ย้อนตำนานการปฏิวัติวงการแฟชั่นของนางแบบผิวสี ณ สมรภูมิแห่งพระราชวังแวร์ซาย
การปลดแอกครั้งสำคัญของนางแบบผิวสีในแวดวงแฟชั่นโลกเกิดขึ้น ณ กรุงปารีสเมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว
การปฏิวัติวงการแฟชั่นในหลากหลายแง่มุมมักเกิดขึ้นจากโมเมนต์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ยากจะหาเหตุการณ์อื่นมาเทียบเคียง ตลอดระยะนานนับศตวรรษที่แฟชั่นเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปอย่างชัดเจน บ้างก็เปลี่ยนในเรื่องบรรทัดฐานเรื่องความสวยงาม บ้างก็เปลี่ยนเรื่องการใช้วัสดุ หรือบางครั้งก็เปลี่ยนไปจนถึงแก่นลึกทางวัฒนธรรมที่อาจชุบชีวิตคนแฟชั่นกลุ่มน้อยที่เคยถูกหลงลืมกลับกลายมาเป็นกลุ่มคนสำคัญที่อุตสาหกรรมแฟชั่นขาดไม่ได้ วันนี้เราจะพาทุกคนย้อนกลับไปสู่เหตุการณ์ The Battle of Versailles ที่สร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ด้วยการปรากฏตัวบนรันเวย์ของนางแบบผิวสี
Jean Patchett นางแบบชื่อดังจากยุค 1960s ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นความงามในอุดมคติของนางแบบยุคนั้น / ภาพ: Jackson Fine Art
ถ้ามองกลับไปในอดีตเราอาจจะได้ยินเรื่องราวเล่าขานเกี่ยวกับตำนานความเก่งกาจของดีไซเนอร์ระดับตำนาน ไม่ว่าจะเป็น Coco Chanel, Christian Dior หรือ Elsa Schiaparelli แต่น้อยครั้งที่เราจะได้ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับนางแบบชั้นนำของวงการ นั่นก็เพราะนางแบบยังไม่ใช่ส่วนสำคัญที่สุดในการนำเสนอเสื้อผ้า พวกเธอเปรียบเหมือนหุ่นจำลองที่สามารถขยับเขยื้อนสร้างความเคลื่อนไหวให้กับเสื้อผ้าได้ การที่จะมีนางแบบก้าวกระโดดขึ้นมาโดดเด่นบนรันเวย์อย่างจริงจังต้องมีความแตกต่างกับผู้อื่นอยู่พอสมควร ซึ่งในยุคของ Cristóbal Balenciaga ดีไซเนอร์ล้่ำยุคได้สร้างกระแสความแปลกใหม่ให้กับวงการนางแบบและอุตสาหกรรมแฟชั่นไม่น้อย ทว่าสุดท้ายก็เป็นเหมือนพลุไฟที่ดังเปรี้ยงสาดแสงสว่างแต่ก็ค่อยๆ ดับลงไป กระแสนางแบบของคริสโตบัลโดดเด่นและโด่งดังแต่ไม่ได้อยู่ยั้งยืนยงจวบจนปัจจุบันเสียเท่าไรนัก ดังนั้นแม้เขาจะสร้างสรรค์วิธีการนำเสนอจะเรียกเสียงฮือฮาได้ แต่ก็ยังไม่ใช่หน้าประวัติศาสตร์หลักที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการนางแบบในทันทีและส่งผลให้เห็นจวบจนปัจจุบัน
การแสดงโชว์สุดอลังการใน The Battle of Versailles ปี 1973 / ภาพ: Vogue US
หากย้อนกลับไปปี 1973 เราเชื่อว่าสาวกแฟชั่นหลายคงคุ้นหูกับชื่อสมรภูมิแห่งพระราชวังแวร์ซายกันเป็นอย่างดี เพราะการประชันฝีมือระหว่างดีไซเนอร์ฝรั่งเศสและอเมริกันทำให้โลกแฟชั่นพัฒนาอย่างก้าวกระโดด และสามารถสร้างหมุดสำคัญทางประวัติศาสตร์ปักบันทึกความทรงจำอันยอดเยี่ยมไว้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทว่าส่วนมากหลายคนมักจะพูดถึงการพัฒนาด้านชื่อเสียงของดีไซเนอร์ฝั่งอเมริกาที่ได้รับการยอมรับในเวทีสากลมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นงานที่เรี่ยรายเงินจำนวนมากเพื่อบูรณะพระราชวังแห่งนี้ให้กลับมาสวยงามอีกครั้ง เรื่องหนึ่งที่หลายคนอาจลืมไปเลยคือนางแบบ เพราะถึงตำนานเล่าขานที่ใหญ่กว่ามักกลบรายละเอียดปลีกย่อยไปบ้างในบางเวลา แต่เชื่อไหมว่าเหตุการณ์นี้เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาความหลากหลายให้เกิดขึ้นในวงการแฟชั่นแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน
WATCH
นางแบบผิวสีปรากฏตัวบนรันเวย์ใน The Battle of Versailles ปี 1973 / ภาพ: Fairchild Archive
“การออกแบบโดยคนผิวสี สวมโดยคนผิวสี และเป็นแฟชั่นสำหรับทุกคน” งานนี้เต็มไปด้วยดีไซเนอร์ชั้นนำของฝั่งฝรั่งเศสทั้ง Yves Saint Laurent, Hubert de Givenchy, Marc Bohan, Pierre Cardin และ Emanuel Ungaro ส่วนฝั่งอเมริกานั้นก็รวมดีไซเนอร์ระดับแนวหน้ามาเช่นกัน ทั้ง Halston, Oscar de la Renta, Bill Blass, Anne Klein (พร้อม Donna Karan) และที่ขาดไม่ได้คือ Stephen Burrows ดีไซเนอร์เชื้อสายแอฟริกันผู้สร้างบรรทัดฐานความงามและแฟชั่นให้กับโลกยุคใหม่ในแฟชั่นโชว์สุดพิเศษนี้ เขาออกแบบเสื้อผ้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเลือกใช้นางแบบผิวสีหลายคนเดินบนรันเวย์ ซึ่งไม่ได้มีแค่สตีเฟ่น แต่ดีไซเนอร์ฝั่งอเมริกาต่างพร้อมใจกันเลือกนางแบบสายเลือดแอฟริกันมาเดินในงานนี้มากถึง 10 คน (บางแหล่งข้อมูลอ้างว่ามีถึง 11 คน) นับเป็นวิถีแฟชั่นรูปแบบใหม่ที่ทำให้ทั้งโลกต้องจับตามอง เพราะดีไซเนอร์ฝั่งยุโรปแทบไม่เคยใช้นางแบบนอกเหนือจากรูปแบบความนิยมดั้งเดิมเลย ดังนั้นการเปิดโอกาสให้พวกเธอได้เดินเฉิดฉายพร้อมลุคอันงดงามจากฝีมือดีไซเนอร์เพชรยอดมงกุฎประจำทวีปนับเป็นหน้าประวัติศาสตร์ที่ควรค่าแก่การจารึก
ลีลาการโพสต์ท่าสุดมั่นใจของเหล่านางแบบผิวสีใน The Battle of Versailles ปี 1973 / ภาพ: Galore
แขกคนสำคัญคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้การพัฒนาของแฟชั่นในโลกยุคใหม่ถือกำเนิดขึ้น บันทึกเหตุการณ์หลายฉบับมักมุ่งเน้นถึงเรื่องของดีไซเนอร์ที่เปิดโชว์กันอย่างยิ่งใหญ่ แต่อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้แฟชั่นโชว์กลางพระราชวังครั้งนี้พิเศษสุดคือเหล่าแขกผู้มีเกียรติที่แต่ละคนถือเป็นผู้คร่ำหวอดในแวดวงสังคมชั้นสูงของฝรั่งเศสและอีกหลายประเทศทั่วยุโรป ยกตัวอย่างเช่น Grace Kelly, Marie-Hélène de Rothschild, Gloria Guinness, Andy Warhol และแขกชั้นนำระดับโลกมากมาย เดิมทีหลายฝ่ายมีอคติกับดีไซเนอร์ชาวอเมริกันที่มีตราประทับติดตัวว่า “ด้อยกว่า” หรือ “เป็นเพียงดีไซเนอร์ออกแบบเสื้อผ้ากีฬา” แต่ครั้งนี้เหมือนเป็นการลบอคติและสร้างความประทับใจต่อหน้าบุคคลวีไอพีทั้งหลาย การที่ดีไซเนอร์จัดโชว์ได้อย่างสมบูรณ์แบบในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยผู้ชมระดับนี้ทำให้โลกจดจำ รวมถึงบันทึกเรื่องราวไว้เป็นพิเศษ ตรงจุดนี้เองที่ทำให้การปรากฏตัวของนางแบบผิวสีกลายเป็นเรื่องปกติและเปิดกว้างมากขึ้นในมุมมองของแขกกว่า 700 คน และคนกลุ่มนี้เองคือ “Agenda” ในเชิงสังคมศาสตร์ที่ปรับโครงสร้างบรรทัดฐานการนำเสนอความงามบนรันเวย์ พวกเขายอมรับและชื่นชมความสวยงามแบบที่ดีไซเนอร์ฝั่งอเมริกานำเสนอ หากไม่มีพลังจากกลุ่มคนเหล่านี้เชื่อเลยว่าการปฏิวัติวงการนางแบบในยุค ‘70s อาจเป็นเพียงความหวังอันริบหรี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับขนบธรรมเนียมการใช้นางแบบผิวขาวตามแบบเผ่าพันธุ์คอเคซอยด์
Stephen Burrows ดีไซเนอร์สายเลือดแอฟริกันผู้นำทัพการเปลี่ยนแปลงการเลือกนางแบบครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมแฟชั่น / ภาพ: Protochic
การพัฒนา ความยั่งยืน และเส้นทางการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นไปพร้อมกับสภาพสังคม เราคงตอบไม่ได้ว่าสังคมมีผลกับแฟชั่นหรือแฟชั่นมีผลกับสังคมมากน้อยเพียงใด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าการจะเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างหนึ่งมักเลียนล้อไปกับสังคมเสมอ และการจัดโชว์ในช่วงยุคเดียวกับที่มีการเรียกร้องเรื่องสิทธิหลายประเด็นมากขึ้นกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ภาพสมรภูมิแฟชั่น ณ พระราชวังแวร์ซายมีพลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง อเมริกามีภาพเรื่องความเสรีที่กำลังเบิกบานติดตัวมาพร้อมกับดีไซเนอร์ การขยับเขยื้อนสังคมด้วยเสื้อผ้า แฟชั่น ศิลปวัฒนธรรม รวมถึงการเลือกนางแบบชนิดเปิดโลกมิติใหม่ยิ่งผลักดันให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างมีพลัง
การเลือกนางแบบผิวสีบนรันเวย์ The Battle of Versailles ที่ต้องก้าวผ่านคำว่าเทรนด์ไปให้ได้ / ภาพ: Machester Ink Link
โจทย์ข้อสำคัญที่จะพาการเปลี่ยนแปลงก้าวข้ามจุดที่เรียกว่า “เทรนด์” จุดนี้สำคัญมาก เพราะวิธีการส่งเสริมสิ่งใหม่มักถูกมองเป็นแค่เทรนด์เสมอ หลายคนเคยตั้งคำถามว่านางแบบผิวสีจะเป็นเพียงเทรนด์แฟชั่นที่มาและหายไปในเวลา 2-3 ปีหรือไม่ การพิสูจน์สำคัญอยู่ตรงนี้ และเหล่าดีไซเนอร์ก็ต้องประคับประคองแรงผลักดันของตัวเองในการเลือกนางแบบให้มีความสม่ำเสมอ ทั้งสตีเฟ่นและดีไซเนอร์คนอื่นๆ ต่างปรับมุมมองความงามและพร้อมนำเสนอวิธีการเลือกสรรความงามรูปแบบใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้เป็นเวลาเกือบ 40 ปีที่แบรนด์แฟชั่นชั้นนำเลือกนางแบบผิวสี รวมถึงนางแบบหลากหลายชาติพันธุ์มาเดินบนรันเวย์กันอย่างต่อเนื่อง เรื่องนี้ต้องให้เครดิตกับดีไซเนอร์ยุค ‘70s ที่ฉีกกรอบข้อจำกัดเดิมทิ้งไป และปฏิบัติต่อมาเรื่อยๆ เพื่อพิสูจน์ว่ามันไม่ใช่แค่เทรนด์ แต่เป็นสิ่งที่แวดวงแฟชั่นควรเปิดประตูบานใหม่ที่พร้อมมอบมุมมองความงามอันหลากหลายมากยิ่งขึ้น
Naomi Campbell ตำนานนางแบบผิวสีที่ยังคนโลดแล่นอยู่ในอุตสาหกรรมแฟชั่นอย่างมั่นคง / ภาพ: Michael Kors
มรดกทางวัฒนธรรมที่ผูกติดอยู่กับนางแบบผิวสี แน่นอนว่าหลายครั้งเราเห็นภาพนางแบบผิวสีระดับตำนานอย่าง Naomi Campbell เดินเฉิดฉายบนรันเวย์อย่างมั่นใจ นั่นเป็นผลผลิตของแฟชั่นยุค ‘70s ที่ดีไซเนอร์ชาวอเมริกันปรับเปลี่ยนแฟชั่นโชว์ให้เต็มไปด้วยสีสัน บทเพลง และอีกหลายองค์ประกอบจนกลายเป็นความบันเทิงแบบผสมผสาน ดังนั้นภาพความสนุกดังกล่าวจึงผูกติดอยู่กับนางแบบเซตแรก และกลายเป็นภาพจำว่านางแบบผิวสีต้องจัดจ้าน มีจริตจก้าน เดินอย่างมั่นใจและดุดัน แต่แท้จริงแล้วจุดนี้กลายเป็นจุดที่สร้างการตีกรอบบางอย่างให้ปรากฏขึ้นแทนที่การเลือกปฏิบัติหรือการเหยียดแบบดั้งเดิม คาแรกเตอร์ของคนผิวสีถูกนิยามให้ออกมาไปในทิศทางเดียว ในปัจจุบันเองก็ยังเห็นว่าโลกแฟชั่นยังคงมองนางแบบผิวสีเป็นเหล่า “Energetic Models” อยู่เสมอ แสดงให้เห็นว่านี่คือผลผลิตที่หลุดจากคำว่าเทรนด์สู่การเป็นภาพในมายาคติของผู้คนมานานร่วม 4 ทศวรรษ ต่อไปนี้เราต้องเริ่มตระหนักว่ามนุษย์ทุกคนไม่ว่าสีผิวใด เชื้อชาติอะไร ย่อมมีคาแรกเตอร์เฉพาะบุคคล การเลือกสรรนางแบบจากผิวพรรณและตีกรอบว่าต้องแบบนั้นแบบนี้อาจจะเป็นเรื่องล้าสมัยในไม่ช้า 40 ปีก่อนเราก้าวข้ามการมองคนบางกลุ่มในสังคมว่าเป็นเทรนด์บนรันเวย์มาได้แล้ว ถึงเวลาแล้วที่เราต้องมองทุกคนเป็นปัจเจกบุคคลและหยุดการตีกรอบล้อมพฤติกรรมขึ้น สุดท้ายเรื่องภายในสังคมเหล่านี้ยังต้องพัฒนาและทบทวนหมุนเวียนไปเรื่อยๆ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าทุกการพัฒนาเดินหน้านั้นต้องผ่านหลักบันทึกทางประวัติศาสตร์มาแล้ว สมรภูมิแฟชั่นแห่งพระราชวังแวร์ซายควรถูกจดจำในฐานะการปลดแอกครั้งสำคัญของวงการนางแบบโลก ไม่ว่าต่อไปอุตสาหกรรมอันสวยงามนี้จะพัฒนาไปในรูปแบบใดก็ตาม
ข้อมูล:
The Battle of Versailles: the night American fashion stumbled into the spotlight and made history by Robin Givhan
WATCH