมด เกิดขึ้นในปี 1950 ที่บ้านเมืองได้รับผลกระทบจากสงครามและเต็มไปด้วยชุมโจรเสือร้ายที่ชุกชุมสร้างความหวาดกลัวให้แก่ประชาชน ทำให้นายตำรวจมือปราบอย่าง ขุนพันธ์ ถูกเรียกกลับมาปฏิบัติหน้าที่ปราบปรามสองเสือร้ายที่แกร่งกล้าอาคมและกำลังท้าทายอำนาจรัฐอย่าง เสือมเหศวรและเสือดำ ซึ่งครั้งนี้อาจจบไม่สวยเหมือนทุกครั้งที่เขาได้รับบทเป็นผู้ล่า การเผชิญหน้ากับเหล่าเสือร้ายครั้งนี้ที่มีทั้งอาคมและความคงกระพันจะทำให้ขุนพันธ์ปฏิบัติหน้าที่อย่างลุล่วงหรือกลายเป็นผู้ถูกล่าเสียเอง ขุนพันธ์เป็นภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ที่เปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณไทยอย่างแท้จริงไม่ว่าจะเป็นองค์ประกอบ คาถาอาคม ความเชื่อ ศรัทธา หรือแม้แต่เรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ โดยถูกสร้างบนความจริงที่ว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยห่างหายจากการสร้างภาพจำตัวละครมาตั้งแต่สมัยพระเอกอย่าง มิตร ชัยบัญชา กับบทบาทของ อินทรีย์แดง และนับว่าประสบความสำเร็จในการหยิบยกเรื่องของขุนพันธรักษ์ราชเดชกับการปราบปรามแก๊งโจรเสือร้ายที่สะท้อนบทบาทของ ‘ฮีโร่’ ในตำนาน
4 KINGS
มาถึงภาพยนตร์ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘นี่แหละ จุดเริ่มต้นของกระแสการพูดถึงภาพยนตร์นักเลงในยุคนี้’ ไม่ว่าจะเป็นองค์ประกอบในเรื่อง ผลจากการกระทำของตัวละคร นักแสดง หรือชั้นเชิงการสอดแทรกประเด็นสังคมของผู้กำกับ ‘พุฒิ-พุฒิพงษ์ นาคทอง’ ที่ฝากผลงานภาพยนตร์ดัดแปลงจากเรื่องจริงในสังคมไทยจากตัวละครที่มีตัวตนอยู่จริง เรื่องราวความขัดแย้งของกลุ่มนักเรียนอาชีวะ ช่างกลต่างสถาบันในยุค 90s ที่ทะเลาะวิวาทจนเกิดเป็นเรื่องราวใหญ่โต และผลของความคึกคะนองที่ไม่ทันยั้งคิด โดยถือเป็นภาพยนตร์น้ำดีที่สะท้อนปัญหาสังคมได้อย่างสมจริงผ่านฝีมือการแสดงของนักแสดงนำมากมาย และเป็นไปตามความตั้งใจของผู้กำกับ 4 KINGS กลายเป็นกระแสบนโลกโซเชียล มีการพูดถึงเนื้อเรื่องและบทสรุปของตัวละครมากมาย ซึ่งมากกว่าการตีกันของกลุ่มวัยรุ่นที่ฉายบนจอ ภาพยนตร์ยังนำเสนอคำว่า ‘วัยรุ่น’ อย่างสมจริงผ่านวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ ความคึกคะนอง หรือฮอร์โมนพลุ่งพล่านที่มักเอาสังคม มิตรภาพ สถาบัน หรือสิ่งที่เป็นนามธรรมมาไว้เหนือหัวอย่างเอาเป็นเอาตาย นับว่าเป็นความสำเร็จของภาพยนตร์ที่ทำหน้าที่สะท้อนความจริง สอดแทรกแง่คิดมุมมอง และสั่งสอนตัวละครผ่านบทเรียนที่เรียกว่า ‘ความคึกคะนอง’ ได้เป็นอย่างดี
วัยหนุ่ม 2544
อีกหนึ่งผลงานการกำกับของ ‘พุฒิ-พุฒิพงษ์ นาคทอง’ กับการตีแผ่ปัญหาสังคมผ่านชีวิตของวัยรุ่นในคุกและผลของการกระทำที่ไม่ยั้งคิด กับเรื่องราวของ เผือก เด็กสลัมที่เลือกเกิดไม่ได้จนยอมเป็นเหยื่อรังแกของสังคมเพื่อให้มีที่ยืน จนกระทั่งการตัดสินใจผิดพลาดครั้งใหญ่ที่ทำให้เผือกถูกส่งตัวมายังคุกวัยหนุ่ม สถานที่ที่ทำให้เผือกสะท้อนความจริงว่าโลกในกำแพงนี้ไม่ได้ต่างจากกองขยะรวมเดนสังคมที่ถูกทิ้งจากโลกภายนอก เต็มไปด้วยความมืดมนและโหดร้ายกว่าโลกนอกกำแพงเสียอีก แม้จะยังพอมีโชคเรื่องมิตรภาพอยู่บ้างแต่ก็ไม่สามารถหลีกหนีจากวงจรอันโหดร้ายของชีวิตในคุกได้ ทำให้ความฝันที่จะชดใช้ผลการกระทำกลับตัวกลับใจกลายเป็นสีดำมืดสนิท เหลือเพียงความหวังรายวันที่คอยหล่อเลี้ยง จนนำมาสู่การตัดสินใจครั้งสุดท้ายที่แม้จะมีต้องชดใช้ผลกรรมครั้งใหม่ก็ตาม
ภาพยนตร์นักเลงที่ตีคู่มากับหมวดหมู่ดราม่า แอ็กชั่น หรืออาชญากรรมอยู่เสมอ หมวดหมู่ที่ร้อยทั้งร้อยหาได้น้อยที่จะเป็นสิ่งดีๆ ที่สังคมพึงปฏิบัติ และการกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้งของภาพยนตร์หมวดหมู่นี้กับยุคสมัยที่ความคิดคนกำลังเจริญก้าวหน้าตามกาลเวลา นับว่าเป็นการสานต่อยุคทองของภาพยนตร์นักเลงที่เคยรุ่งเรืองตั้งแต่ยุค 90s หากแต่ในยุคนี้อาจจะแตกต่างจากยุคก่อนตรงชั้นเชิงการเล่าเรื่องหรือสอดแทรกประเด็นสังคม รวมถึงการตีแผ่ผลการกระทำมากกว่าการสร้างเนื้อเรื่องนักเลงตีกันเพียงอย่างเดียว อีกหนึ่งสิ่งที่ตีคู่กันมาคือวิจารณญาณของผู้ชม โดยภาพยนตร์นักเลงหลายเรื่องทำให้สังคมเกิดความวิตกกังวลถึงการลอกเลียนแบบของเยาวชน จึงเป็นที่น่าสนใจว่าหากยุคทองของภาพยนตร์นักเลงหวนกลับคืนมา สังคมจะฉายภาพซ้ำกับในภาพยนตร์หรือไม่ แต่ถึงกระนั้นผู้กำกับหลายคนได้พยายามแฝงข้อคิด นำเสนอมุมมอง หรือสั่งสอนตัวละครผ่านบทเรียนที่เรียกว่ากรรม ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้ชมทั้งสิ้นว่าจะตัดสินจุดประสงค์ของผู้กำกับอย่างไร
ภาพ: via Instagram @apo555, @pu_t and @boytakonkiet
WATCH