FASHION

เปิดประวัติแบรนด์ Dior จากวันที่ล้มละลาย จนกลายเป็นตำนาน

     เชื่อแน่ว่าเมื่อใดก็ตามที่วงสนทนาของเหล่าสาวๆ สายแฟ(ชั่น) ได้เริ่มเอ่ยถึงเรื่องราวของแบรนด์ดังระดับโลกขึ้นมา หนึ่งในรายชื่อที่โพล่งออกมาจากปากของสาวๆ อย่างออกรสนั้น ก็คงต้องรวมไปถึง แบรนด์แฟชั่นตลอดกาลอย่าง Dior ด้วยเป็นแน่... ดิออร์คือแบรนด์ดังตลอดกาลที่ได้รับการก่อตั้งขึ้นโดยชายอัจฉริยะชาวฝรั่งเศสผู้ไม่ย่อท้อ Christian Dior ในช่วงปลายปี 1940s นั่นเอง และแม้ว่าในปัจจุบันนี้ คริสเตียน ดิออร์ จะได้จากโลกนี้ไปแล้วก็ตาม หากเรื่องเล่า และตำนานของผลงาน รวมไปถึงชื่อเสียงของเขาก็ยังคงเป็นที่จดจำ และได้รับการจารึกไว้บนหน้าประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมแฟชั่นแล้วเรียบร้อย ในฐานะของชายผู้เปลี่ยนชีวิตของสุภาพสตรีในโลกแฟชั่นไปตลอดกาล...

ภาพ : Dior VTG

 

     คริสเตียน ดิออร์ เกิดเมื่อวันที่ 21 มกราคม ปี 1905 ณ เมืองกร็องวิลล์ ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศฝรังเศส ในครอบครัวของผู้มีอันจะกัน สองสามีภรรยานามว่า เมเดอลีน และ มอริส ดิออร์ เมื่อหวนเวลากลับไปสู่วัยเด็กของเขาแล้วนั้น เราต่างพบว่า คริสเตียนเป็นเด็กชายผู้เรียบร้อย และละเอียดอ่อนอย่างน่าประหลาด งานอดิเรกที่แตกต่างจากเด็กวัยเดียวกันก็เห็นจะเป็นการชื่นชอบออกแบบ และตกแต่งบ้าน และเมื่อโตขึ้นมาสักหน่อยจิตวิญญาณของศิลปินที่ไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือดของเขาอย่างเต็มเปี่ยมนั้น ก็เริ่มแสดงให้หลายคนได้ประจักษ์ เมื่อความชื่นชอบของเขายังไปเกี่ยวข้องกับ ศิลปะการเต้นบัลเลต์ และงานจิตรกรรม อีกทั้งหลายคนในละแวกบ้านของเขายังรู้จักคริสเตียนในฐานะของนักออกแบบเสื้อผ้าให้กับคนในครอบครัว กระทั่งเมื่อคริสเตียน ก้าวเท้าเข้าสู่ช่วงเวลาวัยรุ่น เขาคือคนที่คลั่งไคล้กับชีวิตในแวดวงผู้เชี่ยวชาญทางด้านศิลปะอย่างโงหัวไม่ขึ้น คริสเตียนมักจะแอบครอบครัวเข้าไปพบปะพูดคุยกับเหล่าผู้เชี่ยวชาญทางด้านศิลปะอยู่บ่อยครั้งในบาร์ หรือแกลอรี่สักแห่ง หนึ่งในนั้นยังรวมไปถึงจิตรกรรมระดับโลกอย่าง ปิกัสโซ่ อีกด้วย

ภาพ : Elephant.art

 

     กระนั้นชีวิตมนุษย์ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป เมื่อพ่อของเขาได้เอ่ยคำขาด หักเหเส้นทางชีวิตของเขา ด้วยการบังคับให้คริสเตียนเลือกเรียนวิชานักการฑูต ณ โรงเรียนรัฐศาสตร์ Des Sciences Politiques ตามประสาชาวฝรั่งเศสที่มีอันจะกิน ทว่าเมื่อเวลาล่วงเลยมาถึงปีที่ 4 คริสเตียนก็ยังดูไม่มีวี่แววว่าจะประสบความสำเร็จในเส้นทางสายนี้ที่พ่อของเขาเป็นผู้ขีดเขียนให้ ดังนั้นพ่อของเขาจึงยอมล้มเลิกความตั้งใจ หากก็ยังไม่เคยเห็นด้วย หรือสนับสนุนสายเลือดศิลปินที่มีอยู่ในตัวของคริสเตียนแม้แต่น้อย กระทั่งเมื่อครั้งที่คริสเตียนเริ่มตัดสินใจเปิดห้องแสดงภาพเขียนเป็นของตัวเอง พ่อของเขายังยื่นคำขาดห้ามนำชื่อ ดิออร์ มาเกี่ยวข้องกับแกลอรี่แห่งนี้ในกรุงปารีสเด็ดขาด เพราะครอบครัวเขายังยึดติดกับค่านิยมที่รับไม่ได้กับอาชีพค้าขายด้อยค่าเช่นนี้ หากในช่วงแรกนั้น กิจการแกลอรี่เป็นไปได้อยากราบรื่น จนกระทั่งเมื่อคริสเตียนต้องสูญเสียแม่ อีกหนำซ้ำยังโชคร้ายที่พ่อของเขายังต้องประสบกับสภาวะล้มละลายจากตลาดหุ้น ดังนั้นแล้วไม่เพียงแต่แกลอรี่ของเขาที่ต้องปิดตัวลงอย่างน่าเสียดาย หากชีวิตที่เคยรุ่มรวยด้วยทรัพย์สินเงินทองก็ต้องถูกพรากไปด้วยเช่นกัน คริสเตียนไม่ต่างอะไรจากคนไรบ้าน ต้องพึ่งพาอาศัยเพื่อนฝูง ทั้งด้านที่อยู่อาศัย และอาหารอยู่พักใหญ่ หนึ่งในเพื่อนเหล่านั้นก็คือ Jacques Ozenne ผู้เป็นนักวาดภาพประกอบและสอนให้คริสตียนเขียนแบบอย่างไรให้สมบูรณ์ จนจุดประกายความฝันด้านศิลปะของเขาขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากมรสุมชีวิตครั้งใหญ่ได้ผ่านพ้นไป



WATCH




ภาพ : AFP

 

     คริสเตียนพัฒนาฝีมือด้านการออกแบบอยู่ภายในห้องใต้หลังคาของบ้านเพื่อนคนนี้ เขาขายงานออกแบบหมวก และเสื้อผ้าให้กับ Haute Couture House กระทั่งฟ้ามีตา ส่งให้ผลงานของเขานั้นกลายเป็นที่นิยม และขายดีอย่างมาก จนทำให้คริสเตียนมีรายได้พอที่จะส่งเสียให้พ่อกับน้องของตัวเอง และอย่างที่ใครเขาว่ากัน ฟ้าหลังฝนสวยงามเสมอ เมื่อในที่สุดผลงานของคริสเตียนได้ไปเข้าตาของ โรเบิร์ต ปิเกต์ ดีไซเนอร์ชื่อดังในสมัยนั้น จึงได้มาทำงานร่วมกันเมื่อปี 1938 ในวัย 33 ปี จนทำให้เขาเป็นที่รู้จักมากขึ้น และเมื่อหลังจากที่เขม่าดินปืน และเสียงเครื่องบินทหารแห่งสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง เขายังได้มีโอกาสร่วมงานกับบริษัท ลูเซียง เลอลง ซึ่งในครั้งนั้นเขายังได้ร่วมงานกับอีกหนึ่งดีไซเนอร์ในตำนานอย่าง Pierre Balmain อีกด้วย ไม่นานหลังจากนั้นคริสเตียนก็ได้กลายเป็นผู้บริหารในบริษัท Boussac ก่อนที่จะได้เงินทุนในการสนับสนุน และเปิดแบรนด์เป็นของตัวเองในชื่อ Christain Dior ในวัย 42 ปี อีกทั้งยังได้เงินทุนในการสร้างสรรค์ ผลงานขึ้นหิ้งโลกแฟชั่นตลอดกาลสร้างรากฐานกิจการ และชื่อเสียงของคริสเตียน ดิออร์ ให้กลายเป็นที่พูดถึงไปตลอดกาลอีกด้วย...

ภาพของชุด New Look จาก คริสเตียน ดิออร์ / ภาพ : wikipedia

 

     ในปี ค.ศ. 1947 คริสเตียน ดิออร์ ได้เปิดตัวแฟชั่นแนวใหม่ที่เราทุกคนต่างรู้จักกันในนาม “New Look” แฟชั่นที่ได้รับความนิยมอย่างไม่อาจมีใครปฏิเสธได้ ด้วยการริเริ่มให้เหล่าสุภาพสตรีแห่งยุโรปกลับมาแต่งตัวสวยได้อีกครั้ง หลังจากความรวดร้าว และความเบื่อหน่ายเต็มทนจากสงครามโลกครั้งที่ 2 กับดีไซน์อันเป็นเอกลักษณ์ เสื้อไหล่แคบ ที่มาพร้อมกับกระโปรงยาว ซึ่งเหล่านี้เองที่มาแทนที่ เสื้อรูปแบบไหล่กว้าง และกระโปรงสั้นทรงตรงในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกทั้งแนวความคิดในครั้งนี้ยังได้สร้างสรรค์ออกมาเป็นคอลเล็กชั่น ซึ่งจะเน้นไปถึงการออกแบบเสื้อผ้าที่หรูหรา กับกระโปรงฟูฟ่องบานที่จะทำให้ผู้หญิงรู้สึกสดชื่นราวกับดอกไม้ ได้รับอิทธิพลเอเชียอย่างประเทศญี่ปุ่น ทำให้นิวลุคมีกลิ่นอายแบบโอเรียนทัล (สังเกตได้จากหมวก) และผลงานชุดนี้ของเขานั้นก็ได้สร้างชื่อให้แก่เขา จนเขาได้รับการขนานนามว่าเป็นดั่ง Style Dictator และอาจกล่าวได้ว่าเสื้อผ้านิวลุคนี้ ได้ปฏิวัติวงการแฟชั่นของเหล่าสุภาพสตรี กระทั่งเปลี่ยนให้กรุงปารีสกลายเป็นศูนย์กลางของโลกแฟชั่นอีกที่หนึ่งจนได้ ก่อนที่หลังจากนั้นเพียงขวบปีคริสเตียนปิดตัวไลน์น้ำหอมของแบรนด์อันเป็นเอกลักษณ์มาจนถึงปัจจุบัน

ภาพของชุดคอลเล็กชั่น Fuseau จากแบรนด์ Christial Dior / ภาพ : quora

 

     ในช่วงยุคสุดท้ายของคริสเตียน ดิออร์ เขายังผลิตผลงานใหม่ๆ ออกสู่ตลาดแฟชั่นอยู่ไม่ขาดสาย ที่ยังคงให้ความสนใจ และใส่ใจในฝีมือการตัดเย็บ ผลงานการออกแบบของเขา ไม่ว่าจะเป็น New Look , Oval Line , Open Tulip , Long Line ,Tulip Line, หรือ A Line , H Line ล้วนแล้วแต่เน้นความละเอียดอ่อนในการตัดเย็บด้วยกันทั้งสิ้น กระทั่งในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 1957 คริสเตียน ดิออร์ ยังได้สร้างสรรค์ผลงานชิ้นโบว์แดงอย่าง Fuseau Collection หรือ Spindle ออกมา เพื่อเป็นดั่งจดหมายลา จดจารึกไว้ที่เป็นผลงานชิ้นสุดท้าย ทิ้งไว้บนโลกแฟชั่น ก่อนที่คริสเตียนจะเสียชีวิตลงด้วยโรคหัวใจ เมื่ออายุได้ 52 ปีเท่านั้น กระนั้นก่อนที่เขาจะเสียชีวิตเขายังเป็นดีไซเนอร์คนแรกที่ได้ขึ้นปกนิตยสาร TIME อีกด้วย

ภาพของ Maria Grazia Chiuri ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์คนปัจจุบันของแบรนด์ดิออร์ / ภาพ : Vogue.uk

 

     แบรนด์ดิออร์ในยุคหลังจากการกุมบังเหียนของคริสเตียน ดิออร์ ยังคงดำเนินต่อมาอย่างมั่นคง ด้วยฝีมือฉกาจของเหล่าครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น Yves Saint Laurent (1957–1960), Marc Bohan (1960–1989), Gianfranco Ferré (1989–1997), John Galliano (1997–2011), Bill Gaytten (2011–2012), Raf Simons (2012–2015), Serge Ruffieux & Lucie Meier (2015–2016) และคนล่าสุดที่เป็นหญิงสาวเพียงหนึ่งเดียวอย่าง Maria Grazia Chiuri (2016–ปัจจุบัน) พร้อมด้วยคิม โจนส์ ดีไซเนอร์แห่งยุคที่น่าจับตามองที่เข้ามาช่วยสมทบความแข็งแรงให้กับ Dior Men ด้วยอีกหนึ่งแรง


     คงจะได้เห็นแล้วว่าไม่ใช่เรื่องง่าย กว่าที่คริสเตียน ดิออร์ จะฝ่าฟันอุปสรรคมาจนถึงจุดนี้ได้ จนกระทั่งประสบความสำเร็จ และเชื่อว่าเรื่องราวของเขาจะยังคงเป็นดั่งเรื่องเล่าที่พร้อมสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นหลังอีกมากมายได้อย่างแน่นอน

WATCH

คีย์เวิร์ด: #Dior