เมื่อผ้าไทยไม่ใช่ปัญหา! แต่สิ่งที่ฉุดรั้งการพัฒนาคือวิธีการออกแบบและภาพจำอันล้าสมัย
เหตุตั้งต้นจากชุดยูนิฟอร์มพิธีการของทัพนักกีฬาไทยในมหกรรมโอลิมปิก 2024 ณ กรุงปารีส ทำให้ประเด็นดังกล่าวต้องถูกพูดถึงอย่างจริงจัง
เมื่อโลกพัฒนาตามแนวทางความสร้างสรรค์ วิถีดั้งเดิมบางอย่างถูกรักษาไว้เพื่อคงรากฐานอันสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ บางสิ่งอาจถูกผนวกเข้าสู่โลกยุคใหม่ด้วยความคิดที่แตกต่างแต่ยังคงอัตลักษณ์ไว้ได้เสมอ เฉกเช่นเดียวกับเรื่องแฟชั่น เมื่อการเดินเวลาเดินทางผ่านไป สิ่งสำคัญที่ยังคงอยู่คือรากฐานงานฝีมือที่ชูความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่หรือชุมชนท้องถิ่น แต่อาจมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอให้สอดคล้องกับยุคสมัย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองคือปัจจัยสำคัญที่สามารถรักษามรดกทางวัฒนธรรมไว้อย่างแข็งแกร่ง แข็งแกร่งเสียยิ่งกว่าการยึดโยงความดั้งเดิมจนเกิดเป็นความล้าสมัยอีกด้วยซ้ำไป
ชุดยูนิฟอร์มพิธีการของทัพนักกีฬาไทยในโอลิมปิก 2024 ณ กรุงปารีส / ภาพ: Stadium TH
ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสของชุดยูนิฟอร์มพิธีการของเหล่าทัพนักกีฬาไทยในโอลิมปิก 2024 ณ กรุงปารีสจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เพราะรูปแบบการนำเสนอนั้นล้าสมัยและไม่สามารถเชื่อมโยงกับมาตรฐานความยอดเยี่ยมด้านความสร้างสรรค์ที่ถูกนำเสนอผ่านชุดยูนิฟอร์มจากหลากหลายประเทศได้เลยแม้แต่น้อย บ้างก็ว่ามันเป็นเพราะผ้าไทย บ้างก็ว่าเป็นเพราะแพตเทิร์น แท้จริงแล้วหลักสำคัญของแฟชั่นคือส่วมผสมที่ลงตัว การปรับเปลี่ยนรายละเอียดเพียงบางจุดหรือการบิดมุมมองบางอย่างอาจช่วยให้แฟชั่นดั้งเดิมร่วมสมัยขึ้นมาทันตา
ผ้าไหมทอยกดอก มรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าจากจังหวัดลำพูน / ภาพ: เว็บไซต์ประจำจังหวัดลำพูน
“ผ้าไทยใช่ปัญหาหรือไม่” ผู้เขียนสามารถตอบด้วยความมั่นใจเลยว่าผ้าไทยไม่ใช่องค์ประกอบของปัญหาความล้าสมัยในด้านการออกแบบแม้แต่นิดเดียว เพราะวัสดุสิ่งทอคือสิ่งที่ถูกผลิตขึ้นอย่างเนี้ยบประณีต และถือเป็นงานฝีมืออันหมายถึงมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า หากสกอตแลนด์มีการทอผ้าวูล ไอร์แลนด์มีการทอผ้าลินิน เปรูมีการเก็บขนสัตว์บิกุนญ่า หรือแม้แต่เทคนิคการทอเฉพาะถิ่นของแต่ละพื้นที่ทั่วโลกล้วนถูกรักษาไว้ให้คงอยู่สืบไปตราบนานเท่านาน ผ้าไทยก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นผ้าไหม ผ้าฝ้าย หรือผ้าบาติก และอื่นๆ อีกมากมายล้วนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สะท้อนภาพรากฐานทางประวัติศาสตร์อันงดงาม ในขณะเดียวกันก็พร้อมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาศิลปวัฒนธรรมไปทุกยุคทุกสมัยเช่นกัน
WATCH
มิว-นิษฐา และ แต้ว-ณฐพร กับลุคชุดไทยราตรีร่วมสมัยที่ถูกปรับแต่งแพตเทิร์นและซิลูเอตอย่างโดดเด่นในงาน Vogue Gala ประจำปี 2020 / ภาพ: สุดเขต จิ้วพานิช
หากมองภาพกว้างๆ จะเห็นว่าสิ่งทอหลายประเภทถูกนำมาปรับใช้เพื่อเลียนล้อไปกับความร่วมสมัยอยู่เสมอ แท้จริงแล้วผ้าไทยเองก็มีส่วนสำคัญเหล่านี้เช่นกัน ยกตัวอย่างในงาน Vogue Gala ทุกปีจะเห็นชุดผ้าไทยหลายรูปแบบที่ถูกปรับแต่งเป็นชุดราตรีสง่างาม ชี้ให้เห็นว่าวิถีการรังสรรค์ของผ้าไทยนั้นเปี่ยมเสน่ห์ และถ้าถูกนำมาใช้สร้างสรรค์ด้วยแนวทางที่มีความร่วมสมัยหรือพร้อมพัฒนาเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ผ้าไทยก็เป็นผลผลิตสิ่งทออันเลอค่าที่ไม่ได้เป็นแค่ความภูมิใจของชาวบ้านหรือความสวยงามเฉพาะกลุ่ม เพราะชาวต่างชาติจำนวนไม่น้อยก็ชื่นชมและให้คุณค่ากับงานฝีมือตรงนี้อย่างเต็มที่
ภาพจำเกี่ยวกับผ้าไทยที่ถูกผูกโยงเข้ากับแพตเทิร์นชุดกึ่งทางการและชุดไทยดั้งเดิมจนเกิดกรอบปิดกั้นความสร้างสรรค์และการรับรู้ทางสังคม / ภาพ: แนวหน้า
แล้วอะไรคือปัญหาหลักในการหยิบยกผ้าไทยมาสรรสร้างเป็นผลผลิตทางแฟชั่น ตลอดระยะเวลานานนับทศวรรษผ้าไทยถูกตีตราด้วยภาพจำเกี่ยวกับความไม่ร่วมสมัย เพราะแพตเทิร์นการออกแบบที่สอดประสานกับผ้าไทยนั้นมีค่อนข้างจำกัด เมื่อนึกถึงสิ่งทอเลอค่าจากหลากหลายประเทศเราอาจนึกถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบอย่างหลากหลาย แต่นั่นไม่ใช่กับผ้าไทย เพราะภาพจำส่วนใหญ่ติดกับชุดไทยดั้งเดิม ชุดข้าราชการ หรือแม้แต่ชุดทำงานที่มีแพตเทิร์นตัดเย็บโบราณคร่ำครึ ซึ่งมันก็ถูกผลิตซ้ำและนำเสนออย่างต่อเนื่อง มิวายกับชุดยูนิฟอร์มพิธีการสำหรับทัพนักกีฬาในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ถูกนิยามว่า “สง่างามที่สุด” ณ กรุงปารีส
ชุดยูนิฟอร์มพิธีการของทัพนักกีฬาเฮติที่มีการใช้ผ้าทอสีน้ำเงินรังสรรค์เป็นเสื้อเชิ้ตพร้อมสไตลิ่งเข้ากับเสื้อผ้าร่วมสมัยและผลงานศิลปะ / ภาพ: Stella Jean
สำหรับหลายคนที่ตั้งคำถามว่าชุดไทยสามารถไปไกลได้แค่ไหน ต้องบอกว่าปัจจุบันกับรูปแบบแฟชั่นร่วมสมัยที่ผสมผสานแพตเทิร์นการตัดเย็บสากลเข้ากับวัสดุสิ่งทอท้องถิ่นนั้นก้าวไกลกว่าที่คิด การนำเสนออัตลักษณ์ผ่านชุดไม่จำเป็นต้องดั้งเดิมหรือเฉิ่มเชยเสมอไป ถ้ายกตัวอย่างอย่างง่ายกับชุดยูนิฟอร์มพิธีการของทัพนักกีฬาชาติต่างๆ ในโอลิมปิก 2024 คงต้องพูดถึงชุดของประเทศมองโกเลีย และประเทศเฮติ ที่สรรสร้างชุดงานปักสอดแทรกสัญลักษณ์ท้องถิ่น ผสมผสานเข้ากับรูปแบบชุดดั้งเดิมและการตัดเย็บอันเป็นสากล และการหยิบจับสิ่งทอที่อาจไม่ได้โดดเด่นเท่าผ้าไทยอย่างเสื้อ “Blue Cotton” มาใช้เป็นแกนหลักสำคัญผสมสานกับงานศิลปะร่วมสมัยได้อย่างน่าชื่นชม
Elie Saab นำรากฐานแรงบันดาลใจและองค์ประกอบของชุดไทยมาตีความใหม่นำเสนอบนรันเวย์ระดับโอตกูตูร์ / ภาพ: Fédération de la Haute Couture et de la Mode
และถ้าพูดไทยถึงผ้าไทยสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือวิธีการรังสรรค์ผลงานให้ฉีกกรอบ แต่คงไว้ซึ่งอัตลักษณ์อันโดดเด่น สิ่งนี้เกิดขึ้นกับการรังสรรค์เสื้อผ้าของแบรนด์ยุคใหม่อยู่ไม่น้อย Pitcha Clothier, Passa, Va Dee และอีกหลายต่อหลายแบรนด์ก็รังสรรค์ผ้าไทยในแบบฉบับของตัวเอง ก้าวข้ามมาถึงแบรนด์ระดับชั้นนำของไทยอย่าง Asava, Mesh Museum และแบรนด์จำนวนมากที่ทั้งรังสรรค์คอลเล็กชั่นประจำและคอลเล็กชั่นโปรเจกต์พิเศษก็สามารถนำเสนอผ้าไทยในรูปแบบเฉพาะตัวได้อย่างโดดเด่น และที่จะไม่พูดถึงไม่ได้คือการหยิบยกรากฐานแรงบันดาลใจดั้งเดิมของชุดไทยสู่เวทีระดับโลกกับคอลเล็กชั่นโอตกูตูร์ของแบรนด์อย่าง Elie Saab ที่เรียกเสียงฮือฮาระดับโลก แม้จะไม่ได้เน้นจุดโฟกัสไปที่ผ้าไทย แต่ก็ชี้ให้เห็นว่าวิธีการออกแบบที่นำเสนออัตลักษณ์ของไทยนั้นสามารถเลียนล้อไปกับเวทีแฟชั่นโลกได้แบบทันจังหวะเวลา ไม่ตกขบวนรถแห่งการพัฒนาแต่อย่างใด
แพรี่พายในชุดไทยที่ปรับแต่งให้ร่วมสมัย สร้างสรรค์ภาพจำรูปแบบใหม่ให้กับผ้าไทยและการนำเสนอมิติด้านความสวยงาม รวมถึงมรดกทางวัฒนธรรม / ภาพ: @pearypie
นอกจากแบรนด์แล้วเหล่าอินฟลูเอนเซอร์เองก็สะท้อนตัวอย่างของการนำเสนอผ้าไทยได้อย่างโดดเด่น แพรี่พาย-อมตา จิตตะเสนีย์ ขึ้นชื่ออย่างมากในการนำเสนอความน่าสนใจของผ้าไทยผ่านลุคโมเดิร์นอยู่เสมอ หรือแม้แต่เหล่าอินฟลูเอนเซอร์ที่เดินทางไปเทศกาลดนตรีระดับโลกก็สามารถหยิบชุดผ้าไทยแบบโมเดิร์นมานำเสนอสู่สายตาคนทั้งโลกได้อย่างน่าสนใจ ถึงแม้ผู้เขียนจะเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าชุดโมเดิร์นหลายรูปแบบอาจไม่เหมาะสำหรับการรังสรรค์ชุดพิธีการสำหรับงานสำคัญ ทว่าตัวอย่างทั้งหมดทั้งปวงที่ยกขึ้นมาเป็นหลักยึดเหนี่ยวนั้นสามารถสะท้อนภาพถึงมิติความสร้างสรรค์ที่ถูกพัฒนาผ่านความร่วมสมัยได้อย่างยอดเยี่ยม ถึงเวลาแล้วหรือยังกับการลบภาพจำผ้าไทยกับความคร่ำครึโบราณ เมื่อต้องการจะปรับเปลี่ยนผู้เกี่ยวข้องต้องใส่ใจเรื่องนี้เป็นสำคัญ เพราะแม้จะอยากผลักดันผ้าไทยไปไกลเพียงใด ถ้ารูปแบบผลงานของปลายสายการผลิตเป็นความเฉิ่มเชยจากองค์ประกอบด้านแพตเทิร์นและการออกแบบ ผ้าไทยก็โดนป้ายสี (Stigmatize) แบบหางเร่ไปด้วยโดยปริยาย และแน่นอนว่าบทความชิ้นนี้ผู้เขียนอ้างอิงจากแนวทางการออกแบบชุดยูนิฟอร์มโอลิมปิก 2024 ของทัพนักกีฬาไทยที่น่าผิดหวังเสียเหลือเกิน
WATCH