FASHION
ทำนายไว้เมื่อ 8 เดือนก่อน! พยากรณ์ชะตา Céline ภายใต้การนำของ Hedi Slimane8 ประเด็นสำคัญที่เราน่าจะได้เห็นกันกับแบรนด์ Céline โฉมใหม่ |
หมายเหตุ: บทความนี้ถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2561
เซอร์ไพรส์ขั้นสุดแบบพลิกความคาดหมายเมื่อจู่ๆ ช่วงระหว่างสัปดาห์แฟชั่นเมนสแวร์ของกรุงปารีส หน้าเพจอินสตาแกรมของแบรนด์ Céline ก็ปรากฏภาพถ่ายขาว-ดำระดับสัญลักษณ์ของดีไซเนอร์เจ้าลัทธินาม Hedi Slimane พร้อมข้อความสั้นๆ เพียงว่า “Hedi Slimane ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์, ฝ่ายสร้างสรรค์, และฝ่ายภาพลักษณ์แห่งแบรนด์ Céline”
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงหนึ่งเดือนเต็มหลังการประกาศลาออกอย่างเป็นทางการของอดีตผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์คนเก่าคือ Phoebe Philo ผู้พลิกฟื้นห้องเสื้อสัญชาติฝรั่งเศสแสนซบเซารายนี้ชั่วข้ามคืนและครองตำแหน่งยาวนานร่วมทศวรรษ ในขณะเดียวกัน สื่อรอบโลกแทบทุกสำนักต่างพากันโพสต์ภาพ Hedi Slimane เพื่อแสดงความยินดีกันอย่างเต็มที่ พร้อมๆ ไปกับความคิดเห็นของสาวกแฟชั่นมากมายที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งโดยมากแล้วเชื่อว่าเป็นตัวเลือกที่ลงตัวกว่ารายชื่ออื่นๆ อย่างไรก็ตาม วงในของอุตสาหกรรมแฟชั่นต่างทราบดีว่าการมาถึงของ Hedi Slimane ณ แบรนด์หนึ่งๆ นั้นมิได้หมายถึงความสำเร็จของยอดขายชนิดถล่มทลายเพียงอย่างเดียว หากหมายรวมถึงค่าใช้จ่ายมากมายมหาศาลซึ่งเครือธุรกิจแฟชั่นนั้นๆ จะต้องแบกรับไว้เป็นเงาตามกันอีกด้วย โว้กประเทศไทยเลือกย้อนทบทวนความทรงจำ พร้อมคาดการณ์ถึงทิศทางการทำงานของซูเปอร์ดีไซเนอร์คนดังที่เรามีสิทธิ์จะได้เห็นกันว่า “ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย” หรือไม่
1. เรามีสิทธิ์จะได้เห็นการกลับมาของโลโก้ดั้งเดิมของแบรนด์ Céline ซึ่งมีให้ Hedi เลือกอย่างสนุกสนานหลากหลายรูปแบบ เริ่มตั้งแต่ความแตกต่างของอักษรตัว É และ E ในชื่อแบรนด์ เรื่อยไปจนถึงแบบโลโก้โค้งตามอะไหล่ทรงกลม หรือแม้แต่ตัวเลือกรูปแบบโบราณที่มีสัญลักษณ์เกวียนม้าประกอบ (ซึ่งคล้ายคลึงในระดับที่สามารถสร้างความสับสนระหว่างแบรนด์ Hermès, Coach กับ Longchamp ได้อย่างแน่นอน)
เราไม่ควรลืมว่า: เมื่อ 6 ปีที่แล้ว หลังได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ที่แบรนด์ Yves Saint Laurent ดีไซเนอร์ผู้นี้สร้างความฮือฮาด้วยการตัดคำนำหน้าแบรนด์และเปิดตัวโลโก้ Saint Laurent ในทันทีจนเหล่าผู้ครหาเรือนล้านต้องมาตามรับทราบการแจงรายละเอียดภายหลังว่านั่นคือโลโก้ดั้งเดิมของห้องเสื้อฝั่งเรดี้ทูแวร์มาตั้งแต่ต้น
**อัพเดตล่าสุดวันที่ 3 กันยายน 2561 แบรนด์ Céline ประกาศเปลี่ยนโลโก้ใหม่โดยนำโลโก้ที่เคยใช้เมื่อช่วงยุค '60s กลับมาตีความใหม่อีกครั้ง
2. เรามีสิทธิ์จะได้เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ลายโมโนแกรม เพราะก่อนหน้าการปรับโฉมครั้งใหญ่จนการเป็น Contemporary Minimalism โดย Phoebe Philo แบรนด์เองก็เคยมีลายโมโนแกรมขึ้นชื่อเป็นของตัวเอง โดยลักษณะของลวดลายนั้นเกิดจากการนำส่วนโค้งเว้าหน้าตาคล้ายอักษร C ของสัญลักษณ์เก่าของแบรนด์มาร้อยเรียงเข้าด้วยกัน
เราไม่ควรลืมว่า: ก่อนหน้านี้ Hedi เองเคยสร้างสรรค์ลวดลายโมโนแกรมโทนสีซีเปียไว้ให้กับ Saint Laurent ซึ่งแลดูราวกับการนำเอาสัญลักษณ์ YSL มาเรียงชิดซ้อนกันจนขายดิบขายดีติดต่อกันพักใหญ่
3. เรามีสิทธิ์จะได้เดินเข้าบูติกโฉมใหม่ของแบรนด์ Céline ถิ่นใครก็ถิ่นคนนั้น! ฉะนั้น จะให้ข้าวของผลงานดีไซเนอร์ใหม่มาปะปนอยู่กับสภาพแวดล้อมที่รายเดิมสร้างไว้ก็รังแต่จะชวนอีหลักอีเหลื่อและกินแหนงแคลงใจกันเกินไป ว่าแล้วผู้จัดจำหน่ายแบรนด์ Céline รอบโลกจึงควรกันเงินไว้ลงทุนกับร้านแนวใหม่กว่า 150 สาขาทั่วราชอาณาจักรเสียแต่บัดนี้
เราไม่ควรลืมว่า: ประเด็นนี้คือธรรมเนียมการให้เกียรติทั่วไปในอุตสาหกรรมแฟชั่นโลก ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นกับ Hedi Slimane เพียงรายเดียวเท่านั้น แต่เกิดขึ้นแทบจะทุกครั้งที่มีการปรับเปลี่ยนนักออกแบบหลักในแบรนด์ต่างๆ
4. เรามีสิทธิ์จะได้เห็นแบรนด์โยกย้ายโปรดักชั่นการทำงานไปยังแอลเอ เท่าที่ผ่านมาระบบวิธีการทำงานโดยรวมของดีไซเนอร์รายนี้เกิดขึ้นในลอสแอนเจลิส เมืองที่เขาใช้ชีวิตและเลือกตั้งรกรากใหม่อย่างสบายตัวหลังลาออกจากแบรนด์ Dior Homme เป็นการถาวรเมื่อปี 2007
เราไม่ควรลืมว่า: เมื่อครั้งสร้างสรรค์ผลงานให้กับ Saint Laurent ดีไซเนอร์รายนี้มีระบบวิธีการทำงานที่แตกต่าง กล่าวคือบัญชาการจากสตูดิโอของเขาที่แคลิฟอร์เนีย และให้ทีมงานในอาเตลิเย่ร์ที่ปารีสขนงานมาให้วิจารณ์ที่อเมริกาทุก 2 สัปดาห์ โดยจะบินไปปรากฏตัวและโค้งคำนับที่แคตวอร์กในโชว์ตอนช่วงแฟชั่นวีคเท่านั้น
5. เรามีสิทธิ์จะได้บินไปชมโชว์กันถึงลอสแอนเจลิส เนื่องจากประวัติศาสตร์แฟชั่นเคยระบุไว้แล้วว่า Saint Laurent โดย Hedi Slimane จัดโชว์เต็มรูปแบบที่นครแห่งดารา นอกแผนที่สัปดาห์แฟชั่นใดๆ
เราไม่ควรลืมว่า: ถ้าเขาทำได้กับ Saint Laurent เขาก็ทำได้กับ Céline
โฆษณาแคมเปญ Spring 2013 ซึ่งเป็นคอลเล็กชั่นแรกของ Hedi Slimane ที่ Saint Laurent / ภาพ: The Courtesy of The Brand
6. เรามีสิทธิ์จะได้เห็นแคมเปญโฆษณา Céline เป็นสีขาว-ดำ เพราะทั้งหมดของงานโฆษณาในอดีตจาก Dior Homme และ Saint Laurent ภายใต้การนำของเขาล้วนมีแค่ 2 สีนี้เท่านั้น
เราไม่ควรลืมว่า: เท่าที่ผ่านมา มันเป็นอย่างนั้นมาโดยตลอด
7. เรามีสิทธิ์จะได้เห็นซิลูเอตบอบบางแบบนักดนตรีขี้ยากลายเป็นภาพลักษณ์ใหม่ประจำแบรนด์ ความคลั่งไคล้วัฒนธรรมกระแสรองในแอลเอของ Hedi นั้นขึ้นชื่อมาแสนนาน และนั่นคือที่มาหลักๆ ของโครงทรงแนวสกินนี่ขั้นสุดที่เราเชื่อว่าเขายังไม่คิดจะเปลี่ยนใจในเวลาอันใกล้นี้ เป็นอันเข้าใจตรงกันว่าซิลูเอตหลักของเขาสวนทางกับร่างกายของผู้คนส่วนใหญ่ในโลกยุค Diversity และแน่นอนว่านั่นคืออีกหนึ่งเวทมนตร์ระดับสัญลักษณ์ที่ทำให้การออกแบบของเขาประสบความสำเร็จถึงขีดสุดมาทุกยุค
ผลงานซิลูเอตบอบบางแบบนักดนตรีขี้ยาของ Hedi Slimane ที่ Saint Laurent / ภาพ: Indigital.tv
เราไม่ควรลืมว่า: แม้แต่ Karl Lagerfeld ยังต้องลดน้ำหนักอย่างบ้าคลั่ง เพื่อให้สามารถยัดหุ่นลงไปในสูทของ Hedi Slimane
8. เรามีสิทธิ์จะได้ชมผลงานโอตกูตูร์คอลเล็กชั่นแรกจากแบรนด์ Céline ไม่เคยปรากฏผลงานการออกแบบชั้นสูงใดๆ ในห้องเสื้อแห่งนี้ตลอด 73 ปีที่ผ่านมา แต่การทิ้งกลิ่นโอตกูตูร์ไว้ในโชว์สั่งลาที่บ้านเก่าก็หนักแน่นพอสร้างกระแสบุกเบิกให้กับบ้านใหม่ในวันนี้
เราไม่ควรลืมว่า: ยังมีพื้นที่อื่นๆ ให้โคลัมบัสแห่งแวดวงสไตล์กรุยทางไปเหยียบย่ำอีก เช่น คอลเล็กชั่นเสื้อผ้าสำหรับสุภาพบุรุษฉบับปฐมฤกษ์จาก Céline เรื่อยไปจนถึงน้ำหอม Céline ไลน์ใหม่ล่าสุด
เรื่อง: สธน ตันตราภรณ์
ภาพ: Indigital.tv, Courtesy of The Brand, Vogue US, LA City
ออกแบบภาพ: ยุทธศักดิ์ รักแคว้น
WATCH