WATCHES & JEWELLERY

เปิดประวัติ 'ทับทิม' เครื่องประดับที่ได้รับสมญานามว่าราชาแห่งอัญมณี

สมญานามราชาแห่งอัญมณี

“ราชาแห่งอัญมณี” คือสมญาที่ชาวอินเดียใช้เรียกทับทิมมาเป็นเวลาช้านาน ซึ่งทั้งคำและความหมายที่แฝงอยู่ต่างก็มีมาก่อนเพลงของ Marilyn Monroe อันเป็นที่มาของวาทะ “เพชรคือเพื่อนที่ดีที่สุดของผู้หญิง” โดยคุณสมบัติด้านอื่นของทับทิมก็ไม่เป็นรองใครตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เชื้อพระวงศ์และบุคคลชั้นแนวหน้าในสังคมต่างนิยมแสวงหาทับทิมเม็ดงามมาประดับร่างกาย นอกจากนี้ทับทิมยังมีความสำคัญในฐานะเครื่องรางของขลัง เป็นเครื่องประดับบนเสื้อเกราะ สายบังเหียน และฝักดาบของชนชาติอารยะในเอเชียยุคโบราณ และยังเชื่อกันว่าอัญมณีชนิดนี้เป็นของศักดิ์สิทธิ์อีกด้วย ปัจจุบันทับทิมนับว่าเป็นรัตนชาติที่หายากที่สุด และนับวันก็ยิ่งร่อยหรอ ด้วยเหตุนี้ราคาต่อกะรัตของทับทิมจึงสูงลิ่ว ธาตุที่ให้สีแดงแก่ทับทิมคือโครเมียม และทับทิมที่สูงค่าที่สุดก็คือทับทิมสีแดงก่ำ หรือที่เรียกกันว่า “สีเลือดนก” ซึ่งมีที่มาจากประเพณีฆ่าสัตว์สังเวยผีนัตของพม่า ที่มีหยดเลือดสีแดงอมม่วงเฉดเดียวกับทับทิมน้ำเอกนั่นเอง โดยทับทิมเป็นพลอยที่โรแมนติกที่สุดด้วยว่ามีสีแดงอันเป็นสีแห่งความรัก ความหลงใหล และหัวใจ จึงเหมาะเป็นของขวัญแทนใจ ซึ่ง Van Cleef & Arpels ได้คัดสรรทับทิมเม็ดงามน้ำหนักรวมกว่า 3,000 กะรัตมารังสรรค์เป็นคอลเล็กชั่นจิวเวลรีชั้นสูงในชื่อ “Treasures of Rubies” และนำออกเผยโฉมเป็นครั้งแรกทั่วโลกเมื่อเร็วๆ นี้ นอกจากเสน่ห์ที่สัมผัสได้ทางกายภาพแล้ว ทับทิมยังมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ การเมือง และวัฒนธรรมแฝงอยู่มากมาย ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่เสริมส่งให้ทับทิมเป็นอัญมณีที่มีค่ายิ่ง

THE MARVELS OFMOGOK

ในอดีตมีการขุดพบทับทิมในอัฟกานิสถาน ออสเตรเลีย บราซิล กัมพูชา โคลอมเบีย อินเดีย ญี่ปุ่น นามิเบีย สกอตแลนด์ รวมทั้งประเทศไทยของเรา และหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมาก็มีการขุดพบทับทิมในแหล่งใหม่ๆ ที่มาซิโดเนียมาดากัสการ์ เนปาล ปากีสถาน ทาจิกิสถาน แทนซาเนีย เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา แต่ไม่มีทับทิมจากแหล่งใดจะเลิศล้ำเป็นตำนานหรืออบอวลไปด้วยกลิ่นอายความลึกลับเท่ากับทับทิมโมกกเลย เมืองโมกกซึ่งอยู่ห่างจากเมืองมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับ 2 ของเมียนมาไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ 200 กิโลเมตร ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งทับทิมน้ำงามของโลกมาตั้งแต่โบราณกาล หากเราย้อนเวลากลับไปในยุคเฟื่องฟูของโมกกก็จะพบภาพแปลกตาของเมืองที่มีหิมะปกคลุมพื้นดินแต่ในความเป็นจริงผงสีขาวละเอียดนี้ไม่ใช่หิมะ มันเป็นผงของหินอ่อนเนื้อหยาบที่มีทับทิมฝังอยู่ข้างใน และต้องทุบหินให้แตกจึงจะเห็นมณีล้ำค่าที่อยู่ภายใน และด้วยเหตุที่สมบัติล้ำค่านี้อยู่ไกลโพ้นจึงทำให้ทับทิมพม่าเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ลึกลับในเชิงโลดโผนผจญภัย

โดยเรื่องราวของทับทิมระดับตำนานเม็ดหนึ่งของเมียนมามีที่มาจากชายชาวบ้านธรรมดาชื่องะม็อก ในปี 1661 งะม็อกพบทับทิมเม็ดใหญ่งดงาม จึงได้นำทับทิมเม็ดนั้นไปถวายกษัตริย์ตามหน้าที่ เนื่องจากกษัตริย์พม่าทรงถือว่าทับทิมถูกขุดพบในแผ่นดินของพระองค์จึงนับเป็นสมบัติของพระองค์โดยชอบธรรม หากพระเจ้าแผ่นดินพม่าพระองค์นั้นกลับคิดว่างะม็อกเล่นไม่ซื่อด้วยนักค้าทับทิมชาวต่างชาตินำทับทิมน้ำงามเลิศอีกเม็ดมาถวาย ด้วยขนาดของมันที่ใหญ่กว่า สีก็เหมือนเม็ดที่งะม็อกนำมาถวายไม่มีผิดเพี้ยน จึงทรงสั่งให้จับคนในหมู่บ้านที่งะม็อกอาศัยอยู่ไปขังรวมกันแล้วจุดไฟเผาทั้งเป็น ทับทิมเม็ดนั้นถูกนำไปทำเป็นพระธำมรงค์ซึ่งครั้งสุดท้ายขณะอยู่ในครอบครองของพระเจ้าสีป่อกษัตริย์พระองค์สุดท้ายของพม่า เมื่อกองทัพอังกฤษบุกพม่าในปี 1885 และบังคับให้พระราชวงศ์ต้องทรงลี้ภัยไปต่างแดน พระเจ้าสีป่อทรงมอบทับทิมงะม็อกให้พันเอก Sladen เป็นผู้เก็บรักษา แต่ต่อมานายพันชาวอังกฤษผู้นี้ปฏิเสธว่าพระเจ้าสีป่อไม่เคยนำทับทิมมาฝาก จนทุกวันนี้ก็ไม่มีใครทราบว่าทับทิมงะม็อกหายไปไหน เป็นเหตุให้ความตึงเครียดระหว่างเมียนมากับอังกฤษที่มีมายาวนานยังไม่ได้รับการคลี่คลาย 

STUNNING STYLES

ขนาดเป็นสิ่งสำคัญในการดูอัญมณี เรียกได้ว่ายิ่งใหญ่เท่าไรก็ยิ่งดี แต่น้ำหนักกะรัตไม่ใช่ปัจจัยเดียวในการตัดสินคุณภาพของทับทิมแต่ละเม็ด การเจียระไน สี และความใสก็สำคัญมากเช่นกัน ในอดีตการนำทับทิมมาทำเครื่องประดับจะใช้วิธีฝังหนามเตย ต่อมาในทศวรรษ 1930 แวน คลีฟ แอนด์ อารเปลส์ได้พัฒนาวิธีฝังอัญมณีแบบไร้หนามเตย เรียกว่า Serti Mystérieux (Mystery Set) ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมทางเทคโนโลยีอย่างหนึ่ง ทำให้เม็ดพลอยสามารถเปล่งประกายได้เต็มที่ ทับทิมที่นำมาใช้ต้องมีสีเดียวกันไม่ผิดเพี้ยน และการฝังเม็ดทับทิมบนรางทองที่อยู่ด้านหลังก็ต้องใช้ความแม่นยำอย่างสูงสุด ซึ่งต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 300 ชั่วโมง โดยผลงานชิ้นเอกที่ล้ำเลิศที่สุดของบริษัทชิ้นหนึ่งคือเข็มกลัด Pivoine ซึ่งทำขึ้นเมื่อปี 1937 เข็มกลัดคู่นี้เป็นรูปดอกไม้ 2 ดอก ดอกหนึ่งแย้มบาน ส่วนอีกดอกหนึ่งกำลังหุบกลีบ บนกลีบดอกไม้ฝังทับทิมกว่า 700 เม็ด น้ำหนักรวม 71 กะรัต เพชร แบเกต 43 เม็ด และเพชรทรงกลม 196 เม็ด ผู้ที่ซื้อไปคือราชสำนักอียิปต์

สตรีผู้โดดเด่นระดับไอคอนของโลกหลายคนต่างเคยสวมเครื่องประดับทับทิมที่รังสรรค์ด้วยเทคนิคนี้ แกรนด์ดัชเชส Joséphine Charlotte แห่งลักเซมเบิร์กทรงได้รับเครื่องประดับทับทิมออกแบบโดยแวน คลีฟ แอนด์ อาร เปลส์เป็นของหมั้น เครื่องประดับชุดนี้ประกอบด้วยเข็มกลัด Anemone กลีบดอกฝังทับทิมรูปไข่และตุ้มหูทรงกลม สตรีอีกนางหนึ่งที่โปรดปรานทับทิมคือ Maria Callas นักร้องอุปรากรเสียงโซปราโนชาวอเมริกันเชื้อสายกรีก ซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็นหนึ่งในนักร้องโอเปร่าที่ทรงอิทธิพลสูงสุดแห่งศตวรรษที่ 20 แต่ถ้าพูดถึงด้านสไตล์ คงไม่มีใครเหนือไปกว่าสตรีผู้นี้ Wallis Simpson ดัชเชสแห่งวินด์เซอร์ ซึ่งคนส่วนใหญ่รู้จักในฐานะหญิงม่ายหย่าสามีผู้เป็นต้นเหตุให้พระเจ้า Edward ที่ 8 แห่งสหราชอาณาจักรทรงสละราชสมบัติ ดัชเชสแห่งวินด์เซอร์ทราบดีว่าตนเองไม่ใช่คนสวย จึงแต่งกายตามแฟชั่นอย่างกล้าหาญและมั่นใจ เธอให้แวน คลีฟ แอนด์ อารเปลส์เป็นผู้แปลงโฉมสร้อบทับทิมเส้นแรกที่ได้เป็นของขวัญให้เข้าสมัยและแสดงถึงรสนิยมที่ไม่เหมือนใคร สร้อยเส้นนี้พันกระหวัดรอบคอ ทิ้งชายเป็นอุบะทับทิมงดงามสะดุดตา



WATCH




TREASURES OF RUBIES

แวน คลีฟ แอนด์ อารเปลส์รังสรรค์ชุดเครื่องประดับในธีมต่างๆ โดยใช้อัญมณีเพียงชนิดเดียวเป็นตัวยืนโรง ชุดแรกคือ Emeraude en Majesté ทำขึ้นเมื่อปี 2016 ส่วนชุดล่าสุดซึ่งประกอบด้วยเครื่องประดับงดงามไม่ซ้ำแบบ 60 ชิ้น แวน คลีฟ แอนด์ อารเปลส์เป็นผู้บุกเบิกนำลวดลายเลียนแบบธรรมชาติมาสรรค์สร้างผลงานได้อย่างบรรเจิดตานับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัท และคอลเล็กชั่นล่าสุดนี้ก็จำลองความชุ่มฉ่ำของลูกเบอร์รี่แดงและความบอบบางอ่อนช้อยของดอกไม้มาไว้บนเข็มกลัดและสร้อยคอได้อย่างงดงามสมจริง ชิ้นเด่นอย่าง Rubis Flamboyant นั้นสามารถสวมใส่ได้หลายแบบ สะท้อนพัฒนาการที่ไม่หยุดยั้งในด้านนวัตกรรมของผู้สรรค์สร้าง แต่ที่เย้ายวนใจที่สุดน่าจะเป็น Rubis Impérial ผลงานที่ชวนให้รำลึกถึงมหาราชาแห่งอินเดียและแรงบันดาลใจจากความมั่งคั่งแก่งดินแดนตะวันออก สร้อยเส้นนี้ประกอบด้วยลูกปัดทับทิม 9 สาย สามารถแยกสวม 4 สายหรือ 5 สายก็ได้ ส่วน Priya เป็นสร้อยคอเส้นยาวประดับทับทิมแกะสลักเป็นรูปดอกไม้สะท้อนศิลปะของช่างชาวอินเดีย

 

นับตั้งแต่ทศวรรษ 1950 พี่น้องตระกูลอารเปลส์ได้ออกตระเวนหาอัญมณีน้ำงามในอินเดียและภูมิภาคตะวันออกไกล และคอลเล็กชั่น Treasures of Rubies ก็มิได้เป็นเพียงการน้อมคารวะจิตวิญญาณแห่งการแสวงหาความสมบรูณ์แบบ แต่อาจกล่าวได้ว่าเป็นขุมทรัพย์ล้ำค่าที่ผสานสิ่งเก่าเข้ากับสิ่งใหม่ ทั้งยังช่วยเติมชีวิตและสีสันให้กับตำนานเก่าแก่ที่อาจจะถูกลืมไปตามกาลเวลา

 เรื่อง: ปาริสา พิชิตมาร

แปลและเรียบเรียง: วิริยา สังขนิยม

 

 

WATCH

คีย์เวิร์ด: van cleef arpels diamond history