เจาะลึกทุกความหมาย 'Time, Nature, Love' นิทรรศการจิวเวลรีเล่าประวัติสำคัญของ Van Cleef & Arpels
มาฟังผู้บริหารและเหล่าไดเร็กเตอร์จาก Van Cleef & Arpels เจาะลึกเบื้องหลังการสร้างสรรค์นิทรรศการครั้งสำคัญที่กรุงโซล พร้อมอธิบายความลึกซึ้งของ 'เวลา' ซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกนำมาถกเถียงมากที่สุดในอุตสาหกรรมจิวเวลรี
“เวลา” คือหนึ่งประเด็นที่กลายเป็นบทสนทนาให้ได้ถกเถียงกันมากที่สุดในอุตสาหกรรมจิวเวลรี เพราะนอกจากเครื่องประดับชิ้นเลอค่าจะต้องมีดีไซน์คลาสสิกเป็นอมตะเพื่อให้นำมาสวมใส่ได้ในทุกช่วงเวลาแบบไม่ฉีกเทรนด์แล้ว จิวเวลรีที่จะกลายเป็นมรดกให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชมยังจะต้องสะท้อนถึงกลิ่นอายของเรื่องราววัฒนธรรมกระแสนิยมที่ถือกำเนิดขึ้นในยุคนั้นๆ อีกด้วย ดังนั้นแบรนด์จิวเวลรีสัญชาติฝรั่งเศส Van Cleef & Arpels ที่คอยบันทึกเรื่องราวสำคัญทางประวัติศาสตร์และความงดงามของธรรมชาติผ่านอัญมณีได้อย่างยอดเยี่ยมมานานกว่า 117 ปี จึงนำผนึกความคิดที่ตกตะกอนจากบทสนทนาเหล่านี้มาถ่ายทอดเป็นนิทรรศการสุดตระการตาโดยใช้ชื่อว่า Time, Love, Nature กับการนำผลงานเครื่องประดับที่หลับใหลอยู่ในคลังสะสมของแบรนด์และนักสะสมอัญมณีทั่วโลกกว่า 16 คนมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ D Museum ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้จนถึงวันที่ 14 เมษายนที่กำลังจะถึงนี้ เพื่อเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของแบรนด์ที่คอยให้ความสำคัญในการนำเสนอสามสิ่งที่เป็นเสมือนทรัพยากรอันล้ำค่าที่สุดอย่าง เวลา ความรัก และธรรมชาติอันแสนมหัศจรรย์
1 / 3
2 / 3
3 / 3
โปรเจกต์นี้เป็นการร่วมมือครั้งสำคัญระหว่าง Nicholas Bos บริหารสูงสุดของแวน คลีฟ แอนด์ อาร์เปลส์ Alba Cappallieri ภัณฑารักษ์ที่เป็นหัวเรือใหญ่ในการคัดสรรผลงานมาจัดแสดงกว่า 300 ชิ้นร่วมกับไดเร็กเตอร์ฝ่ายมรดกอย่าง Alexandrine Maviel-Sonet และศิลปินหญิง Johanna Grawunder กับความตั้งแต่ที่อยากจุดหยุดสาวกจิวเวลรีไว้ในห้วงแห่งกาลเวลาชั่วขณะด้วยความงดงามของเหล่าอัญมณีชิ้นประณีตภายในโลกแห่งจินตนาการที่เต็มไปด้วยแสงสีของงานศิลปะแบบติดตั้งพร้อมมอบประสบการณ์อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งโจแฮนนานำสีที่เกิดจากแสงธรรมชาติมาฉายเป็นสร้างเป็นลำแสงรูปทรงพรรณไม้ ฉายบนผนังสีเทาในหลายเฉดเพื่อชูเสน่ห์ความออแกนิกของธรรมชาติ พร้อมนำรูปทรงตัวอักษรเกาหลีที่นับว่าเป็นตัวอักษรแห่งยุคโมเดิร์นเมื่อเทียบกับตัวอักษรภาษาอื่นๆ มาดัดแปลงให้เป็นรูปทรงต่างๆ และประดับไว้ตามนิทรรศการเพื่อสื่อถึงเสน่ห์ของประเทศเกาหลีใต้ที่โดดเด่นในการนำเสน่ห์แห่งอารยธรรมมาผสมผสานกับนวัตกรรม โดยนิโคลากล่าวไว้ว่า “นอกจากแวน คลีฟ แอนด์ อาร์เปลส์จะเป็นที่รักในประเทศเกาหลีใต้มานานกว่า 20 ปีแล้ว เรายังสัมผัสได้ถึงรากฐานทางวัฒนธรรมที่ผสานข้ากับโลกอนาคตได้อย่างลงตัว ซึ่งตรงกับเรื่องราวที่สื่อในนิทรรศการ” ทั้งยังกล่าวถึงเสน่ห์ของอุตสาหกรรมจิวเวลรีอีกว่า “สำหรับอุตสาหกรรมนี้เวลาไม่ได้เดินทางเป็นเส้นตรง แต่เวลานั้นหมุนเวียนเสมือนวัฏจักรแห่งฤดูกาล ผลงานต่างๆ มักจะกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง ดังนั้นการสร้างสรรค์ผลงานที่นำมาสวมใส่ตลอดได้และมีคุณค่าที่เติบโตตามเวลาดั่งงานศิลปะระดับตำนานจึงต้องใช้เวลารังสรรค์นานกว่า 5-6 ปีในบางครั้ง เพราะเราอยากมอบชิ้นงานแห่งประวัติศาสตร์ให้กับผู้หลงใหลในงานฝีมือและความคิดสร้างสรรค์มากกว่าแค่เพียงผลงานเพื่อการตลาด”
ด้วยความเข้าใจเกี่ยวกับคอนเซปต์ของเวลาในโลกอัญมณีอย่างถ่องแท้ นิโคลาจึงตัดสินใจดึงตัวอัลบ้าที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาตร์จิวเวลรีมาร่วมงานกับอาเล็กซานเดรีย ผู้ถือกุญแจสู่คลังสะสมที่เต็มไปด้วยมรดกของแวน คลีฟ แอนด์อาร์เปลส์กว่า 2,500 ผลงาน ในการเลือกสรรชิ้นงานสำคัญที่จะสามารถเล่าเรื่องเส้นทางความเป็นมาของแบรนด์ได้อย่างครบถ้วน ซึ่งโว้กประเทศไทยได้มีโอกาสนั่งคุยกับอาเล็กซานเดรียเกี่ยวกับกฏเกณฑ์ในการคัดเลือก เธอเผยว่า “เราเริ่มจากการเลือกผลงานในคลังสารานุกรมของแบรนด์ที่จะสื่อถึงคอนเซปต์ของนิทรรศการได้อย่างลึกซึ้ง ซึ่งต้องเป็นดีไซน์ที่คลาสสิกแบบไร้กาลเวลาที่ดึงแรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติเช่นพรรณไม้และสรรพสัตว์นานาชนิด และที่สำคัญทุกชิ้นต้องสื่อถึงความรัก เนื่องจากผลงานเหล่านี้ถูกรังสรรค์ขึ้นด้วยความรักแสนประณีต เพื่อเป็นของขวัญที่แสดงถึงความรักจากคนสำคัญ”
WATCH
1 / 4
2 / 4
3 / 4
4 / 4
หลายคนอาจจะทราบว่านิทรรศการไทม์ เลิฟ เนเจอร์ในประเทศเกาหลีใต้คือการจัดแสดงครั้งที่ 5 หลังจากประสบความสำเร็จในเมืองมิลาน ประเทศอิตาลีเมื่อปี 2019 ทำให้การรวบรวมผลงานครั้งนี้ใช้เวลาเพียง 1 เดือนจากที่เคยใช้เวลานานกว่า 6 เดือนในการเตรียมการครั้งแรก อย่างไรก็อาเล็กซานเดรียและอัลบามักจะเลือกจิวเวลรีชิ้นใหม่ๆ มาร่วมจัดแสดงในนิทรรศการในแต่ละเมืองทุกครั้ง ไม่เว้นแม้แต่ครั้งนี้ที่ทั้งคู่ได้เลือกผลงานที่ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมเอเชียหลายชิ้น พร้อมเล่าว่า “ผลงานหลายชิ้นของแบรนด์มักจะมีกลิ่นอายของวัฒนธรรมเอเชียแฝงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นดีไซน์อันเด่นชัดจากหนึ่งคอลเล็กชั่นในช่วงปี 1920s กับดีไซน์ที่สื่อถึงเรื่องราวสัตว์ในตำนานเช่น มังกรและม้าในวรรณคดี หรือจะเป็นเทคนิคในการรังสรรค์ผลงานสุดประณีตของช่างทำจิวเวลรีชาวเอเชีย ดังนั้นเราจึงอยากสดุดีให้กับวัฒนธรรมของบ้านเมืองที่เราไปจัดนิทรรศการด้วยความเคารพอย่างสูงสูด”
เมื่อให้ไดเร็กเตอร์ฝ่ายมรดกคนสำคัญของแวน คลีฟ แอนด์ อาร์เปลส์ที่กุมบังเหียบในการจัดนิทรรศการนิยามถึงความหมายของชื่อนิทรรศการแต่ละคำอย่าง Time (เวลา) Nature (ธรรมชาติ) และ Love (ความรัก) เธอจึงกล่าวว่า “อย่างที่นิโคลาได้เล่าไว้เกี่ยวกับเรื่องของเวลาอันเป็นประเด็นที่ถูกยกมาถกเถียงตลอดเวลา ผลงานทุกชิ้นควรสะท้อนถึงจิตวิญญาณของดีไซน์อันมีเอกลักษณ์ในแต่ละยุค และยังคงความงดงามแบบไร้กาลเวลาได้ถึงแม้จะมีอายุมากกว่าร้อยปี ซึ่งแน่นอนธรรมชาติคือบ่อเกิดแห่งแรงบันดาลใจอันน่าค้นหาแบบไม่มีสิ้นสุดมาตั้งแต่ปี 1906 และผลงานที่ถูกนำมาจัดแสดงคือเครื่องพิสูจน์ของทัศนศิลป์เหล่านี้ และสุดท้ายคือความรักที่มีอยู่ทุกหนแห่งบนโลก ตั้งแต่จุดกำเนิดของแบรนด์ที่มาจากความรักอันปรองดองของบ้านแวน คลีฟ และอาร์เปลส์ รวมถึงผู้สร้างสรรค์จิวเวลรีทุกขั้นตอนที่ใส่ใจรายละเอียดทุกขั้นตอนด้วยความรัก ไปจนถึงวิธีการนำเสนอของผลงานทุกคอลเล็กชั่น เราหวังว่าจะสามารถถ่ายทอดความอบอุ่นให้กับผู้ชื่นชอบจิวเวลรีได้ในทุกอณูแห่งความรู้สึก และที่สำคัญผลงานทุกชิ้นจะกลายเป็นของขวัญที่แสดงถึงความรักจากผู้ให้ถึงผู้รับอย่างแน่นอน”
1 / 3
2 / 3
3 / 3
ภาพ : Courtesy of Van Cleef & Arpels
WATCH