WATCHES & JEWELLERY
ย้อนชมนาฬิกา Self-Winding Tourbillon เรือนแรกของ Audemars Piguet ที่บางและเบาที่สุดAudemars Piguet เคยรังสรรค์ผลงานเรือนบอกเวลาที่เต็มไปด้วยเทคนิคซับซ้อนแต่ก็คงความบางระดับที่ไม่มีใครเทียบได้ |
นาฬิกาข้อมือเป็นสิ่งที่ประดิษฐ์ที่ถูกคิดค้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการระบุเวลาของผู้สวมใส่ มันเป็นดั่งขุมทรัพย์ติดกายที่เหล่าสุภาพบุรุษหรือสุภาพสตรีแทบขาดไม่ได้ จากการพกนาฬิกาแบบ ‘Pocket Watch’ แปรเปลี่ยนสู่การสวมเรือนเวลาบนข้อมือ ประหยัดทั้งพื้นที่และตอบโจทย์การใช้งานอย่างถึงที่สุด ทว่าความเรียบง่ายไม่ใช่คำตอบเดียวของนาฬิกาข้อมือ เพราะกลไกอันซับซ้อนที่ถูกพัฒนาตั้งแต่เรื่องความแม่นยำ รูปลักษณ์ความสวยงาม เรื่อยไปจนถึงกลไกอันล้ำลึกที่นำเสนอมิติใหม่ให้กับนาฬิกากลายเป็นสิ่งสำคัญที่เพิ่มมูลค่าและพัฒนาวงการนาฬิกาแบบไม่มีที่สิ้นสุด
ภาพ: Christie's
Audemars Piguet ถือเป็นแบรนด์ระดับชั้นนำของวงการ แบรนด์ดังจากสวิตเซอร์แลนด์นั้นมีประวัติศาสตร์การคิดค้นและนำเสนอผลงานนาฬิกาข้อมือระดับเพชรยอดมงกุฎ และการที่แบรนด์ชั้นนำจะประกาศความยิ่งใหญ่ได้มาตรวัดสำคัญคือกลไกแบบ ‘Tourbillon’ เพราะนี่คือรูปแบบความสลับซับซ้อนที่เปี่ยมทั้งเรื่องความสวยงามและฟังก์ชั่นที่ยากจะหาสิ่งใดมาเปรียบ และแล้วในปี 1986 แบรนด์โอเดอมาร์ส ปิเกต์ก็ปล่อยเรือนเวลาเขย่าวงการ เพราะมันคือนาฬิกากลไกตูร์บิญงที่อัดแน่นด้วยความล้ำสมัยช่วงยุคนั้นไว้ภายในตัวเรือนขนาดเล็กและบางในแบบที่ไม่มีใครคิดว่าจะเป็นไปได้
ภาพ: Hodinkee
เมื่อความจำเป็นถูกตั้งคำถามแต่ความสวยงามกลับมีบทบาทมากจนลดทอนแรงเสียดทานเกี่ยวกับข้อสงสัยในเรื่องกลไก ตลอดระยะหลายปีก่อนยุคเฟื่องฟูและถือกำเนิดขึ้นของนาฬิกาข้อมือ นาฬิกาแบบพกพาที่มีความแม่นยำสูงประกอบวิธีการทำงานผ่านกลไกการเคลื่อนไหวของตูร์บิญง ซึ่งมีหน้าที่สร้างพลังงานสมดุลต้านทานแรงโน้มถ่วงเพื่อเก็บรักษาพลังงานจนนาฬิกาทำได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทว่าในปัจจุบันนาฬิกาข้อมือมีลักษณะการสำรองเวลาผ่านการสวมใส่และเคลื่อนไหวของมนุษย์ ความน่าสนใจของกลไกจึงแปรเปลี่ยนสู่มิติความสวยงามอย่างที่โอเดอมาร์ส ปิเกต์รังสรรค์ขึ้นเมื่อปี 1986
WATCH
ภาพ: Atelier Tempus
เรือนบอกเวลาอันน่าทึ่งถูกออกแบบขึ้นเมื่อปี 1986 กับนาฬิกา ‘Self-Winding Tourbillon’ ทำงานด้วยกลไก calibre 2870 และนี่คือนาฬิกาตูร์บิญงฉบับ ‘Self-Winding’ เรือนแรกของโลก แต่ความน่าสนใจคือขนาดและน้ำหนักอันน่าทึ่ง แบรนด์นำเสนอด้วยรูปลักษณ์ทรงเหลี่ยม วางแพตเทิร์นตูร์บิญงได้ด้านบนซ้าย มีโลโก้แสดงกลไกที่ตำแหน่งเลข 6 ตัวเรือนและหน้าปัดทำจากทองคำ 20k นอกจากนี้ตัวกลไกตูบิร์ญงทำจากวัสดุไทเทเนียมจึงทำให้มันมีน้ำหนักไม่ถึง 1 กรัม และมีความหนาเพียงราวๆ 5 มิลลิเมตรเท่านั้น ด้วยตัวเลขนี้ทำให้นาฬิกาเรือนนี้เป็นนาฬิกาตูร์บิญงที่ทั้งล้ำสมัยที่สุดในยุคนั้น อีกทั้งยังครองตำแหน่งนาฬิกาตูร์บิญงที่เบาและบางที่สุด
ภาพ: Hairspring Watches
รายละเอียดนาฬิกาเรือนนี้สมกับเป็นนาฬิการะดับตำนานโดยแท้ เพราะจากการบันทึกแบรนด์ผลิตขึ้นเพียงราวๆ 350-401 เรือนเท่านั้น โดยแต่ละเรือนจะสลักคำว่า ‘Tourbillon automatique’ พร้อมทั้งตัวเลขระบุลำดับเรือนเวลาอย่างชัดเจน มากไปกว่านั้นหน้าปัดยังมาในรูปแบบ ‘sun ray’ ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากฟาโรห์อเคนาเตนแห่งอาณาจักรอียิปต์โบราณ องค์ประกอบทั้งหมดหลอมรวมกันจนเกิดเป็นนาฬิการะดับตำนานที่นักสะสมถวิลหา ราคาประมูลล่าสุดเมื่อปี 2021 ตามข้อมูลของ Christie’s ระบุว่านาฬิกาเรือนนี้มีมูลค่าประมาณ 32,500 สวิสฟรังก์ หรือประมาณ 1,329,000 บาท คาดว่าราคาจะพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุความเก่าแก่และหายาก และนี่คือตำนานแห่งเรือนเวลาตูร์บิญงโดยแท้
WATCH