SOCIETY

หลังจากนี้ราชวงศ์อังกฤษจะเป็นอย่างไรต่อไป…

ในช่วงเวลาที่มีเหตุการณ์ในราชวงศ์อังกฤษเกิดขึ้นมากมาย การเดินหน้าอย่างมีนัยยะสำคัญจึงกลายเป็นที่สนใจของคนทั่วโลก

     เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2018 สามเดือนก่อนที่เจ้าชายแฮร์รี่และเมแกน มาร์เคิลจะเข้าพิธีเษกสมรส ณ พระราชวังวินเซอร์ ประเทศอังกฤษ นักแสดงตลกและนักวิจารณ์การเมืองอย่าง จอห์น โอลิเวอร์ ได้ปรากฏตัวในรายการ ‘The Late Show with Stephen Colbert’ ทอล์กโชว์ชื่อดังทางฝั่งอเมริกา “คุณคงจะตื่นเต้นมากๆ กับงานแต่งราชวงศ์ในครั้งนี้” โคลเบิร์ตกล่าวกับโอลิเวอร์ “ไม่เลย” โอลิเวอร์ตอบอย่างตรงไปตรงมา “ผมจะไม่กล่าวโทษเธอเลย ถ้าเธอเกิดเปลี่ยนใจในนาทีสุดท้าย ผมไม่คิดว่าคุณจำเป็นจะต้องชมตอนแรกสุดของ ‘The Crown’ เสียด้วยซ้ำ เพื่อที่จะเข้าใจในเบื้องต้นว่าเธอจะต้องเผชิญกับอะไรเมื่อเข้าไปอยู่ในครอบครัวที่สามารถสร้างความปั่นป่วนทางอารมณ์ให้แก่เธอได้”

     สามปีต่อมา คลิปที่ว่านี้กลายเป็นไวรัลในโลกโซเชียล ไม่ใช่เพราะมันเป็นเรื่องตลก แต่สิ่งที่โอลิเวอร์ได้กล่าวมานั้นเสมือนเขารู้เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้า “ใครดูแล้วมารวมกันตรงนี้…หลังจากชมการสัมภาษณ์ของเมแกนและแฮร์รี่ในรายการโอปราห์” นั่นคือคอมเมนต์ยอดนิยมที่ได้รับการตอบรับมากกว่า 5,000 ไลก์

     เมื่อคลิปโปรโมตการสัมภาษณ์คู่กันครั้งแรกหลังประกาศลาออกจากราชวงศ์อังกฤษของดยุกและดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ได้รับการเผยแพร่ ดูเผินๆ เหมือนจะเป็นการบอกเล่าเรื่องราวอื้อฉาวที่เกิดขึ้นหลังฉาก อย่างน้อยชาวทวิตเตอร์ก็ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน มีกระทั่งทวีตถามความเห็นว่าควรจะเตรียมป็อปคอร์นหรือน้ำชา (นั่นเพราะแฮร์รี่และเมแกนกำลังจะ ‘spill it’ หรือในความหมายที่ว่าจะเล่าออกมาเสียหมดเปลือก) บางทวีตยังเปรียบเทียบการสัมภาษณ์ที่ว่านี้กับอีเวนต์ยักษ์ใหญ่แห่งปีอย่างซูเปอร์โบวล์

ภาพ: Vanity Fair

     หารู้ไม่ว่าสองชั่วโมงของการสัมภาษณ์ได้แปรเปลี่ยนเป็นความขุ่นข้องหมองใจ เมื่อดัชเชสเปิดเผยว่าในระหว่างที่ตั้งครรภ์ เธอรู้สึกโดดเดี่ยวเป็นอย่างมากและมีบางห้วงความคิดที่อยากจะจบชีวิตตัวเองลง เนื่องด้วยแรงกดดันและการรุมเร้าจากข่าวในแง่ลบที่ออกมาทุกทิศทุกทาง แม้กระทั่งบิดาของเจ้าชายแฮร์รี่, เจ้าชายชาลส์, ยังใช้วิธีตอบโต้ด้วยการปฏิเสธสายเรียกเข้าจากลูกชาย สำหรับเมแกนแล้ว การกระทำที่ดูหยามเหยียดกันมากที่สุดคือการที่บุคคลในพระราชวังตั้งคำถามถึงสีผิวของอาร์ชี่ ลูกชายของเธอ ซึ่งขณะนั้นยังอยู่ในครรภ์ เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างได้ถูกเปิดเผย #abolishthemonarchy ขึ้นเป็นเทรนด์ในทวิตเตอร์โดยทันที

     หลังจากนั้นไม่นาน สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ได้ออกคำแถลงการณ์โดยมีเนื้อความว่า “ทั้งครอบครัวรู้สึกโศกเศร้าที่ได้ทราบถึงความยากลำบากของแฮร์รี่และเมแกนในช่วงที่ผ่านมา ประเด็นเรื่องเชื้อชาติที่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมานั้นเป็นสิ่งที่น่ากังวลใจ ถึงแม้จะเกิดความคลุมเครือในบางประเด็น สิ่งที่เกิดขึ้นได้รับการไตร่ตรองอย่างเคร่งครัดและจะมีการพูดคุยเป็นการส่วนตัวภายในครอบครัว โดยแฮร์รี่ เมแกน และ อาร์ชี่ จะเป็นสมาชิกในครอบครัวผู้เป็นที่รักอยู่เสมอ” ในวันถัดมา เจ้าชายวิลเลี่ยมถูกผู้สื่อข่าวไต่ถามว่าครอบครัวของเขามีการแบ่งแยกเชื้อชาติหรือไม่ เจ้าชายวิลเลี่ยมให้คำตอบว่า “ครอบครัวของเราไม่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติ” แต่โลกออนไลน์กลับไม่เห็นดีเห็นงามกับคำตอบของเขา แถมยังหยิบยกประเด็นความเป็นจักรวรรดินิยมของราชวงศ์อังกฤษขึ้นมาถกเถียงกันอีกด้วย

     จะว่าไปแล้ว เรื่องอื้อฉาวหาใช่สิ่งแปลกใหม่ที่ราชวงศ์วินด์เซอร์เคยประสบพบเจอ เรื่องราวเหล่านี้แทบจะเป็นส่วนหนึ่งของราชวงศ์เสียด้วยซ้ำ แต่ครั้งนี้กลับดูแตกต่างออกไป ในขณะที่เหตุการณ์ครั้งก่อนๆ มักจะยกประเด็นความผิดพลาดของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง นิยายเรื่องเศร้าของแฮร์รี่และเมแกนสะท้อนถึงความล้มเหลวของสถาบัน ที่นอกจากไม่สามารถปกป้องลูกชายผู้เป็นที่รักและเจ้าสาวของเขาได้ ยังกลับกลายเป็นผู้ร้ายขึ้นมาเสียเอง และนั่นช่างแตกต่างกันอย่างมากกับกรณีของเจ้าหญิงไดอาน่า

ภาพ: Amazon

     Dickie Arbiter อดีตเลขาธิการสำนักพระราชวัง บอกเล่าให้โว้กอเมริกาฟังว่าการให้สัมภาษณ์กับบีบีซีในปี 1995 ของเจ้าหญิงไดอาน่านั้นน่าตื่นตะลึงดังการปะทุขึ้นของลูกระเบิด ทว่ากรณีแฮร์รี่และเมแกนนั้นเปรียบดังการสั่นสะท้านจากแผ่นดินไหว “ (กรณีของไดอาน่า) ทั้งหมดเกี่ยวเนื่องมาจากความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับสามีและสถานะของการแต่งงาน” Arbiter กล่าว “ไม่ได้มีการโจมตีราชวงศ์แต่อย่างใด”

     ด้วยประวัติความเป็นมาถึง 1,200 ปี ระบอบการปกครองโดยกษัตริย์ของสหราชอาณาจักรถือเป็นสถาบันที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ตั้งแต่ยุคที่อาณาจักรต่างๆ ล่มสลาย ราชวงศ์ถูกโค่นล้ม แม้ว่าจะต้องฝ่าฟันปัญหานานัปการ ทว่าสายเลือดนี้ยังคงดำรงตนอยู่บนบัลลังก์มาอย่างเนิ่นนาน

     ความแข็งแกร่งที่ทำให้พระราชวังบักกิงแฮมยังคงอยู่ยั้งยืนยงคือความไม่โอนอ่อนที่เห็นได้ชัดเจนจากร่างกฎหมายและพระราชกฤษฎีกา ซึ่งมีที่มาจาก ‘Magna Carta’ บทบัญญัติเมื่อปี 1215 ว่าด้วยการที่กษัตริย์และรัฐบาลต้องใช้อำนาจภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย ช่วงศตวรรษที่ผ่านมา กษัตริย์และรัฐสภาสามารถหาข้อตกลงร่วมกันในการประคองอำนาจที่เสมือนจะหนักแน่นทว่ามีความเปราะบางอยู่ในที จึงเกิดเป็นเรื่องราวของเชื้อพระวงศ์ในยุคก่อนที่พยามยามจะปรับเปลี่ยนกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ส่วนตน (แต่ล้มเหลว) ในช่วงปี 1640s หลังจากพระเจ้าชาลส์ที่ 1 พยายามเข้ายึดครองอำนาจโดยเบ็ดเสร็จ รัฐสภาอังกฤษมีมติเห็นชอบให้เข้าจับกุมและสำเร็จโทษพระองค์ในข้อหากบฏต่อแผ่นดิน สรุปได้ว่า สิ่งที่ทำให้ราชวงศ์อังกฤษสามารถยืนหยัดมาอย่างยาวนานเป็นพันปีก็คือข้อผูกมัดทางกฎหมายที่ไม่ว่าใครก็มิอาจล่วงเกินได้ รวมถึงความรับผิดชอบอันใหญ่หลวงเพื่อดำรงไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์สืบต่อไป

“หนึ่งในเหตุผลที่ราชวงศ์วินด์เซอร์สามารถฝ่าฝันอุปสรรคต่างๆ มาได้จนถึงบัดนี้ แม้ว่าจะเกิดการล่มสลายของราชวงศ์ในยุโรปมาหลายต่อหลายครั้ง เป็นเพราะว่า (1) มีสัญชาตญาณอย่างแรงกล้าและไร้ความปราณีเพื่อการเอาตัวรอด (2) เป็นเพราะสิ่งต่างๆ ยังคงเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง” Anna Pasternak นักประวัติศาสตร์และนักเขียนชีวประวัติของราชวงศ์ ได้กล่าวไว้ “พวกเขาไม่ปรับตัวเลยแม้แต่นิดเดียว”

แต่คำถามก็คือ: พวกเขาจำเป็นจะต้องทำแบบนั้นหรือไม่?



WATCH




ภาพ: The Mercury News

     สหราชอาณาจักร…เช่นเดียวกับหลากหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงอเมริกา กำลังเดินอยู่บนจุดเปลี่ยนผ่าน “พวกเขาออกจากกรอบของตนเองและเปิดใจยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมหรือไม่…หรือยังคงมองเห็นสิ่งต่างๆ ด้วยกรอบความคิดแบบเดิมๆ จนเป็นอุปสรรคต่อการทำความเข้าใจโลกภายนอก” Arianne Chernock ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์สหราชอาณาจักรสมัยใหม่จาก Boston University ตั้งคำถาม “ฉันคิดว่าราชวงศ์สามารถใช้เมแกนเพื่อช่วยเปิดโลกทัศน์ในการทำความเข้าใจโลกยุคใหม่ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อจะพูดได้อย่างเต็มปากว่า “เราคือที่ที่มีแต่ความหลากหลาย”

ในความคิดของใครหลายๆ คน พวกเขาไม่เพียงแต่พลาดโอกาสที่แสนสำคัญนี้ แต่ยังทำมันพังไม่เป็นท่า

     กลุ่มคนเจนใหม่ที่อาศัยอยู่ในประเทศอังกฤษโดยส่วนใหญ่เห็นอกเห็นใจแฮร์รี่และเมแกน ข้อมูลจาก YouGov แสดงให้เห็นว่าประชากรอายุระหว่าง 18-24 ปี ถึง 61% เชื่อว่าทั้งสองได้รับการปฏิบัติจากสมาชิกราชวงศ์รายอื่นอย่างไม่เป็นธรรม ในขณะที่ประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกับคนรุ่นใหม่เพียง 15% เท่านั้น

     “เด็กยุคใหม่มักจะตั้งคำถามอย่างไม่หยุดหย่อน ‘นี่หรือคือตัวแทนของประเทศเรา มันเหมาะสมกับยุคสมัยนี้แล้วจริงๆ หรือ’” Omid Scobie ผู้ร่วมเขียน ‘Finding Freedom’ (หนังสือเกี่ยวกับการก้าวออกจากราชวงศ์อังกฤษของเจ้าชายแฮร์รี่และเมแกน) และผู้รายงานข่าวในพระราชสำนักทางช่อง ABC กล่าว ถ้าต้องเลือกระหว่างการแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา ณ เมืองที่แสงแดดสาดส่องอย่างแคลิฟอร์เนียหรือการเก็บซ่อนอารมณ์ความรู้สึกในบรรยากาศอันอึมครึมปกคลุมไปด้วยฟ้าฝนอย่างประเทศอังกฤษ เหล่า Gen Z คล้อยไปกับตัวเลือกแรกอย่างไม่ต้องสงสัย

     กลับกลายเป็นว่า วลีที่เหล่าราชวงศ์ยึดถือปฏิบัติอย่าง “ไม่อธิบาย ไม่คร่ำครวญ” นี้อาจล้าสมัยไปเสียแล้ว “เราต้องการให้บุคคลสาธารณะมีความโปร่งใส ไม่เสแสร้ง เปิดใจ และซื่อตรง ความลึกลับของเหล่าราชวงศ์ที่เคยดึงดูดผู้คนในยุคก่อน ย้อนกลับมาสร้างความเดือดร้อนให้พวกเขาเอง เพราะข้อกล่าวหาที่รุนแรงเป็นอย่างมากได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง” Scobie กล่าว “ข้อเท็จจริงที่ว่าพวกเขาไม่ออกมาพูดหรืออธิบายให้กระจ่างแจ้ง รังแต่จะทำลายชื่อเสียงที่พวกเขาได้สั่งสมมา”

“คุณไม่สามารถอยู่อย่างนิ่งเฉยและหวังว่ามันจะหายไป” เขาเสริม

ภาพ: Karwai Tang

     นอกเหนือจากการปฏิเสธเพียงสั้นๆ ของเจ้าชายวิลเลี่ยม ทางราชวงศ์ยังคงเก็บงำความข้องใจนี้ไว้อย่างเงียบเชียบ คำแถลงของควีนเอลิซาเบธที่กล่าวว่าจะมีการจัดการกับประเด็นที่ว่านี้เป็นการส่วนตัว ถือเป็นการประกาศชัดแจ้งแล้วว่าจะไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ ออกสู่สาธารณะหลังจากนี้ ทว่าพวกเขาเลือกที่จะลงมือทำสิ่งที่ถือเป็นความถนัดของเหล่าราชวงศ์มากที่สุดและนั่นก็คือ การปฏิบัติภารกิจ ทั้งเจ้าชายชาลส์ที่ได้เข้าเยี่ยมคลินิคเฉพาะกิจสำหรับผู้เข้ารับวัคซีนโควิด-19 เจ้าชายวิลเลียมเข้าเยี่ยมโรงเรียนแถบอีสต์ลอนดอน  และโมเมนต์สะเทือนอารมณ์ของดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ เมื่อเธอปรากฏตัวอย่างปุถุชนทั่วไป รายล้อมด้วยผู้คนที่มารวมกันเพื่อไว้อาลัยให้แก่การจากไปของ Sarah Everard (ผู้ถูกลักพาตัวและฆาตกรรมระหว่างเดินกลับบ้าน) ณ อนุสรณ์สถานใจกลางกรุงลอนดอน สำหรับกรณีนี้ Dickie Arbiter อดีตเลขาธิการสำนักพระราชวัง ยังได้กล่าวเสริมว่าการตอบโต้ด้วยการกระทำถือเป็นวิธีที่ราชวงศ์ยึดถือปฏิบัติมาโดยตลอด ดังคำกล่าวที่ว่า “แก้ไขด้วยการลงมือทำ แสดงออกด้วยการกระทำ มิใช่คำพูด”

     ด้วยหน้าที่รับใช้ประชาชนที่กระทำมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานกว่าเจ็ดทศวรรษ จึงไม่น่าแปลกใจที่ควีนเอลิซาเบธจะเป็นที่รักยิ่งของปวงประชา แต่ด้วยพระชนมายุเกือบ 95 พรรษา จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อผู้สืบทอดราชบัลลังก์ที่ได้รับความนิยมน้อยกว่าต้องเข้ารับช่วงต่อ เครือจักรภพอังกฤษหรือที่เรียกกันว่า Commonwealth มีประชากรหลากเชื้อชาติต่างวัฒนธรรมรวมกันกว่า 2.4 พันล้านคน ซึ่ง 60% ในจำนวนนี้มีอายุต่ำกว่า 29 ปี

     ประเด็นที่แฮร์รี่และเมแกนหยิบยกขึ้นมานั้น ดูท่าจะคงอยู่ได้อีกยาวนานเสียยิ่งกว่าวิกฤตการณ์ที่เหล่าราชวงศ์ได้เคยประสบพบเจอ เพราะฉะนั้นจึงเหลือเพียงคำถามเดียว และเป็นคำถามซึ่งได้รับการไต่ถามบ่อยครั้งขึ้นในช่วงหลังว่า…ระบอบการปกครองที่เป็นปัญหาถกเถียงกันอยู่นี้ วางตนอยู่ ณ จุดใดในความก้าวไกลของโลกยุคใหม่

 

ข้อมูล: vogue.com

แปล: ชนิสรา กตัญญูทวีทิพย์

เรียบเรียง: ปภัสรา นัฏสถาพร

WATCH

TAGS : Royal