sneaker-music-grime
FASHION

สำรวจยุคทองแห่งวัฒนธรรมสนีกเกอร์เกาะอังกฤษที่มีฟุตบอลและดนตรี Grime เป็นส่วนผสมสำคัญ

ไม่น่าเชื่อว่าการสวมสนีกเกอร์ในยุคนั้นจะเป็นการทำลายขนบครั้งสำคัญ และทำให้ผู้คนตระหนักว่ารองเท้าผ้าใบก็สามารถนำมาใส่คู่กับเสื้อผ้าในวันสบายๆ ได้ และนิยมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

     กรุงลอนดอนคือหนึ่งในเมืองที่มีส่วนสำคัญบนหน้าประวัติศาสตร์รองเท้าสนีกเกอร์อย่างมาก และอาจรวมถึงอังกฤษทั้งประเทศด้วยเช่นกัน ถึงแม้ต้นกำเนิดของรองเท้าประเภทนี้จะอยู่ห่างออกไปนับพันไมล์ ทว่าด้วยฟุตบอลและดนตรี Grime ทำให้วัฒนธรรมสนีกเกอร์บริติชมีเรื่องราวอันเข้มข้นและเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างที่ไม่มีใครสามารถลอกเลียนแบบได้

     หากจะเจาะลึกลงไปในวัฒนธรรมรองเท้าสนีกเกอร์ประเทศอังกฤษ คงต้องย้อนกลับไปยังจุดกำเนิดของรองเท้าประเภทนี้กันก่อน จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ระบุว่ารองเท้าที่คล้ายคลึงกับสนีกเกอร์ในปัจจุบันถูกผลิตขึ้นครั้งแรกในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 โดยผู้คนเรียกมันว่า Plimsolls มีที่มาจากหนังสือ The Plimsoll Sensation ของ  Nicolette Jones จากแถบแนวนอนสีที่เชื่อมต่อกับส่วนบนถึงพื้นรองเท้า มีลักษณะคล้ายกับเส้น Plimsoll บนตัวเรือ

    

sneaker-music-grime

     "เมื่อรองเท้าผ้าใบรุ่นแรกเปิดตัวครั้งแรกต่อโลกในศตวรรษที่ 18 มันคือสินค้าฟุ่มเฟือย" Elizabeth Summerheck ภัณฑารักษ์ ประจำ Toronto's Bata Shoe Museum กล่าว ก่อนที่เธอจะอธิบายต่อไปถึงสาเหตุว่าเป็นเพราะในช่วงเวลาดังกล่าวรองเท้าผ้าใบยังไม่ถูกผลิตออกมาในรูปแบบอุตสาหกรรม แต่ส่วนใหญ่เป็นงานแฮนด์เมดที่ผลิตออกมาในจำนวนจำกัด

     ก่อนที่ในปี 1916 รองเท้าผ้าใบจะถูกลดสถานะลงมา กลายเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้แม้กระทั่งชนชั้นแรงงานรายได้ต่ำเมื่อ The U.S. Rubber Company บริษัทยางขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศสหรัฐอเมริกาได้ก่อตั้งแบรนด์รองเท้าผ้าใบขึ้นเป็นของตัวเองในชื่อ "Keds" และมันก็ได้รับความนิยมภายในระยะเวลาอันสั้น เนื่องจากความทนทาน สวมใส่สบายเท้า ทั้งยังราคาถูกอีกด้วย ส่วนคำว่า “สนีกเกอร์ (Sneaker)” นั้นเริ่มถูกเรียกอย่างแพร่หลายหลังจากนั้นเพียงหนึ่งปี เมื่อ Henry Nelson ตัวแทนโฆษณาของบริษัทรองเท้า N. W. Ayer & Son นิยามมันขึ้นมา "ที่คนเรียกมันว่าสนีกเกอร์ ก็เพราะพื้นยางของมันที่ทำให้เมื่อสวมใส่เดินจะเกิดเสียงที่เงียบมาก เหมาะกับการใส่เดินสะกดรอยตามใครสักคน (Sneak ในภาษาอังกฤษแปลว่าตามติด หรือสะกดรอย)" Elizabeth อธิบายต่อ ในช่วงแรกรองเท้าสนีกเกอร์ยังถูกจำกัดอยู่แค่ในโลกกีฬาเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นบาสเกตบอล NBA ที่ถูกยึดพื้นที่ด้วยแบรนด์ Converse, นักวิ่งชาวอังกฤษ Harold Abraham และ Erik Lindell คว้าเหรียญทองโอลิมปิกที่ปารีสโดยสวมรองเท้าที่ออกแบบโดย J.W. Foster ผู้ก่อตั้ง Reebok 

sneaker-music-grime

     จนกระทั่ง ในปี 1955 เมื่อ James Dean หนึ่งในนักแสดงที่ได้รับการยกย่องว่าทรงอิทธิพลและมีเสน่ห์ที่สุดตลอดกาล เป็นแฟชั่นไอคอนคนสำคัญที่ยังคงได้รับการกล่าวถึงโดยตลอดในปัจจุบัน เลือกที่จะหยิบรองเท้า Converse Jack Purcell สีขาวมาใส่ โดยภาพที่ทุกคนน่าจะคุ้นตาที่สุดคือภาพของเจมส์ในเสื้อสเวตเตอร์สีดำ กางเกงยีนส์ สวมรองเท้า Jack Purcell นั่งพาดขากับเก้าอี้ ซึ่งแฟชั่นของเจมส์เซ็ตนี้ได้รับการกล่าวขานอย่างกว้างขวางในยุคสมัยนั้น เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าว เพราะผู้ชายโดยเฉพาะดาราที่มีชื่อเสียงแทบจะไม่มีใครใส่รองเท้าผ้าใบในเวลาปกติเลย ภาพลักษณ์ของรองเท้าผ้าใบคือการใส่เพื่อเล่นกีฬาเท่านั้น ส่วนใหญ่แทบทั้งหมดจะใส่รองเท้าหนังขัดเงา ดังนั้นนี่จึงเป็นการทำลายขนบครั้งสำคัญ และทำให้ผู้คนตระหนักว่ารองเท้าผ้าใบก็สามารถนำมาใส่คู่กับเสื้อผ้าในวันสบายๆ ได้เช่นกัน แถมยังออกมาดูดีอีกด้วย นับตั้งแต่วันนั้นถึงปัจจุบัน รองเท้าสนีกเกอร์ก็ไม่จำกัดอยู่แค่ในสนามกีฬาอีกต่อไป แต่มันได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของโลกแฟชั่นได้อย่างแนบเนียนไร้รอยต่อ



WATCH




sneaker-music-grime

     วัฒนธรรมสนีกเกอร์เริ่มแพร่หลายในประเทศอังกฤษตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ทว่าทางแยกที่ทำให้ความเข้มข้นและเอกลักษณ์เฉพาะตัวเกิดขึ้นอย่างชัดเจนคือในช่วงปี 1960 เป็นต้นมา “ฟุตบอลหรือที่ชาวอเมริกันชนเรียกว่าซอกเกอร์ คือสิ่งที่ขับเคลื่อนวัฒนธรรมสนีกเกอร์ในประเทศอังกฤษ” Karim Wazani ผู้ก่อตั้ง ZEN หนึ่งในร้านสนีกเกอร์ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงลอนดอนกล่าว อย่างที่ทราบกันดีว่าฟุตบอลเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่คอยหล่อเลี้ยงชีวิตชาวอังกฤษ โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นแรงงาน ประจักษ์พยานที่ชัดเจนที่สุดคือการที่พรีเมียร์ลีกคือลีกฟุตบอลที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกในปัจจุบัน

     ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษ 60 หากกล้องถ่ายทอดสดเปลี่ยนจากจับภาพการแข่งขันภายในสนามไปยังอัฒจันทร์ ภาพของกลุ่มเด็กหนุ่มฮูลิแกนที่พร้อมใจกันสวมใส่เสื้อสเวตเตอร์, กางเกงยีนส์, และรองเท้าสนีกเกอร์ ส่งเสียงเชียร์ทีมรักอย่างเอาเป็นเอาตายคือภาพที่เห็นกันจนชินตา “การได้สวมใส่รองเท้าสนีกเกอร์ทำให้พวกเขารู้สึกได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม และการแข่งขันที่เข้มข้นระหว่างทีมฟุตบอลประจำเมืองแต่ละเมืองทำให้ไม่มีใครยอมใคร แม้กระทั่งเรื่องนอกสนาม” Nigel Lawson Buying Director แห่งร้านจำหน่ายรองเท้าสนีกเกอร์ OI POLLOI กล่าว

sneaker-music-grime

     นอกจากฟุตบอลแล้วเมื่อสัญญาณนกหวีดจบการแข่งขันดังขึ้น เหล่าเด็กหนุ่มฮูลิแกนก็พร้อมใจกันเดินออกจากสนามไปยังไนต์คลับในเมือง โยกย้ายร่างกายไปตามจังหวะเพลง Grime ที่กำลังเฟื่องฟูสุดๆ ในยุคสมัยดังกล่าว “เสียงรองเท้าสนีกเกอร์เสียดสีไปกับพื้น ประสานไปกับจังหวะเพลง Grime สิ่งเหล่านี้กลั่นออกมาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของวัฒนธรรมสนีกเกอร์ในประเทศอังกฤษ” Karim Wazani กล่าวปิดท้าย นับตั้งแต่ทศวรรษ 60 จนถึงปัจจุบัน เรื่องราววัฒนธรรมสนีกเกอร์บริติชยังคงดำเนินเรื่อยมา อาจจะมีพลิกแพลงเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามกาลเวลาแต่มันก็ไม่เคยจางหายไป…

ข้อมูล : Pensivly
ภาพ : Pinterest
เรียบเรียง : Ramita Naungtongnim

WATCH

คีย์เวิร์ด: #Sneaker