WATCHES & JEWELLERY

โว้กประเทศไทยอาสาพาบุกเมืองชัยปุระ แหล่งอัญมณีลำดับต้นๆ ของโลกผ่านทริปสุดเอกซ์คลูซีฟ

Lucia Silvestri แห่ง Bulgari และ กุลวิทย์ เลาสุขศรี ชวนให้จินตนาการถึงมหานครสีชมพูซึ่งเต็มไปด้วยร่องรอยแห่งอารยะและเหล่าเพชรพลอยวาววับ

“Feel the energy....” คือวลีประจำทริปจากสตรีผู้ขับเคลื่อนบุลการีมากว่าค่อนชีวิต แม้ลูเซียจะรับตำแหน่งเป็นถึงผู้อำนวยการ ฝ่ายสร้างสรรค์ของแบรนด์มายาวนาน แต่ภารกิจที่เธอทำหาใช่แค่ประจำการสวยๆ อยู่ในกรุงโรม จับปากกานั่งสเกตช์รูป แล้วส่งมอบแบบให้เหล่าช่างฝีมือชั้นสูงรับช่วงต่อ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นผลงานสร้างสรรค์ทุกชิ้นจากบุลการีคงไม่ดูเหมือนมีชีวิตและน่าหลงใหลดั่งโดนเป่ามนตร์จนสามารถชนะใจสาวๆ ทั่วโลกมาหลายทศวรรษ ท่าจะจริงตามคำกล่าว “หากเราทำสิ่งใดด้วยความรัก ผลลัพธ์ย่อมสัมผัสถึงหัวใจของผู้คนได้เสมอ” คติ ใจแลกใจ จึงกลายเป็นจุดแข็งของบุลการี แบรนด์เครื่อง-ประดับชั้นสูงที่ขับเคลื่อนด้วยความรักในอัญมณีของลูเซีย ซิลเวสตรี

ใครเล่าจะรู้ว่าชีวิตหลังม่านกำมะหยี่ขลิบทอง งานกาล่าระดับพันล้าน และแฟชั่นโชว์เครื่องเพชรหรูหราล้วนไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ หากเต็มไปด้วยหยาดเหงื่อจากการเดินทางข้ามทวีปสไตล์ใจแลกใจ ทุกอย่างต้องผ่านกระบวน-การคิดอย่างระมัดระวังเพื่อนำสิ่งที่ดีที่สุดกลับไปแสตมป์โลโก้ “BVLGARI” โดยนักสำรวจเส้นทางไม่ใช่ใครอื่นคือลูเซียนั่นเอง ทุกปีเธอจะมีจุดหมายสำคัญที่ต้องไปเยือนด้วยตัวเองเพื่อคัดสรรอัญมณีคุณภาพดีที่สุดในโลก หนึ่งในนั้นคือเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องเพชรพลอยน้ำงามหายาก ตั้งอยู่ ณ ดินแดนภารตะ นามว่า “ไจเปอร์” หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ “ชัยปุระ”

 

เหตุของการเดินทางครั้งสำคัญนี้มาจากบทสนทนาอันถูกคอระหว่างลูเซีย กับกุลวิทย์ในงานเปิดตัวคอลเล็กชั่น Festa ของบุลการีที่บาหลีเมื่อปีกลาย ด้วยความรู้ความเชี่ยวชาญบวกกับความชื่นชอบเรื่องจิวเวลรีของกุลวิทย์ การพูดคุยอย่างออกรสจึงมาถึงจุดที่ว่า “แล้วทำไมโว้กประเทศไทย ไม่ร่วมเดินทางไปกับบุลการีล่ะ” ลูเซียชักชวนให้โว้กร่วมทริป ชัยปุระด้วยถึง 3 วันเต็ม ทริปสุดเอกซ์คลูซีฟนี้โว้กมีโอกาสตามไปดูขั้นตอนการทำงานของเธออย่างใกล้ชิด ตั้งแต่การเลือกของ ซื้อขาย เจรจา ไปจนถึงกิจวัตรที่เธอชอบทำ “อย่างกับการบันทึกเส้นทางสายไหมสไตล์ Marco Polo!” เราคิด แต่เส้นทางสายอัญมณีนี้มีเพียงแค่ลูเซียและกุลวิทย์จากโว้กประเทศไทย สื่อแฟชั่นหนึ่งเดียวที่ได้รับเกียรตินี้

ในแต่ละวัน ลูเซียจะปรากฏกายในชุดส่าหรีจากร้านดังในชัยปุระ เธอคงรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนท้องถิ่นไปแล้ว แถมยังอาสาพากุลวิทย์ไปกิน Lassi โยเกิร์ตสไตล์อินเดียในตอนเช้าด้วย การเยี่ยมชมโรงงานพลอยในวันแรกตอกย้ำความมั่นใจให้กับเราว่าเธอรู้ลึกเรื่องพลอยไม่แพ้เจ้าถิ่น นานมาแล้วที่ความสัมพันธ์ระหว่างลูเซียกับเอาต์เลตแห่งนี้ก่อกำเนิดขึ้นและค่อยๆ หยั่งรากลึกจากเจเนอเรชั่นรุ่นพ่อมาสู่รุ่นลูก ณ ปัจจุบัน ด้วยการแนะนำจากสตรีแถวหน้าแห่งวงการเครื่อง-ประดับระดับโลก แฟนจิวเวลรีตัวเอ้อย่างกุลวิทย์จึงได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากเจ้าของโรงงานพลอยผู้เป็นลูกซึ่งเข้ามากุมบังเหียนรับช่วงต่อ นักธุรกิจหนุ่มไฟแรงลูกไม้หล่น ไม่ไกลต้นชาวอินเดียคนนี้ไว้วางใจที่จะส่งมอบวัตถุดิบจากธรรมชาติให้ลูเซียรับช่วงต่อไปสร้างสรรค์และเจียระไนด้วยเทคนิคแพรวพราวจนกลายเป็นผลงานจิวเวลรีที่สวยงาม “เวลาผมเจอพลอยน้ำงามสวยๆ ผมมักจะเก็บเอาไว้ให้ลูเซีย แค่คิดว่าจะโชว์ให้เธอดู ผมก็รู้สึก ตื่นเต้นแล้ว” เขาหมายถึงเพชรพลอยเกรดเยี่ยมที่คัดไว้ให้บุลการีโดยเฉพาะ และนี่คือข้อดีของสายสัมพันธ์เยี่ยงคนรู้ใจเมื่อดีไซเนอร์เลือกที่จะเจรจาธุรกิจกับคู่ค้าด้วยตนเอง 

“Feel the energy” ประโยคประจำทริปที่ลูเซียมักพูดกับกุลวิทย์ขณะพิจารณาเพชรพลอย ตอนที่โรงงานพลอยยกแร่รัตนชาติมูลค่าหลายร้อยล้านมาให้เธอเลือกชม สีหน้าและแววตาของเธอบ่งบอกถึงความสุขเหลือเกินที่ได้สัมผัสเพชรพลอยเหล่านั้น ลูเซียเชื่อในพลังจักรวาล เธอเชื่อว่าเพชรพลอยเหล่านี้มีพลังและมันก็ส่งมาถึงเธอ “ความถูกตาต้องใจ” นี่เองคือเทคนิคพิเศษที่ลูเซียใช้ประกอบการเลือกสรรด้วยสัญชาตญาณ...นอกเหนือจากกฎเหล็กในการคัดอัญมณีทั่วไปว่าต้องน้ำงามใส กะรัตใหญ่ไร้ตำหนิ 

สำหรับบุลการีแล้ว ทุกชิ้นที่โรงงานนำออกมาต้องไร้ตำหนิและใสแจ่ม ยืนยันได้จากบรรณาธิ-การโว้กเมื่อเห็นมรกตเม็ดใหญ่น้ำงามที่ยกออกมาโชว์ “ไม่เคยเห็นแบบนี้มาก่อน...หาดูได้ยากมาก” เขาเล่าให้ฟังถึงขั้นตอนการซื้อขายจิวเวลรีระดับโลกว่า “ก่อนที่เราจะเห็นบรรดาเพชรพลอยแปรรูปเป็นแหวน สร้อย กำไล วางขายสวยงามอยู่ในตู้กระจกนั้น จะต้องผ่านการประมูลตัว Rough หรืออัญมณีดิบที่ยังไม่ผ่านการเจียระไนมาก่อน มองเผินๆ จะเหมือนก้อนหินทั่วไป จากนั้นพ่อค้าที่โชคดีจากการประมูลจะนำมาคัดแยกและเจียระไนเพื่อนำไปจัดจำหน่ายต่อ ขั้นตอนนี้ต้องอาศัยประสบการณ์ ความชำนาญ และสายตาอันเฉียบคมถึงจะได้ของดีมาครอบครอง”

แม้ว่าลูเซียจะอยู่ลำดับเกือบท้ายสุดของระบบห่วงโซ่แห่งโลกอัญมณี แต่เชื่อเถอะว่าเธอรู้จักทุกกระบวนการในแวดวงจิวเวลรีเป็นอย่างดี ยามที่เหล่าเพชรพลอยเกรดท็อปไม่ว่าจะเป็นพวงลูกปัดทับทิม คาโบชอน แซปไฟร์เม็ดโต มรกต หรือรูเบลไลต์ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นตัว “Top of the line” ทยอยออกมากองตรงหน้า เธอไม่เคยแสดงท่าทีว่าชอบหรือตื่นเต้นกับชิ้นไหนเป็นพิเศษ พอจบการเยี่ยมชมโรงงานพลอยในแต่ละวัน เธอจะให้กุลวิทย์กับผู้ร่วมคณะทายว่าอัญมณีชิ้นไหนคือ ชิ้นโปรดของเธอ...ไม่เคยมีใครทายถูก! ความสามารถในการเก็บอาการนี้เองที่เป็นอีกหนึ่ง พรสวรรค์ของลูเซียที่ช่วยให้การต่อรองราคากับคู่ค้าประสบผลสำเร็จได้ตัวเลขที่สมเหตุสมผล อย่างบทสนทนาหยิกแกมหยอกระหว่างเธอกับเจ้าของโรงงานต่อไปนี้ที่เริ่มต้นด้วยคำถามจากรายหลังก่อนจบลงด้วยไหวพริบเฉพาะตัวของลูเซีย!

 “มรกตจากแซมเบียโอเคไหมครับ” “อืม...แล้วคุณมีสปิเนลไหมคะ ขนาดสัก 7 หรือ 8 มิลลิเมตร...คุณไม่มีหรือ งั้นเราไปกันเถอะ!” เธอหัวเราะร่า ผู้ร่วมคณะพากันทึ่งในจังหวะรับ-ส่งและความกล้าได้กล้าเสียของเธอ

การเยี่ยมชมโรงงานพลอยทั้งสองแห่งพิสูจน์ชัดว่าสิทธิพิเศษของบุลการีไม่ใช่แค่การได้คัด-เลือกวัตถุดิบชิ้นโบแดงก่อนใคร แต่ลูเซียยังมีห้องส่วนตัวที่โรงงานแห่งหนึ่งจัดไว้ให้เธอโดยเฉพาะด้วย ห้องนี้อยู่ตรงหัวมุม มีแสงธรรมชาติส่องเข้ามาจากรอบด้าน ทำให้การเลือกพลอยของลูเซียง่ายขึ้น จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนออกแบบสไตล์ด้นสดที่เธอชอบทำ “ถ้าคุณเริ่มต้นจาก สร้อยคอก่อน ส่วนอื่นๆ จะตามมาเอง ฉันชอบเริ่มจากสร้อยคอเพราะมันเป็นจุดที่ยากที่สุด” ลูเซียอธิบายถึงเหตุผลที่เธอมักคีบพลอยคละสีคละแบบมาวางเรียงต่อกันเป็นเลย์เอาต์ทรงสร้อยคอ นี่คือวิธีที่เธอใช้เลือกพลอยและออกแบบในคราวเดียวกัน...เปลี่ยนตำแหน่ง รื้อมาวางใหม่ สเกตช์ภาพ วนไปอย่างนี้ พร้อมกับพูดว่า “Feel the energy…feel the energy…feel the energy” กับกุลวิทย์ “ถามจริงๆ เถอะ คุณจำได้หมดไหมว่ามีอัญมณีชิ้นไหนอยู่ในคลังบ้าง” บรรณาธิการของเราสงสัย ซึ่งคำตอบของลูเซียทำให้เขาทั้งอึ้งและทึ่ง “จำได้สิ!” บทสนทนาตลอด 3 วันอิ่มล้นไปด้วยข้อมูลเชิงลึกด้านอัญมณี “ถ้าคุณจะเจียระไนแบบนี้...เสียของแย่ ต้องโยนทิ้งทั้งหมด” “พลอยชิ้นนี้มีออร่าสีฟ้ามาจากข้างใน...มันเป็นชิ้นที่พิเศษมากนะ” หรือแม้กระทั่งการหาสีจริงของแร่ดิบที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า พ่อค้าพลอยแนะว่าต้องนำไปทำทรีตเมนต์และทดสอบประสิทธิภาพในห้องแล็บเสียก่อน นอกจากนั้นเรายังได้ชมการสาธิตเจียระไนพลอยตามแบบฉบับของบุลการีอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นการเจียระไนเป็นทรงลูกมะกอก หรือเม็ดพริกจากคอลเล็กชั่นที่แล้ว ส่วนขั้นตอนการออกแบบที่เหลือ การขึ้นเรือนโดยช่างฝีมือจิวเวลรีชั้นสูง จนกระทั่งปิดกล่องพร้อมจำหน่ายจะดำเนินการอยู่ที่เมืองต้นกำเนิดของแบรนด์คือกรุงโรม

ทริปชัยปุระครั้งนี้นอกจากจะได้ชมขั้นตอนการทำงานภาคสนามอัน ละเอียดอ่อนของบุลการี ว่ากว่าที่พลอยคุณภาพสูงแต่ละเม็ดจะตกมาอยู่ในมือต้องผ่านการคัดสรรอย่างประณีตแค่ไหน เรายังได้เห็นความทุ่มเทของ ลูเซียที่มีให้กับบุลการีมาตลอดนับตั้งแต่ได้รับโอกาสอันยิ่งใหญ่จากบุรุษผู้อยู่บนยอดสุดของพีระมิดแห่งแบรนด์ให้เข้ามาร่วมงานกับบริษัทตั้งแต่อายุ 18 เพียงเพราะเขาสัมผัสถึงความรักความชื่นชอบที่เธอมีต่ออัญมณี หากมีโอกาสสัมผัสกับอัญมณีจากบุลการี อย่าลืม “Feel the energy” เพื่อเติมพลังให้กับตัวเอง

1 / 5

The B Cuts
Cabochon การเจียระไนเป็นทรง หลังเต่า ในขณะที่แบรนด์อื่นสร้างความวาววับให้กับพลอยด้วยการเน้นเหลี่ยมมุม บุลการีกลับเน้นความ นุ่มนวลของหญิงสาวผ่าน รูปทรงโค้งมนและสีที่จัดจ้าน ของพลอยแต่ละชนิด


2 / 5

The B Cuts
Mughal “โมกุล” คือชื่อของอาณาจักรอันรุ่งเรือง ในอดีตของอินเดีย และศิลปะในยุคนั้นก็ตกทอด มาถึงปัจจุบัน การเจียระไนสไตล์โมกุลคือการนำพลอยไปแกะสลักเป็นลวดลายต่างๆ แต่บุลการีไม่ได้ใช้บ่อยเท่ากับคาโบชอน ตัวอย่างชิ้นงานที่ใช้วิธีนี้ ก็อย่างเช่น ตุ้มหูประดับพลอยหลากสีแกะสลัก เป็นลายใบไม้


3 / 5

The B Cuts
Beads ความกล้าคิดต่างของ บุลการีคือการที่แบรนด์ นำอัญมณีมาเจียระไน ให้เป็นเม็ดลูกปัดซึ่งมี ตั้งแต่ขนาดเล็กจิ๋วไปจนถึงใหญ่เพื่อเพิ่มความสนุก ให้เครื่องประดับและใช้ เติมเต็มรายละเอียดการออกแบบเล็กๆ น้อยๆ ให้สวยงามตามความ เหมาะสมของ แต่ละคอลเล็กชั่น


4 / 5

The B Cuts
Takhti การเจียระไนทรงสี่เหลี่ยม มุมฉากที่แบรนด์เพิ่งนำมาใช้ ไม่นานนัก แต่กลายเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ใหม่ของบุลการี โดยเป็นการผสมผสานระหว่างทรง คาโบชอนกับชูการ์โลฟ แรงบันดาลใจของชื่อมาจากภาษาฮินดูที่แปลว่า “กระเบื้อง


5 / 5

The B Cuts
Sugarloaf คนไทยเรียกทรง “กองข้าว” ลักษณะเหมือน พีระมิด การเจียระไนแบบนี้หาได้ยาก เพราะต้อง ใช้พลอยที่มีเนื้อหนาพอสมควรถึงจะขึ้นรูปได้สวย เชื่อกันว่าหากใครสวมแหวนทรงนี้จะมีแต่ความมั่งคั่งและสิ่งดีๆ เข้ามาในชีวิต


WATCH