FASHION

เกาะติดสถานการณ์โควิดของนักเรียนแฟชั่น การเปลี่ยนแปลงที่ทำร้ายวิถีชีวิตเด็กทั่วโลก

เหล่านักเรียนแฟชั่นต้องประสบชะตากรรมที่หยุดยั้งความฝัน การเรียน และเป้าหมายของชีวิต ทั้งหมดถูกขวางกั้นด้วยสิ่งเดียวคือโควิด-19

     ในช่วงเวลาที่สถานการณ์โลกดำเนินมาถึงจุดคับขัน ประชาชนของแต่ละประเทศต้องกักตัวอยู่กับบ้านออกมาเฉพาะเวลาจำเป็นเท่านั้นหรือบางประเทศล็อคดาวน์ปิดไม่ให้ออกมาทำกิจกรรมใดๆ นอกบ้านเลยด้วยซ้ำ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้การเรียนในทุกระดับชั้นต้องเปลี่ยนรูปแบบไปเช่นกัน กลุ่มนักเรียนแฟชั่นก็เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักในเรื่องนี้ วันนี้เราจะไปรับรู้แบบเจาะลึกถึงประสบการณ์ของนักเรียนแฟชั่นทั้งในไทยและต่างประเทศว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ชีวิตการเป็นนักเรียนแฟชั่นเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด และสถาบันต่างๆ นั้นมีวิธีรับมือและปรับตัวอย่างไรบ้าง โดยกลุ่มนักเรียนแฟชั่นมาจากหลากหลายสถาบันชื่อดังทั้งในอังกฤษ อิตาลี และประเทศไทย

 

     ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าไม่ใช่ทุกคนที่เรียนแฟชั่นจะเรียนแฟชั่นดีไซน์หรือออกแบบแฟชั่นเท่านั้น แต่แฟชั่นมีแง่มุมหลายแขนงมากกว่านั้นเช่นเรื่องการทำธุรกิจ ประวัติศาสตร์แฟชั่น การตลาด และแน่นอนขาดไม่ได้ก็คือการออกแบบนี่ล่ะ เพราะฉะนั้นแต่ละคนจึงมีเป้าประสงค์และความสนใจในการเรียนแฟชั่นที่ไม่เหมือนกัน บ้างก็ว่าอยากเรียนเพราะอยากเข้าใจภาพรวมการสื่อสารของแบรนด์เรื่อยไปจนถึงภาพลักษณ์การสร้างแบรนด์ บ้างก็เป็นเรื่องที่ตนเองซึบซับมาตั้งแต่เด็ก บ้างก็เข้ามาเรียนด้วยแรงผลักดันเรื่องการใฝ่รู้ศิลปะแขนงย่อยในแฟชั่น เช่นการถ่ายภาพหรือจัดเซตติ้งต่างๆ สิ่งเหล่านี้จึงทำให้พวกเขาเลือกเรียนไม่เหมือนกัน ต่างวิชา ต่างสถานที่ และที่สำคัญในยามคับขันเช่นนี้พวกเขาก็ได้รับผลกระทบที่มีทั้งเหมือนและต่างกันอย่างปฏิเสธไม่ได้

ต้า-ธนกร ฮาสุวรรณกิจ นักเรียนแฟชั่นชาวไทยที่ลอนดอน

     เราจะเริ่มกันที่รายวิชาจำพวกเลคเชอร์ในคลาสกันก่อน ไม่ว่าจะเรียนแขนงใดก็แล้วแต่เหล่านักเรียนแฟชั่นจะต้องเข้าคลาสเลคเชอร์เพื่อฟังข้อมูลพื้นฐานและเนื้อหาการเรียนการสอนตามรายวิชานั้นๆ คนอาจจะคิดว่าการเรียนแฟชั่นแทบจะไม่มีการเลคเชอร์ แต่เปล่าเลยนี่คือหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้ข้อมูลทุกอย่างที่ควรจะรู้ถูกซึบซับเพื่อสร้างผลงานหรือเรียนรู้ในวิธีการแบบอื่นต่อไป กลายเป็นว่าคลาสในห้องเรียน การถกเถียงเรื่องแฟชั่น ความรู้พื้นฐานเชิงธุรกิจหรือการสื่อสารผ่านสื่อต่างๆ นั้นถูกยกเลิก การแสดงความคิดเห็นแบบเรียลไทม์ในโลกความเป็นจริงเปลี่ยนรูปแบบไปเมื่อโควิด-19 คืบคลานเข้ามา คลาสเหล่านี้ถูกปรับเป็นการเรียนการสอนออนไลน์ซึ่งเรื่องนี้ไม่ว่าจะนักเรียนไทยหรือนักเรียนต่างประเทศได้รับผลกระทบแบบเดียวกัน

ฟาง นักเรียนแฟชั่นจากมิลานเพียงหนึ่งเดียวในบทความนี้

     แต่ที่ได้รับกระทบอย่างเต็มที่เลยคือวิชาการเรียนการสอนภาคปฏิบัติและการปฏิสัมพันธ์ทางตรง ฟางนักเรียนแฟชั่นคนไทยในสถาบัน Istituto Marangoni – Milan Campus เผยกับเราว่าโดยปกติเธอต้องทำงานกลุ่มเป็นโปรเจกต์อย่างสม่ำเสมอ มีการทำแคมเปญถ่ายแฟชั่นเซตต่างๆ แต่สถานการณ์เริ่มไม่ค่อยดีเธอก็ต้องบินกลับมาทันที โชคดีที่เธอบินกลับมาก่อนจะมีการแพร่ระบาดอย่างจริงจัง แต่การเรียนภาคปฏิบัติทั้งหมดก็หายไปและความรับผิดชอบแบบข้ามทวีปก็กลายเป็นภาระอันหนักหน่วง เช่นเดียวกับต้านักเรียนแฟชั่นจาก Central Saint Martins ในกรุงลอนดอนก็เผยว่าโดยปกติแล้วเขาเรียนเกี่ยวกับการสื่อสารและโปรโมชั่น เพราะฉะนั้นงานหลักคือการถ่ายภาพ “มันยากมากที่จะปฏิบัติงานในสภาวะแบบนี้และแน่นอนว่ามันแทบหาแรงบันดาลจากโลกภายนอกไม่ได้เลย” ซึ่งโควิดยิ่งทวีฤทธิ์เดชขึ้นเมื่อเรื่องนี้เกิดขึ้นกับนักเรียนสาขาออกแบบ ฟ้าจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกกับเราว่า “เมื่อก่อนเราคุ้นเคยกับสำเพ็ง พาหุรัด และเจริญรัถมาก เพราะต้องไปซื้อของทำงานตลอด มีการเดินทางไปคุยกับช่างเสื้อ แต่เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้วิชาเชิงปฏิบัติทั้งหมดมีปัญหาทันที” เธอไปซื้ออุปกรณ์เพื่อปฏิบัติงานไม่ได้ จากการลงมือสรรสร้างงานออกแบบจึงเปลี่ยนรูปแบบมาเน้นการสเกตช์ภาพและเพิ่มเติมกระบวนคิดเป็นหลักซึ่งแตกต่างจากวิถีการเรียนออกแบบก่อนหน้านี้อย่างมากเลยทีเดียว



WATCH




ซาซ่า นักเรียนแฟชั่นสัญชาติไทย-อเมริกัน ผู้เดินทางไปเรียนแฟชั่นถึงลอนดอน

     นอกจากการเรียนแล้วนั้นการฝึกงานรวมถึงการทำงานจริงยังเป็นเรื่องสำคัญต่อนักเรียนแฟชั่นซึ่งโควิดมาโอกาสทุกอย่างก็แทบจะหลุดลอยไป อย่างเช่น ซาซ่าจาก Istituto Marangoni – London Campus บอกกับเราว่าจริงๆ เธอจะได้ฝึกงานที่ Karla Otto London ในอังกฤษแล้วแต่ก็ยกเลิกทั้งหมด จีน เพื่อนจากสถาบันเดียวกันก็ตอบด้วยความเสียดายว่าต้องกลับมาเรียนออนไลน์ที่ไทยแทนที่จะได้เจอผู้บรรยายรับเชิญคนดังและประสบการณ์สูงในอุตสาหกรรมแฟชั่นต่างๆ เท่านั้นยังไม่พอฝั่งมิลานอย่างฟางก็พลาดโอกาสที่จะได้รับการคัดเลือกเข้าฝึกงานกับแบรนด์ดังจากอิตาลี ซึ่งช่วงเวลานี้ใกล้ที่แบรนด์ยักษ์ใหญ่จะมาดูตัวเด็กแฟชั่นเพื่อเลือกไปฝึกงานแล้ว แต่ด้วยสถานการณ์ความวิกฤติประกอบกับเม็ดเงิน (ตามกฎหมายที่อิตาลีการฝึกงานจะต้องมีการจ่ายค่าจ้าง) ทำให้แผนทั้งของเด็ก แบรนด์ และสถาบันล้มลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ฟ้า ศึกษาแฟชั่นในฐานะนิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

     สถานการณ์ในไทยเองก็ต้องบอกว่าโหดร้ายต่อทุกฝ่ายไม่แพ้กัน ฟ้าและน้ำ นิสิต 2 คนจากจุฬาฯ กล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า เรียนออนไลน์แต่ยังต้องส่งงานอยู่ตลอด ยกเลิกไปเฉพาะงานที่ต้องใช้วัสดุเพื่อรังสรรค์ขึ้นมาอย่างจริงจังและที่สำคัญคือการฝึกงานซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของการเรียนสายนี้มาก หน้าพอร์ตโฟลิโอจะถูกเติมเต็มและกรุยทางสู่อนาคตอันสวยงาม รวมถึงโชว์ธีสิสก็เช่นกัน ตอนนี้หลายมหาวิทยาลัยประกาศยกเลิกเป็นที่เรียบร้อย ด้วยเหตุผลข้อจำกัดต่างๆ แม้แต่งานพรีธีสิสตอนนี้ก็ไม่มีอะไรใส่ในพอร์ตเลย น้ำเน้นย้ำอีกครั้งถึงการเปลี่ยนแปลงที่พวกเธอได้รับผลกระทบโดยตรง

จีน นักเรียนแฟชั่นไทยอีกหนึ่งคนจากลอนดอน

     Active Class > Passive Class  เรื่องนี้คอขาดบาดตายมากต่อเหล่านักเรียนแฟชั่น เราไม่ได้กำลังพูดถึงแค่การถามตอบ แต่หมายถึงบรรยากาศการมีส่วนร่วมในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเชิงเนื้อหาการบรรยายหรือการปฏิบัติก็ตาม แต่การเรียนออนไลน์ทำให้ความแอกทีฟตรงจุดนี้หายไป ความพาสซีฟเข้ามาแทนที่นั่นหมายความว่าทุกคนต้องเรียนผ่านการไลฟ์สตรีมมิ่งซึ่งช่วงแรกนั้นต้องบอกว่ามีปัญหามาก เพราะอย่างจีนกลับมาจากลอนดอน เวลาห่างกับประเทศไทย 7 ชั่วโมง (เวลาฤดูหนาว) ทำให้บางครั้งคลาสเรียนอาจถูกยืดไปถึงตี 3 ซึ่งถือเป็นเรื่องหนักหน่วงมาก (แต่ภายหลังมีการปรับเปลี่ยนไม่จำเป็นต้องเรียนสด) และอีกปัจจัยคือต้องบูสต์ตัวเองเพิ่มมากกว่าปกติด้วยสภาพแวดล้อมที่บ้านไม่เหมาะกับการเรียนการสอนเท่าในสถาบันแน่นอน

น้ำ นักเรียนแฟชั่นรั้วจุฬาฯ เช่นเดียวกับ ฟ้า

     นอกจากสถานการณ์เรื่องการเรียนแล้วนั้นยังมีสถานการณ์ความตึงเครียดในสภาวะทางจิตใจ โดยปกติเหล่านักเรียนแฟชั่นหรือสาขาที่เกี่ยวกับความสร้างสรรค์มักต้องออกเดินทางเพื่อหาแรงบันดาลใจ อินเทอร์เน็ตมีข้อมูลแต่ก็ไม่สามารถทดแทนประสบการณ์จริงได้อย่างแน่นอน รวมถึงสถานการณ์บางอย่างที่โควิดบีบบังคับเสียเหลือเกิน เช่น ซาซ่าเธอต้องทิ้งของส่วนใหญ่ไว้ที่ลอนดอนเพราะบินกลับมาด่วน โดยตอนนี้ยังไม่มีวี่แววจะได้กลับไปเอาของเหล่านั้นกลับมาเลย

น้ำแข็ง นักเรียนแฟชั่นในไทยอีกหนึ่งคนที่เผยข้อมูลกับเราในครั้งนี้

     ส่วนการเปลี่ยนแปลงไม่ได้มีแต่ข้อเสียเรายังสามารถมองเชิงบวกได้อยู่เหมือนกัน ถึงแม้ต้าจะกลับมาอยู่เมืองไทยและต้องปรึกษาโปรเจกต์แบบตัวต่อตัวกับอาจารย์ที่ปรึกษา แต่นักเรียนแฟชั่น CSM จะได้แสดงผลงานในช่องทางออนไลน์ซึ่งถือเป็นรุ่นแรกที่จัดแสดงเพื่อดิจิทัลอย่างจริงจัง ล้อไปกับการปรับลอนดอนแฟชั่นวีกสู่ดิจิทัลเต็มตัวในปีนี้ ในมุมมองของ น้ำแข็ง นิสิตออกแบบแฟชั่นจากรั้วมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒกล่าวว่า “เราก็ต้องลองมานั่งคิดว่าอาจจะต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่กับงานของเราว่าเราสามารถพัฒนาต่อได้หรือไม่ จริงๆ การที่สถานการณ์เปลี่ยน มันอาจจะทำให้เราได้ชิ้นงานและแนวคิดที่จุดประกายใหม่ และดีมากยิ่งขึ้นก็เป็นไปได้ค่ะ”

 

     สุดท้ายทุกคนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กันทั้งโลก บทความนี้เป็นเพียงการนำเสนอแง่มุมหนึ่งของเหล่านักเรียนแฟชั่นที่ได้รับผลกระทบจนชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงไปและส่งผลถึงอนาคตในสายอาชีพนี้ต่อไปด้วย หลายคนพลาดโอกาสสำคัญ หลายคนหมดหนทางเดิน หลายคนใช้เวลาในการปรับตัวนาน  ทุกคนล้วนเจอปัญหา ไม่ว่าหนักหรือเบา ขอให้ผ่านช่วงเวลาแห่งความยากลำบากไปพร้อมกัน ไม่ได้หมายถึงแค่บุคลากรในแวดวงแฟชั่นเท่านั้น แต่หมายถึงทุกๆ คนบนโลก “เราต้องชนะ”

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ซาซ่า-อเล็กซานดรา บิชท์: กำลังศึกษา Fashion Promotion, Communication and Media ที่ Istituto Marangoni – London Campus

จีน-กุลกันยา สถิตในธรรม: กำลังศึกษา Fashion and Luxury Brand Management ที่ Istituto Marangoni – London Campus

ฟาง-ณิชารัศม์ สิริพิทักษ์โชติ: กำลังศึกษา Fashion Business Communication and New Media ที่ Istituto Marangoni – Milan Campus

ต้า-ธนกร ฮาสุวรรณกิจ: กำลังศึกษา Fashion Communication and Promotion ที่ Central Saint Martins

ฟ้า-ญาณิศา แผนสนิท: กำลังศึกษา คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาวิชานฤมิตศิลป์ เอกแฟชั่นและสิ่งทอ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

น้ำ-วรัสยา อภัยนิจ: กำลังศึกษา คณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาวิชานฤมิตศิลป์ เอกแฟชั่นและสิ่งทอ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

น้ำแข็ง-ธนาภรณ์ ธรรมชีวัน: กำลังศึกษา วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เอกออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

 

voguefreemay2020

WATCH

คีย์เวิร์ด: #COVID-19