FASHION
ฉลองครบรอบเล่มที่ 100! ตามไปย้อนรอยความเป็นไทยในนิตยสารโว้กกว่า 100 เล่มที่ผ่านมาเราส่งออกความเป็นไทยในรูปแบบใดบ้าง |
เดินหน้ากันมาจนถึงฉบับที่ 100 แล้วอย่างเป็นทางการในเดือนพฤษภาคม 2564 เส้นทางของนิตยสารโว้กประเทศไทยตลอด 100 เล่มที่ผ่านมาไม่เพียงแต่เป็นสื่อหัวหอกรายงานเรื่องราวบนโลกแฟชั่นทั้งไทยและเทศแล้ว ในฐานะที่เป็นโว้กประเทศไทยเพื่อคนไทย เราจึงยืนหยัดนำเสนอรากเหง้าของความเป็นไทยสู่สายตาโลก ซึ่งดำเนินต่อเนื่องมาตลอดร้อยเล่ม เพื่อฉลองให้กับอีกหนึ่งไมล์แห่งความสำเร็จในครั้งนี้ เราจะพาแฟนๆ ย้อนรอยไปดูกันว่า “ความเป็นไทย” ที่เราเริ่มต้นเพาะเมล็ดพันธุ์ไว้นานกว่า 8 ปี ในตอนนี้จะเติบใหญ่เป็นต้นไม้งามขนาดไหน
ปกแรกสุดของโว้กลงหลักปักเสาเข็มประกาศความเป็นไทยอย่างเจนจัดเมื่อทีมงานตกลงยกให้ “ชฎาไทย” ที่ถูกดัดแปลงดีไซน์โดยฝีมือของ Philip Tracy เป็นเครื่องประดับศีรษะได้ทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์และอัตลักษณ์ความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมเพื่อยกระดับความเป็นไทยออกสู่สายตาโลก
ในขณะเดียวกันประเทศไทยเองก็ยังอุ่นหนาฝาคั่งไปด้วยวัฒนธรรมและประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ หญิงสาวในชุดร่วมสมัยและร่มคันใหญ่จึงถือกำเนิดขึ้นบนปกเดือนตุลาคม 2018 (No.69) ด้วยการพานางแบบระดับโลก Gemma Ward ขึ้นเหนือล่องใต้ถ่ายทอดความงามในทุกภูมิภาคของเมืองไทยแบบครบทุกอารมณ์
WATCH
อีกหนึ่งปกที่เป็นความภาคภูมิใจคือปกฉบับมิถุนายน 2019 (No.77) ที่บอกเล่าความเป็นไทยในฐานะผืนแผ่นดินทอง กับการขึ้นปกในฉลองพระองค์ชุดไทยครั้งแรกของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงฉลองพระองค์ชุดไทยศิวาลัย
เมื่อวิถีการใช้ชีวิตเป็นต้นตอรากเหง้าของคนไทย โว้กจึงนำเอาความร่วมสมัยมาผสมผสานพร้อมส่งออกปกเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีด้วยการเชื้อเชิญนางแบบระดับโลกบินมาถ่ายปกที่ประเทศไทย ดังเช่นฉบับกุมภาพันธ์ 2020 (No.85) กับหน้าปก 2 แบบของนางแบบสาว Ansley Gulielmi ที่ลงมือสัมผัสวิถีความเป็นไทยทั้งการทำนาปลูกข้าว เลี้ยงไก่ และเก็บดอกบัว
ก่อนจะเดินทางมาถึงเดือนกันยายนปี 2020 (No.92) เมื่อโว้กทุกอิดิชั่นต่างร่วมใจผนึกกำลังพักโลกแฟชั่นไว้ครู่หนึ่งเพื่อส่งมอบ “ความหวัง” ให้กับทุกคนจากเหตุการณ์โควิด-19 ที่ระบาดไปทั่วโลก โว้กประเทศไทยบอกเล่าความเชื่อและความหวังครั้งนี้ด้วยหน้าปกยกมือ “ไหว้” สัญลักษณ์แห่งการทักทายและการอธิษฐานขอพร
นอกจากหน้าปกแล้วแฟชั่นเซตภายในเล่มเองก็ยังบอกเล่าความเป็นไทยอย่างเข้มข้นและจัดจ้านไม่แพ้กัน เริ่มด้วยนางแบบ Zuzanna Bijoch ที่ไม่เพียงขึ้นปกเดือนกุมภาพันธ์ 2015 (No.25) ในลุคสวมงอบบนศีรษะเท่านั้น แต่ยังนำเสนอศิลปะไทยอันอ่อนช้อยงดงามอย่างการละเล่นผีตาโขนและโขนไทยอีกด้วย สำหรับ Daphne Groeneveld นางแบบชาวดัตช์เองก็ไม่น้อยหน้าขออาสาพาแฟนๆ ล่องเรือไปพบกับวิถีริมน้ำของชาวบ้านพร้อมแฟชั่นเซตที่บอกเล่าเรื่องราวของลิเกในเดือนกุมภาพันธ์ 2017 (No.49)
โว้กยังขนทีมงานและกองถ่ายบุกเขาลงห้วยเพื่อเก็บภาพสวยงามในแต่ละที่ของประเทศไทยออกสู่สายตาโลกที่ผ่านมาเราไปมาแล้วครบทุกภาค เริ่มต้นกันด้วยเสน่ห์ของกรุงเทพฯ เมืองหลวงยามค่ำคืนในเล่มกุมภาพันธ์ 2019 (No.73) เลือกเดินเล่นชมมนต์เสน่ห์ของเมืองกรุงฯ กับย่านหัวลำโพงอันคึกคักตลอดวันพร้อมสัมผัสแสงสีและความมีชีวิตชีวาในตลาดเยาวราชโดยมี Amanda Murphy นางแบบหน้าเก๋นำทัวร์ในครั้งนั้น หรือจะเป็นช่วงที่โว้กพาแฟนๆ ไปรับลมร้อนกันที่ทะเลภาคใต้พร้อมกับแฟชั่นเซตในเล่มเดือนเมษายน 2018 (No.63) เสื้อไหล่เดี่ยวเข้าคู่กับบิกินีแบบซัมเมอร์พร้อมกระเป๋าสานทำจากเสื่อกกของแบรนด์ “ภัทรพัฒน์” ก็ช่วยเสริมให้ลุคโมเดิร์นร่วมสมัยให้เปรี้ยวอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว หรือแม้จะเป็นตอน “แจน-ใบบุญ” นางแบบชาวไทยคนแรกบนรันเวย์ Burberry พาเรามุ่งสู่อุทยานแห่งชาติภูทับเบิก จังหวัดเพชรบูรณ์ ในฉบับเดือนตุลาคม 2018 (No.69) ก็ตาม
ภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาช้านานของไทยที่เป็นที่เลื่องชื่อต้องยกให้กับ “ผ้าไทย” และบุคคลต้นแบบที่เอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้มาตลอดคือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พร้อมด้วยบรรณาธิการบริหารโว้กประเทศไทยอย่าง “ฟอร์ด-กุลวิทย์” บุกตะลุยทุกภาคพื้นของประเทศไทยเพื่อสนับสนุนงานหัตถศิลป์ไทยอย่างแข็งขันไม่ว่าจะเป็นการที่พระองค์ท่านเสด็จเยือนจังหวัดลำพูน ทรงชื่นชมผ้ายกดอกลำพูนและมอบการตระหนักถึงคุณค่าและจุดประกายการหันกลับไปอนุรักษ์ผ้าทอแบบโบราณแก่ชาวบ้าน หรือจะเป็นการเสด็จเยือนหมู่บ้านย้อมครามท้องถิ่น จังหวัดสกลนคร โดยมีเป้าประสงค์เพื่อการพัฒนาชุมชนและวิถีชีวิตชาวบ้านให้ดำเนินไปพร้อมกับความร่วมสมัยได้
การเชิดชูผ้าไหมไทยทั้งในรูปแบบดั้งเดิมและผสมผสาน ต้องยกให้เหล่างานฝีมือของดีไซเนอร์ไทยในโครงการ VOGUE Who’s on Next The Vogue Fashion Fund 2017 เมื่อรอบไฟนอลเราตัดสินใจส่งดีไซเนอร์ทั้ง 11 คนไปศึกษาผ้าไทยและเลือกสรรผ้าลายโบราณลาวซี-ลาวครั่ง จากจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อนำมาเป็นวัสดุหลักในการสร้างสรรค์ผลงานในแบบฉบับของตัวเองสำหรับการแข่งขัน ซึ่งดีไซเนอร์ทั้ง 11 คนก็สามารถรังสรรค์ชิ้นงานให้ออกมาได้อย่างหลากหลายและใช้งานได้จริง ทั้งการทำเป็นกระเป๋าอัดพลีตของแบรนด์ a Pale Petal เสื้อครอปท็อปจาก Narong หรือแม้แต่ชุดเดรสสำหรับงานกลางคืนจากแบรนด์ Pitchana ก็ตาม
หรือจะเป็นในช่วงค่ำคืนที่เราเชิดชูวัฒนธรรมอันยาวนานของผ้าไหมไทยด้วยอีเว้นท์ประจำปี Vogue Gala เพื่อสื่อสะท้อนให้เห็นตัวตนและความงดงามผ่านเครื่องแต่งกายที่เหล่าคนดังระดับประเทศต่างเข้าร่วมกันด้วยลุคสวยหล่อ ซึ่งภายในงานเองยังเปิดประมูลชิ้นงานล้ำค่าหนึ่งเดียวในโลก ผลงานของดีไซเนอร์ระดับโลกที่ใช้ผ้าไทยในการสร้างสรรค์ โดยนำมาดัดแปลงและปรับเปลี่ยนให้มีความหลากหลายมากขึ้นทั้งการทำเป็นเสื้อโค้ต กระเป๋าถือ รองเท้าส้นสูง หรือแม้แต่เครื่องเรือนเฟอร์นิเจอร์ก็ตาม
ทั้งหมดนี้ยังเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของกิ่งก้านสาขาความเป็นไทยที่เราหยิบมาให้ชมกันตลอดระยะเวลา 8 ปี ทีมงานโว้กยังคงทำงานอย่างแข็งขันและเต็มกำลังเพื่อส่งมอบเรื่องราวของไทยทั้งในรูปแบบดั้งเดิมและรูปแบบใหม่เพื่อการปรับตัวเข้ากับโลกแห่งแฟชั่นในปัจจุบัน และเพื่อเป็นการส่งต่อข้อความถึงเด็กรุ่นหลังให้ร่วมกันอนุรักษ์และภูมิใจกับรากเหง้าของเราเองอีกด้วย ต่อจากนี้เราจะนำความเป็นไทยก้าวออกไปสู่โลกกว้างข้างนอกได้ไกลขนาดไหน แฟนๆ ทุกท่านกระโดดขึ้นรถไฟขบวนนี้และตามติดการเดินทางไปพร้อมกับเราได้เลย
พบกับความเป็นไทยในโว้กที่เรารวบรวมมาไว้ในที่เดียวกับ VOGUE 100 Fashion Reflections เปิดสั่งจองหนังสือปกแข็งรวบรวมผลงานของโว้กประเทศไทย ฉลองเล่มที่ 100 ด้วยคลังภาพล้ำค่าที่สะท้อนความเป็นไทยในโว้ก อัดแน่นด้วยผลงานภาพถ่ายแฟชั่นโดยช่างภาพชื่อดัง จัดเรียงหมวดหมู่จากหัวข้อศิลปวัฒนธรรมไทย กรุงเทพมหานคร วิถีไทยในชนบท เรื่อยไปจนถึงผ้าทอภูมิปัญญาชาวบ้าน ความหนากว่า 200 หน้า
PRE-ORDER ราคาเล่มละ 1,800 บาท เปิดรับสั่งจองถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ที่หน้าร้านและเว็บไซต์ร้านหนังสือชั้นนำเท่านั้น โดยสามารถสั่งจองล่วงหน้าได้ที่ ซีเอ็ด นายอินทร์ บีทูเอส และเสียงทิพย์ www.naiin.com www.se-ed.com www.b2s.co.th www.facebook.com/siangthip
เงื่อนไข
- เงื่อนไขและระยะเวลาการจองเป็นไปตามที่ทางร้านกำหนด
- ทางนิตยสารโว้กประเทศไทยไม่รับสั่งจองโดยตรง
- สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊กเพจ Vogue Thailand
WATCH