FASHION

นิสิตแฟชั่น จุฬาฯ ไอเดียเจ๋ง! จัดนิทรรศการออนไลน์ สะท้อนสังคมจากมุมมองของแต่ละคน

นิสิตสาขานฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัด @imbroglio.cu นิทรรศการสะท้อนมุมมองต่อสังคมของนิสิตแต่ละคน

     เมื่อเด็กนักเรียนแฟชั่นต้องปรับตัวรับสถานการณ์โควิด-19 ช่องทางสำคัญในการรังสรรค์และนำเสนอผลงานคือแพลตฟอร์มบนโลกออนไลน์ ซึ่งจากผลกระทบทั้งหมดทำให้ช่องนี้ยิ่งทวีความสำคัญขึ้นไปอีกระดับ (คลิก เพื่ออ่านบทความ “เกาะติดสถานการณ์โควิดของนักเรียนแฟชั่น การเปลี่ยนแปลงที่ทำร้ายวิถีชีวิตเด็กทั่วโลก”) วันนี้นิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์สาขาวิชานฤมิตศิลป์ เอกแฟชั่นและสิ่งทอ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดนิทรรศการสิ่งทอออนไลน์ขึ้นเพื่อนำเสนอผลงานของเหล่านิสิตที่ตอนนี้ทุกคนต่างใช้ชีวิตกักตัวอยู่บ้านกันอย่างถ้วนหน้า

     นิทรรศการครั้งนี้ชื่อว่า “IMBROGLIO” เป็นนิทรรศการสิ่งทอออนไลน์ที่สะท้อนสังคมปัจจุบันผ่านการสร้างผลงานทางศิลปะ จัดแสดงโดยนิสิตชั้นปีที่ 3 โดยงานทั้งหมดมีทั้งหมด 18 งานที่มีเอกลักษณ์ต่างกัน ดูได้ทางรูปภาพและวิดีโอในอินสตาแกรม @imbroglio.cu โดยแต่ละงานจะนำเสนอการสะท้อนสังคมผ่านมุมมองของนิสิตแต่ละคนในเรื่องต่างๆ ตั้งแต่ เพศ การเมือง สิ่งแวดล้อมและอีกมากมาย ทั้งหมดจะถูกนำเสนอออกมาเป็นชิ้นงานศิลปะตั้งแต่เฟอร์นิเจอร์ไปจนถึงศิลปะเชิงแนวคิด (Conceptual Art) วันนี้โว้กจึงอยากเป็นกระบอกเสียงให้กับเหล่านักเรียนแฟชั่นผู้รังสรรค์ผลงานคุณภาพที่ต่อไปจะกลายเป็นบุคลากรแฟชั่นคนสำคัญของประเทศ ซึ่งผู้เขียนหยิบชิ้นงานชุดแรกที่สื่อความหมายเข้าตามา 4 ชิ้นด้วยกัน

“Going to the nature's is going home” - อนัญญา นิวัฒน์ฐิติกุล                

     ที่ผู้เขียนชื่นชอบมากๆ เลยคือแนวคิดเรื่องบ้านและธรรมชาติของ “แบมบู-อนัญญา นิวัฒน์ฐิติกุล” ที่นำเสนอความขัดแย้งระหว่างการเจริญก้าวหน้าของมนุษย์ที่ย้อนแย้งกับการคงอยู่ของธรรมชาติ เรามองเห็นแต่ตึกสูงเสียดฟ้า อาคารกระจุกตัวดั่งป่าปูน แต่สำหรับผลงานของแบมบูที่ต้องการนำเสนอว่าการมองธรรมชาติเหมือนได้กลับบ้าน รู้สึกสบาย นำเสนอผ่านการทอเส้นใย ถักนิตติ้งและคีม ผสมผสานกับเส้นใยผ้าฝ้ายเพื่อสื่อสารความสบายดุจธรรมชาติ เพราะฉะนั้นการมองสิ่งเหล่านี้จึงเกิดความสบายเหมือนได้กลับบ้าน ไม่ใช่แค่บ้านที่เป็นสิ่งปลูกสร้าง แต่บ้านดั้งเดิมของทุกสรรพสัตว์บนโลกนี้อย่างธรรมชาติ



WATCH




“Teddy!” - จตุรพร พ่วงสุนทร

     “ความเรียบง่ายถูกสร้างด้วยความรักในอดีต” ผู้เขียนขอนิยามให้ชิ้นงานของ “จตุรพร พ่วงสุนทร” งานชิ้นนี้ดูผิวเผินอาจจะรู้สึกว่าเป็นแค่การนำวัสดุเก่ามาทำใหม่ซึ่งใครก็ทำกัน แต่เปล่าเลยความน่าสนใจอยู่ที่การนำของรักชิ้นเก่ามาสรรสร้างใหม่ ผ้าห่มลวดลายแสนเก๋ถูกประดับตกแต่งด้วยตุ๊กตาหมีในความทรงจำคือความน่าสนใจ ลองคิดภาพว่าไม่ใช่ทุกคนจะกล้าหยิบของรักของหวงในอดีตมาแปรสภาพหรือดัดแปลง โจทย์คือจะทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านั้นกลับมาสดใหม่แต่บันทึกความทรงจำไว้ได้เช่นเคย เสื้อยืดตัวเก่ากลายเป็นหน้ากาก ตุ๊กตาหมีกลายเป็นผ้าห่ม แฟชั่นไอเท็มห่อหุ้มร่างกายภายนอก แต่ความทรงจำจากของเหล่านั้นห่อหุ้มจิตใจเจ้าของผลงาน ผลงานทำให้เรารู้สึกร่วมไปกับประสบการณ์ที่สัมผัสได้จริง นี่คือเหตุผลว่าทำไมงานชิ้นนี้ถึงพิเศษ

“Bio bien-aimé” - รณิดา วรจรรยวรรธ

     กลับสู่สิ่งแวดล้อมกันอีกครั้งกับผลงานของ “รณิดา วรจรรยวรรธ” นิสิตหญิงคนนี้นำเสนอเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่อย่าเพิ่งเมินหน้าหนีเพราะความเบื่อกับเรื่องเดิมๆ แต่เธอสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมผูกโยงเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างลงตัว ปัญหาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คือเหล่าวัสดุสังเคราะห์ซึ่งส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ใช่! มันหลีกเลี่ยงการผลิตหน้ากากไม่ได้ แต่เราเปลี่ยนแปลงแนวทางได้ “Survival Kits” จาก Bio-Plastic พืชสวนภายในบริเวณบ้านคือจุดสำคัญที่เลือกผลงานชิ้นนี้ ใครเลื่อนผ่านอาจจะดูธรรมดากับหน้ากากรูปทรงไม่เนียนกริบดั่งโรงงานผลิต แต่เซ็ตสู้ภัยโรคระบาดนี้ฆ่าความเสี่ยงของโรคระบาด แต่ไม่ฆ่าธรรมชาติซึ่งต่างจากอุปกรณ์ทั่วไป เจ้าของผลงานพิสูจน์แล้วว่าธรรมชาติในโลกยุคโมเดิร์นก็ไม่ได้น่าเบื่อเสมอไป

“Ivory Venom” - ลลิน มินตราวงฆ์

     ฉีกเรื่องรักษ์โลกและความทรงจำมาปิดท้ายกันด้วยการตีความนิยามความสวยงามที่น่าสนใจ “ลลิน มินตราวงฆ์” ยกการลอกคราบของงูมาสะท้อนความสวยงามของแฟชั่น การที่เราจะผลัดร่างกายเพื่อเจริญเติบโตย่อมทิ้งร่องรอยดั่งงู เพราะฉะนั้นคราบงูจึงไม่ใช่แค่คราบใสๆ แต่สำหรับลลินคือวัสดุชั้นยอดที่นำมาต่อยอดเป็นเสื้อผ้าได้ อย่างเช่นแฟลปเปอร์เดรสจากยุค ‘20s และหมวกคลุมผม พร้อมให้ผู้สวมใส่วาดลวดลายบนฟลอร์เต้นให้สวยงามราวกับงูเลื้อยลอดทิ้งลายเอาไว้ ฉะนั้นผู้เขียนจึงเลือกผลงานชิ้นด้วยเหตุผลความแปลกใหม่ในการใช้วัสดุ และแฟชั่นยุค ‘20s ที่เป็นแฟชั่นยุคครบ 100 ปีพอดิบพอดี แฟชั่นซึ่งทรงอิทธิพลส่งผลเรื่องเทรนด์มาทุกยุคแต่กลับไม่ปรากฏบทบาทสำคัญเป็นตัวเอกอีกเลยในแฟชั่นช่วงหลังๆ หรือนิสิตคนนี้จะนำงู ‘20s (1920s) ลอกครอบมาเป็นงูแห่ง ‘20s ยุคใหม่ (2020s) นี่ล่ะคือความน่าสนใจ

 

     ท้ายที่สุดนี้โว้กอยากจะฝากให้แฟนๆ ทุกคนสนับสนุนเหล่านักเรียนแฟชั่นทุกคนไม่ว่าจะสถาบันไหน เพื่อต่อไปเราจะได้มีบุคลากรด้านแฟชั่นชั้นยอดมาพัฒนาแวดวงให้สดใหม่และเดินหน้าต่อไปได้ การเลือกผลงาน 4 ชิ้นนี้ขึ้นมานั้นเป็นการตัดสินใจของผู้เขียนเอง มิได้แปลว่างาน 4 ชิ้นนี้เหนือกว่าหรือผลงานชิ้นอื่นด้อยกว่าแต่อย่างใด ชิ้นงานศิลปะมีความสำคัญตรงความสัมพันธ์กับผู้เสพอย่างเฉพาะด้าน อย่าลืมสนับสนุนเด็กไทยของเราเอง พวกเขาคืออนาคต... งานโปรเจกต์นี้มีตั้งแต่วันนี้ถึงสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ ห้ามพลาด!

 

ติดตามชมภาพผลงานของอีก 14 คนได้ที่ด้านล่างและติดตามโปรเจกต์นิทรรศการทั้งหมดได้ที่ @imbroglio.cu

“let’s flowers talk democracy” - พรวุฒิ พิพิธภักดี

“Bangkok Nature Modern Life” - กานต์ธิดา จรณะ

“EVERYONE’S THROWAWAYS” - พิมพิ์พรรณ ชำนาญเวช

“remain— rebirth” - ขวัญณัฐพร วรชาติ

“Inside Blooms” - พัชรินทร์ กนกพนาทัต

“WASTE IS NOT WASTE” - พิชญา รัถยาวิศิษฏ์

“Error City” - ธนวัต เกิดเมืองสมุทร

“Alleviate” - ภาสิริ เอื้อมพรวนิช

“La Rondelle” - วรัสยา อภัยนิจ

“Psychedelic Effects” - นภสร พาณิชพัฒน์

“Quarantine Curator” - ไอริณ เกตน์ธัญนพ

“Embrace: Overcome the instability”- วรกมล ศรีพงษ์พันธุ์กุล

“Little artist” - สุพิชญา จีระออน

“Story of gender” - ญาณิศา แผนสนิท

 

 

voguefreemay2020

WATCH