เจาะประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ 100 ปี ของนักสร้างสรรค์จิวเวลรี Cartier กับดินแดนมนต์ขลังแห่งชมพูทวีป
เมื่อเครื่องประดับของคาร์เทียร์ได้รับความนิยมจากพระราชวงศ์อินเดียอย่างสูง จนถึงขั้นที่สามารถใช้ชื่อราชวงศ์ เช่น Kapurthala, Nawanagar, Patiala แทนชื่อคอลเล็กชั่นได้ แทนที่จะต้องแบกกระเป๋าไปเข้าเฝ้าอย่างยุคแรก คาร์เทียร์ก็เริ่มเปิดบ้านต้อนรับเหล่าพระราชวงศ์ชั้นสูงจากตะวันออกไกล
...เจาะลึกประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ยาวนานนับศตวรรษของมาสเตอร์นักสร้างสรรค์จิวเวลรีระดับโลกกับดินแดนชมพูทวีปอันมีมนตร์ขลัง...
ปี 1911 Jacques Cartier ได้เข้าร่วมขบวนคาราวานเจ้าชายและเหล่าราชนิกุลจากลอนดอน มุ่งหน้าสู่เดลีเพื่อเข้าร่วม Delhi Durbar พระราชพิธีราชาภิเษกเฉลิมฉลองตำแหน่งพระจักรพรรดิแห่งอินเดียของพระเจ้า George ที่ 5 แห่งอังกฤษ แน่นอนว่าการเดินทางครั้งนี้เมอซีเยอคาร์เทียร์ย่อมต้องขนกระเป๋าเดินทางบรรจุเครื่องประดับแบรนด์คาร์เทียร์มาเต็มพิกัดเพราะได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องเครื่องประดับของแขกไฮโซผู้ร่วมขบวนให้สมฐานันดรศักดิ์ เมื่อเดินทางไปถึงเดลี ฌักก็ต้องตะลึงงันในความระยิบระยับแสบตาของเพชรนิลจินดาที่เหล่าราชนิกุลแห่งราชวงศ์โมกุลประโคมสวมใส่มาต้อนรับคณะขององค์พระจักรพรรดิ เพราะทั้งความอลังการและสีสันนั้นเกินกว่าที่นักอัญมณีชาวยุโรปจะสามารถจินตนาการได้
แม้จะเป็นที่รู้กันว่าการเดินทางครั้งนั้นทำให้บ้านคาร์เทียร์ต้องมนตร์เสน่ห์ของแดนชมพูทวีปเข้าเต็มเปา และเปลี่ยนชีวิตของพี่น้องคาร์เทียร์ไปโดยสิ้นเชิง แต่นอกเหนือจากภาพถ่ายของฌัก คาร์เทียร์ในวัยหนุ่มที่นั่งอยู่กลางวงล้อมพ่อค้าชาวอินเดียสวมผ้าโพกหัวในตลาดพลอยแล้ว ก็ไม่มีบันทึกการเดินทางหรือหลักฐานใดๆ อีกที่บรรยายว่าเขาเดินทางไปไหนในอินเดียมาบ้าง หรือช็อปพลอยกลับยุโรปไปกี่ตัน สิ่งที่บอกเล่าเรื่องราวการเดินทางในครั้งนั้นมีแค่คอลเล็กชั่นเครื่องประดับที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากอินเดีย ซึ่งเดินทางผ่านกาลเวลามาเป็นหลักฐานให้เห็นในปัจจุบัน
Through the Looking Glass
โชคดีที่ Francesca Cartier Brickell ทายาทสายตรงของฌัก คาร์เทียร์ค้นพบหีบบรรจุจดหมายและไดอารีที่ฌักและภรรยาบันทึกเรื่องราวการเดินทางของพวกเขาเอาไว้ ฟรานเชสกาถึงกับตัดสินใจทิ้งงานประจำ ใช้ไดอารีและจดหมายของฌักเป็นไกด์บุ๊ก ออกเดินทางตามรอยเท้าของบรรพบุรุษเพื่อนำมาถ่ายทอดเป็นหนังสือชื่อ The Cartiers
สิ่งหนึ่งที่ฌักเซอร์ไพรส์เป็นที่สุดจากการเดินทางครั้งแรกๆ ก็คือ ในอินเดียลูกค้าที่ต้องการเครื่องเพชรขนาดใหญ่สำหรับสวมใส่มักเป็นสุภาพบุรุษ ตรงข้ามกับยุโรปที่ลูกค้าชายมักซื้อเครื่องเพชรหรือเครื่องประดับให้ภรรยาหรือสตรีอันเป็นที่รัก แต่ไม่นานเขาก็เข้าใจว่าสำหรับคนอินเดียเพชรพลอยไม่ใช่เรื่องของความงาม แต่เป็นการแสดงอำนาจและความมั่งคั่งของวงศ์ตระกูล ดังนั้น แม้เมอซีเยอคาร์เทียร์จะเตรียมเครื่องประดับสุดล้ำตามแฟชั่นจากฝรั่งเศสไปเต็มกระเป๋า (ซึ่งส่วนมากก็ไม่พ้นพวกเครื่องเพชรหรือสร้อยคอของสุภาพสตรี) แต่สิ่งเดียวที่ขายดีในทริปนั้นกลับเป็นนาฬิกาพก ซึ่งกำลังเป็นของหายากที่ฮอตฮิตมากในหมู่เศรษฐีแดนโมกุล เนื่องจากเพิ่งเริ่มเห่อแฟชั่นยุโรปได้ไม่นาน ทำให้ฌักมองเห็นโอกาสและช่องทางในการเปิดตลาดใหม่พร้อมๆ กับการนำดีไซน์แบบอินเดียกลับยุโรปอย่างล้นกระเป๋าเช่นกัน
เดิมทีลูกค้าของบริษัทอัญมณีในยุโรปก็ไม่ใช่คนอื่นไกล ส่วนมากมาจากแวดวงผู้มีอันจะกินในยุโรป ซึ่งก็นับตระกูลได้ไม่ครบจำนวนนิ้วมือ ในขณะที่ผู้ค้าอัญมณีคู่แข่งเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ฌักได้พบลูกค้ากลุ่มใหม่ในอินเดียที่มีกำลังซื้อมหาศาล นั่นก็คือเหล่ามหาราชาแห่งอินเดียผู้เพิ่งค้นพบความ En vogue ของโลกตะวันตกได้ไม่นาน และมาพร้อมวงเงินระดับใกล้เคียงอินฟินิตี้ พวกเขาพร้อมจะเปย์ไม่อั้นเพื่อให้ได้มาซึ่งทุกสิ่งที่เป็นแฟชั่นล้ำสมัยจากยุโรป โดยเฉพาะเครื่องประดับสุดหรูหราที่ใช้สำแดงฐานะและเกทับกันในวงน้ำชาได้เป็นอย่างดี
การไปเยือนอินเดียในปี 1911 ของฌักมีความสำคัญต่อคาร์เทียร์ในหลายมิติ ความโชคดีอย่างหนึ่งคือการเดินทางครั้งนั้นถือว่าถูกที่ถูกเวลา นอกจากแรงบันดาลใจและวัตถุดิบใหม่ๆ ในการรังสรรค์ผลงานแล้ว อินเดียยังเป็นตลาดและแหล่งอัญมณีที่ใหญ่ที่สุดโลก แม้เวลานั้นเรื่องราวเกี่ยวกับอินเดียจะยังไม่แพร่หลายมากนัก แต่วิญญาณเถ้าแก่ในตัวฌัก คาร์เทียร์ก็บอกให้เขาเตรียมออกไปสำรวจหาโอกาสใหม่ๆ ในฝั่งตะวันออกของดวงตะวัน และการที่ฌักลงเดินสำรวจตลาดอัญมณีตลอดจนกิจการเหมืองเพชรพลอยตามแคว้นต่างๆ ด้วยตัวเองนี่แหละทำให้คาร์เทียร์สามารถต่อยอดธุรกิจกับซัปพลายเออร์พ่อค้าอัญมณีได้โดยตรง ไม่เหมือนกับบริษัทอื่นๆ ที่ต้องยืมจมูกเอเยนต์หลายเจ้าหายใจกว่าหินสีเหล่านั้นจะเดินทางไปถึงยุโรป จุดนี้ทำให้คาร์เทียร์ได้เปรียบในเชิงธุรกิจอย่างยิ่ง และเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจของคาร์เทียร์ประสบความสำเร็จมาจนถึงปัจจุบัน
WATCH
อีกเหตุผลหนึ่งคือการที่คาร์เทียร์ได้รับคำสั่งซื้อจากลูกค้าระดับ VVIP จากแดนตะวันออกไกลอย่างสม่ำเสมอ (หรืออาจจะใช้คำว่า “ถล่มทลาย” ก็คงได้) ทำให้บริษัทรอดพ้นจากยุค The Great Depression โดยไม่เจ็บตัวมากนัก ต่างจากอีกหลายแบรนด์ที่ล่มสลายไปพร้อมกับวอลสตรีตในทศวรรษ 1930 นับเป็นโชคของคาร์เทียร์ที่อินเดียและเหล่าลูกค้าวีไอพีแทบไม่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งระดับโลกในครานั้นเลย คาร์เทียร์จึงสามารถรักษาไว้ได้ทั้งแหล่งวัตถุดิบและลูกค้า ซึ่งก็ต้องขอบคุณเหล่าผู้อุปถัมภ์อย่างไม่เป็นทางการของแบรนด์ที่ยังมั่นคงในความ Elegance แม้สงครามจะลุกลามไปทั่วโลกก็ตาม...อะเมซิ่งอินเดียจริงๆ
The Adventure of Indiana Jacques
หลังจากจบทริป Delhi Durbar ฌักต้องเข้ากรมเป็นทหารร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 พร้อมกับพี่น้องชาวฝรั่งเศสอยู่หลายปี กว่าจะได้กลับไปอินเดียอีกครั้งก็หลังปี 1920 แต่คราวนี้เขามีคาราวานเป็นของตัวเอง ประกอบไปด้วยรถโรลส์รอยซ์พร้อมโชเฟอร์ที่อิมพอร์ตมาจากอังกฤษ Nelly ภรรยาชาวอเมริกันของฌักกับกระเป๋าเสื้อผ้า 18 ใบ สไตลิสต์ส่วนตัว และหมอประจำคณะ (หมอเป็นไอเท็มที่ขาดไม่ได้เพราะไปอินเดียทีไรป่วยกันบ่อยเหลือเกิน) เดินทางขึ้นเหนือล่องใต้ไปด้วยกัน
ช่วงนั้นฌักเดินทางไปอินเดียทุก 2-3 ปี แต่ละครั้งเรียกได้ว่าใกล้เคียงการผจญภัยมากกว่าจะเป็น Business trip เรื่องราวต่างๆ ถ่ายทอดออกมาเป็นจดหมายหลายฉบับที่เนลลี่เขียนถึงลูกๆ เล่าตั้งแต่ประสบการณ์ระดับเบสิกอย่างการขับรถฝ่าฝูงวัวจนถึงขั้นระทึกที่อยู่ดีๆ ถนนก็หายต๋อม พอขับต่อไป อ้าว! สะพานไม่มี! ต้องจ้างชาวบ้านมายกรถข้ามแม่น้ำกันเป็นที่เอิกเกริก ส่วนอาหารการกินบางวันก็กินอยู่อย่างมหาราชา แต่บางวันมีแค่เสื่อใยมะพร้าวบางๆ ปูบนพื้น ทั้งความแห้งแล้งและความงดงามของอินเดียล้วนเป็นส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของคาร์เทียร์ที่น้อยคนจะรู้ เพราะฌักเป็นคนค่อนข้างเก็บตัว ไม่ค่อยชอบออกสื่อ ออกแต่ทริปทัวร์เหมืองเพชรรัวๆ ในขณะที่พี่ชาย Louis Cartier นั้นเป็นนวัตกรและอัจฉริยะด้านงานดีไซน์ ส่วน Pierre เป็นนักธุรกิจหัวก้าวหน้าที่เก่งกาจด้านการตลาด มักปรากฏตัวตามงานสังคมและรับหน้าที่ “ออกสื่อ” ปล่อยให้ฌักออกผจญภัยล่าสมบัติ หาวัตถุดิบต่างๆ มาให้อีก 2 หนุ่มสร้างสรรค์ผลงาน ด้วยเหตุนี้ 3 พี่น้องจึงเป็นส่วนผสมที่ลงตัวที่ช่วยก่อร่างความสำเร็จของคาร์เทียร์มาด้วยกัน
From India, with Love
เมื่อเครื่องประดับของคาร์เทียร์ได้รับความนิยมจากพระราชวงศ์อินเดียอย่างสูง จนถึงขั้นที่สามารถใช้ชื่อราชวงศ์ เช่น Kapurthala, Nawanagar, Patiala แทนชื่อคอลเล็กชั่นได้ แทนที่จะต้องแบกกระเป๋าไปเข้าเฝ้าอย่างยุคแรก คาร์เทียร์ก็เริ่มเปิดบ้านต้อนรับเหล่าพระราชวงศ์ชั้นสูงจากตะวันออกไกล ว่ากันว่าช็อปของคาร์เทียร์ในกรุงลอนดอนยุคนั้นวางกลยุทธ์มาเพื่อให้บริการเหล่ามหาราชาและมหารานีโดยเฉพาะ อาจเพราะมากันทีเหมากันเป็นถาดๆ หรือไม่ก็หอบเครื่องเพชรมาเป็นกระสอบๆ เพื่อให้ “แปรรูป” ส่วนที่นิยมเดินทางไปช็อปปิ้งกันถึงถิ่นในปารีสเลยก็มี
ช่วงปี 1920-1940 นั้น Bhupinder Singh มหาราชาแห่งปัตเตียลา ผู้ขึ้นชื่อในด้านความหรูหราฟู่ฟ่า เป็นลูกค้าสำคัญคนหนึ่งของคาร์เทียร์ พระองค์ส่งอัญมณีและเครื่องประดับชั้นเลิศจำนวนมากไปให้คาร์เทียร์เล่นแร่แปรธาตุเป็นเครื่องประดับต่างๆ เพื่อมอบให้เหล่ามเหสีและมหารานี หนึ่งในผลงานชิ้นเอกจากคำสั่งซื้อลอตนั้นมอบให้เป็นของขวัญแก่มหารานีแห่งปัตเตียลา จึงเป็นที่มาของชื่อ Patiala Ruby Necklace ชื่อบอกว่าเป็นสร้อยคอ แต่จริงๆ แล้วน่าจะเรียกว่าชุดเครื่องประดับมากกว่า เพราะเมื่อใส่เต็มเซตแล้วจะปิดตั้งแต่ใต้คางไปจนถึงกลางหน้าอก (นึกถึงเครื่องประดับรอบคอเจ้าสาวในงานแต่งงานสุดอลังการในหนังอินเดีย) ทำจากทับทิมทรงลูกปัดจำนวนมาก แซมด้วยเพชรและไข่มุกสีธรรมชาติ ทั้งชุดนั้นเริ่มด้วยโช้กเกอร์ลูกปัด ตามด้วยสร้อยลูกปัดที่ค่อยๆ เพิ่มขนาดลงมาตามลำคอ จนถึงสิ่งเทียมโคมระย้าขนาดย่อม ที่พาดจากบ่าลงไปถึงเนินอก
น่าเสียดายที่ไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น ไม่มีใครรู้ว่าเมื่อไรหรือเพราะอะไร ชุดสร้อยคอนั้นถูกแยกส่วนและนำออกขายกระจัดกระจายกันไป จนกระทั่งปี 2000 มีส่วนหนึ่งกลับมาปรากฏตัวอีกครั้งในงานประมูลแห่งหนึ่งที่กรุงเจนีวา เดชะบุญไปเข้าตา Cartier Tradition หน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลชิ้นงานวินเทจของเฮาส์ จึงได้นำกลับมาฟื้นฟูและประกอบให้เป็นโช้กเกอร์ตามแบบต้นฉบับ แต่ชิ้นที่เหลือยังไม่ปรากฏให้เห็นอีกเลยจนทุกวันนี้
The Oriental Masterpiece
หมุนเข็มนาฬิกาเดินหน้ามายังปี 1925 ท่ามกลางกระแสเรืองรองของศิลปะอาร์ตเดโค่อันเป็นจุดพีกของเทรนด์นิยมตะวันออกในยุโรป “วัตถุดิบ” เชิงศิลป์แสนเอ็กซอติกจากทั่วทุกมุมโลกหลั่งไหลมาสู่ฝรั่งเศสเมืองหลวงแห่งศิลปะของโลกในยุคนั้น คาร์เทียร์เป็นหัวหอกสำคัญผู้นำเข้าเส้นสายและทรวดทรงอันชดช้อยที่หยิบเล็กผสมน้อยมาจากสมบัติพัสถานของมหาราชาแห่งราชวงศ์โมกุล พร้อมกับเพิ่มสีสันให้คอลเล็กชั่นเครื่องประดับที่เดิมมีแค่ทองคำกับเพชร ด้วยอัญมณีเจียระไนสีสันสดใส เราจึงได้เห็นเครื่องประดับในรูปลักษณ์ที่มีการผสมผสานประกายคมกริบวิบวับของเพชรทรงเรขาคณิตสไตล์ยุโรปเข้ากับความโค้งมนอ่อนช้อยนุ่มนวลและสีสันของอัญมณีจากตะวันออกไกล ทั้งแซปไฟร์จากแคชเมียร์ มรกตโคลัมเบีย (ซึ่งในยุคนั้นมักมาขึ้นฝั่งที่ท่าเรือเมืองกัว) และเพชรชั้นเลิศจากเหมืองในอินเดีย ผู้เป็นเจ้าแห่งเหมืองเพชรโลกในเวลานั้น จนกลายเป็นซิกเนเจอร์ของเครื่องประดับแห่งยุค The Roaring Twenties
ชิ้นเด่นจากงานในยุคนั้นเห็นจะเป็นการแกะสลักหินมีค่าด้วยลวดลายอ่อนช้อยอย่างตะวันออกไกล (The Orient) ผสมผสานกับลายโมทีฟเรขาคณิตที่กำลังเป็นที่นิยม ออกมาเป็นประติมากรรมนูนต่ำขนาดย่อมๆ บนชุดเครื่องประดับ และนอกจากไข่มุกที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นแล้ว หินสีที่นับว่าโดดเด่นมากในยุคนั้นคือหยกสีเขียวเข้ม ตัดกับประกายสีขาวของเพชรที่มักนำมาล้อมรอบ หรือประดับให้หยกสลักที่เป็น Centre piece โดดเด่นขึ้น ผลงานชิ้นเอกที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น The Art Deco Jewel คือ The Taj Mahal Emerald ประกอบด้วยชิ้นหยกทรง 6 เหลี่ยมขนาด 141.13 กะรัต สลักลวดลายดอกไม้ในสไตล์ศิลปะแบบตะวันออก ประดับมุมด้วยเพชร ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งจากชุดเครื่องประดับ Cartier’s Collier Berenice ที่นำมาจัดแสดงในงาน Paris Exposition ในปี 1925 ดีไซน์ล้ำสมัยแบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนของเครื่องประดับชุดนี้เรียกเสียงฮือฮาจากผู้เข้าชมและความสนใจจากสื่อได้อย่างล้นหลาม
ในงานเดียวกันยังมีเครื่องประดับอีก 1 ชิ้นที่มีความโดดเด่นไม่แพ้กันคือ หัวเข็มขัดและเข็มกลัดสไตล์อาร์ตเดโค่ ทำจากหยก 8 เหลี่ยมขั้นบันไดสีเขียวเข้มขนาด 38.71 กะรัต ล้อมปีกซ้ายขวาด้วยเพชรและแซปไฟร์ แซมด้วยหยกชิ้นน้อยสีเขียวสดใส จัดเรียงออกมาเป็นทรงพุ่ม ซึ่ง (ฝรั่งเขาว่า) เปรียบเสมือนยอดหอคอยของป้อมปราการแบบอินเดีย ด้วยส่วนผสมของสีสันที่ดูจัดจ้าน (อย่าลืมว่ายุคก่อนหน้านั้นทองเป็นทอง เพชรเป็นเพชร ไม่ค่อยมีการเล่นสีสันมากนัก) และดึงดูดสายตาด้วยคอนทราสต์ระหว่างประกายของเพชรที่ล้อกับแสงไฟกับชิ้นหยกที่เหมือนจะดูดแสงทุกอย่างเข้าไปในตัวเอง จึงเป็นที่ต้องตาของเหล่าไฮโซซึ่งได้แต่มองตาละห้อย เพราะชิ้นนี้ออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับ Sybil Sassoon มาร์กีโอเนสส์แห่ง Cholmondeley ธิดาของเซอร์ Edward Sassoon และบารอนเนสส์ Aline de Rothschild 2 ตระกูลขุนนางใหญ่แห่งยุโรป โดย เธอมักจะหยิบมาผสมผสานกับเครื่องประดับจากยุคต่างๆ ในหลายโอกาส รวมไปถึงวาระสำคัญอย่างการเข้าร่วมพระราชพิธีราชาภิเษกพระเจ้า George ที่ 6 ในปี 1937 และพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระราชินีนาถ Elizabeth ที่ 2 ในปี 1953 ด้วย
ดีไซน์ที่ออกมาจากเวิร์กช็อปของคาร์เทียร์ในทศวรรษ 1920 แสดงให้เห็นถึงแรงบันดาลใจที่ได้จากงานศิลปะของอินเดียอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการนำรูปลักษณ์และรูปทรงต่างๆ มาประยุกต์เป็นเครื่องประดับในแบบตะวันตก (และแบบเฉพาะของคาร์เทียร์) เช่น เข็มกลัดเพชรที่จัดเรียงเป็นทรงขนนกและพู่ประดับผ้าโพกศีรษะ สร้อยคอของสุภาพสตรีที่แปลงมาจากสร้อยคอที่เหล่ามหาราชานิยมสวม การนำหินสี ไข่มุกทรงโค้งมน ไปจนถึงตุ้งติ้งและพวงระย้ามาประกอบชิ้นงานต่างๆ แม้กระทั่งงานของคาร์เทียร์ในยุคปัจจุบันเองยังมีบางชิ้นที่แสดงให้เห็นอิทธิพลของงานศิลป์สไตล์มหาราชาอยู่ โดยหยิบดีไซน์ที่โดดเด่นจากยุคอาร์ตเดโค่มานำเสนอในรูปแบบที่ร่วมสมัยขึ้น ตอกย้ำความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นยาวนานระหว่างแบรนด์คาร์เทียร์กับอินเดียที่แม้แต่คนในตระกูลเองยังบอกว่า ถ้าไม่มีอินเดีย อาจไม่มีคาร์เทียร์ในปัจจุบันก็เป็นได้
เรื่อง : วรรณวนัช ท้วมสมบูรณ์
WATCH