LIFESTYLE
'ศยามะ' ดินแดนเทียบคู่เมืองแห่งใหม่ที่ผสมผสานความเก่าแก่และทันสมัยออกมาในรูปแบบคาเฟ่หากนึกถึงการรีโนเวตบ้านหลังเก่าให้มีชีวิตชีวาและสามารถดึงดูดผู้คนเข้ามาได้ ศยามะคือคำตอบที่เป็นตัวอย่างการพัฒนาอย่างน่าสนใจ |
เพราะการเปลี่ยนแปลงทำให้คุณค่าของวัตถุสิ่งของและสถานที่เชื่อมโยงกับกาลเวลาจนกลายเป็นอมตะ แม้โลกจะหมุนเวียนไปแต่ถ้าความหลังดั้งเดิมถูกแปรสภาพเป็นความสดใหม่อยู่เสมอย่อมเกิดปรากฏการณ์ที่ทำให้เห็นว่าทุกสิ่งล้วนคงอยู่ได้เพียงแต่อาจเปลี่ยนรูปลักษณ์ มนต์เสน่ห์ รวมถึงวิถีบางอย่าง เฉกเช่นเดียวกับ “ศยามะ” คาเฟ่สุดเก๋เลียบถนนอู่ทองที่ตอนนี้เป็นสถานที่ยอดฮิตริมคลองเมืองอยุธยา ที่นี่เคยเป็นบ้านเก่าแก่โบราณ แต่ทุกวันนี้กลายเป็นคาเฟ่ร่วมสมัยที่ผสมผสานกลิ่นอายของวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่เข้ากับสถานที่ดั้งเดิมอันคละคลุ้งด้วยบรรยากาศร่มสงบได้อย่างลงตัว
เรือนไทยเก่าแก่โบราณที่ควรค่าแก่การเก็บรักษา แต่บางครั้งวิถีในการบำรุงสถานที่โบราณอาจไม่ใช่การบูรณะให้อยู่ในสภาพเดิมเสียทีเดียว “เราพร้อมที่จะเก็บรักษา ซ่อมนิดซ่อมหน่อยมาหลายครั้ง ถ้าเรือนไทยไม่ได้ซ่อมจริงจังค่อนข้างอยู่ยาก แถมยังมีบรรยากาศมืดอึมครึม ก่อนหน้านี้จึงใช้ที่แวะมาพักผ่อนเล็กน้อยเท่านั้น” คุณสาวิตรี บริพัตร ณ อยุธยา กล่าวถึงเรือนไทยเรือนเก่าที่ตนพร้อมรีโนเวตใหม่ ย้อนกลับไปในปี 2562 จึงเล็งเห็นเรือนไทยเรือนนี้มีสภาพดีพอจะทำนุบำรุงให้จริงจังและสามารถต่อยอดให้เรือนหลังเก่าเช่นนี้มีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกครั้ง เรือนไทยริมคลองเมืองแห่งนี้จึงได้รับการซ่อมแซมและออกแบบเพิ่มเติมโดย บริษัท สถาปนิกพอดี จำกัด ซึ่งดูแลและควบคุมโดย พหลไชย เปรมใจ สถาปนิกชื่อดังผู้เชื่อมั่นในแนวคิดการออกแบบงานสถาปัตยกรรมแบบพอดี
เมื่อมุมมองความพอดีบรรจบกับความตั้งใจในการเก็บรักษาของเก่าโดยเฉพาะตัวเรือนและรายละเอียดต่าง ทำให้บ้านหลังนี้มีชีวิตชีวาในแบบที่ไม่ต้องเปลี่ยนโฉมสู่วังวนผลงานแบบโมเดิร์นจ๋า แต่รักษาความเป็นไทยตามแบบฉบับได้แบบพอดิบพอดีตามคอนเซปต์ ซึ่งอาจหมายถึงการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบเพื่อความมั่นคงยั่งยืน หลังคาเก่าเสื่อมโทรมจนต้องถอนออก ส่วนหลังคากระเบื้องว่าวก็หนักเกินไป จนกลายมาเป็นที่มาของกำแพงและงานสถาปัตยกรรมที่เกิดจากความล้มเหลว ทว่ามันกลับออกมาสวยงามโดดเด่นสะดุดตาตั้งแต่บริเวณด้านหน้า ความสูงแบบพอดิบพอดีของกำแพงไม่เกินชั้นพระปรางค์สะท้อนถึงแนวความคิดที่รักษาขนบธรรมเนียม ในขณะเดียวกันก็เฟ้นหากระเบื้องเกล็ดปลาที่หลายคนอาจมองเหมือนวัดแต่เมื่อนำมาผสมผสานกับงานรีโนเวตครั้งใหม่นี้กลับลงล็อกแห่งมิติความสวยงาม
WATCH
ความบังเอิญ...เมื่อความสวยงามชวนสะดุดตาประกอบกับบรรยากาศโดยรอบ โดยเฉพาะวัดพุทไธศวรรย์ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามชวนให้ริเริ่มโปรเจกต์คาเฟ่ กลายเป็นจุดเด่นที่ไม่ควรพลาด แต่แล้วข้อจำกัดบางอย่างทำให้ต้องริเริ่มวิธีการจัดสรรพื้นที่ บานกระจกรายล้อมห้องตรงข้ามวิวทิวทัศน์ของวัดจึงถูกเนรมิตขึ้นเพื่อปิดจุดด้อยเรื่องใต้ถุนที่ค่อนข้างต่ำประกอบกับความมืดทึม ความบังเอิญนี้จึงเนรมิตการผสมผสานความคลาสสิกของใต้ถุนเรือนเก่าโบราณเข้ากับการประดับตกแต่งโดยใช้กระจกที่ในมุมหนึ่งก็ขัดแย้งแปลกตา แต่ในอีกมุมก็ลงตัวอย่างไม่น่าเชื่อ
สีกับอารมณ์ความรู้สึกคือการปรับเปลี่ยนมุมมองเรื่องภาพจำของเรือนไม้เก่าแบบนี้อย่างแนบเนียน สีน้ำตาลโกโก้ประกอบกับน้ำตาลอ่อนให้ความรู้สึกวินเทจที่ร่วมสมัย แต่ไม่ได้ทำให้ดูโบราณคร่ำครึ และเมื่อต้องการนำเสนอสถานที่แห่งนี้เป็นคาเฟ่ วิธีคิดเกี่ยวกับการออกแบบก็ริเริ่มมาจากครอบครัว หลายองค์ประกอบถูกคัดเลือกมาจากของเพียงไม่กี่ชิ้นเพื่อสร้างกรอบในการออกแบบให้เข้ากัน “ตามใจลูก” นี่คือคติประจำใจที่ตั้งต้นเริ่มศยามะให้ก่อตัวเป็นรูปเป็นร่าง แม้ขนาดโดยรวมของโซนทำกาแฟจะเล็กไปบ้าง แต่ในอนาคตก็อาจเพิ่มพื้นที่สโลว์บาร์เพื่อตอบโจทย์การเข้ามาใช้บริการและการจัดสรรพื้นที่ให้ลงตัวมากยิ่งขึ้น
งานคราฟต์ของเรือนไทยกับงานคราฟต์ในงานกาแฟ ศยามะได้บาริสต้าชื่อดังมาออกแบบเมนูพร้อมคัดสรรวัตถุดิบให้อย่างละเอียดยิบ ทุกเมนูมีจุดเด่นที่ทำให้กาแฟที่ทุกคนคุ้นเคยแตกต่าง มาพร้อมกับเมนูซิกเนเจอร์ที่รังสรรค์ขึ้นเพื่อสร้างความประทับใจพิเศษให้กับผู้มาเยือน เพราะฉะนั้นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของทุกเมนูตั้งต้นจากแนวคิดงานคราฟต์ สู่วัตถุงานคราฟต์ จนออกมาเป็นผลผลิตงานคราฟต์ที่ทุกคนต้องลิ้มลอง
หันมองออกริมน้ำพลันหันมาหาชมบรรยากาศสีเขียวกลางพื้นที่ศยามะ แม้จุดเริ่มต้นจะเริ่มจากความรีบร้อนและใช้บริการสวนนงนุชมาปรับภูมิทัศน์ “2 Days Miracle” ทำให้สวนศยามะเต็มไปด้วยบรรยากาศความชุ่มชื่นที่ออกมาสวยงามภายในเวลาไม่กี่อึดใจ ทุกอย่างเรียบง่าย ดูแลง่าย และเป็นระบบทันสมัยเพื่อเหมาะสมแก่การดูแลสอดคล้องกับแนวทางการรังสรรค์ความสมัยใหม่ให้เข้ากับพื้นที่สมัยเก่าอย่างลงตัวที่สุด ทุกอย่างอาจฟังดูเป็นคอนเซปต์สไตล์คอนทราสต์ ต่อยอดไปจนถึงเรื่องการปูกระเบื้องที่สลับขั้วแนวคิดจากบ้านไทยคลาสสิกสู่การผสมผสานแนวทางสร้างสรรค์ยุคกลางค่อนใหม่ ก่อนจะลดทอนความลายตาด้วยพรม มาพร้อมกับผนังลายสนิมอันเต็มไปด้วยบรรยากาศกลิ่นอายบริทิชโคโลเนียล ที่นี่ไม่ลืมเรื่องงานคราฟต์ที่ผนังอันโดดเด่นนี้ก็เกิดจากฝีมือของเจ้าของ ตั้งแต่ไล่สีพื้นไปจนถึงเอฟเฟกต์คลื่นสะดุดตา ให้มนต์เสน่ห์กึ่งบาร์ แตกต่างจากบรรยากาศโดยรอบ ถ้าจะกล่าวว่านี่คือส่วนผสมของความขัดแย้งที่ลงตัวก็ไม่ผิดนักสำหรับศยามะ
แน่นอนว่าสิ่งที่คงมนต์เสน่ห์ให้ศยามะคือความเก่า และการนำเฟอร์นิเจอร์ชิ้นเก่าอายุหลายสิบหรือร้อยปีมาเรียงรายสอดแทรกกับชิ้นงานทันสมัยรูปแบบใหม่อย่างเหมาะสมทำให้ทุกส่วนของที่นี่มีมนต์เสน่ห์ความคลาสสิกแบบฉบับเฉพาะตัว นอกจากนี้ยังมีการสร้างงานให้การชุมชนท้องถิ่นด้วยการส่งเสริมงานจักสาน เช่นเสื่อหรือของประดับตกแต่งอื่นๆ แม้ทุกรายละเอียดจะเต็มไปด้วยเรื่องราวและแนวทางคล้ายสไตล์แม็กซิมัล แต่สุดท้ายบรรยากาศองค์รวมประกอบวิวติดริมฝั่งคลองเมืองแบบนี้ยังผลักดันให้เกิดความสบายเหมาะสมกับการเป็นคาเฟ่ในอุดมคติได้เสมอ “ตรงข้ามเป็นโรงพยาบาล อยากให้คุณหมอออกมาจากห้องผ่าตัดแล้วมาผ่อนคลายในที่แห่งนี้” สะท้อนถึงแนวคิดดั้งเดิมในการสร้างสรรค์สถานที่เก่าแก่ดั้งเดิมเพื่อตอบโจทย์การพักผ่อนหย่อนใจในบรรยากาศไม่เหมือนใคร ไม่ว่าจะชาวอยุธยาเองหรือจากต่างจังหวัดก็สามารถมาซึมซับสิ่งเหล่านี้ได้ที่ศยามะ ที่แห่งนี้ไม่ใช่ความสวยงามที่เกิดจากความเป๊ะทุกกระเบียดนิ้ว แต่เกิดจากการผสมผสานที่พาเราท่องไปในโลกที่ไม่ใช่ทั้งยุคเก่าหรือยุคใหม่เสียทีเดียว แต่เป็นโลกเฉพาะที่พอก้าวเข้ามา ณ สถานที่แห่งนี้จะพร้อมบันทึกความทรงจำไว้เลยว่านี่คือ “ศยามะ”
1 / 16
2 / 16
3 / 16
4 / 16
5 / 16
6 / 16
7 / 16
8 / 16
9 / 16
10 / 16
11 / 16
12 / 16
13 / 16
14 / 16
15 / 16
16 / 16
WATCH