SOCIETY
เกิดข้อสงสัยว่ารอยเลือดบนเสื้อโค้ตของอาร์ชดยุก เป็นชนวนสงครามโลกครั้งที่ 1 จริงหรือการโพสต์ภาพย้อนอดีตถึงเสื้อโค้ตเปื้อนเลือดของอาร์ชดยุกฟรันซ์ แฟร์ดินันท์ ทำให้ผู้คนตั้งคำถามว่ามันเป็นจุดแตกหักทำให้เกิดสงครามจริงหรือไม่ |
ความบาดหมางจนทำให้เกิดชนวนสงครามนั้นปรากฏขึ้นในหน้าประวัติศาสตร์โลกมากมายนับไม่ถ้วน หนึ่งในนั้นคือการลอบสังหารอาร์ชดยุกฟรันซ์ แฟร์ดีนันท์ แห่งออสเตรีย ที่มีการบันทึกว่าเป็นหนึ่งในชนวนเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ก้าวกระโดดมาถึงปี 2022 ผู้คนอาจหลงลืมประวัติศาสตร์เมื่อกว่าศตวรรษก่อน ซึ่งกลุ่มคนรักประวัติศาสตร์และเว็บบอร์ดกลับมาโพสต์ภาพเสื้อโค้ตเปื้อนเลือดนี้อีกครั้ง โดยเฉพาะเพจ Historic Photographs ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 2 ล้านคน และการโพสต์ภาพย้อนประวัติศาสตร์ดังกล่าวจึงจุดชนวนเหตุอีกหนึ่งอย่างคือผู้คนเข้ามาถกเถียงกันว่าสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดเพราะการสังหารโหดท่ามกลางฝูงชนจริงหรือ
Archduke Franz Ferdinand ณ ช่วงเวลาก่อนเกิดเหตุฆาตกรรมสลดในวันที่ 28 มิถุนายน 1914 / ภาพ: Britannica
เหตุการณ์ดังกล่าวถูกขนานนามว่าเป็นชนวนเดือดที่ทำให้เกิดสงครามแห่งมวลมนุษยชาติ โดยเรื่องราวนี้เกิดขึ้นเมื่อ Gavrilo Princip สมาชิกกลุ่มชาตินิยมชาวเซอร์เบียที่ลงมือลั่นไกปืนใส่อาร์ชดยุกจนเสียชีวิต หลังจาก Nedjelko Cabrinovic สมาชิกหัวรุนแรงอีกคนหนึ่งขว้างระเบิดจนทำให้รถเสียหลัก เหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นการสังหารโหดกระหึ่มโลก เพราะนี่ไม่ใช่การลอบสังหารแต่เป็นการสังหารโหดต่อหน้าสาธารณะ ณ กรุงซาราเยโว ประเทศบอสเนีย แน่นอนว่านี่เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่จุดประกายให้สงครามโลกเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และนักประวัติศาสตร์หลายคนใช้คำว่า “ข้ออ้าง” ในการทำสงคราม ทว่าเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปผู้คนศึกษาเรื่องราวอย่างรอบด้าน พร้อมทั้งตรวจสอบความจริงในมิติต่างๆ อยู่เสมอ จึงเกิดการถกเถียงว่านี่เป็นสาเหตุใหญ่โตเดียวหรือไม่ที่ทำให้สงครามเกิดขึ้น
ภาพจำลองเหตุฆาตกรรมอาร์ชดยุกฟรันซ์ แฟร์ดินันท์ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 1914 / ภาพ: History
ชาวโซเชียลหลายคนที่ชื่นชอบการศึกษาประวัติศาสตร์ต่างมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง แต่ข้อความที่น่าสนใจคือการตั้งคำถามเรื่องชนวนปัญหา โดยภายหลังมีผู้สนับสนุนข้อเท็จจริงว่าแท้จริงแล้วการสังหารในครั้งนี้ไม่ได้หมายถึงความโกรธแค้นโดยตรง ซึ่งไม่นับเป็นชนวนให้เพลิงโลกันตร์ลุกลามจนฉุดไม่อยู่ แต่สงครามเกิดจากประเด็นอ่อนไหวมากมาย ทั้งเรื่องการเหยียดชาติพันธุ์ สงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย ระบบการปกครองเมืองขึ้นในแถบเอเชียและแอฟริกา การเห็นผลประโยชน์ของสหราชอาณาจักรในเรื่องการครอบครองดินแดนและทรัพยากร รวมถึงเป้าหมายการผนึกรวมอำนาจในยุโรปโดยเยอรมัน ความเข้าใจในมิติประวัติศาสตร์ด้านนี้ทำให้เสื้อโค้ตเปื้อนเลือดถูก “Romanticize” น้อยลงกว่าเดิมมาก แต่ก่อนมันถูกตีความว่าเป็นร่องรอยเลือดที่สะท้อนถึงต้นตอของสงคราม การเปรียบเปรยตรงนี้ถูกนำไปเขียนหนังสือและบันทึกหลายฉบับ ในขณะที่ความขัดแย้งเบื้องหลังหลายอย่างถูกมองข้ามไปอย่างน่าประหลาด คนทั้งโลกจดจำได้เพียงว่าอาร์ชดยุกคนสำคัญสิ้นลมด้วยกระสุน และสงครามก็เกิดขึ้น ทว่าหลังการโพสต์ภาพรำลึกครั้งนี้ทำให้โลกได้ตระหนักไม่มากก็น้อยว่า บางอย่างกำลังจะสูญหายไปจากประวัติศาสตร์ เหลือเพียงคราบเลือดที่ถูกตีความและใส่เรื่องใส่ราวมาตลอดนับศตวรรษ
ข้อมูล: Historical Photographs (Facebook), history.com & rarehistoricalphotos.com
WATCH
WATCH