FASHION
ย้อนรอยประวัติศาสตร์การใช้ 'ผ้านุ่งผ้าห่ม' วัฒนธรรมบ่งบอกฐานะแห่งราชสำนักไทยโบราณสำหรับผ้ายก ซึ่งในอดีตจัดเป็นผ้าชั้นสูง นำเข้ามาจากต่างประเทศเพื่อใช้ในราชการและสงวนไว้เป็นเครื่องแต่งกายสำหรับชนชั้นสูง มี 3 คุณภาพด้วยกันคือ คุณภาพสามัญที่สุดเรียกว่า “ผ้าอัตลัต” เป็นผ้ายกที่มีลวดลายเป็นดอกดวงห่างๆ ที่เรียกว่าลาย “ดอกลอย” มีขนาดของลายเล็กใหญ่ตามชั้นยศ ถัดขึ้นมาเป็นผ้ายกคุณภาพปานกลางเรียกว่า “ผ้าเข้มขาบ” ทอเป็นลายริ้วหรือเป็นแถบไหมสีพื้น สลับกับริ้วที่ยกเป็นลายด้วยไหมทอง ส่วนผ้าที่มีคุณภาพสูงสุดทั้งในด้านเนื้อผ้าและลวดลายคือ “ผ้าเยียรบับ” ซึ่งทอเป็น “ลายกระบวน” หรือลายที่ต่อเนื่องกันทั้งผืน |
"ในสมัยโบราณ การแต่งกายหรือการใช้ผ้านุ่งผ้าห่มมีความสัมพันธ์กับสถานภาพทางสังคมของผู้สวมใส่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวาระโอกาสที่เป็นทางการหรือการแต่งกายไปในการพิธีสำคัญ"
ในการพระราชพิธีพระมหากษัตริย์ พระมเหสีเทวี พระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนผู้ที่มียศถาบรรดาศักดิ์น้อยใหญ่ จะต้องแต่งกายให้ดูเรียบร้อยงดงามตามฐานานุศักดิ์และชั้นยศของตน ระเบียบแบบแผนในการแต่งกายนี้มีระบุไว้ชัดเจนตั้งแต่สมัยอยุธยา เช่น “พระอัครมเหสี ใช้แพรลายทอง พระอรรคชายา ใช้แพรดารากร หลานเธอ ใช้แพรดารากรเลว ภรรยาพวกที่มีศักดินาหมื่น ใช้แพรเคารพย ภรรยาจตุสดมภ์ ใช้แพรจมรวจ” หรือในคราวที่เจ้าพระยาโกษาปาน ราชทูตไทยไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก็แต่งกายเต็มยศอย่างขุนนางไทยด้วยพัสตราภรณ์ชั้นเลิศ คือ “...นุ่งยกพื้นเขียว สวมเสื้อสักหลาดขลิบทอง คาดเข็มขัดสายทองคำนอกเสื้อ เหน็บกระบี่ฝักแคด้ามทองคำ...”
ลวดลาย เนื้อผ้า และกรรมวิธีอันประณีตในการผลิตผ้าแต่ละชนิดก็มีความสัมพันธ์กับฐานานุศักดิ์ของผู้สวมใส่ กล่าวคือ สามัญชนทั่วไปมักใช้ผ้าพื้นเรียบหรือผ้าเนื้อหยาบที่ทอขึ้นเองหรือหาซื้อได้ง่าย ส่วนผู้ที่มีสถานภาพทางสังคมหรือมีชั้นยศสูงจะใช้ผ้าเนื้อละเอียดที่ประดิษฐ์ขึ้นด้วยกรรมวิธีอันซับซ้อน เช่น ผ้าเขียนทอง ผ้าปัก และผ้ายก ซึ่งล้วนผลิตขึ้นหรือทอขึ้นด้วยวัตถุดิบมีค่า เช่น ไหม ดิ้นโลหะ และแถบแล่งเงิน แล่งทอง ผ้าเหล่านี้มักเป็นผ้าที่ผลิตขึ้นและนำเข้าจากต่างประเทศ
(จากซ้ายไปขวา) สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงฉลองพระองค์แขนยาว ห่มทับด้วยผ้าตาด ทรงพระภูษาผ้าเยียรบับจีบหน้านาง, สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงฉลองพระองค์แขนหมูแฮมผ้าเยียรบับ ห่มทับด้วยผ้าตาด สะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทรงพระภูษาผ้าเยียรบับจีบหน้านาง และ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ทรงพระภูษาผ้าเยียรบับจีบหน้านาง ห่มตาด
สำหรับผ้ายก ซึ่งในอดีตจัดเป็นผ้าชั้นสูง นำเข้ามาจากต่างประเทศเพื่อใช้ในราชการและสงวนไว้เป็นเครื่องแต่งกายสำหรับชนชั้นสูง มี 3 คุณภาพด้วยกันคือ คุณภาพสามัญที่สุดเรียกว่า “ผ้าอัตลัต” เป็นผ้ายกที่มีลวดลายเป็นดอกดวงห่างๆ ที่เรียกว่าลาย “ดอกลอย” มีขนาดของลายเล็กใหญ่ตามชั้นยศ ถัดขึ้นมาเป็นผ้ายกคุณภาพปานกลางเรียกว่า “ผ้าเข้มขาบ” ทอเป็นลายริ้วหรือเป็นแถบไหมสีพื้น สลับกับริ้วที่ยกเป็นลายด้วยไหมทอง ส่วนผ้าที่มีคุณภาพสูงสุดทั้งในด้านเนื้อผ้าและลวดลายคือ “ผ้าเยียรบับ” ซึ่งทอเป็น “ลายกระบวน” หรือลายที่ต่อเนื่องกันทั้งผืน จนปรากฏเห็นส่วนลายที่ยกนูนขึ้นด้วยไหมทองมากกว่าเนื้อไหมสีที่เป็นพื้นผ้า เช่น ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง ลายครุฑยุดนาค และลายโคมต่างๆ ลายเหล่านี้ล้วนมีความหมายเชิงสัญลักษณ์และกำหนดใช้ตามฐานานุศักดิ์ลดหลั่นกันไปอีกด้วย ผ้ายกทั้ง 3 ชนิดนี้จัดเป็น “ผ้ายกเทศ” ที่ราชสำนักในอดีตสั่งทอจากแหล่งทอที่หลากหลาย โดยเฉพาะจากประเทศอินเดีย ซึ่งนอกจากจะใช้สำหรับเป็นเครื่องนุ่งและเครื่องห่มแล้ว ยังนำไปใช้ในกิจการอื่นๆ ของราชสำนักด้วย เช่น ใช้เป็นผ้าปูรอง ผ้าหุ้มคลุมภาชนะต่างๆ ตลอดจนตัดเย็บเป็นถุงย่าม หรือประดิษฐ์เป็นตาลปัตร พัดรอง ถวายพระเป็นพุทธบูชาอีกด้วย
(จากซ้ายไปขวา) สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เมื่อครั้งสถาปนาเป็นอัครมเหสี ทรงพระภูษาผ้าเยียรบับจีบหน้านาง และ สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร เมื่อเข้าพิธีเกศากันต์ ทรงเครื่องประดับเต็มยศ ทรงนุ่งพระภูษาผ้าเยียรบับ
สำหรับผ้าเยียรบับ ซึ่งจัดเป็นผ้าชั้นสูงที่สั่งทอและนำเข้ามาใช้ในราชสำนักนั้น ทอยกด้วยเส้นไหมทอง หรือเส้นไหมเงิน ซึ่งใช้ทองคำหรือเงินแท้ หรือเงินแท้กะไหล่ทอง ที่ดึงแผ่เป็นเส้นบางเรียบแล้วพันหุ้มเส้นไหม จนได้เป็นเส้นไหมเงินหรือไหมทอง จากนั้นจึงนำไปใช้ทอเป็นเส้นพุ่งด้วยกรรมวิธียกลายให้นูนเด่น แต่เดิมผ้าเยียรบับคงมีที่มาจากเปอร์เซีย หรือเป็นวัฒนธรรมการทอที่ถ่ายทอดจากเปอร์เซียผ่านทางอินเดียอีกทอดหนึ่ง เพราะคำว่าเยียรบับนั้นมีผู้สันนิษฐานว่ามาจากคำภาษาเปอร์เซีย คือ Zara แปลว่า ทอง และ Baft แปลว่า ทอ เมื่อมาสู่สังคมไทยจึงเคลื่อนเสียงจาก “ซารบับ” มาเป็นเยียรบับ
ผ้าเยียรบับมีทั้งแบบที่เป็นลายตลอดทั้งผืน สำหรับใช้เป็นเครื่องห่มท่อนบนของร่างกาย หรือตัดเย็บเป็นฉลองพระองค์เจ้านายหรือเสื้อของขุนนาง กับแบบที่ทอเป็นผืนยาวมีลายเชิงผ้าทั้งสองข้าง และแบบที่เพิ่มลายสังเวียนขนาบตามแนวยาวของผ้าพร้อมด้วยชุดกรวยเชิง สำหรับใช้เป็นพระภูษาทรงหรือผ้านุ่งสำหรับเจ้านายตามธรรมเนียมนิยมของราชสำนักที่สืบทอดมาจากสมัยอยุธยา โดยเฉพาะสำหรับเจ้านายฝ่ายในหรือพระราชวงศ์ชั้นสูงที่เป็นผู้หญิงในการ “นุ่งยก ห่มตาด” ซึ่งหมายถึงการแต่งตัวเต็มยศตามฐานานุศักดิ์สำหรับร่วมงานพระราชพิธีสำคัญต่างๆ ด้วยการนุ่งผ้าจีบโดยใช้ผ้ายกทองเป็นท่อนล่าง แล้วห่มสไบแพรเปิดไหล่ข้างหนึ่งทับด้วยผ้าตาดเป็นท่อนบน ดังพรรณนาในกาพย์เห่เรือของโบราณที่ว่า
“...นุ่งยกทองท้องแย่ง สอดสีแดงแกล้งบงเฉียง
ริ้วหัศวรีเรียง เคียงเขมราฐตาดเงินยวง...”
หรือที่ปรากฏในบทพระราชนิพนธ์เรื่อง สังข์ทอง ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ตอนที่กล่าวถึงพระราชธิดาทั้ง 7 ของท้าวสามลแต่งองค์เพื่อจะไปเลือกคู่ว่า
“...นุ่งผ้ายกอย่างต่างกัน ช่อชั้นเชิงชายลายก้านแย่ง
สไบหน้าเจียรบาดตาดทองแดง เข็มขัดสายลายแทงประจำยาม...”
WATCH
(จากซ้ายไปขวา) สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ฉลองพระองค์ชุดไทยศิวาลัย สะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์, สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงฉลองพระองค์ชุดไทยศิวาลัย ผ้าเยียรบับปักเลื่อม และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ฉลองพระองค์ชุดไทยศิวาลัย ประทับรถยนต์พระที่นั่งตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
สำหรับผ้าตาดคุณภาพสูงนั้นจะทอขึ้นโดยใช้เส้นทองแล่งหรือเงินแล่ง ที่มีลักษณะเป็นแถบทองขนาดเล็กเป็นเส้นพุ่งในการทอ นิยมใช้เป็นผ้าห่มทับผ้าสไบแพรที่บางเบาอีกชั้นหนึ่งที่เรียกตามกิริยาการห่มทับนี้ว่า ผ้าทรงสะพัก ผ้าสะพักตาดนี้อาจมีการปักประดับเป็นลวดลายด้วยดิ้นเงินดิ้นทอง หรือเลื่อมและไหมสี ตลอดจนปีกแมลงทับที่ตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ให้งดงามวิจิตรอีกด้วย
ธรรมเนียมในการนุ่งยกห่มตาดของราชสำนักนั้นสืบทอดมาอย่างต่อเนื่อง ดังปรากฏพระฉายาลักษณ์ของพระมเหสีเทวีและภาพถ่ายของเจ้านายฝ่ายในเป็นหลักฐานชัดเจนนับตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่อยมา จนถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงพระราชนิยมให้สตรีในราชสำนักใส่เสื้อแล้วห่มสไบทับตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมาแล้วก็ตาม ดังเช่นฉลองพระองค์ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระภูษาเยียรบับลายพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่งแบบนุ่งจีบ ไว้ชายพก ทรงฉลองพระองค์แขนหมูแฮมตัดเย็บด้วยผ้าเยียรบับ แล้วห่มสะพักตาดปักทับฉลองพระองค์ หรือฉลองพระองค์ของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงพระภูษาจีบไว้ชายพกด้วยผ้าเยียรบับ ฉลองพระองค์แขนกระบอก ห่มทับด้วยสะพักตาดปัก ส่วนสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ทรงพระภูษาจีบด้วยผ้าเยียรบับ ทรงสะพักตาดปัก โดยไม่ทรงฉลองพระองค์ ตามแบบโบราณราชประเพณี
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงฉลองพระองค์ชุดไทยจักรีผ้าเยียรบับปักเลื่อมและลูกปัด พระภูษาผ้าเยียรบับจีบหน้านางเข้าชุด เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินไปพิพิธภัณฑ์ Metropolitan นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2510
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ธรรมเนียมในการแต่งกายแบบโบราณได้รับการฟื้นฟูและพัฒนาขึ้นอีกครั้ง โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงพระราชทานชุดไทยแบบต่างๆ ไว้ให้เป็นมาตรฐานในการแต่งกายของสตรีไทย ทรงปรับประยุกต์รูปแบบการนุ่งยกห่มตาดเป็นชุดไทยพระราชนิยม 3 ใน 8 แบบ ได้แก่ ชุดไทยจักรพรรดิ ใช้ผ้ายกทอง จีบหน้า มีชายพก ห่มแพรจีบเป็นชั้นใน แล้วห่มสไบปักทับแพรจีบอย่างโบราณ ชุดไทยจักรี ใช้ผ้ายกตัดเย็บเป็นท่อนล่าง จีบหน้า มีชายพก ท่อนบนเป็นสไบประยุกต์เปิดไหล่ข้างหนึ่ง ซึ่งสไบนั้นจะเย็บติดกับท่อนล่างหรือเป็นสไบห่มต่างหากก็ได้ และชุดไทยศิวาลัย ท่อนล่างเป็นผ้ายกทอง จีบหน้า มีชายพก ท่อนบนเป็นเสื้อแขนยาว ผ่าหลัง เย็บติดกันกับท่อนล่าง ห่มสะพักปักลายแบบไทยจักรพรรดิทับโดยไม่มีแพรจีบชั้นใน นับเป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่งในการธำรงไว้ซึ่งโบราณราชประเพณีในเรื่องการแต่งกายของไทย ทั้งยังทรงพระปรีชาสามารถในการปรับประยุกต์ให้เกิดพัฒนาการตามยุคสมัยและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปด้วย
WATCH