LIFESTYLE

วิเคราะห์ประเด็น 'สมรสเท่าเทียม' ในภาพยนตร์ ‘วิมานหนาม’ เมื่อความรักถูกกดทับด้วยกฎหมาย!

'วิมานหนาม' ภาพยนตร์สะท้อนความไม่เท่าเทียมทางเพศและกฎหมายสมรสที่ไม่ยอมรับความหลากหลายผ่านการดิ้นรนของตัวละครที่ถูกกดทับด้วยความไม่เท่าเทียม

เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองให้กับความหลากหลายและการประกาศใช้กฎหมาย 'สมรสเท่าเทียม' ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 23 มกราคม 2025 นี้ โว้กชวนมาวิเคราะห์นัยยะแฝงจากเรื่อง ‘วิมานหนาม’ ภาพยนตร์น้ำดีที่สะท้อนประเด็นทางสังคมที่ควรจะถูกพูดถึงอย่างความไม่เท่าเทียมทางเพศและสมรสเท่าเทียม โดยในเรื่องมีฉากสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากกฎหมายที่ไม่คุ้มครองคู่รักเพศเดียวกัน และช่องว่างของความไม่เท่าเทียมทางกฎหมายจนนำไปสู่การถูกช่วงชิงด้วยกฎหมายอีกที

 

*มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์*

 

เพราะไม่ถูกกฎหมายเลยเหมือนไม่มีอยู่จริง

ขอเปิดประเดิมด้วยแก่นหลักสำคัญของหนังที่ทำให้เราเห็นช่องว่างของการไม่มี ‘กฎหมายสมรสเท่าเทียม’ ทำให้ชีวิตของทองคำในภาพยนตร์เรื่องนี้ ต้องต่อสู้อย่างยากลำบากกับกฎหมายที่ไม่เท่าเทียมและเต็มไปด้วยความเจ็บปวดจากการถูกปฏิเสธสิทธิที่ควรจะได้รับในฐานะคนรักและคู่ชีวิต โดยหนังเล่นล้อไปกับความเจ็บปวดของการที่ไม่สามารถเรียกร้องสิทธิหรือความยุติธรรมจากกฏหมาย สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นในสังคมชีวิตจริงที่ ‘จำใจ’ ยอมรับความหลากหลายทางพฤตินัย แต่ไม่ยอมรับความหลากหลายทางนิตินัยอย่างเป็นทางการ

 



WATCH




แม้ทั้งเสกและทองคำจะใช้ชีวิตร่วมกันมาหลายปีและมีความสัมพันธ์ที่มั่นคง แต่เมื่อขาดการคุ้มครองจากกฎหมาย ความรักและความผูกพันที่สร้างขึ้นมากลับกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีค่าใดๆ เหลือเพียงความว่างเปล่าราวกับไม่เคยมีอยู่จริง

ฉากสำคัญในเรื่องที่สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมอย่างการที่ทองคำต้องดิ้นรนเพื่อพิสูจน์ความเป็นสามีของเสกเพราะกฎหมายระบุให้พวกเขาเป็นได้แค่เพียง ‘เพื่อน’ ก็เป็นส่วนที่ภาพยนตร์ตั้งใจชี้ให้เห็นถึงความเจ็บใจและเจ็บปวดของคู่ที่เคยเผชิญสถานะเดียวกันนี้ แสดงให้เห็นว่าอาวุธที่ทิ่มแทงพวกเขาก็คือกฎหมายที่ไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ

และด้วยความรักที่ไม่ได้ถูกระบุอยู่ในกฎหมายนี้เองที่ส่งผลเป็นคลื่นระลอกใหญ่ เมื่อวิมานที่เสกและทองคำสร้างมาด้วยกันกลับต้องถูกช่วงชิงไปโดยผู้ที่อยู่ในกฎหมายแต่อยู่นอกเหนือความสัมพันธ์ แม้กระทั่งแหวนที่เป็นดั่งสิ่งแทนใจ ทำให้ทองคำกลับเหลือเพียงตัวเปล่าทั้งๆ ที่ควรจะได้รับสิทธิทุกอย่างในฐานะคู่ชีวิต

ปฏิเสธไม่ได้ว่าตัวหนังเล่นล้อไปกับแก่นเรื่องได้อย่างน่าเจ็บใจกับการสะท้อนปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศและสิทธิของบุคคลในสังคม ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการสร้างความเจ็บปวดให้แก่คู่รักที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความล้มเหลวของระบบกฎหมายที่ไม่สามารถให้ความคุ้มครองกับสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะคู่ชีวิตได้อย่างครบถ้วนและเท่าเทียม

เพราะผู้หญิงหลายคนคือโหม๋ใน 'ชีวิตจริง'

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่มาควบคู่กับสมรสเท่าเทียมคือความไม่เท่าเทียมทางเพศ โดยหนังนำเสนอประเด็นนี้ออกมาได้อย่างแหลมคมผ่านการปรากฎตัวของตัวละคร ‘โหม๋’ ฉายภาพของผู้หญิงที่ถูกกดทับด้วยความคาดหวังและการตีกรอบบทบาทในสังคม กับการที่เธอต้องดูแลแม่สามีมาตลอด 20 ปี สูญเสียเวลาทั้งชีวิตให้กับสถานะภรรยาที่เสกยัดเยียดให้เพียงเพราะต้องการใครสักคนมาดูแลแม่ที่พิการติดเตียง โดยที่โหม๋ไม่ได้มีสิทธิเลือกหรือมีความยินยอมในชีวิตคู่ของตนเองเลยสักนิด

สะท้อนให้เห็นความยากลำบากและการถูกบังคับให้ตกเป็นเหยื่อของความรักที่ไม่มีอำนาจเหนือในการตัดสินใจชีวิตของตัวเอง ความสัมพันธ์ระหว่างโหม๋และเสกเกิดจากความไม่สมดุลที่ผู้หญิงถูกคาดหวังให้เป็นผู้เสียสละและรับผิดชอบในการดูแลผู้อื่นโดยที่ไม่เคยได้รับการยอมรับหรือเคารพในสิทธิของตนเอง

 

โดยหนังฉายภาพตัวละครโหม๋ที่เปรียบเสมือน ‘ตัวร้าย’ เข้ามาแย่งชิงวิมานสวรรค์ของทองคำจนนำไปสู่จุดที่ระเบิดความจริงว่า ‘สุดท้ายผู้หญิงก็คือจุดต่ำสุดของวงจรเพศ’ กับตัวละครทองคำที่หนังวางมาชัดเจนว่าเป็นเกย์ แต่เมื่อฟางเส้นสุดท้ายที่มาจากความเจ็บปวดในการแก่งแย่งชิงสมบัติต่างหน้าของสามีและการถูกกดทับด้วยกฎหมายจนเกิดเป็นการตอบสนองจากความรู้สึกที่ถูกกดขี่มาตลอดทั้งเรื่อง เขากลับเลือกใช้ความเป็นเพศชายในการกดทับโหม๋ผ่านประโยค “งั้นก็ให้เป็นของลูกกูแล้วกัน” พร้อมกับการเฉลยข้อเท็จจริงที่ว่าทั้งสองต่างมีชีวิตที่ถูกบีบบังคับและไม่มีอำนาจในการเลือกทางเดิน นับเป็นจุดเฉลยเบื้องหลังว่าชีวิตโหม๋เองก็น่าสงสารไม่แพ้ทองคำเลยแม้แต่น้อย

นับเป็นภาพยนตร์น้ำดีอีกเรื่องที่สื่อประเด็นสังคมออกมาได้อย่างจัดจ้าน ฉายภาพของโหม๋ที่สะท้อนความลำบากและการต่อสู้ของผู้หญิงหลายคนในสังคมที่ต้องเผชิญกับความไม่เท่าเทียมทางเพศและความคาดหวังที่ไม่ยุติธรรม ในขณะที่ตัวละครทองคำก็เป็นเพียงคนหนึ่งที่จำต้องแบกรับความเจ็บปวดจากการต่อสู้กับอำนาจทางกฎหมาย ซึ่งในที่สุดแล้วทั้งทองคำและโหม๋ก็เป็นตัวละครน่าสงสารที่สะท้อนมาจากชีวิตจริงอันน่าเจ็บปวด

วิมานหนามจึงไม่ใช่แค่เรื่องราวของคู่รักที่ถูกกฎหมายกีดกัน แต่ยังเป็นการนำเสนอภาพสะท้อนของสังคมที่เต็มไปด้วยความไม่เท่าเทียมและสุดท้ายนี้หวังว่าการเปลี่ยนแปลงในอนาคตจะสามารถทำให้ความรักทุกรูปแบบได้รับการยอมรับและความคุ้มครองอย่างเท่าเทียมเช่นกัน


(สามารถอ่านเรื่อง เปิดสัมภาษณ์ 'เจฟ ซาเตอร์' และ 'อิงฟ้า วราหะ' กับการพลิกบทบาทครั้งสำคัญจากภาพยนตร์ 'วิมานหนาม' ได้ที่นี่)

WATCH