ย้อนรอยซีรี่ส์ Anne Boleyn ที่ถูกขนานนามว่า 'Woke' เกินพอดีสำหรับเรื่องคนที่มีตัวตนจริง
คำวิพากษ์วิจารณ์มากมายถาโถมเข้ามา ไม่ใช่เพราะ Jodie Turner-Smith ไม่เก่ง แต่เธอมีลักษณะทางกายภาพแตกต่างจากบุคคลในประวัติศาสตร์อย่างสิ้นเชิง
การสร้างความตระหนักเปรียบดั่งการเขย่าวิธีคิดให้มนุษย์รู้จักเคารพบางสิ่งให้เกียรติบางอย่างมากขึ้น ดังนั้นโลกยุคปัจจุบันที่มนุษย์ผู้เป็นปัจเจกบุคคลสนใจรายละเอียดเรื่องความแตกต่างทำให้ผลผลิตทางวัฒนธรรมสะท้อนรูปแบบวิธีคิดที่พัฒนาไปอย่างไร้ขีดจำกัด กระแสเรื่อง The Little Mermaid ที่เลือกนักแสดงแตกต่างจากฉบับการ์ตูนกำลังเป็นกระแสที่ทุกคนวิพากษ์วิจารณ์ว่า “ยัดเยียด” เกินไปหรือไม่ เรื่องนี้ถูกถกเถียงกันอย่างกว้างขวางตั้งอยู่บนชุดความคิด ความเคยชิน ความเหมาะสม การผลักดันเรื่องสิทธิความเท่าเทียม และมุมมองค่านิยมต่อเรื่องชาติพันธุ์ ทว่าการที่ Halle Bailey รับบทนางเงือกอาจไม่ใช่สิ่งที่สร้างความขัดแย้งทางความคิดมากที่สุด เพราะครั้งหนึ่งซีรี่ส์ชีวประวัติเรื่องหนึ่งจากเกาะอังกฤษอาจกำลังยัดเยียดบางอย่างจนเกินพอดี
Anne Boleyn จากซีรี่ส์ทาง Channel 5 ที่รับบทโดย Jodie Turner-Smith / ภาพ: Good Housekeeping
มินิซีรี่ส์เรื่อง Anne Boleyn ฉายบนแพลตฟอร์ม Channel 5 ของประเทศอังกฤษ เรื่องราวดำเนินไปบนรากฐานประวัติชีวิตของแอนน์ตัวจริง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเกือบ 5 ศตวรรษก่อน ความเข้มข้นของเนื้อเรื่องต้องสอดประสานกับการแสดงเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวเก่าแก่ที่ไม่มีใครยุคนี้เกิดทันแน่นอน ทั้งหมดถูกตีความผ่านบันทึกประวัติศาสตร์และภาพวาด เพราะฉะนั้นต้องระมัดระวังในการนำเสนอเพื่อไม่ให้ผู้คนเข้าใจผิด เนื่องจากน้อยคนที่จะเคยอ่านหรือชมภาพต่างๆ อย่างทั่วถึง การสร้างโดยบิดเรื่องราวหรือภาพให้แตกต่างอาจเป็นกำแพงที่ทำให้คนสับสน หรือบางคนกล่าวถึงขั้นว่าอาจเป็นการบิดเบือนประวัติศาสตร์แบบอ้อมๆ เลยทีเดียว
ภาพวาดของ Anne Boleyn ที่ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์อังกฤษ / ภาพ: National Portrait Gallery London
มินิซีรี่ส์เรื่องนี้เข้าฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2021 และไม่ผิดคาดกระแสตอบรับทั้งบวกและลบถาโถมเข้ามาชนิดไม่มีแรงใดต้านได้ ผู้รับบทแอนน์คือ Jodie Turner-Smith นักแสดงมากความสามารถที่ได้รับการยอมรับทั่วสหราชอาณาจักร รวมถึงระดับโลก ทว่าข้อวิจารณ์กลับไม่อยู่ที่เรื่องฝีมือการแสดง แต่คนหลายกลุ่มพุ่งเป้าไปที่การเลือกนักแสดงได้ไม่ตรงกับความจริงตั้งแต่แรก เรียกว่ากระแสเน้นตั้งคำถามว่า “ทำไมถึงนำชีวประวัติและเรื่องราวจากประวัติศาสตร์มาบิดเบือนด้วยรูปลักษณ์” เรื่องนี้ละเอียดอ่อนมาก เพราะสิ่งนี้ไม่ใช่การตีความจากบทประพันธ์ แต่มีการบันทึกชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักฐานจากภาพวาดซึ่งระบุลักษณะทางกายภาพไว้อย่างชัดเจน หรือนี่คือการยัดเยียดความตระหนักจนเกินงามของผู้สร้าง...
WATCH
ภาพลักษณ์ที่เปลี่ยนไปของ Anne Boleyn ในซีรี่ส์ทาง Channel 5 / ภาพ: Smithsonian Magazine
“ไม่รักก็เกลียด” คำนี้ถูกนิยามเกี่ยวกับเรื่องราวชีวิตของแอนน์ตัวจริง ผู้สร้างศึกษาประวัติบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์มาอย่างถี่ถ้วน จนสุดท้ายคำนิยามนี้ก็สอดคล้องกับสถานการณ์ช่วงซีรี่ส์ออกฉายเป็นอย่างดี ผู้คนแบ่งออกเป็นชอบการเปลี่ยนแปลงไปเลยกับเกลียดการเติมแต่งจนเกินพอดีไปเลย เรียกว่าเพียงแค่ลักษณะทางกายภาพของตัวละครที่หยิบเอาแรงบันดาลใจจากประวัติศาสตร์ก็ทำให้ซีรี่ส์เรื่องนี้มีกระแสให้พูดถึงอย่างล้นหลาม จนกระทั่งผู้สร้างและทีมงานต้องออกมาชี้แจงพูดเกี่ยวกับเหตุผลในการเลือกโจดี้มารับบทตัวละครตัวนี้
การถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของ Jodie Turner-Smith กับบทบาท Anne Boleyn ที่เธอมองว่าไม่เกี่ยวกับสีผิว / ภาพ: Wonderland Magazine
โจดี้พูดถึงเรื่องการรับบทครั้งนี้ว่า “เป้าหมายของเราไม่ใช่การสร้างความแม่นยำทางประวัติศาสตร์” พร้อมเสริมว่า “เป้าหมายของเราคือบอกเล่าเรื่องราวอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ นั่นหมายความว่านักแสดงคนไหนก็สามารถมารับบทนี้ได้” นี่คือจุดยืนของโจดี้และทีมผู้สร้างที่คัดเลือกนักแสดงที่สามารถถ่ายทอดอารมณ์ของแอนน์ได้ยอดเยี่ยมที่สุด นอกจากนี้เธอยังพาดพิงถึงเรื่องพื้นที่สำหรับนักแสดงผิวสีที่ไม่ค่อยมีโอกาสในการแสดงฝีมือชนิดคว้านอารมณ์ออกมาเช่นนี้เท่าไหร่นัก ซึ่งเธอมองว่าเป็นจุดเด่นที่ทำให้คนรู้สึกถึงความแตกต่างและมุ่งลึกเข้าสู่หัวจิตหัวใจของตัวละครจริงๆ
การตีความตัวละครใหม่ของทีมผู้สร้างที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าบิดเบือนความจริงทางอ้อม / ภาพ: Sony Pictures Television
ความเป็นอื่นของแอนน์กับประสบการณ์ของผู้หญิงอย่างโจดี้คล้ายคลึงกัน เธอแสดงจุดยืนว่าการถ่ายทอดเรื่องราวของแอนน์คือการทำให้ผู้คนรู้สึกร่วมกับความเป็นอื่นที่แอนน์และเธอต้องเผชิญคล้ายกัน อีกทั้งเธอเชื่อว่ามันอาจเป็นประสบการณ์ร่วมที่ผู้หญิงหลายคนทั่วโลกก็ต้องเผชิญเช่นเดียวกัน หรือเธอให้นิยามว่าเป็น “Universal Experience” เพราะฉะนั้นเมื่อเรื่องราวเป็นสากลไม่มีกำแพงใดมาขีดฆ่าความรู้สึก การตีความเรื่องราวของแอนน์จึงไม่จำเป็นต้องถ่ายทอดออกมาให้ตรงตามชาติพันธุ์ราวกับเป็นการเล่าประวัติชีวิต(อย่างน้อยก็ในมุมมองของผู้สร้าง) สุดท้ายซีรี่ส์เรื่องนี้ต้องการจะเน้นให้ผู้ชมเสพเนื้อหาและความลึกซึ้งของห้วงอารมณ์ของมนุษย์เสียมากกว่า
จุดสำคัญในการถ่ายทอดอารมณ์ระหว่างนักแสดงที่เรื่องสีผิวไม่มีความเกี่ยวข้องในมุมมองของทีมผู้สร้างและนักแสดงในเรื่องนี้ / ภาพ: Sony Pictures Television
ถึงจะมีข้อสนับสนุนเพียงใด แต่หลายคนก็อดไม่ได้ที่จะคัดค้าน ไม่ใช่เพราะเขากีดกันหรือมีอคติทางชาติพันธุ์ ทว่าพวกเขามองว่านี่คือบุคคลจริง มีตัวตนจริง และมีหลักฐานชัดเจน ดังนั้นการยกเรื่องราวมาพร้อมชื่อสกุล องค์ประกอบ และนำเสนอออกมาในรูปแบบกึ่งชีวประวัติแบบนี้ควรทำให้สมจริงสมจัง มีคนถึงกับตั้งคำถามว่า “ถ้านำคนชนชาติพันธุ์อื่นมาแสดงแทนผู้นำผิวสีผู้เปลี่ยนโลกบ้างจะเป็นอย่างไร” คำถามนี้น่าคิดมากเพราะถ้าต้องการถ่ายทอดตามเจตนารมณ์แบบเดียวกับผู้สร้างเรื่องดังกล่าวก็ต้องไม่ใช่ปัญหาเช่นกัน คำถามสุดท้ายที่ฝากให้ทุกคนตอบตัวเองว่า “เรากำลังรับสารพร้อมการยัดเยียดเกินพอดี หรือนี่คือการเปลี่ยนแปลงสู่โลกแห่งความไร้อคติที่ถูกต้องแล้ว” ลองพิจารณาแล้วตอบตัวเองอย่างตรงไปตรงมา เพราะสุดท้ายนี่คือคำตอบสะท้อนมุมมองความคิดอันไม่มีผิดถูก นี่คือความคิดของปัจเจกบุคคลที่ควรได้รับความเคารพเช่นกัน
ข้อมูล:
WATCH