FASHION

'เทียร่า' ไม่ใช่แค่เครื่องประดับของชนชั้นสูง แต่ครั้งหนึ่งเป็นเท่ากับอาวุธปกป้องสยาม

เกร็ดประวัติศาสตร์ว่าด้วยเทียร่าในสยาม

(ซ้าย) สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา และพระราชสวามี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ภาพ: Getty Images
Edited by Saisuree Mesiri

เมื่อมงกุฎไม่ใช่แค่เครื่องประดับหรือไอเท็มบ่งบอกสถานะทางสังคมและรสนิยมของเหล่าชนชั้นสูง แต่ครั้งหนึ่งในสยามยุคพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มงกุฎชิ้นงามยังเป็นเหมือนกับอาวุธปกป้องเอกราชของประเทศจากยุโรป นี่คือเกร็ดสำคัญของเทียร่าในประวัติศาสตร์ไทยที่คุณอาจไม่เคยรู้...

Story from the Orient

ทางฝั่งอุษาคเนย์ของเราก็มีการใช้ดอกไม้ประดับศีรษะปรากฏอยู่ในภาพเขียนเก่าแก่หลายยุคสมัย แต่ที่มีหลักฐานการค้นพบเครื่องประดับศีรษะทําจากทองคําและรัตนชาติสําหรับบ่งบอกอํานาจและสถานะทางสังคมนั้นนับย้อนไปได้ถึงยุคอาณาจักรทวารวดี (ราวพุทธศตวรรษที่ 11-16) เช่น ภาพเล่าเรื่องชาดกที่เจดีย์จุลประโทนในเมืองโบราณนครปฐม จังหวัดนครปฐม ที่ปรากฏภาพการใช้เครื่องประดับศีรษะและเครื่องประดับอื่นๆ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย สามารถนํามาเทียบเคียงได้กับเครื่องประดับสมัยทวารวดีที่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดี นอกจากนั้นยังมีเทวรูปและพระพุทธรูปประดับศิราภรณ์ ทั้งมงกุฎ เทริด และกะบังหน้าแบบศิลปะเขมรจากพุทธศตวรรษที่ 16-18 ปรากฏเป็นหลักฐานถึงการใช้เครื่องประดับศีรษะเพื่อบ่งบอกสถานะอยู่ทั่วไปอีกด้วยศิราภรณ์โบราณสภาพสมบูรณ์ที่สุดและเก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบในบ้านเรานั้นมาจากสมัยอยุธยา แต่น่าเสียดายที่ว่าเป็นการค้นพบจากเหตุโจรกรรมครั้งใหญ่ ซึ่งสมบัติของชาติอันเป็นหลัก-ฐานทางโบราณคดีมากมายได้ถูกขโมยหายไปอย่างไร้ร่องรอย

“...ในปีพุทธศักราช 2500 เจ้าหน้าที่ตํารวจได้จับกุมผู้ร้ายที่ลักลอบเข้าไปขุดหาสมบัติภายในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ และยึดของกลางซึ่งเป็นเครื่องทองไว้จํานวนหนึ่ง จากปากคําของคนร้ายทําให้ทราบว่านอกจากของกลางที่ถูกยึดไว้แล้ว ยังมีเครื่องทองส่วนหนึ่งน้ำหนักประมาณ 75 กิโลกรัม ได้ถูกนําออกไปแล้วก่อนหน้านี้และไม่สามารถติดตามคืนมาได้ ...เครื่องทองที่พบจําแนกออกได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ คือ เครื่องราชูปโภค และเครื่องบูชาเนื่องในศาสนา จากคําให้การของคนร้ายทําให้ทราบว่า เดิมมีเครื่องศิราภรณ์หลายองค์บรรจุอยู่ในองค์พระปรางค์ แต่ที่เหลืออยู่ในปัจจุบันมีเพียง 2 แบบ คือ สุวรรณมาลาและจุลมงกุฎ จัดอยู่ในหมวดเครื่องยศที่พระราชทานให้เฉพาะเจ้านายในขัตติยราชสกุลและผู้มีอิสริยศักดิ์สูง เพื่อแสดงให้เห็นถึงยศของผู้ที่ได้รับพระราชทาน เครื่องประดับศีรษะบุรุษหรือเรียกว่าจุลมงกุฎ สําหรับสวมครอบมุ่นมวยผมตรงกลางพระเศียร ทําด้วยทองคําฝังอัญมณีสีต่างๆ ลวดลายประกอบด้วยลายรักร้อย ลายกระจัง และลายดอกไม้ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 20 ส่วนเครื่องประดับศีรษะสตรีหรือสุวรรณมาลา เป็นศิราภรณ์ของเจ้านายฝ่ายสตรี ทําด้วยลวดทองคําเส้นเล็กๆ ถักสานกันเป็นทรงคล้ายหมวก มีลวดลายดอกไม้ที่ด้านข้างและด้านบน ส่วนหลังถักเป็นขอบเว้าโค้ง อาจเพื่อรับมวยผมที่รวบต่ำตรงท้ายทอย เป็นเครื่องประกอบอิสริยศักดิ์สมัยอยุธยาตอนต้น...” (จากหนังสือ เครื่องทองรัตนโกสินทร์ โดยสํานักพิมพ์คติ)

 

The Stars of Siam

เทียร่าเดินทางมาถึงราชสํานักฝ่ายในของสยามหลังการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จากหนังสือ จอมนางแห่งสยามในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 6 กับกระแสวัฒนธรรมตะวันตก เขียนโดยวรรณพร บุญญาสถิตย์ กล่าวถึงเทียร่าไว้ว่า

“...เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดําเนินกลับจากยุโรปครั้งที่ 2 เจ้านายฝ่ายในที่ใกล้ชิดที่มีฉายาว่า ‘สูทนายพล’ ได้รับพระราชทานของฝากเป็นสร้อยคอเพชรแผงใหญ่ ซึ่งเมื่อกระดกกลับแล้วใช้เป็นกะบังหน้า หรือที่เรียกว่า เทียร่า เกือบทุกท่าน เทียร่าที่เจ้านายฝ่ายในได้รับพระราชทาน นอกจากจะมีคุณค่าด้วยตัวเทียร่าเอง เนื่องจากเป็นสิ่งของที่มีราคาแพงมากแล้ว ยังมีคุณค่าในแง่สัญลักษณ์ของการเป็นคนโปรดปรานอีกด้วย เทียร่าที่ได้รับพระราชทานจึงมีคุณค่าแตกต่างจากการซื้อหามาครอบครองด้วยตนเอง สิ่งของเครื่องใช้จากตะวันตกเหล่านี้ ถ้าหากเป็นของเล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถซื้อหามาใช้ได้ แต่หากเป็นของที่มีค่าและราคาแพงนั้น มิใช่ว่าเจ้านายฝ่ายในทุกพระองค์จะซื้อหามาใช้เองได้ แม้ว่าจะเป็นผู้ร่ำรวยก็ตาม เพราะเป็นของใช้สําหรับเจ้านายที่มีอิสริยยศสูงเท่านั้น ดังนั้นหากไม่ได้รับพระราชทานก็มักไม่ซื้อหามาใช้เพราะจะเป็นการ ‘ตีตนเสมอ’ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังและไม่ควรปฏิบัติ”

ความแพรวพรายแห่งศิราภรณ์ของนางในราชสํานักนั้นคงต้องเด่นสะดุดตาผู้คนมาก จนถึงกับมีผู้บันทึกเอาไว้ว่า “ในงานฤดูหนาววัดเบญจมบพิตรในสมัยนั้น ขบวน ‘สูทนายพล’ ตามเสด็จฯผ่านไปทางไหน จะมองเห็นแสงเพชรจากเทียร่าหรือกะบังหน้า รวมทั้งเครื่องเพชรที่เป็นเครื่องประดับอื่นๆ ของ ‘สูทนายพล’ พร่างพราวสว่างไสวไปทั่ว เป็นที่ตื่นตาตื่นใจของผู้พบเห็นยิ่งนัก”

(จากหนังสือ ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ พระยาอิศรพงศ์พิพัฒน์ (ม.ล.สิริ อิศรเสนา))

อย่างไรก็ตาม การเสด็จประพาสยุโรปของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทั้ง 2 ครั้งเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวิเทโศบายในการรักษาเอกราชของชาติ เพราะในขณะนั้นสยามกําลังตกอยู่ในภาวะคับขันอันเนื่องมาจากแรงกดดันของอิทธิพลลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตก โดยเฉพาะอังกฤษกับฝรั่งเศส การเสด็จฯ ครั้งนั้นจึงมีวัตถุประสงค์สําคัญเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ ในภาคพื้นยุโรป ในฐานะพระประมุขของประเทศที่มีสถานะเท่าเทียมกัน การใช้พระราชทรัพย์เพื่อทรงซื้อเครื่องเพชรในคราวเสด็จประพาสยุโรปทั้ง 2 ครั้งจึงไม่เพียงเป็นการใช้จ่ายส่วนพระองค์ แต่ยังเป็นการสําแดงพระราชอํานาจ พระปรีชาญาณ ความรุ่มรวย และความศิวิไลซ์ของราชวงศ์สยามผ่านการครอบครองเครื่องประดับชั้นสูง ซึ่งจะนําไปสู่การเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาและข้อตกลงต่างๆ ในฐานะอารยชนผู้เสมอภาคกัน ไม่ให้ถูกดูหมิ่นว่าชาวสยามเป็นชนชาติที่ล้าหลัง อันเป็นข้ออ้างที่อังกฤษและฝรั่งเศสใช้ในการเข้ายึดครองดินแดนเพื่อสร้างอาณานิคมเสมอมา

Cartier and the King

เครื่องเพชรจากการเสด็จประพาสยุโรป 2 ครั้งมีทั้งเครื่องเพชรอันมีค่าแบบแยกชิ้นและแบบเข้ากันเป็นชุดจากห้าง Fabergé ที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ห้าง Benson ที่กรุงลอนดอน และห้างคาร์เทียร์ที่กรุงปารีส

“...Jules Glaenzer ช่างออกแบบคนสําคัญของคาร์เทียร์ยังจําครั้งที่พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จที่ห้าง Cartier บนถนน Rue de la Paix ขณะเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 เมื่อเดือนมิถุนายน 1907 ได้ดีว่า พระองค์เสด็จมาถึงพร้อมกับล่ามและรับสั่งถามหาสร้อยข้อมือเพชร ทางห้างฯ ก็นํามาถวายให้ทอดพระเนตรบนถาดรองกํามะหยี่ถาดแล้วถาดเล่า แต่ละถาดวูบวาบไปด้วยเพชรล้ำค่า แต่พระองค์ก็ส่ายพระพักตร์ปฏิเสธ ในที่สุดผู้ช่วยช่างคนหนึ่งจึงได้ยกถาดหนึ่งออกมาจากตู้นิรภัย เป็นถาดสร้อยข้อมือที่ออกแบบพิเศษและราคาแพงที่สุดในห้างฯ ซึ่งพระองค์ทรงผงกพระเศียรแสดงอาการพอพระทัย ทรงผินพระพักตร์รับสั่งกับล่ามสั้นๆ แล้วล่ามจึงหันไปกล่าวกับช่างว่า

‘ต้องพระราชประสงค์’

‘ชุดไหน’

‘ก็ทั้งถาดนั่นแหละ’”

(จากหนังสือ แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม)

 

ติดตามบทความฉบับเต็มได้ที่นิตยสารโว้กประเทศไทยฉบับพิเศษ “The Splendour of Thai Court Ladies”

WATCH