FASHION
กะเทาะที่มา 'New Look' ของ Dior กับความจริงที่ว่าชื่อนี้เกิดขึ้นจากคำอุทานเพียงประโยคเดียว!
|
เนื้อหาสำคัญ
- ในวันที่สงครามปะทุขึ้นอย่างดุเดือด โลกแฟชั่นเต็มไปด้วยความเงียบสงัดแต่ก็มีดีไซเนอร์ที่พร้อมชุบชีวิตแฟชั่นขึ้นมาอีกครั้ง
- จากมุมมองการสรรเสริญชุดแห่งการปฏิวัติที่เห็นกันได้ทั่วไปโดยเฉพาะในจารึกประวัติศาสตร์ แต่ในอีกมุมหนึ่งมันกลับถูกนิยามว่าเป็น “ขยะ”
- ความอัจฉริยะที่นำมาแฟชั่นปีนกลับจากหลุมนรกแห่งความสงคราม การเล่าประวัติศาสตร์ทุกมุมมองพร้อมความอาลัยรักถึง “Christian Dior”
________________________________________________________
เมื่อพูดถึงการปฏิวัติวงการแฟชั่นในแต่ละยุคแต่ละสมัยจะมีชื่อของดีไซเนอร์ระดับตำนานโผล่ขึ้นมาในหน้าประวัติศาสตร์เสมอ ความขบถ ไอเดียสุดสร้างสรรค์ ฝีมือการตัดเย็บชั้นครู และอีกหลายองค์ประกอบที่ทำให้นักออกแบบหญิง-ชายกลายเป็นกุญแจสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโลกแฟชั่น และการเปลี่ยนแปลงแต่ละครั้งเองก็ทำให้โฉมหน้าของโลกแฟชั่นในอนาคตเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ยิ่งพูดคำว่าโดดเด่นและเปลี่ยนแปลงสาวกแฟชั่นคงไม่มีใครไม่รู้จัก “New Look” คำเรียกชุดง่ายๆ แต่ซ่อนไปด้วยความซับซ้อนและที่มาอันเร้นลับบางอย่าง วันนี้เราจะพาแฟนโว้กทุกคนนั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไปหาสุดยอดลุคในประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนโฉมวงการแฟชั่นไปตลอดกาล
ความละเอียดละออในการสร้างสรรค์ผลงานของ Christian Dior / ภาพ: Art Fund
ย้อนกลับไปเล่าถึงผู้ออกแบบอย่าง Christian Dior กันสักหน่อย เด็กหนุ่มจากตะวันตกเฉียงเหนือของฝรั่งเศส เขาเกิดในครอบครัวฐานะค่อนข้างดี แต่ทว่าความถนัดและชื่นชอบเรื่องศิลปะรวมถึงการออกแบบสวนทางกับค่านิยมสมัยนั้น ชนชั้นสูงต้องเรียนรัฐศาสตร์การทูต พ่อคริสเตียนจึงส่งเขาไปเรียนการทูต ณ Des Sciences Politiques หรือเรียกสั้นๆ ว่า Sciences Po (ซิญอง โป) แต่ก็ไม่รุ่งนัก ไม่มีวี่แววสำเร็จในเส้นทางนี้เสียเท่าไหร่ จนแล้วจนรอดเขาก็ทำสำเร็จแต่ไม่ใช่การเป็นทูตแต่เป็นการเปิดแกลอรี่ตามความตั้งใจ แต่ก็เจอมรสุมชีวิตเรื่องการจากไปของแม่และทรัพย์สินที่เคยมีกินมีใช้หายเกลี้ยงจากภาวะล้มละลายของพ่อ เขาไม่รู้หรอกว่าความสำเร็จรอเขาอยู่ภายภาคหน้า เขายังคงยึดมั่นในสิ่งที่เขาชอบแม้สถานะตอนนั้นจะไม่ต่างกับคนไร้บ้าน งานออกแบบถูกร่างขึ้นทุกวัน ทุกเวลา กระทั่งได้ทำเสื้อผ้ากับโอต์ กูตูร์เฮาส์จนได้รับความนิยมอยู่พอสมควร กราฟชีวิตค่อยๆ ดีขึ้นแต่ก็สั่นคลอนไปด้วยแรงสั่นสะเทือนของสงครามไปในเวลาเดียวกัน อีกไม่กี่อึดใจสิ้นเสียงประกาศชัยของฝั่งสัมพันธมิตรเพียงไม่นาน คริสเตียนประกาศตนเป็นผู้ปฏิวัติชีวิตตัวเองจากครอบครัวทูตนิยมแบบเก่าและโลกแฟชั่นยุคสงครามอันแร้นแค้น เขานี่ล่ะคือผู้เปลี่ยนแปลงตัวจริง! (อ่านประวัติแบรนด์ Dior แบบเต็มๆ ที่นี่)
เสื้อผ้าสตรีสมัยยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ถูกลดทอนความซับซ้อนลงไป / ภาพ: Women Fashion Dresses
“New Look” ชื่อแสนง่ายแปลตรงตัวว่าลุคใหม่นี้มันพิเศษอย่างไร หลายคนอาจจะรู้เหตุแล้วว่าทำไมชุดนี้จึงถูกเรียกว่าชุดแห่งการปฏิวัติวงการแฟชั่นช่วงยุคหลังสงคราม (Post-War) เราจะกล่าวถึงที่มาอย่างคร่าวๆ ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่ายุคแห่งสงครามย่อมมีความอดอยากขาดเหลือกันอยู่แล้วเป็นปกติ ปัจจัย 4 ถูกทวีความต้องการ เพราะฉะนั้นเรื่องแฟชั่นจึงกลายเป็นเรื่องรองและไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญมากนัก เพราะสุดท้ายทุกคนจะคาดหวังกับเสื้อผ้าราคาถูก ใช้งานได้จริงโดยไม่ได้สนเรื่องของดีไซน์และความหรูหราเท่าไหร่นัก นับว่ายุคสงครามโดยเฉพาะสงครามโลกครั้งที่ 2 คือยุคแห่งความอับเฉาแห่งโลกแฟชั่นอย่างแท้จริง ผู้หญิงเปลี่ยนมุมมองความสวยงามใหม่และต้องพอใจกับแค่เสื้อ กางเกง และกระโปรงแบบกระฉับกระเฉงเท่านั้น
WATCH
New Look ที่เราคุ้นเคย ไม่ว่าจะเสิร์ชหาข้อมูลประวัติศาสตร์แฟชั่นเมื่อไหร่ ลุคนี้มักจะปรากฏขึ้นมาบนหน้าผลลัพธ์เสมอ / ภาพ: MANIFESTO
คริสเตียน ดิออร์ผู้รังสรรค์เสื้อผ้าระดับโอต์ กูตูร์เริ่มคิดและตั้งคำถามว่าท้ายที่สุดแล้วแฟชั่นที่อย่างน้อยจะต้องเสิร์ฟคนชนชั้นสูง ณ เวลานั้นจำเป็นต้องถูกกรอบไว้ในรูปแบบชุดทะมัดทะแมงจริงหรือ...หลังจบสงครามเพียง 2 ปี วันที่ 12 กุมภาพันธ์ปี 1947 ความเป็นปฏิปักษ์(ซึ่งเป็นสิ่งที่คริสเตียนถนัด) ต่อยุคสมัยได้ถือกำเนิดขึ้นและแสงสปอตไลต์ทุกดวงสาดแสงเข้ามาจากรอบทิศทาง คริสเตียนไม่รู้หรอกว่ามันจะออกมายอดเยี่ยมหรือยอดแย่เมื่อเขาสวนกระแสสังคมขนาดนั้น แต่ที่แน่ๆ เขาได้รับความสนใจราวกับว่าเป็นเทวดาลงมาจากสวรรค์เชียวล่ะ
Carmel Snow อดีตบรรณาธิการบริหารโว้กอเมริกาช่วงปี 1923-1933 ขณะพูดคุยกับผู้ก่อตั้งแบรนด์ Balenciaga แสดงให้เห็นเป็นหลักฐานยืนยันถึงความใกล้ชิดและทรงอิทธิพลต่อดีไซเนอร์ระดับตำนานหลายคน / ภาพ: LIFE Archives
เชื่อไหมคำว่า “New Look” เป็นชื่อที่เกิดจากคำอุทานเพียงประโยคเดียว! ใช่...คริสเตียนไม่ได้คิดคำเรียกชุดนี้ขึ้นมาเองตั้งแต่แรก แท้จริงแล้วในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 1947 เขาปล่อยคอลเล็กชั่น Spring/Summer ประจำปีนั้นในชื่อ “Corolle” แต่ทว่า Carmel Snow ผู้ทรงอิทธิพลทางแฟชั่นในขณะนั้นอุทานถึงคอลเล็กชั่นนี้ว่า “It’s such a new look!” และนั่นก็เป็นที่มาของการเรียกคอลเล็กชั่นอันน่าตื่นเต้นว่า “New Look” ซึ่งคาร์เมลยังเสริมอีกด้วยว่า “นี่คือการปฏิวัติ(วงการแฟชั่น)” หลังจากข้อความนี้ถูกแพร่กระจายไปทั่ว ลุคนี้กลายเป็นลุคประวัติศาสตร์ คอลเล็กชั่นแห่งความทรงจำในฐานะการรื้อฟื้นศิลปะชั้นสูงและเสน่ห์ของแฟชั่นหลังจากซบเซาจากผลพวงแห่งสงคราม แต่ที่น่าเสียดายคือชื่อจริงของคอลเล็กชั่นนี้ค่อยๆ ถูกลืมเลือนหายไปอย่างช้าๆ จนวันนี้แทบไม่มีใครรู้จัก “Corolle” อีกแล้ว...
อีกหนึ่งลุคในคอลเล็กชั่นปฏิวัติวงการของ Dior / ภาพ: Willy Maywald
ความยอดเยี่ยมของนิวลุคคือการลดทอนความเป็นแมสคิวลีนในแฟชั่นสมัยนั้นซึ่งเป็นการบั่นทอนเสน่ห์ในตัวของผู้หญิงทุกคน ฉะนั้นการเพิ่มแง่มุมด้านความเฟมินีนทำให้ผู้หญิงจะกลับมาสวยสง่าในแบบที่ไม่ต้องยึดติดกับความคล่องแคล่วยุคสงครามอีกแล้ว แต่ใช่ว่านิวลุคจะต้องลำบากลำบน เสื้อเข้าเอวแมตช์เข้ากับชุดกระโปรงยาวจับระบายอย่างประณีต ซิลูเอตต่างๆ ถูกคำนวณมาอย่างเหมาะเจาะ “ทุกอย่างดูสอดรับกันไปหมด ไม่มีเหลี่ยมมุมให้น่าขัดใจ ไหล่ก็โค้งแนบเนียนแสดงถึงความละเอียดลออที่หาไม่ได้จากหลายปีก่อนหน้า” คาร์เมล สโนว์เสริมถึงชุดนี้อีกระลอก กว่าจะมีนิวลุคเสื้อผ้าบ่งบอกคาแรกเตอร์ของยุคสมัยก่อนหน้าได้อย่างดิบดีว่ามันไม่ใช่ยุคที่ดีแน่ แต่คริสเตียน ดิออร์ฟื้นคืนชีพคำว่า “แฟชั่น” อีกครั้ง
Sir Stafford Cripps ผู้ต่อต้าน New Look และนิยามให้มันเป็นขยะอันสิ้นเปลือง / ภาพ: BBC Archives
“แฟชั่น” หรือ “ขยะ” คำจั่วหัวสุดรุนแรงที่คริสเตียนต้องเผชิญเมื่อเรียกเสียงฮือฮาและปลุกกระแสการออกแบบเสื้อผ้าจากนิวลุค แน่นอนเหรียญมี 2 ด้าน คนย่อมมองและตีความสิ่งนั้นไม่เหมือนกัน หลายมองว่านี่คือความหวังใหม่แห่งโลกแฟชั่นที่ขาดไม่ได้ ในขณะที่ Sir Stafford Cripps ถึงกับโมโหโกรธาอย่างหนักและลั่นวาจาไว้ว่า “ควรจะมีกฎหมายสำหรับเรื่องนี้ (ขยะอันสิ้นเปลืองจากการผลิตนิวลุค)” เหตที่โดนวิจารณ์อย่างหนักเพราะนิวลุคแต่ละชุดนั้นต้องใช้ผ้ายาวกว่า 25 หลาเพื่อตัดกระโปรงและยังไม่นับส่วนอื่นๆ จำนวนผ้าขนาดนี้นับว่าเยอะมากเมื่อเทียบกับความแร้นแค้นของคนในสังคมยุคนั้น สภาวะเพิ่งฟื้นจากสงครามไม่ได้แปลว่าเศรษฐกิจและมุมมองความงามจะไต่กราฟตามความคิดของคริสเตียนขึ้นไป ระยะเวลาเพียง 2 ปีไม่ได้กอบกู้ความรุ่งเรืองในทุกทางได้รวดเร็วขนาดนั้น
อีกหนึ่งชุดที่ใช้ผ้าจำนวนมหาศาลประกอบกับเทคนิคอันสุดยอดของ Christian Dior / ภาพ: Indenpent UK
คริสเตียนเจอคำถามถาโถมมาหนักหน่วงแต่ก็ไม่ล้มเลิกความตั้งใจสร้างสรรค์นิวลุคต่อไป คอลเล็กชั่นต่อมาดีไซเนอร์ยอดฝีมือรังสรรค์ความขั้นกว่าให้กับนิวลุคด้วยเทคนิคที่ซับซ้อนขึ้น การใช้ผ้าที่เยอะขึ้นมากยิ่งโดนจับตามอง แต่ “ขยะ” ของคริสเตียนนั้นกลายเป็นสัญลักษณ์ของคนรุ่นใหม่และความหวัง เปรียบเสมือนแสงสว่างปลายอุโมงค์เวลาที่ยืดยาวเกือบ 7 ปี (1939-1945) ซึ่ง “ขยะ” ชิ้นนี้ถูกสั่งออเดอร์มาจากทั่วทุกสารทิศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรปและอเมริกา เหตุผลคงเกิดจากความอัดอั้นด้านทัศนศิลป์เชิงแฟชั่นที่ถูกปิดกั้นมาอย่างยาวนาน วัสดุถูกจำกัดให้ใช้อย่างน้อยนิด ความสนุกของแฟชั่นที่แทบจะเป็นศูนย์ทำให้สายแฟยุคนั้น (ที่รอดจากสงคราม) แทบจะเป็นบ้า
ชุดกระโปรงที่มีการเข้าเอวลักษณะคล้ายการใส่คอร์เซตยุคโบราณ จึงเป็นเหตุให้ถูกวิจารณ์อีกประเด็นหนึ่ง / ภาพ: Vogue Magazine (Pinterest)
แต่ดีไซเนอร์ผู้ตีกรอบข้อบังคับแตกกระจายก็มิวายโดนวิจารณ์ในเรื่องความล้าสมัยจากรูปทรงคล้ายกับคอร์เซตของเสื้อซึ่งสะท้อนถึงการสร้างบรรทัดฐานความงามโดยมีรากเหง้าจากความทรมานของผู้หญิง มีผู้คนประท้วงมากมาย แน่นอนว่าการปฏิวัติต้องมีการปะทะและนี่คือการปะทะกันทางความคิดเพื่อเกิดสิ่งใหม่ของโลกแฟชั่น แรงบันดาลใจจากชุดนี้ยังคงหลงเหลือเป็นรากฐานให้กับแฟชั่นยุคปัจจุบัน นิวลุคคือความอมตะในรูปแบบที่ไม่มีใครลืม เชื่อไหมว่าในปลายยุค ‘50s ที่คริสเตียนปล่อยเสื้อผ้าเปลี่ยนมิติโลกแฟชั่น ชุดนี้มีราคาสูงถึง 1,000 ปอนด์หรือถ้าเทียบกับสมัยปัจจุบันคงเหมือนกับการถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 เลยทีเดียว นับว่าเป็นความสุดยอดการออกแบบและป่าวประกาศว่าความอู้ฟู่หรูหราพร้อมจะกลับมาโดยไม่จำเป็นต้องเป็นชุดเดรสหรือความเวอร์วังอลังการแบบสมัยวิกตอเรียน และแฟชั่นเองจะต้องไม่หยุดแม้จะเจออุปสรรคใดก็ตาม
Elle Fanning กับ New Look ในเทศกาลหนังเมืองคานส์ปี 2019 / ภาพ: Vogue US
ผู้คนยังมองหาความสวยงามตามมิติของแฟชั่นแต่ละยุคอยู่เสมอ แต่นิวลุคไม่เคยหลุดออกไปจากทั้งหน้าประวัติศาสตร์และบรรทัดฐานความสวยงามของแฟชั่น คริสเตียนสร้างไอคอนิกพีซที่เรียกว่าอมตะเหนือกาลเวลา “ขยะ” แสนแพงในคอลเล็กชั่นที่คนจำชื่อจริงไม่ได้ในวันนั้นเริ่มพลิกโลกด้วยการอุทานเพียงประโยคเดียว และชื่อจากการอุทานนั้นกลายเป็นสิ่งที่คนจดจำ แม้หญิงสาวผู้สง่าสงามหลายคนจะนำมันมาสวมในยุคไหนก็ตามชื่อของนิวลุคและผู้ออกแบบยังคงเปล่งประกายและออกเสียงแนะนำตัวโดยที่ไม่ต้องมีการอัดเสียงหรือเขียนกำกับไว้ อย่างล่าสุดเช่น Elle Fanning ในเทศกาลหนังเมืองคานส์ปี 2019 คือตัวอย่างคือการเปล่งเสียงอีกครั้งจะไอคอนิกพีซตั้งแต่ปี 1947 (อ่านสกู๊ปได้ ที่นี่) และวันนี้เราก็เลือกหยิบยกเรื่องราวความพิเศษของนิวลุคมาให้ทุกคนได้อ่านอีกครั้งเพื่อเป็นการรำลึกเนื่องในโอกาสครบรอบการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของสุดยอดดีไซเนอร์ผู้เปลี่ยนโลกแฟชั่นหลังสงครามโลก “คริสเตียน ดิออร์”
WATCH