BODY
สาเหตุอะไรบ้างที่จะทำให้ประจำเดือนมาน้อยลงประจำเดือนมาน้อยลงเป็นเรื่องที่น่ากังวลหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ |
ประจำเดือนเป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดมาพร้อมกับชีวิตของผู้หญิง ซึ่งประจำเดือนที่มาสม่ำเสมอเป็นสัญญาณของสุขภาพปกติ โดยทั่วไปแล้วรอบของประจำเดือนจะมาภายใน 28 วัน และมีระยะเวลาประมาณ 3-7 วัน อย่างไรก็ตามผู้หญิงบางคนอาจพบว่าประจำเดือนของตนเองมาน้อยลง และเป็นระยะเวลาที่สั้นลง สิ่งนี้น่ากังวลใจหรือไม่? และมีสาเหตุมาจากปัจจัยอะไรบ้าง? มารู้คำตอบไปพร้อมกันในบทความนี้
ภาวะประจำเดือนน้อยมีอาการอย่างไร?
ภาวะมีประจำเดือนน้อยหรือสั้นลง หรือที่เรียกว่า “Hypomenorrhea” อาการที่พบได้คือมีเลือดประจำเดือนไหลน้อยมาก ประจำเดือนมาเป็นระยะเวลาสั้นกว่าปกติ ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ รวมไปถึงไม่มีเลือดออกมากในช่วง 1-2 วันแรก แต่มีเลือดออกน้อยๆ หรือมีเลือดออกเป็นหยดๆ เป็นเวลาหลายวันแทนที่จะเป็นเลือดออกอย่างต่อเนื่อง
ปริมาณเท่าไหร่ที่เรียกว่าประจำเดือนมาน้อย
ปริมาณประจำเดือนตามปกติควรจะอยู่ระหว่าง 5 - 80 มิลลิลิตร หากเมื่อไหร่ที่สูญเสียเลือด (ต่อวัน) น้อยกว่า 5 มิลลิลิตร (ประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ) หรือน้อยกว่า 30 มล. ต่อรอบประจำเดือน นั่นอาจหมายถึงกำลังประสบภาวะประจำเดือนน้อยกว่าปกติ ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่ต้องทราบคือปริมาณของประจำเดือนอาจแตกต่างกันไปในแต่ละเดือนและแต่ละบุคคล รวมถึงยังเกี่ยวข้องกับปัจจัยต่างๆ เช่น อายุ การคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมน และภาวะสุขภาพบางอย่าง
สาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนมาน้อยลง
ประจำเดือนที่มาน้อยลงอาจเกิดได้จากสาเหตุหลายประการ ซึ่งอาจเป็นเรื่องปกติตามธรรมชาติ หรือเป็นสัญญาณของภาวะสุขภาพบางอย่างที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา
สาเหตุทางธรรมชาติ
- การตั้งครรภ์: การตั้งครรภ์จะทำให้ประจำเดือนหยุดไป
- การให้นมบุตร: ฮอร์โมนที่ผลิตในระหว่างให้นมบุตรสามารถยับยั้งการตกไข่และทำให้ประจำเดือนมาน้อยลงหรือหยุดชั่วคราว
- วัยหมดประจำเดือน: เมื่อผู้หญิงอายุมากขึ้นและเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน การผลิตฮอร์โมนเพศจะลดลง ซึ่งอาจทำให้ประจำเดือนมาน้อยลงหรือหยุดไปเลย
- ความเครียด: ความเครียดสามารถส่งผลต่อฮอร์โมนและทำให้ประจำเดือนมาน้อยลงหรือไม่มาได้
- การออกกำลังกายมากเกินไป: การออกกำลังกายหนักเกินไปสามารถลดระดับไขมันในร่างกาย ซึ่งอาจส่งผลต่อการผลิตฮอร์โมนและทำให้ประจำเดือนมาน้อยลง
- การเปลี่ยนแปลงน้ำหนักอย่างรวดเร็ว: การลดน้ำหนักหรือเพิ่มน้ำหนักอย่างรวดเร็วก็มีส่วนทำให้ประจำเดือนมาน้อยลง
- น้ำหนักตัวน้อย: น้ำหนักตัวที่น้อยเกินไปสามารถทำให้ร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนเพศได้เพียงพอ ซึ่งอาจทำให้ประจำเดือนมาน้อยลง หรือมาแบบกะปริบกะปรอย
- การขาดสารอาหารบางชนิด: หากร่างกายขาดธาตุเหล็ก หรือ วิตามินบี 12 อาจทำให้ประจำเดือนมาน้อยลงได้ โดยการขาดธาตุเหล็กอาจทำให้เลือดมีออกซิเจนไม่เพียงพอสำหรับร่างกายและมดลูก ซึ่งการขาดออกซิเจนในมดลูกอาจทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางลงและประจำเดือนมาน้อยลง ส่วนวิตามินบี12 มีความจำเป็นสำหรับการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง ฉะนั้นการขาดวิตามินบี 12 จะนำไปสู่ภาวะโลหิตจาง ซึ่งอาจส่งผลให้ประจำเดือนมาน้อยลงได้เช่นกัน
สาเหตุทางการแพทย์
- ภาวะ PCOS (Polycystic Ovary Syndrome): เป็นความผิดปกติของฮอร์โมนที่พบได้ทั่วไปในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งเป็นภาวะที่ทำให้เกิดความไม่สมดุลของฮอร์โมน ซึ่งอาจทำให้ประจำเดือนมาน้อยลง
- ภาวะไทรอยด์ทำงานผิดปกติ: ทั้งภาวะไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไปและมากเกินไปสามารถทำให้ประจำเดือนมาน้อยลงหรือไม่มาเลยได้
- ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศ: ภาวะที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนต่ำ เมื่อร่างกายไม่ผลิตฮอร์โมนเพศเพียงพอ การตกไข่จะไม่เกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นไม่สม่ำเสมอ ซึ่งส่งผลให้ไม่มีการสร้างเยื่อบุโพรงมดลูกและไม่มีประจำเดือน
- ภาวะต่อมใต้สมองทำงานผิดปกติ: ต่อมใต้สมองเป็นต่อมที่ควบคุมการผลิตฮอร์โมนเพศ หากต่อมใต้สมองทำงานผิดปกติก็มีส่วนทำให้ประจำเดือนมาน้อยลงได้
- เนื้องอกในมดลูก: เนื้องอกในมดลูกสามารถรบกวนการตกไข่ และอาจทำให้โพรงมดลูกผิดรูปหรืออุดตันทางเดินของเลือด จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เลือดประจำเดือนไหลออกได้น้อยลง
WATCH
เมื่อประจำเดือนมาน้อยลงควรทำอย่างไร?
แนวทางการรักษาปัญหาประจำเดือนมาน้อยลงขึ้นอยู่กับสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดอาการ หากสาเหตุเกิดจากภาวะสุขภาพที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา ควรไปพบแพทย์เพื่อใช้แนวทางการรักษาที่เหมาะสมเฉพาะบุคคล แต่ถ้าหากเกิดจากสาเหตุที่เป็นจากปัจจัยทางธรรมชาติ เช่น ความเครียด หรือการออกกำลังกายมากเกินไป การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ ทั้งเรื่องอาหารการกินและใช้ชีวิตก็เป็นหนทางที่จะช่วยแก้ไขให้ประจำเดือนมาปกติได้ดังเดิม
สุดท้ายนี้หากประจำเดือนมาไม่ปกติเป็นครั้งคราวและปริมาณลดลงเพียงเล็กน้อยก็อาจไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลนัก แต่หากประจำเดือนมาไม่ปกติเป็นเวลานานหรือปริมาณลดลงอย่างมากก็ควรเข้าพบแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุและได้รับการรักษาที่เหมาะสมอย่างทันท่วงทีจะดีที่สุด
WATCH