SOCIETY

ถอดรหัส 'สีส้ม' สีประจำชาติของชาวดัตช์์ที่ไม่ปรากฏบนธงชาติ แต่เกี่ยวข้องกับวีรบุรุษ

บางทฤษฎีกล่าวว่าครั้งหนึ่งธงชาติเนเธอร์แลนด์เคยมีสีส้มปรากฏอยู่ด้วย

     สีส้มกับประเทศเนเธอร์แลนด์ดูเป็นของคู่กันยิ่งกว่าดอกทิวลิปหรือกังหันลมเสียอีก เชื่อว่าเมื่อพูดถึงชาวดัตช์ สีส้มจะต้องเป็นสิ่งแรกๆ ที่ผู้คนทั่วโลกนึกถึง แต่เรื่องน่าแปลกคือสีดังกล่าวไม่ใช่สีที่ตรงกับสีธงชาติเลยแม้แต่สีเดียว ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าทำไมชาวดัตช์ถึงเชื่อมโยงกับสีสว่างสดใสนี้ถึงขนาดทำสัญลักษณ์ต่างๆ เป็นสีส้มแทนที่จะใช้แถบ 3 สีแบบในธงชาติ วันนี้เราเตรียมเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างสีส้มกับประเทศเนเธอร์แลนด์ ใครกำลังสงสัยอยู่ห้ามพลาดเด็ดขาด

เจ้าชายวิลเลียมแห่งราชวงศ์ออเรนจ์ / ภาพ: Joseph Paelinck

     เรื่องราวของสีส้มในบริบทนี้ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนนัก เพราะสีดังกล่าวเป็นสีของราชวงศ์ซึ่งตีความมาจากต้นราชวงศ์ Orange-Nassau ที่ได้รับการจารึกว่าเป็นผู้ปกครองประเทศอย่างเป็นทางการครั้งแรก เจ้าชาย William of Orange I คือผู้นำทัพต่อต้านสเปนในศึกสงคราม 80 ปี ซึ่งเป็นการรบเพื่อปลดปล่อยเนเธอร์แลนด์เป็นอิสระจากการยึดครองของสเปน เจ้าชายวิลเลียมนำทัพเอาชนะได้และประกาศอิสรภาพในปี 1648 อันเป็นจุดเริ่มต้นของดินแดนสีส้ม ท่านจึงได้รับสมญาณามว่า “บิดาแห่งเนเธอร์แลนด์” และชื่อ Orange ก็กลายเป็นที่ยกย่องถึงขนาดถูกมองเป็นสัญลักษณ์สำคัญของอาณาจักรตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ในวันที่ 27 เมษายนของทุกปี ชาวดัตช์จะออกมาเฉลิมฉลองด้วยเสื้อผ้าและธงสีส้ม / ภาพ: Medium

     “Oranje” หรือสีส้มในภาษาดัตช์กลายเป็นคำที่ใช้ระบุถึงความโดดเด่นของชาวดัตช์ที่เปล่งประกายด้วยสีสันโทนนี้มานานหลายร้อยปี ดังนั้นเมื่อผู้เคารพและยึดถือความยิ่งใหญ่ของผู้ปกครองที่มอบอิสรภาพให้กับชาวดัตช์ทั้งปวง พวกเขาจึงสรรเสริญและนำคำว่า Orange มาทำให้เป็นรูปธรรม เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ รวมถึงรำลึกถึงเกียรติยศของเจ้าชายวิลเลียม อันเป็นจุดเริ่มต้นของประเทศนี้อย่างเป็นทางการ เมื่อเวลาผ่านไปผู้คนอาจจะทราบเรื่องราวเบื้องหลังนี้น้อยลง แต่สีส้มของชาวดัตช์เพิ่มพลังแข็งแกร่งได้มากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งมันกลายเป็นสีประจำชาติไปเสียแล้ว



WATCH




บรรยากาศการเฉลิมฉลองที่เราจะไม่ได้เห็นในวันที่ 30 เมษายน / ภาพ: Expatica

     ในวันสำคัญท้องถนนเต็มไปด้วยสีส้ม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง King’s Day (27 เมษายน) ที่ชาวดัตช์จะออกมาเฉลิมฉลองโดยการสวมชุดสีส้มเต็มเมืองไปหมด พร้อมทั้งกล่าวสรรเสริญสดุดีแด่ราชวงศ์อันเก่าแก่ของพวกเขา แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสีส้มของชาวดัตช์ผูกโยงกับราชวงศ์อยู่เสมอไม่เปลี่ยนแปลงมาหลายศตวรรษแล้ว แต่มีวันหนึ่งที่ชาวดัตช์จะไม่สวมชุดสีส้มเลยคือวันที่ 30 เมษายน เพราะเป็นวัน Queen’s Day เดิมซึ่งจะมีการเฉลิมฉลองแบบอื่นแทน เรื่องนี้กลายเป็นมุกตลกที่เอาไว้หยอกล้อนักท่องเที่ยวที่ไม่ทราบเรื่องดังกล่าวว่าเป็น “Mistake Tourists” หรือในภาษาดัตช์เรียกว่า “vergistoeristen” นั่นเอง

ผู้คนจากทั่วทุกสารทิศมารวมตัวในวัน King's Day / ภาพ: Save A Train

     ถึงแม้จะเป็นสีประจำชาติแต่ชาวดัตช์ก็ไม่ได้สวมมันเดินทั่วไปในทุกๆ วัน ส่วนมากสีนี้จะถูกใช้ในวันสำคัญเช่นวันชาติ วันสำคัญของราชวงศ์ และการใช้เชียร์กีฬาเท่านั้น ส่วนวันอื่นๆ สีส้มเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่สถิตอยู่ในใจเท่านั้น ความน่าสนใจของปรากฏการณ์ชาตินิยมโดยมีสีส้มเป็นสื่อกลางของชาวดัตช์น่าสนใจมาก เพราะพวกเขามีการถ่ายทอดความภาคภูมิใจผ่านประวัติศาสตร์อย่างเป็นเหตุเป็นผล มีการใช้สัญลักษณ์สีอย่างเหมาะสมและสร้างพลังให้กับมันอย่างพอเหมาะพอดี มีการทำให้สีส้มเป็นสีที่เติมมิติความสวยงามในความคิดของคนในสังคม อีกทั้งยังใช้อีเวนต์ขนาดใหญ่และสำคัญเพื่อส่งต่อความภูมิใจของสีประจำชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเชียร์กีฬา

ทัพแฟนฟุตบอลของประเทศเนเธอร์แลนด์ / ภาพ: Dutch Football

     เมื่อคนยุคใหม่อาจจะรู้สึกเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ราชวงศ์และต้นกำเนิดของชาติได้ไม่ลึกซึ้งนัก แต่พวกเขาก็ยังเห็นพลังอันยิ่งใหญ่และความน่าสนใจของสีส้มอยู่เสมอ “oranje legioen” หรือ “Orange Legion” ในภาษาอังกฤษถูกใช้เรียกกลุ่มชาวดัตช์จำนวนมหาศาลที่ออกมาให้กำลังใจทีมชาติกันอย่างล้นหลาม นี่ถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ชักชวนคนรุ่นใหม่มาซึมซับพลังสีส้มแบบไม่รู้ตัว วันหนึ่งพวกเขาจะมาหาคำตอบเองว่าทำไมต้องสีส้ม อีกทั้งยังได้ความรู้จากวิชาประวัติศาสตร์ในระบบการการศึกษา ทั้งหมดจึงยังคงผลิตซ้ำให้สีส้มของชาวดัตช์คงอยู่และมีอิทธิพลอย่างมาก

ความคึกคักของชาวดัตช์ที่มาพร้อมสีส้มเสมอ / ภาพ: The New York Times

     อ่านกันมาถึงจุดนี้หลายคนคงสงสัยว่าทำไมชาวดัตช์ให้ความสำคัญกับสีส้มขนาดนี้ แต่กลับไม่ใช้สีส้มเป็นธงประจำชาติ ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์จากหลายแหล่งระบุว่า แท้จริงแล้วเจ้าชายวิลเลียมออกแบบธงชาติด้วยสีส้ม ขาว และน้ำเงินคล้ายกับธงปัจจุบัน แต่เปลี่ยนจากสีส้มเป็นสีแดงหลังจากรบเสร็จและประกาศอิสรภาพเรียบร้อยแล้ว นำมาซึ่งทฤษฎีสมคบคิดหลายแบบที่ชี้ประเด็นไปที่การเปลี่ยนสีครั้งนี้ บางทฤษฎีบอกว่าธงสีส้มเมื่อหมองคล้ำและเสื่อมสภาพท่ามกลางบรรยากาศสนามรบมันจึงเปลี่ยนเป็นสีแดง และเพื่อต้องการความสับสนดังกล่าวจึงตัดสินใจเปลี่ยนเป็นสีแดงไปเลยตั้งแต่แรก บ้างก็ระบุถึงการจำกัดขอบเขตอำนาจของราชวงศ์ดัตช์ในช่วงปี 1654 หรือลากยาวไปถึงทฤษฎีที่ระบุถึง “County of Orange” ในสมัยก่อนที่อยู่ภายใต้แคว้นบาวาเรีย ซึ่งต้องใช้ธงแคว้นเป็นสัญลักษณ์แทนของราชวงศ์วิทเทิลส์บัค ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรสุดท้ายแม้สีส้มจะไม่ได้ปรากฏอยู่บนธงชาติหรือตราสัญลักษณ์บางอย่าง แต่สีส้มอยู่ในใจและเคลือบวัฒนธรรม รวมถึงเป็นสื่อกลางในการผสานสัมพันธ์ของคนในสังคมเสมอ เพราะทุกคนเชื่อ ให้เกียรติ และทำความรู้จักที่มาของมันอย่างครบถ้วน และที่มานั้นก็ดูสมเหตุสมผลน่าเชื่อถือ มีการระบุหลักฐานที่เด่นชัด นี่อาจเป็นตัวอย่างของการสร้างแนวคิดให้คนรุ่นใหม่ชื่นชอบ รวมถึงศึกษาประวัติศาสตร์ชาติตัวเองกันอย่างลึกซึ้งพอ

 

ข้อมูล:

dutchamsterdam.nl

dutchreview.com

expatica.com

WATCH