ชุดโอลิมปิกไทย 2024
FASHION

ชุดโอลิมปิกไทย...ค่าเสียโอกาสสร้าง Soft Power ครั้งสำคัญบนเวทีโลกของรัฐบาลที่น่าเสียดาย!

ค่าเสียโอกาสทั้งหมดนั้นคงประเมินค่าไม่ได้ เพราะโอลิมปิก 4 ปีมีหนึ่งครั้ง ถ้ามีโอกาสในงานมหกรรมโอลิมปิกที่กรุงลอสแอนเจลิสในปี 2028 ก็อาจจะต้องแก้เกมกันอีกที เพื่อช่วงชิงพื้นที่บนแผนที่โลกให้กับประเทศไทยได้มีที่ทางหยัดยืน และสิ่งที่ทำได้ดีที่สุดในตอนนี้ก็เพียงแค่ส่งกำลังใจให้นักกีฬาไทยแข่งขันอย่างเต็มที่ #Paris2024 #Olympics

     แม้ว่าท้ายที่สุดแล้วประเทศไทยจะเลือกกลับไปใช้เสื้อแจ็กเก็ตผ้าร่มลวดลายบ้านเชียง เป็นชุดที่ให้เหล่าทัพนักกีฬาไทยสวมใส่ในพิธีเปิดมหกรรมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ประจำปี 2024 ทว่าชุดพิธีการโอลิมปิกที่รัฐไทยเปิดตัวมาก่อนหน้านี้ก็กลายเป็นไวรัลดราม่าไปทั่วโลกโซเชียลมีเดียที่ไม่มีวันลบออกไปได้ง่ายๆ แล้ว ทั้งในห้วงความทรงจำของคนไทยและดิจิทัลฟรุตปริ้นต์...

     ชุดพิธีการโอลิมปิกที่เลือกใช้ชุดผ้าไหมสีฟ้าคราม ตัดต่อลายช่วงคอปก เเนวกระดุมเสื้อ และข้อแขนนั้น แม้จะสะท้อนถึงคุณค่าและความพยายามของการหยิบยกเอา ‘ผ้าไทย’ มาสร้างสรรค์เป็นผลงาน แต่ก็นับว่ารายละเอียดที่ปรากฏนั้นจะไม่ได้รับการใส่ใจเท่าที่ควร ทั้งในส่วนของคัตติ้ง การวางแพตเทิร์น เรื่อยไปจนถึงสัดส่วนที่ดูประดักประเดิดเข้าขั้นไม่สวยงาม พลอยลอทอนคุณค่าผืนผ้าไทยที่ถูกนำไปใช้ในการตัดเย็บอย่างน่าเสียดาย (https://www.vogue.co.th/fashion/inspirations/article/modernized-thai-fabric) 

     อีกทั้งหลายคนยังมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นสะท้อนถึงการปิดหูปิดตา ไม่รู้เขารู้เรา และขาดความเข้าใจเรื่องของมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ประจำปี 2024 ที่มีชื่อเล่นว่า Paris 2024 อย่างมาก เพราะหากว่ารัฐไทยได้ใส่ใจกับ Paris 2024 เสียหน่อยก็จะพบว่า มหกรรมโอลิมปิกที่บิดลัดฟ้าไปจัดขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสครั้งนี้ คือ ‘แฟชั่นโอลิมปิก’ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากปารีสคือหนึ่งในหมุดหมายสำคัญของอุตสาหกรรมแฟชั่นโลก ที่ได้ฉายาว่าเป็นหัวเมืองแฟชั่น อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจาก LVMH บริษัทผู้ถือลิขสิทธิ์แบรนด์แฟชั่นชั้นนำ ซึ่งนับเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ให้ฝรั่งเศสเป็นลำดับที่สองนั้นไม่ใช่แค่เรื่องของกีฬาอีกต่อไป แต่การแข่งขันทางแฟชั่นจึงสำคัญมากไม่แพ้ผลกีฬา นั่นเองเราจึงได้เห็น ฝรั่งเศส อเมริกา เฮติ มองโกเลีย เกาหลีใต้ และอีกมากมาย เปิดประเดิมการแข่งขันกันตั้งแต่ยังไม่ถึงสนามแข่งขันผ่านการเปิดตัวชุดพิธีการ ยึดพื้นที่สื่อระดับโลก เพื่อสร้างความสนใจให้กับประเทศของตัวเอง และยังเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับเหล่านักกีฬาตัวแทนประเทศของตนโดยไม่ต้องไปอายใครอีกด้วย

     ความน่าเสียดายประการที่สอง ก็เห็นจะหนีไม่พ้น ‘ค่าเสียโอกาส’ ของรัฐบาลไทยที่จะได้สำแดง Soft Power ต่อสายตาชาวโลกได้อย่างภาคภูมิตามที่ได้หาเสียงเอาไว้ สำหรับผู้เขียนแล้วนี่คือบทเรียนครั้งสำคัญของรัฐบาลชุดล่าสุดที่พยายามอย่างยิ่งยวดทุกหนทางที่จะสร้าง Soft Power ให้กับประเทศนี้ ทั้งผ้าขาวม้าที่อุตส่าห์นำไปผูกเอง เรื่อยไปจนถึงรณรงค์การสวมใส่ผ้าไทย และการจัดงานให้ความรู้เกี่ยวกับ Soft Power แต่กลับไม่ได้นึกถึงวาระอันสำคัญเช่นนี้ ซึ่งเป็นพื้นที่แห่งโอกาสที่ Soft Power ของประเทศไทยจะได้ผลิบานต่อหน้าประชากรโลกโดยใช้การลงทุนที่น้อยที่สุดทั้งทุนทรัพย์และแรงงาน เพราะมีสื่อทั่วโลกนับหมื่นที่รอจัดอันดับทำคอนเทนต์ชุดโอลิมปิกที่ดีที่สุดประจำปีอยู่ ซึ่งไม่แน่ว่าผ้าไทยก็อาจจะได้เป็นหนึ่งในนั้น หากว่ารัฐบาลวางแผนได้รอบคอบกว่านี้

     ค่าเสียโอกาสทั้งหมดนั้นคงประเมินค่าไม่ได้ เพราะโอลิมปิก 4 ปีมีหนึ่งครั้ง ถ้ามีโอกาสในงานมหกรรมโอลิมปิกที่กรุงลอสแอนเจลิสในปี 2028 ก็อาจจะต้องแก้เกมกันอีกที เพื่อช่วงชิงพื้นที่บนแผนที่โลกให้กับประเทศไทยได้มีที่ทางหยัดยืน และสิ่งที่ทำได้ดีที่สุดในตอนนี้ก็เพียงแค่ส่งกำลังใจให้นักกีฬาไทยแข่งขันอย่างเต็มที่

WATCH