LIFESTYLE

เล่าประวัติศาสตร์อย่างไรให้คนไทยสนใจชาติ การมองผ่านแว่นตาคนอื่นบ้างเป็นเรื่องสำคัญ!

ประวัติศาสตร์ไทยที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของความกล้าหาญแต่เนื้อหามวลรวมยังไม่ครบถ้วนในตำราเรียน การมองผ่านมุมมองชาวต่างชาติอาจเติมเต็มส่วนที่เหลือให้สมบูรณ์

     ความภาคภูมิใจในแผ่นดินเกิดคือสิ่งที่ทุกสังคมทั่วประเทศหล่อหลอมและมีตัวละครคอยพร่ำสอนสมาชิกของสังคมตั้งแต่อยู่เสมอ แต่ละยุคแต่ละสมัยย่อมมีประวัติศาสตร์หลากหลายรูปแบบให้เล่าถึง บ้างก็เล่าในมุมดีอย่างเดียว บ้างก็ผสมผสานด้านมืดลงไป หรือบางครั้งก็ผสมผสานกันไปและยึดถือความจริงเป็นหลักโดยแต่งเติมน้อยที่สุด แต่ก็มีอีกแง่มุมที่ถูกปกปิดหรือเล่าต่อแบบเกินจริง ทั้งนี้ทั้งนั้นประวัติศาสตร์เหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ใครสักคนรักชาติบ้านเกิดตัวเองในระดับที่แตกต่างกันออกไป เมื่อผู้เขียนมีโอกาสไปทริปกับกระทรวงต่างประเทศในหัวข้อ “เงาฝรั่งบนฝั่งอยุธยา” เพื่อเปิดมุมมองใหม่เกี่ยวการศึกษาประวัติศาสตร์ก็ได้มุมมองว่าเราจะเล่าประวัติศาสตร์อย่างไรในยุคสมัยใหม่ให้คนไทยรักชาติได้อย่างสมเหตุสมผล

หนังสือประวัติศาสตร์ไทยระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่เป็นเครื่องมือปูพื้นฐานความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ของเยาวชน / ภาพ: แม็คเอดูเคชั่น

     แน่นอนว่าทุกคนย่อมเคยเรียนประวัติศาสตร์และจดจำทุกอย่างผ่านตำราเรียนและเรื่องราวเล่าขานต่างๆ แต่จุดบอดอย่างหนึ่งของการศึกษาประวัติศาสตร์ประเทศไทยคือส่วนมากโดยเฉพาะสมัยหลายร้อยปีก่อนมักถูกนำเสนอในรูปแบบของคนดี-ผู้ร้าย หรือกล่าวอย่างเข้าใจง่ายคือมักจะมีฮีโร่เกิดขึ้นอยู่ตลอด ดังนั้นประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลักจึงเหมือนภาพยนตร์ที่แบ่งฝ่ายกันอย่างชัดเจนและลดทอนรายละเอียดทางสังคมบางอย่างลงไป อีกทั้งรายละเอียดปลีกย่อยส่วนมากมักจะเป็นความเลอค่าในสิ่งเฉพาะเจาะจงเสมอ แต่ในชีวิตจริงผู้คนย่อมมีด้านดีและไม่ดีผสมปนเปกันไปการจะบอกเล่าอะไรผ่านความเก่งกาจของชนชาติสยามเพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่คำตอบของความอยากรู้อยากเห็นของคนยุคสมัยนี้อีกต่อไป

บรรยากาศหมู่บ้านโปรตุเกสในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา / ภาพ: EDT

     การไปทริปกับกระทรวงต่างประเทศที่มีหัวข้อหลักคือการมองประวัติศาสตร์ไทยสมัยอยุธยาผ่านมุมมองชาวต่างชาติ แน่นอนว่าสังคมที่เริ่มมีการเคลื่อนไหวข้ามน้ำข้ามทะเลมาไปมาหาสู่กันย่อมสร้างการหล่อหลอมรูปแบบใหม่ขึ้นมาไม่มากก็น้อย อิทธิพลต่างๆ ของผู้คนจากต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่นการเข้ามาของโปรตุเกสซึ่งถือว่าเป็นชนชาติแรกที่เข้ามาภายในประเทศไทยนั้นสามารถเห็นได้ถึงความก้าวหน้าทางการทูตและการเผยแพร่วัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี หลักฐานทางประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นชัดเจนว่ามีการตั้งรกรากและแสดงบทบาทสำคัญด้านศาสนา รวมถึงถิ่นที่อยู่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ค่อยๆ หลอมรวมกับชาวอยุธยาจึงกลายเป็นรูปแบบวัฒนธรรมใหม่ๆ ขึ้น ทั้งอาหารการกินหรือแม้แต่การเดินทางซึ่งฝั่งยุโรปมีวิวัฒนาการด้านการเดินทางทางน้ำอยู่ในระดับชั้นนำของโลก ณ เวลานั้น สิ่งต่างๆ ส่งผลต่อระบบสังคมและผู้คนในอยุธยาอย่างยิ่งจนต้องมีการวางแผน วางระบบ และการเข้าถึงทรัพยากรเพื่อรักษาผลประโยชน์อันหมายถึงนัยยะสำคัญทางการทูตที่หนังสือเรียนควรพูดถึงแต่กลับมีบทเรียนให้เด็กจำกันเพียงว่า “ใครมาถึงประเทศไทยเป็นกลุ่มแรก” เท่านั้น



WATCH




ส่วนจัดแสดงเรื่องราวของท้าวทองกีมาร์ในหมู่บ้านญี่ปุ่น / ภาพ: สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดอยุธยา

     รูปแบบการจัดตั้งชุมชนหมู่บ้านญี่ปุ่นในอยุธยาเองก็เต็มไปด้วยเรื่องราวความสำคัญ วัฒนธรรมญี่ปุ่น ความเป็นระเบียบ วิถีปฏิบัติหลายอย่างที่ยังคงเห็นกันอยู่ในปัจจุบันกับความหลากหลายแบบฉบับของดินแดนอาทิตย์อุทัยย่านพร้อมพงษ์ ทั้งหมดนี้เคยเกิดขึ้นในสมัยอยุธยามาก่อน ถ้วยชามรามไห หรือแม้กระทั่งการปกครองและรวมกลุ่มของชุมชนญี่ปุ่นเรื่อยไปจนถึงการทำการค้าก็ยังเป็นต้นแบบสำคัญที่ทำให้ชุมชนชาวสยามได้เปิดหูเปิดตาพัฒนาก้าวไกลกว่าเดิมมาก นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวความขัดแย้งและการบริหารอำนาจทางการทูตมากมาย ประเด็นด้านบุคคลของท้าวทองกีมาร์ก็เป็นเรื่องสำคัญในประวัติศาสตร์ เมื่อเรื่องราวเหล่านี้ถูกเล่าขานก็ควรจะอยู่ในสาระสำคัญของการบอกเล่าทางประวัติศาสตร์ เพราะทั้งหมดล้วนสามารถนำมายึดโยงกับการเดินหน้าของประเทศอยู่ตลอดเวลาจนถึงโลกยุคโลกาภิวัฒน์แบบนี้ได้เป็นอย่างดี

หมู่บ้านฮอลันดาที่ตอนนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อม / ภาพ: alexnpat

     พอถึงบ้านฮอลันดาก็ต้องบอกว่าเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องการค้า ช่วงนั้น VOC เกิดขึ้นและสร้างระบบการทำงานล้ำสมัยอย่างมาก มีการขยายดินแดนเพื่อทำธุรกิจในรูปแบบองค์กร ซึ่งถือว่าเป็นการกำเนิดขึ้นการค้ายุคใหม่ ต่างจากการค้ายุคก่อนที่เน้นการซื้อมาขายไปและแลกเปลี่ยนกันตามวิถีชาวบ้านเท่านั้น เรื่องวิทยาศาสตร์เองก็ถือเป็นส่วนสำคัญที่ชาวฮอลันดานำมาจากยุโรป ทั้งเรื่องกล้อง เรือ และอีกมากมาย มากไปกว่านั้นยังมีเทคนิคการทำแผนที่ในสเกลระดับภูมิภาคถึงระดับทวีป ในจุดนี้ก็นับว่าฮอลันดาเปิดมิติใหม่ในรูปแบบหนึ่งให้กับอยุธยาไม่น้อย ทั้งนี้ทั้งนั้นการข่มขู่บางอย่างที่เกิดขึ้นจากชาวต่างชาติก็สามารถสร้างแรงต้านและขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ทางการทูตให้กับชาวอยุธยาด้วยเช่นกัน ดังนั้นหมู่บ้านฮอลันดาก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าชาวต่างชาติมีส่วนสำคัญในการเดินหน้าของประเทศไทยในหลายแง่มุมทั้งจากอิทธิพลแง่บวกและลบ

แผนที่อยุธยาของชาวต่างชาติ / ภาพ: ไทยรัฐ

     การเดินหมากทางการทูตและระบบมหาดไทยก็เป็นส่วนสำคัญที่มีการบอกเล่าในเชิงประวัติศาสตร์น้อยมาก ที่ตั้งของเมืองหลวงนั้นมีการแบ่งแยกโซนจากเหล่าหมู่บ้านชาวต่างชาติ ผังเมืองทั้งหลายถูกวางไว้อย่างเป็นระบบเพื่อการป้องกันตัวเองและเชื่อมสัมพันธ์ไปในเวลาเดียวกัน นั่นแสดงให้เห็นว่าการเข้ามาอยู่ในพื้นที่อยุธยาของชาวต่างชาติช่วยขัดเกลาแนวความคิดทางการเมืองภายในผืนแผ่นดินสยามได้เป็นอย่างดี เพราะถ้าหากไม่มีพวกเขาเข้ามาอยุธยาก็ไม่จำเป็นต้องสร้างระบบเหล่านี้ขึ้นมาแต่อย่างใด ในมุมมองชาวต่างชาติเองก็มีการวิเคราะห์ถึงลักษณะของชาวอยุธยาเอาไว้ในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปด้วย ดังนั้นหากใครจะศึกษาเพิ่มเติม บันทึกจากชาวต่างชาติเองก็เป็นส่วนสำคัญในการสร้างความสมบูรณ์แบบไม่แพ้การร่ำเรียนจากตำราเลยทีเดียว

บรรยากาศภายนอกของวัดนักบุญยอเซฟ / ภาพ: Go Ayutthaya

     จุดหมายต่อมากับวัดนักบุญยอเซฟ ตรงนี้เป็นจุดแสดงสำคัญที่ทำให้เห็นถึงความหลากหลายของศาสนาในอยุธยาและประเทศไทยในปัจจุบันอย่างชัดเจน เพราะอิทธิพลการเผยแผ่ต่างๆ ไม่ได้มาแค่กับตำราความศรัทธา แต่ยังมาพร้อมองค์ความรู้ที่เปิดกรอบให้ชาวอยุธยาได้พัฒนาตัวเองสู่ระดับสากล ทั้งเรื่องมุมมองต่อศาสนา การนับถือความเชื่ออย่างเป็นเหตุเป็นผล ที่สำคัญที่สุดคือเรื่องภาษาและการทูต เพราะที่นี่มีการจัดแสดงนิทรรศการที่แสดงให้เห็นว่าคนไทยเดินทางไปต่างประเทศด้วยเหตุผลทางศาสนา (ไปวาติกัน) หรือจะเรียกได้ว่าอิทธิพลของคนต่างชาติสร้างเส้นทางให้กับชาวไทยได้เผชิญโลกใบใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการข้ามน้ำข้ามทะเลสู่ภาคพื้นยุโรป

ตัวอย่างภายในของหนังสือ สัพะ พะจะนะ พาสาไท / ภาพ: nara-rarebook

     มากไปกว่าประเด็นศาสนาและการทูตเรื่องภาษาเองก็เป็นเรื่องสำคัญ น้อยคนมากจะรู้ว่าพจนานุกรมฉบับแรกของไทยไม่ใช่คนไทยเป็นผู้เขียนขึ้น (พจนานุกรมแปลภาษาและความหมาย) แต่หลุยส์ นาโน บาทหลวงโรมันคาทอลิกชาวฝรั่งเศสสมาชิกคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสเป็นผู้จัดทำขึ้นในฉบับ ฝรั่งเศส-ไทย และมีอีกฉบับที่โด่งดังคือ สัพะ พะจะนะ พาสาไท โดย ชอง บาตีสต์ ปาเลอกัว เรียบเรียงไว้ 4 ภาษา คือ ไทย ละติน ฝรั่งเศส และอังกฤษ พิมพ์ที่กรุงปารีส พ.ศ. 2397 (สมัยรัตนโกสินทร์) ต้องบอกว่าหากประวัติศาสตร์บอกเล่าเรื่องนี้อย่างจริงจังก็จะเห็นถึงพัฒนาการด้านภาษาและปิดรอยโหว่ของการขาดหายไปทางประวัติศาสตร์แนวชาตินิยมที่อาจมุ่งเน้นเรื่องบางเรื่องมากเกินไปได้อย่างสมบูรณ์แบบ

อยุธยาเมืองแห่งประวัติศาสตร์ไทยที่มีหลายแง่มุมมากกว่าแค่ตำราเรียน / ภาพ: Google Sites

     สุดท้ายสรุปได้ว่าการศึกษาประวัติศาสตร์จากการเรียบเรียงหลักฐานการบันทึกของผู้เขียนประวัติศาสตร์ยุคเก่าชาวไทยย่อมเป็นสิ่งที่ควรทำและระลึกถึงเสมอ แต่การศึกษาประวัติศาสตร์อย่างถี่ถ้วนพร้อมชำระมันให้สมบูรณ์สดใหม่ตลอดเวลาย่อมน่าสนใจเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนยุคใหม่ที่ต้องการเสพข้อมูลแบบรอบด้าน หาที่มาที่ไปของแต่ละเรื่อง ดังนั้นการมองโลกผ่านแว่นตาของฝรั่งจึงกลายเป็นเรื่องสำคัญที่มองข้ามไปไม่ได้ การศึกษาเรื่องราวในอดีตผ่านแว่นตาคนอื่นย่อมได้มุมมองใหม่  และนั่นจะทำให้ประวัติศาสตร์มีความกลมขึ้น ไม่ใช่ประวัติศาสตร์เส้นตรงที่เดินหน้าในตามทางมาจนถึงปัจจุบันเพียงอย่างเดียว ไม่มีใครเป็นผู้ร้ายเต็มตัว ไม่มีใครเป็นคนดีโดยสมบูรณ์แบบ เกร็ดของประวัติศาสตร์บอกไว้เสมอถึงการพัฒนาโดยใช้แรงผลักดันจากทั้งด้านบวกและด้านลบ การมีมลทินมัวหมองในประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่องน่าอับอาย เพราะประเทศช่ำชองสงครามอย่างสหรัฐอเมริกา ผู้เขียนประวัติศาสตร์โลกในหลายมิติก็ต้องชำระประวัติศาสตร์ชาติตัวเองในหลายประเด็นอยู่เสมอ โดยเฉพาะเรื่องความเท่าเทียม เยอรมันเองก็ต้องยอมรับว่าครั้งหนึ่งลัทธินาซีมีบทบาทในการสร้างความโกลาหลไปทั่วโลก หรือแม้แต่ประเทศรัสเซียเองก็เคยสร้างแรงบีบรัดทางสังคมจนเกิดปรากฏการณ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นไม่ผิดเลยหากเราจะศึกษาประวัติศาสตร์กระแสหลักและรองไปพร้อมกัน เพราะสิ่งนี้จะทำให้ประวัติศาสตร์ดูน่าสนใจและเป็นเหตุเป็นผลสมกับยุคแห่งการใช้เหตุผลในปัจจุบันอย่างแท้จริง ถ้าใครอยากศึกษาเพิ่มเติมก็สามารถไปเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ พร้อมเก็บเกี่ยวความสำคัญด้านประวัติศาสตร์ที่หนังสือเรียนอาจไม่เคยบอกได้ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

WATCH