SOCIETY
St.Edward’s Crown มงกุฎศักดิ์สิทธิ์ที่กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 สวมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมงกุฎสำคัญของราชวงศ์อังกฤษอายุหลายร้อยปีคือสิ่งของชิ้นสำคัญในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก |
St.Edward’s Crown ถือเป็นมงกุฎอันยิ่งใหญ่ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวตั้งแต่อดีต วันที่ 6 พฤษภาคม 2023 คือวันสำคัญของราชวงศ์ ซึ่งคือวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 พิธีการดังกล่าวถูกเว้นว่างนานเกินครึ่งศตวรรษ นับตั้งแต่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ขึ้นครองราชย์ สิ่งของชิ้นสำคัญมากมายถูกพูดถึงอย่างมากว่าจะเป็นส่วนสำคัญในการประกอบพระราชพิธีครั้งนี้ โดยเฉพาะมงกุฎที่มีประวัติเรื่องราวอันยาวนานและมีแบบแผนการปฏิบัติสอดประสานไปอย่างมีนัยยะสำคัญทางประวัติศาสตร์
Edward the Confessor กษัตริย์ผู้สวมมงกุฎอันดั้งเดิมตั้งแต่เมื่อเกือบศตวรรษที่แล้ว / ภาพ: Wiki Library
มงกุฎนี้ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์มาร่วมศตวรรษ โดย Edward the Professor ทรงสวมมงกุฎดังกล่าวในช่วงอีสเตอร์ วันระลึกถึงวันจุติลงมาของพระวิญญาณ และวันคริสต์มาส นับเป็นเครื่องประดับชิ้นสำคัญของราชวงศ์ดั้งเดิม และมีการมอบนิยามความหมายให้เป็นสัญญะแห่งความศักดิ์สิทธิ์และถูกวางให้เป็นสิ่งของชิ้นสำคัญในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีบันทึกอย่างเป็นทางการว่ามงกุฎนี้ถูกใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเป็นทางการภายใต้ชื่อ St.Edward’s Crown ของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์เฮนรี่ที่ 3 ในปี 1220
Oliver Cromwell บุรุษผู้ต่อต้านระบอบกษัตริย์และลบประวัติศาสตร์ของมงกุฎชิ้นสำคัญของราชวงศ์ / ภาพ: Encyclopedia Britannica
หลังจากถูกใช้เป็นสัญลักษณ์สำคัญในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มงกุฎนี้แทบไม่เคยถูกนำออกจากมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์เลยเท่าไหร่นัก นอกจากยุคสมัยของกษัตริย์ริชาร์ดที่ 2 ที่ต้องสละราชสมบัติและทรงนำมงกุฎนี้ไปมอบต่อสู่กษัตริย์เฮนรี่ที่ 4 ประเพณีดั้งเดิมในการสวมมงกุฎ 3 ชิ้นในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก็เริ่มจากยุคสมัยนี้และสืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่ Oliver Cromwell มองว่ามันเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจอันน่ารังเกียจของกษัตริย์ และต้องการให้มันสูญสลายหายไปในช่วงสงครามกลางเมืองอังกฤษ
WATCH
Sir Robert Vyner บุรุษผู้ฟื้นฟูประวัติศาสตร์กับการสรรสร้างมงกุฎ St.Edward’s Crown / ภาพ: Art UK
การรื้อฟื้นประวัติศาสตร์เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในปี 1660 มงกุฎ St.Edward’s Crown ถูกบูรณะขึ้นใหม่อีกครั้งโดยช่างทองคำฝีมือเยี่ยมอย่าง Sir Robert Vyner เพื่อเตรียมการสำหรับพระบรมราชาภิเษกของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 2 ทว่าหลังจากนั้นมีการใช้มงกุฎสำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกโดยเฉพาะ ซึ่งมีน้ำหนักเบากว่า มงกุฎ St.Edward’s Crown จึงเลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ของราชวงศ์อังกฤษไปหลายศตวรรษ จนกระทั่งกษัตริย์จอร์จที่ 5 ทรงนำมงกุฎดังกล่าวกลับมาใช้อีกครั้งในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในปี 1911 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการประดับอัญมณีแบบถาวรเกิดขึ้น เพราะก่อนหน้านี้มงกุฎทองคำนั้นจะถูกประดับอัญมณีต่อเมื่อมีการใช้งานเท่านั้น และจะถอดออกหลังจากเสร็จสิ้นพิธี
มงกุฎ St.Edward’s Crown บนพระเศียรของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกปี 1953 / ภาพ: Hulton-Deutsch Collection
โดยปกติ St.Edward’s Crown จะถูกเก็บรักษาอยู่ ณ Jewel House ที่ Tower of London โดยมีการนำมงกุฎออกมานับครั้งได้ โดยครั้งที่เด่นชัดที่สุดในประวัติศาสตร์คือการนำมาจัดแสดง ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ เพื่อเฉลิมฉลองการครองราชย์ครบ 60 ปีของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในปี 2013 ซึ่งทรงสวมมงกุฎนี้ในพระราชพิธีเช่นกัน และมีการนำออกจาก Jewel House อีกครั้งช่วงเดือนธันวาคม 2022 เพื่อนำมาปรับขนาดให้เหมาะกับพระเศียรของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 เพื่อให้เหมาะสำหรับการสวมใส่ในช่วงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
รายละเอียดของมงกุฎ St.Edward’s Crown / ภาพ: The Royal Family
การสวมมงกุฎดังกล่าวจะเกิดขึ้นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น และกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ทรงไม่สวมออกจากมหาวิหารอย่างแน่นอน โดยข้อมูลปัจจุบันระบุว่าน้ำหนักของมงกุฎหนักราวๆ 5 ปอนด์ ประดับอัญมณีหลากหลายชนิดรวม 444 ชิ้น มาพร้อมสัญลักษณ์กางเขนแพตตีและสัญลักษณ์ดอกลิลลี่ ประดับด้วยไม้กางเขนและ “Orb” อันบ่งบอกถึงสัญญะของศาสนาคริสต์ นับเป็นโอกาสยากที่จะได้เห็นมงกุฎ St.Edward’s Crown ปรากฏโฉมบนพระเศียรของพระเจ้าแผ่นดิน พระบรมราชาภิเษกครั้งนี้จึงมีความสำคัญและมงกุฎดังกล่าวก็เป็นสิ่งของสำคัญที่ควรค่าแก่การรับชมสดๆ ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
WATCH