FASHION

ราชินีป็อปไอคอน! เมื่อควีนเอลิซาเบธที่ 2 กลายเป็นงานศิลปะ และ 'MEME' สุดสนุกบนโลกออนไลน์

ดูเหมือนว่าคนที่นำรูปของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ไปตัดต่อเป็นมีมจะได้ดีทุกคน...

     หากจะตั้งคำถามว่าประมุของค์ใดในโลกนี้ที่เป็นนิยม และมักจะถูกกล่าวถึงอยู่เป็นนิจ ก็เห็นจะหนีไม่พ้นสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ประมุขแห่งเครือจักรภพที่เมื่อนับมาถึงเวลานี้ก็ทรงครองราชย์มาครบ 69 ปีแล้ว ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาในรัชสมัยของพระองค์เกิดเรื่องราว และเหตุการณ์ไม่คาดฝันมากมาย ดังที่หลายคนคงจะได้ดื่มด่ำความบันเทิงกันไปแล้วในซีรีส์ตีแผ่ราชวงศ์วินด์เซอร์ The Crown ทั้ง 4 ซีซั่นตลอดหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งนั่นก็ถือเป็นกลยุทธ์อีกหนึ่งช่องทางที่สถาบันพระมหากษัตริย์ “ปล่อย” ให้สถาบันประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์ผ่านสื่อบันเทิงในรูปแบบต่างๆ เพื่อทำลายภาพลักษณ์อันลึกลับ และไม่สามารถเอื้อมถึงได้ของครอบครัวราชวงศ์อังกฤษทิ้งเสีย ปรับเปลี่ยนตัวเองตามสมัยนิยม และกาลเวลาที่เปลี่ยนไป ซึ่งเป็นแผนการที่ราชวศ์เองก็เคยริเริ่มมาเป็นเวลานาน ดังที่เคยมีการเข้าไปถ่ายทำพระจริยวัตรของสมาชิกราชวงศ์โดยทีมงาน BBC เมื่อช่วงยุค 1960s จนเป็นที่พูดถึงไปทั่วโลกนั่นเอง กระนั้นนั่นก็ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่หนทางเดียวที่สมาชิกราชวงศ์อังกฤษ (โดยเฉพาะสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2) จะถูกนำไปวิพากษ์วิจารณ์ ทว่าในแวดวงการศิลปะก็นับเป็นอีกหนึ่งพื้นที่สำคัญที่เรามักจะได้เห็นภาพของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เข้าไปปรากฏวนเวียนเกลื่อนตาอยู่ไม่รู้จบสิ้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน กระทั่งที่ใครหลายคนยังได้ยกตำแหน่ง “Pop Icon” ในตำนาน ผู้อยู่มาแล้วทุกยุคให้พระองค์อย่างไม่ต้องสงสัย (แซงหน้ามาดอนน่า หรือ มาริลีน มอนโรล แบบทิ้งห่างไม่เห็นฝุ่นเชียวล่ะ)

     การปรากฏตัวในพื้นที่ป็อปคัลเจอร์ของประมุขแห่งเครือจักรภพองค์ปัจจุบันนั้น เริ่มต้นขึ้นครั้งแรกๆ ในปี 1977 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่พระองค์ทรงครองราชย์ครบ 25 ปี และกำลังจะมีพระราชพิธีเฉลิมฉลองที่เรียกว่า Silver Jubilee เกิดขึ้นในวันที่ 7 มิถุนายน 1997 ทว่าในเวลานั้นเพียงแค่ไม่กี่วันก่อนที่สำนักพระราชวังจะจัดพระราชพิธีดังกล่าวขึ้น วงดนตรีพั๊งก์ร็อคสัญชาติอังกฤษนามว่า "Sex Pistols" ยังได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับทั้งวงการเพลง และสถาบันติกษัตริย์ระดับโลก ด้วยการออกเผยแพร่เพลงที่ชื่อว่า “God Save The Queen” ชื่อเดียวกันกับเพลงชาติประเทศอังกฤษ ที่มีเนื้อหาสวนทางกันราวฟ้ากับเหว เพราะไม่ได้มีท่อนใดสรรเสริญราชินีองค์นี้เลยแม้แต่น้อย ในทางตรงกันข้ามกลับบอกเล่าถึงสภาวะความหมดหวังของชาติที่มีต่อสถาบันพระมาหากษัตริย์ในเวลานั้น อีกทั้งยังเสียดสีราชินีชนิดที่ว่า ถ้าพระองค์ได้สดับเพลงดังกล่าวจนจบอาจจะต้องทุบอกร้อนใจกันบ้าง

     ซึ่งผลลัพธ์ก็เป็นไปตามกาลเวลา และยุคสมัยในเวลานั้น นั่นคือ “พังพินาศไม่เป็นท่า” เพลงดังกล่าวถูกคว่ำบาตรจากสื่ออังกฤษเกือบทุกสำนัก กระทั่งที่ยังมีคนบางกลุ่มออกมาล่าแม่มดวง Sex Pistols ในขณะที่ฝั่งราชวงศ์กลับวางเฉย และไม่ออกมาเคลื่อนไหวใดๆ ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งทางสนับสนุน หรือต่อต้าน แต่ถึงแม้ว่าเพลง “พระเจ้าจงคุ้มครององค์ราชินี” ในแบบฉบับพั๊งก์ร็อคจะถูกคว่ำบาตรในเวลานั้น แต่ต่อมาเพลงนี้ก็ได้กลายเป็นตำนานที่พลิกโฉมวงการเพลงโลกไปไม่น้อย ราวกับนั่นเป็นการทิ้งระเบิดลูกแรกให้ผู้เริ่มคนสะท้านสะเทือน ที่ไม่ได้มีแค่ตัวเนื้องเพลงเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงปกอัลบั้มที่ได้นำเอาพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์จากปี 1952 ในวโรกาสที่พระองค์ขึ้นครองราชย์ปีแรก มาทำงานศิลปะแบบคอลลาจ คาดปิดตาด้วยชื่อเพลง “God Save The Queen” และคาดปิดปากด้วยชื่อวง Sex Pistols ก่อนที่จะส่งไม้ต่อให้วงการแฟชั่นโดย Vivienne Westwood ดีไซเนอร์สุดซ่าส์ให้ได้เอาภาพปกอัลบั้มดังกล่าวไปดัดแปลงต่อ เปลี่ยนที่คาดตาเป็นเครื่องหมายสวัสดิกะ และที่คาดปากเป็นเข็มกลัด พิมพ์ลายลงบนเสื้อยืดจนได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงยุค 1970s แล้วถ้าใครกำลังคิดว่าชีวิตของป้าเวสต์วู้ดคงจะจบไม่สวยเท่าไหร่หลังจากนั้น ก็คงต้องบอกว่าคุณคิดผิดถนัด... เพราะแม้ว่าเวสต์วู้ดจะลุกขึ้นมาเอาเข็มกลัดกลัดปากราชินี แล้วกลายเป็นที่นิยมไปทั่วเกาะอังกฤษขนาดนั้น แต่ในปี 2006 ที่ผ่านมา ราชินีคนเดียวกันนี้ก็ยังได้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ OBE (Order of the Bristish Empire) และคำนำหน้า Dame ให้กับ วิเวียน เวสต์วู้ด ในฐานะที่สร้างคุณูปการอย่างมากให้กับบ้านเมือง ราวกับเรื่องนั้นไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน



WATCH




     ยังไม่จบลงเพียงเท่านั้น เพราะไม่กี่ปีต่อมาหลังจากที่กระแสการนำรูปแทนของประมุขแห่งเครือจักรภพไปใช้ทำอะไรต่อมิอะไร เริ่มกลายเป็นป็อปคัลเจอร์ในสังคม วงการศิลปะโดย Andy Warhol ศิลปินนักออกแบบในเวลานั้น ยังได้กระโจนเข้าใส่ป็อปคัลเจอร์ครั้งนี้ด้วยอีกคน นำพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในปี 1977 จากงานฉลอง Silver Jubilee มาสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะแบบป็อปอาร์ต ซึ่งผลงานดังกล่าวถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาเป็นซีรีส์ 4 สีหลักในปี 1985 โดยแต่ละภาพนั้นจะถูกสกรีนลายสีสันสดใสให้ดูแตกต่างไปจากของดั้งเดิม ที่ต่อมาได้รับความนิยมอย่างมาก กระทั่งที่ทางสำนักพระราชวังแห่งอังกฤษเองยังเห็นดีเห็นงาม นำมาจัดแสดงเป็นส่วนหนึ่งในนิทรรศการ "Portraits of a Monarch" ที่พระราชวังวินด์เซอร์มาแล้ว และไม่นานหลังจากนั้นโลกใบนี้จะเหวี่ยงเราทุกคนให้เข้าสู่ยุค Digital Disruption โดยไม่ทันตั้งตัว ที่มาพร้อมกับวัฒนธรรมศิลปะใหม่ล่าสุดที่เรียกว่า “Meme” (มีม)...

     มีม คือมุกขำขันที่แพร่หลายอย่างรวดเร็วบนโลกออนไลน์ ที่มาพร้อมกับเมสเสจที่ชัดเจน และร่วมสมัย ปรากฏได้ในหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ภาพถ่ายตัดต่อ, ไฟล์ GIF ไปจนถึงคลิปวิดีโอตลกขบขัน ยกตัวอย่างใกล้ที่สุด และชัดเจนที่สุดก็เห็นจะหนีไม่พ้นภาพถ่าย Bernie Sanders สมาชิกวุฒิสภา ในพิธีสาบานตนของประธานาธิบดีคนล่าสุดของสหรัฐอเมริกาอย่าง โจ ไบเดน ที่ถูกนำไปตัดต่อเข้ากับฉากหลังภาพยนตร์,เหตุการณ์ และสถานการณ์ตลกๆ มากมาย จนสามารถสร้างเสียงหัวเราะให้กับโลกออนไลน์ได้อย่างมาก

     มีมสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน เพราะเราอยู่ใน “ยุคของมีม” ไม่เว้นแม้กระทั่งสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่แม้ว่าตอนนี้พระองค์จะเจริญพระชนมพรรษามากเกือบ 100 ปีแล้วก็ตาม รูปแทนของประมุขแห่งอังกฤษองค์นี้ก็ยังถูกนำไปตัดต่อกลายเป็นมีมจำนวนมาก ที่กระจายอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ตรอให้เราๆ เลือกหยิบขึ้นมาใช้พูด หรือสื่อสารแทน เมื่อมันสามารถอธิบายความรู้สึกร่วมของผู้ใช้ได้อีกครั้ง ซึ่งส่วนมากแล้วจะเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ขณะที่มีพระราชอริยาบหลุดๆ โดยไม่ได้ระวังตัวบ้าง (ซึ่งส่วนมากก็เป็นไปทางที่เป็นภาพน่ารักเสียมากกว่า) แต่ที่ดูเหมือนจะเห็นชัดที่สุดก็คงจะต้องย้อนกลับไปในช่วงที่พระองค์ได้ออกมามีพระราชดำรัส และพระราชทานกำลังใจต่อประชาชนทั่วโลกที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งในครั้งนั้นได้ฉลองพระองค์ชุดเดรสสีเขียว ที่ต่อมาสื่อหลายหัวยังติดคำขำขันไว้บนหัวข้อข่าวว่า “Green Screen” จุดประกายให้เหล่าชาวเน็ตนำไปตัดต่อทำเป็นมีมมากมาย สร้างรอยยิ้มให้กับประชาชนในช่วงเวลาแสนวิกฤติได้ไม่ยาก และส่งให้พระองค์กลับมาเป็นที่พูดถึง เป็นกระแสป็อปคัลเจอร์อีกครั้งในยุค 2020s บนโลกโซเชียลมีเดีย แบบนี้แล้วถ้าไม่ให้เรียกว่า “อยู่มาทุกยุค” แล้วจะให้เรียกว่าอะไร

     ที่ได้เล่ามาทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ใช่! “ส่วนหนึ่งเท่านั้น”เพราะราชินีองค์เดียวกันนี้ยังได้กลายเป็นทั้งของเล่น, ของใช้, ตราสัญลักษณ์ และของที่ระลึกอีกมากมาย ที่เราต่างรู้กันว่าทุกครั้งที่ได้ไปเยือนอังกฤษ หรือประเทศในเครือจักรภพ จะต้องมีของติดไม้ติดมือกลับมาเป็นราชินีอังกฤษองค์ปัจจุบันในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเสมอ ตรงตามเป้าประสงค์ที่ราชวงศ์อยากปรับตัวตามโลกที่หมุนไป ให้เข้าถึงประชาชนของพระองค์ และประชาชนทั่วโลกมากยิ่งขึ้น สร้างภาพลักษณ์แสนทันสมัยครั้งใหม่ให้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่แม้ว่าจะฮาร์ดคอร์ไปบ้างบางชิ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันได้ผลเกินคาด...

ข้อมูล : revolverwarholgallery.com
ข้อมูล : quora.com
ข้อมูล : mashable.com
ข้อมูล : theguardian.com

WATCH