FASHION

เจาะลึกโชว์ Gucci ล่าสุดที่ยืนยันว่าสายแฟไม่ได้บ้า พร้อมตอกกลับกฎเกณฑ์สังคมจอมปลอม!

Alessandro Michele ยืนยันผ่านการสร้างตัวตนในสังคมว่าพวกเขาไม่ได้บ้า เพียงแต่ทุกคนมีจนยืนในความเป็นตัวเอง

ภาพ: Jacopo Raule

     ความบ้าบอ ไร้กฎเกณฑ์ นอกกรอบ ทุกอย่างเป็นความจริง จริงหรือ...หรือเพียงเพราะมีพลังอำนาจบางอย่างคอยกรอบเราไว้ให้เชื่อว่ามีอยู่จริงๆ ทั้งที่เราไม่สามารถสัมผัสมันได้ด้วยซ้ำ เราเคยคิดกันหรือไม่ว่าใครได้ประโยชน์จากสิ่งนี้ มีสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร เราถูกปราบปรามเมื่อแสดงตัวตนเบื้องลึกของเรานั่นคือหรือสิ่งที่ถูกที่ควรแล้วจริงหรือไม่ วันนี้ Gucci นำคลังความคิดโดย Alessandro Michele มาตั้งคำถามกับสิ่งที่โลกเรากำลังเผชิญอยู่ ในเมื่อความอิสระกับสิทธิ์ผูกโยงกันอยู่ ทำไมเรากลับไม่มีสิทธิ์ในการปลดปล่อยอิสระในแบบฉบับตนเองออกสู่สังคม คอลเล็กชั่น Spring/Summer 2020 อาจจะตอบคำถามทุกคนได้

Gucci กับการนำเสนอเซตอันขาวโพลนสะท้อนถึงชุดในโรงพยาบาลรักษาผู้ป่วยทางจิต / ภาพ: Vogue Runway

     แฟชั่นเซตแรกนางแบบ-นายแบบรวมกว่า 21 คนสวมชุดขาวโพลนที่มองใกล้ๆ จะเห็นรายละเอียดของเสื้อคนบ้าในโรงพยาบาล นี่ล่ะคือกรอบของบรรทัดฐานทางสังคม บางครั้งพวกเขาอาจจะมีปัญหาทางจิตจริงๆ แต่ถ้ามองให้ลึกลงไปกว่านั้นกุชชี่เหมือนกำลังเปรียบเทียบให้เราเห็นว่าเหล่าหนุ่มสาวหน้าปกติอีกทั้งยังมีความสะสวยด้วยซ้ำอาจจะไม่ได้บ้า แต่เขาถูกจับแต่งเสื้อขาวและถูกมองเป็นคนบ้า เพราะนั่นคือบทบาทที่มีคนคอยกรอบและสร้างบรรทัดฐานให้เราเห็นว่าคนพวกนี้หลุดออกจากกรอบ สิ่งเหล่านี้มันนามธรรมทั้งนั้น ดีไซเนอร์ผมยาวมองจากบรรทัดฐานทั่วไปอาจจะดูว่าแปลก แต่แน่นอนว่าเขากำลังสร้างตัวตนของตัวเองขึ้นมาและพูดว่า “ไหนล่ะความต่าง ทุกอย่างมันถูกประกอบสร้างขึ้นมาทั้งนั้น”

อีก 3 ลุคที่อยู่ในเซตแห่งการนิยามความผิดแปลก / ภาพ: Vogue Runway

     คำถามคือ แฟชั่นจะสามารถเติมเต็มความต้องการนี้ได้หรือไม่? เราสามารถนำแฟชั่นมาใช้เป็นเครื่องมือต่อต้านกระแสสังคมได้หรือไม่? แฟชั่นสามารถสร้างอิสรภาพในการทดลอง ฝ่าฝืนทุกกฎระเบียบ เป็นตัวแทนของการปลดปล่อย และกำหนดความเป็นตัวตนได้หรือไม่?  หรือแฟชั่นจะกลายเป็นเครื่องมือของรัฐบาลยุคเสรีนิยม ที่จบลงด้วยการสร้างบรรทัดฐานสังคมใหม่ แล้วเปลี่ยนอิสรภาพมาเป็นสินค้า และการปลดแอกให้เป็นแค่สัญญาลมปาก? หลายคำถามถูกตั้งขึ้นจากการรัดแน่นของกฎระเบียบที่มีการควบคุมเป็นสายตาของคนทั้งสังคม ชีวิตคนๆ หนึ่งเหมือนติดอยู่ในคุกที่ถูกสอดส่องโดยกล้องและผู้คุมกฎตลอดเวลา



WATCH




เซตสีสันสุดแสบที่อาจโดนตั้งคำถามเกี่ยวกับรสนิยมที่สว่างจ้ากว่าคนในสังคมทั่วไป / ภาพ: Vogue Runway

     ทุกคนลองตั้งคำถามดูบ้างไหมว่าตอนนี้เราสามารถแสดงความเป็นตัวเองต่อหน้าสังคมโดยไม่กลัวจะผิดแปลกจากบรรทัดฐานแล้วหรือยัง ดูเสื้อผ้าของกุชชี่คอลเล็กนี้และที่ผ่านๆ มาสิ หลายคนเห็นแล้วอาจจะบอกทั้งบ้าทั้งแปลก ใครจะใส่ คำตอบคือคนที่ชอบใส่สิ่งเหล่านี้นั้นมี แต่ละคนย่อมมีรสนิยมต่างกันฉะนั้นการไปกำหนดว่าความชอบแบบนี้นั้นแปลกเป็นเอเลี่ยนของสังคมเป็นสิ่งไม่พึงกระทำ เช่นเดียวกับโลกความจริง บางครั้งเราตีตราว่าร้ายคนอื่นโดยใช้เส้นขีดล่องหนที่คนเชื่อกันไปเองว่ามีจริง หรือว่าพวกเขารู้แต่ใช้สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการบังคับคนใต้อำนาจกันแน่...

อีกเซตกับความแสบสันในคอลเล็กชั่นล่าสุดของ Gucci / ภาพ: Vogue Runway

     แฟชั่นกับบรรทัดฐานของสังคมเป็นสิ่งที่ผูกโยงมากันตลอด หลายครั้งผู้คนตั้งคำถามกับกฎเกณฑ์และกรอบของสังคมนั้นเป็นการควบคุมแฟชั่น แต่เปล่าเลยแฟชั่นคือช่องทางใหม่ในการสร้างบรรทัดฐานโดยไม่จำเป็นต้องล้มล้างรูปแบบเดิม หรือที่อเลสซานโดรเรียกว่า “การสร้างตัวตนในแบบฉบับใหม่” แฟชั่นจะกลายเป็นเครื่องมือยืนยันตนผ่านความสร้างสรรค์ที่ไม่ต้องคอยตอบคำถามถึงข้อจำกัด เพราะทุกคนจะอยู่ในโลกนี้ได้อย่างแตกต่างและสามารถส่องประกายออกมาได้ในรูปแบบของตนเอง และพิสูจน์ว่า “พลังอำนาจขนาดเล็ก” ที่เคยควบคุมทุกอย่างไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิตมนุษย์ เพราะเรากำลังสร้างตัวตนในแบบฉบับใหม่ นี่ล่ะสิ่งที่กุชชี่กำลังจะบอกว่าสังคมต้องเปิดกว้างให้มนุษย์ยืนในจุดยืนของตัวเองมากขึ้น

ไม่เห็นจะต้องนิยามว่าแท้จริงแล้วผู้หญิงควรจะใส่อะไร มันมีกฎระเบียบแบบนั้นหรือเพียงแค่กำหนดกันขึ้นมาลอยๆ ? / ภาพ: Vogue Runway

     “การเมืองระดับชีวภาพ” ตามคติของ Michael Foucault ระบุว่ามีการเฝ้าระวังและการลงโทษเพื่อควบคุมเหล่ามนุษย์ด้วยบรรทัดฐานอันเป็นอคติ กำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นมาเป็นมาตรฐานของสังคมบางครั้งก็อยู่ในรูปกฎหมายบางครั้งก็อยู่ในรูปแบบของคติร่วมของสังคม หลอมรวมเกิดเป็นระบอบการปกครองให้มนุษย์มีถูกและผิด มีคำว่า “ประหลาด” และนั่นคือสิ่งที่ผู้กุมอำนาจทางการเมืองสร้างไว้เพื่อรักษาความชอบธรรมและอำนาจอันสูงส่งในสังคมนั้นของตัวเอง ลองคิดดูว่าวันไหนกันที่พวกเขาจะถูกมองว่าผิดแปลกไปจากสังคม คำตอบคือไม่มี เพราะพวกเขาเป็นคนขีดเส้นนิยามเหล่านั้นขึ้นมาเอง แล้วใครจะขีดกาหน้าว่าตัวเองแปลกประหลาดจริงไหม...

เสื้อผ้าซีทรูเผยให้เห็นหน้าอกของผู้หญิงอย่างเปิดเผยเป็นการสะท้อนจุดยืนด้านร่างกายของผู้หญิงตั้งคำถามต่อบรรทัดฐานของสังคมอย่างตรงไปตรงมา / ภาพ: Vogue Runway

     แฟชั่นสอดแทรกความหมายมาทางเสื้อผ้าและแอ็กเซสเซอรี่อยู่เสมอ ตัวตนของคนสวมกุชชี่คือบรรทัดฐานใหม่โดยไม่ล้มล้างระบอบเดิม ทุกคนกำลังสนุกกับเสื้อผ้าโดยไม่มุ่งทำลายกฎระเบียบเลยสักนิด เพียงแต่กุชชี่ที่เราใส่กันนั้นเปรียบเสมือนแสงสว่างแนวใหม่เพื่อสะท้อนจุดยืนทางสังคมของคนๆ นั้น เมื่อเราสวมเสื้อผ้าในแบบฉบับของตัวเอง ก็ยิ่งกล้าที่จะเป็นตัวเองขึ้นไปเรื่อยๆ ในโลกที่เต็มไปด้วยแรงกดดันจากภายนอกแฟชั่นของกุชชี่นี้อาจจะเป็นทางเดียวที่กระโดดทะลุกรอบแห่งการปิดกั้นของสังคม และยืนหยัดสร้างพื้นที่โดยมีเกราะป้องกันจากปีศาจ “พลังอำนาจ” ได้สำเร็จ

ลุคของฝั่งผู้หญิงในสไตล์แบบ Bondage สะท้อนตัวตนของผู้หญิงบางคน แล้วตั้งคำถามกลับไปว่าแค่พวกเขาชอบสิ่งนี้เราจะตีตราคนเหล่านี้เป็นคนบาปคนเลวไปได้อย่างไร / ภาพ: Vogue Runway

     ลองหันมาดูในเชิงรายละเอียดแฟชั่นบ้างว่ามันสร้างตัวตนใหม่ให้กับเราได้อย่างไร แบรนด์ดังจากอิตาลีนำเสนอชุดเดรส เสื้อและกางเกงในซิลูเอตและการผสมสีที่โดดเด่นมาก สร้างเอกลักษณ์ความเป็นตัวเอง ในเมื่อความตั้งใจของอเลสซานโดรมองว่าไม่จำเป็นต้องกลัวหลุดออกจากบรรทัดฐานอีกต่อไป จะแซ่บสะท้านกับชุดวาบหวิวพร้อมความเซ็กซี่ในแบบที่ไม่ว่าสังคมไหนจะต้องตีหน้าผู้หญิงเหล่านั้นว่าแย่แน่นอน แล้วไงล่ะผู้หญิงเหล่านั้นคงพูดกลับมาว่า “คุณใช้บรรทัดฐานอะไรมาตัดสินเรา เพราะเราไม่ได้แย่แค่เราเป็นตัวขอตัวเอง”

ใส่แว่นตาดำทรงโอเวอร์ไซส์มองเชิดใส่บรรทัดฐานและก็ยืนในพื้นที่ของตัวเองอย่างมั่นคง / ภาพ: Vogue Runway

     เพราะฉะนั้นแฟชั่นไม่ใช่แค่ของกุชชี่แต่หมายถึงสไตล์ของคนแต่ละคนคืออิสระทางความคิดที่นำเสนอผ่านรูปวัตถุ ตัวตนและความคิดถูกแปรเปลี่ยนเป็นรสนิยมส่งต่อออกมาเป็นลุคในแต่ละช่วงเวลาของชีวิต เพราะฉะนั้นการกรอบบังคับโดยใช้กฎเกณฑ์ลอยๆ ในสังคมใช้กับแฟชั่นไม่ได้จริงๆ นี่แสดงให้เห็นว่าแฟชั่นเป็นแรงต้านสำคัญในการทำให้มนุษย์ทุกคนมีสิทธิ์และอิสระ อย่างน้อยก็ในร่างกายและพื้นที่ของตัวเอง มากไปกว่านั้นถ้าถามปิดท้ายเรื่องการท้าทายอำนาจตามหลักคิดของมิเชล ฟูโกลต์ต้องบอกว่าพวกเขาไม่ได้ทำลายการจับจ้อง ไม่ได้ล้ำเส้นเหนือสิทธิของตัวเอง เพียงแต่ว่าทำตัวให้เห็นว่าเรานั้นแตกต่างและผู้ควบคุมได้แต่ดูและทำอะไรไม่ได้ นั่นล่ะคือแรงต้านอันเจ็บแสบของแฟชั่นกับ “พลังอำนาจขนาดเล็ก”

WATCH

TAGS : Gucci