FASHION

เปิดแง่มุมของ Harry Styles ชายผู้ทำลายทุกขีดจำกัดด้านเพศและแฟชั่นจนแตกกระจุย!

     ตั้งแต่เราเกิดมา เราติดอยู่ในสนามเด็กเล่นที่ชื่อว่า “เพศ” มาตลอดชีวิต ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัยเพศเป็นปัจจัยหลักที่คอยกำหนดทิศทางการกระทำของมนุษย์อยู่เสมอ แฟชั่นก็เช่นกัน กรอบเรื่องเพศกำหนดเรื่องความเหมาะสมไปจนถึงเรื่องเทรนด์ บางครั้งการใส่เสื้อผ้าอย่างหนึ่งบ่งบอกสถานะเรื่องเพศของเราอย่างชัดเจน เช่นสวมกระโปรงก็ต้องเป็น “หญิง” สวมสูทผูกไทก็ต้องเป็น “ชาย” ในยุค 2019 เส้นกั้นเรื่องเพศค่อยๆ จางและนิ่มลง แต่ทว่าอาจจะมีกำแพงใสๆ ที่ยังคอยกดเราอยู่ภายใต้กรอบเรื่องเพศอยู่เสมอทั้งแบบรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม จากรูปภาพล่าสุดของ Harry Styles ในอินสตาแกรมทำให้เราต้องตระหนักถึงแฟชั่นกับเพศอย่างจริงจังว่าท้ายที่สุดแล้วเราต้องแต่งตัวตามข้อกำหนดเรื่องนี้จริงหรือ...

Harry Styles กับชุดนักบัลเลต์ที่มีกลิ่นอายความหวานจากโทนสี / ภาพ: @harrystyles

     ภาพโปรโมตรายการ  Saturday Night Live ในอินสตาแกรมของแฮร์รี่สร้างความฮือฮาอยู่ไม่น้อยทั้งโทนสีชมพูและที่สำคัญคือชุดนักบัลเลต์ซึ่งเป็นมีกระโปรงและองค์ประกอบต่างๆ ซึ่งสะท้อนถึงกลิ่นอายเฟมินีนอย่างชัดเจน เขาลงรูปเซตนี้ในไอจีทั้งหมด 2 รูป ลักษณะท่าทางของนักร้องหนุ่มเจ้าของเพลงใหม่ “Watermelon Sugar” สร้างความหวานแหววให้กับภาพลักษณ์ได้อย่างมาก กลายเป็นว่าแฟนคลับจดจำนักร้องหนุ่มในแฟชั่นสไตล์ “Gender-Mixed” ไปแล้วเรียบร้อย เขานี่ล่ะคือตัวแทนของความอิสระทางเพศในด้านแฟชั่นของยุคนี้อย่างแท้จริง แล้วอะไรทำให้การแต่งกายเช่นนี้ยังถูกมองว่าแปลก มาร่วมหาคำตอบกันต่อไปในบทความนี้

ท่าทางกระโดดโลดเต้นในชุดบัลเลต์ของ Harry Styles / ภาพ: @harrystyles

     เราจะเริ่มต้นกันเกี่ยวกับคำว่าภาพจำและพลังอำนาจเหนือชีวิตมนุษย์ (Bio-Power) มนุษย์ในหลายสังคมทั่วโลกต่างถูกพร่ำสอนเรื่องเพศและรสนิยมเรื่องเพศในแบบขั้วตรงข้าม (Binary Opposition) นั่นเป็นเพราะเมื่อมีการหล่อหลอมด้านวัฒนธรรมแบ่งแยกเป็นขั้วเมื่อใดก็มีการแต่งกายตามเพศสภาพเมื่อนั้น ยิ่งมีการผลิตซ้ำในเรื่องนี้บ่อยขึ้นๆ สิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็นเส้นขีดล่องหนที่คอยบังคับให้คนเราปฏิบัติตามโดยอาจจะไม่ตระหนักถึงความไม่เท่าเทียมเรื่องเพศแม้แต่นิดเดียว ชายเลยต้องสวมอะไรที่เป็นชายเสมอ หญิงเองก็สวมอะไรที่ยังอยู่ในกรอบของเพศตนเอง



WATCH




Harry Styles ในลุคเสื้อสูทที่มีซิลูเอตแบบยูนิเซ็กส์ / ภาพ: Courtesy of Harry Styles

     “ไม่ใช่ว่าไม่มีสิทธิ์แต่ไม่กล้าที่จะหลุดออกจากกรอบ” วลีนี้แสดงให้เห็นว่าเพศมีบทบาทอย่างมากในด้านแฟชั่น เวลาแต่งตัวหลุดจากข้อจำกัดที่สังคมขีดไว้เมื่อไหร่จะถูกมองว่าแปลกทันที ถ้าหากมองตามหลักสังคมวิทยาของ Michael Foucault จะพูดถึงร่างกายใต้บงการที่ถูกสอดส่องตลอดเวลาราวกับนักโทษ เพราะฉะนั้นพลังอำนาจทางสังคมตั้งแต่ครอบครัว การศึกษา ไปจนถึงวัฒนธรรมทำให้การแต่งตัวและเพศยังผูกติดกันอย่างแน่นหนา เมื่อใดที่เราอยากสลัดตัวออกจากกรอบ พลังอำนาจที่เคยหล่อหลอมเรามาจะทำหน้าที่ยุยงให้เรากลับมาสู่ค่านิยมหลักของสังคม และเราเองก็จะรู้สึกว่ามีคนคอยจับจ้องเราอยู่ตลอด ถ้าเราทำตัวผิดเพี้ยนไปจากขนบเมื่อไหร่ก็จะโดนลงโทษทางสังคมทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะฉะนั้นมนุษย์ทุกคนเป็นนักโทษในเรือนจำที่มีการสอดส่องอยู่ตลอดเวลา เครื่องมือทางสังคมชิ้นนี้จึงกลายเป็นเครื่องมือซึ่งกรอบให้มนุษย์ทุกคนอยู่ภายใต้บรรทัดฐานที่แต่ละสังคมถูกห่อหุ้มไว้อย่างชัดเจน แต่แฮร์รี่ สไตล์กำลังต่อสู้กับเรือนจำทางสังคมแห่งนี้อย่างหนักแน่น

Harry Styles สวมตุ้มหูมุกร่วมงาน Met Gala 2019 / ภาพ: Theo Wargo

     นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่แฮร์รี่ตั้งคำถามเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องเพศแบบขั้วตรงข้าม ย้อนกลับไปช่วงงานเมต กาล่าปี 2019 เขาก็มาในลุคเซอร์ไพรส์แฟนๆ รวมถึงท้าทายผู้คุมเรือนจำทางสังคมเหมือนกัน เพราะเขามาในลุคสุดเฟมินีนทั้งเสื้อลักษณะแบบเบลาส์ซีทรู กางเกงขากว้าง รองเท้าบู๊ตส้นสูง และคอมพลีตลุคด้วยตุ้มหูมุกซึ่งเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ความญิ้งงงง หญิง แต่เขาก็เอาอยู่และเป็นการประกาศต่อหน้าสาธารณะว่าเพศไม่ใช่ข้อจำกัดของกายแต่งกาย ใส่ตามความพึงพอใจของตนเองและสะท้อนตัวตนของเราออกมาให้ได้คือประเด็นสำคัญที่สุด เรือนจำทางสังคมเป็นเรื่องสมมติ ไม่มีความจำเป็นต้องเกรงกลัวราวกับตัวเองเป็นนักโทษขนาดนั้น เพราะไม่มีมนุษย์คนไหนควรถูกจับกุมเพราะเรื่องเพศอีกต่อไป แม้เป็นแค่การกักขังในโลกนามธรรมก็ตาม

โททัลลุคที่ได้รับความสนใจอย่างมากของ Harry Styles ในงาน Met Gala 2019 / ภาพ: Vogue US

     “ไม่ใช่แค่ตัวเราเองแต่สังคมก็ไม่ยอมรับ” นี่คือปราการด่านใหญ่ที่ปิดกั้นเรื่องแฟชั่นเสมอมา ไม่ใช่แค่เรื่องเพศ แต่กับความแปลกใหม่ในสังคมก็เช่นกัน Alessandro Michele ให้คอนเซปต์ Gucci คอลเล็กชั่นล่าสุดไว้เกี่ยวกับการสร้างตัวตนแบบใหม่ (อ่านต่อ ที่นี่) แต่สังคมกลับลงโทษคนแตกต่างอยู่เสมอไม่ว่าจะเป็นตำหนิ ล้อเลียน ด่าทอ หรืออาจจะเบาลงมาคือท่าทางการปฏิเสธ สังคมเราจึงเปรียบเสมือนความมืดมน เมื่อมีแสงสว่าง(สไตล์อันแปลกใหม่) ปรากฏขึ้นสิ่งแรกที่เราทำคือการเอามือปิดตา แฟชั่นก็เช่นกันหากเราแต่งตัวจัดจ้านหรือผสมผสานกลิ่นอายของแต่ละขั้วเพศก็จะกลายเป็นแสงจ้าในโลกมืด ผู้คนปิดตาและหันหน้าหนีเมื่อพบเห็น ถ้าต่อต้านจริงๆ อาจจะกดจนแสงนั้นหายไปเลยด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นการเปรียบเทียบว่าโลกนี้มืดมนนั้นไม่ได้รุนแรงหรืออคติจนเกินไปนัก...

ลุคทัวร์คอนเสิร์ตของ Harry Styles กับการแต่งตัวที่ผสมผสานหลายทั้งสีและซิลูเอตได้อย่างสนุกสนาน / ภาพ: Royal Fashionist

     สไตล์ของ (แฮร์รี่) สไตล์ถูกตั้งคำถามมาตั้งแต่ยุคแรกๆ ที่เริ่มใส่ความจัดจ้านลงในแฟชั่นของตนเอง เสื้อลายพิมพ์เสือ ลายพิมพ์หัวใจ กางเกงเข้ารูป รองเท้าบู๊ต ทุกอย่างดูจัดจ้านเกินกว่าผู้ชายในตอนนั้นจะใส่ในความคิดคนทั่วไป อีกทั้งสัญลักษณ์บางอย่างยังถูกตีความเป็นเรื่องความหวานและเซ็กซี่ซึ่งถูกนำไปผูกติดกับความเป็นหญิงอยู่ดี พอสังคมเริ่มนิยามการแต่งตัวแบบขั้วเพศ คำว่าแต่งตัว “เกย์” ของแฮร์รี่ก็เกิดขึ้น เมื่อใช้แนวคิดขั้วตรงข้ามการที่ ร่างกายเป็นชาย + กลิ่นอายความเป็นหญิง = เพศที่ 3 ทั้งที่จริงๆ แล้วการแต่งกายไม่ใช่เครื่องบ่งบอกเพศ ใครจะแต่งตัวเช่นไรก็ได้ มันคือการแสดงตัวตนให้สังคมรับรู้ แฟชั่นเป็นเรื่องรสนิยม และนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของรสนิยมที่บอกว่า “ฉันชอบ” ไม่ได้แปลว่าฉันต้องเป็นตามแบบที่สังคมนิยามเสมอไป

Harry Styles ในลุคทัวร์คอนเสิร์ตในฐานะศิลปินเดี่ยวที่มาในลุคสูทก็จริงแต่เพิ่มเติมความน่าสนใจด้วยโทนสีม่วงกลิตเตอร์ และความแปลกใหม่คือเสื้อดีเทลการผูกช่วงคอจาก Gucci / ภาพ: Courtesy of Brand

     โลกเราไม่จำเป็นต้องมีเส้นแบ่งอะไรอีกต่อไปโดยเฉพาะเรื่องเพศ เช่นเดียวกับที่แฮร์รี่ สไตล์เคยกล่าวไว้ว่า “อะไรคือเฟมินีน อะไรคือแมสคิวลีน...มันไม่มีเส้นแบ่งอีกต่อไปแล้ว” นั่นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าความอิสระไม่ได้เป็นแค่ “เป็นชายใส่หญิงได้ เป็นหญิงใส่ชายได้” อีกต่อไป แต่ต้องใส่อะไรก็ได้และไม่ถูกตั้งคำถามและต้องมาอธิบายตัวเองว่าเป็นอะไรกันแน่ การเป็นมนุษย์เหมือนกันนั้นสำคัญที่สุด ตัวตนและเรื่องราวเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล คำว่า “Queer” ซึ่งแปลอย่างง่ายหมายถึงการไม่นิยามจำกัดเพศใดๆ เหมาะสมแล้วกับโลกยุคนี้ที่เราไม่ต้องไปให้ความสำคัญนิยามความเป็นตัวเองและคนอื่นอีกต่อไป  “ฉันเป็นแบบนี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบที่ใครนิยาม” ประโยคนี้คงเป็นการอธิบายความอิสระทางเพศของยุคที่มีความลื่นไหลทางสังคมได้ดีที่สุด

Harry Styles กับลุคสวมกระโปรงในบนคอนเสิร์ตที่สกอตแลนด์ปี 2018 ที่พร้อมสะท้อนให้เราตั้งคำถามว่าทำไมใส่กระโปรงที่นี่ถึงไม่แปลก... / ภาพ: PopLite

     สุดท้ายลูกไม้ ความระยิบระยับ ดอกไม้ สีสันสดใส ชุดสูท เนกไท รองเท้าหนัง และอื่นๆ อีกมากมายยังคงเป็นสัญลักษณ์ของเพศใดเพศหนึ่งอีกต่อไปหรือไม่ นี่คือสิ่งที่ทุกคนต้องร่วมกันตอบ แฮร์รี่ สไตล์สร้างความตระหนักและฉุกคิดให้กับคนทั่วโลกเกี่ยวกับความอิสระของเพศขนาดนี้ เหลือแต่เพียงปัจเจกบุคคลว่าจะเห็นด้วยและก้าวข้ามเส้นแบ่งหรือกำแพงใสๆ นี้ไปได้หรือยัง สังคมไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ด้วยคนเพียงไม่กี่คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำว่า “ค่านิยม” ซึ่งหมายถึงคุณค่าที่เกิดจากความ “นิยม” หากสังคมนิยมในความคลายตัวของขั้วตรงข้ามเรื่องเพศเมื่อไหร่ วันนั้นแฟชั่นก็จะไร้กฎเกณฑ์ตามไปโดยไม่ผิดแปลก กฎระเบียบทางสังคมและเรือนจำอันโหดร้ายก็จะค่อยๆ คลายความเข้มข้น จนถึงวันหนึ่งสถานะความเป็นมนุษย์จะกลายเป็นของเหลวที่ลื่นไหลไปได้ตามสังคมสมัยใหม่ในอุดมคติ...

WATCH