
LIFESTYLE
สถาปนิกไทยบนเวทีระดับโลก ดร. กุลภัทร ยันตรศาสตร์ แชร์ประสบการณ์ 'การออกแบบ' ที่ให้อะไรมากมายกับชีวิตDesign Living Space 'ดร. กุลภัทร ยันตรศาสตร์' สถาปนิกไทยบนเวทีระดับโลกเล่าถึงบทบาทและมุมมองของสถาปนิกที่ดีต้อง 'ไม่ใช่แค่งานเก๋แต่ต้องเสริมให้ชีวิตของผู้คนดีขึ้นด้วย' |
เรื่อง: ฐาดิณี รัชชะเสวี
ภาพ: Manfredi Gioacchini, Couretesy of the Artist
"เขาคือสถาปนิกไทยที่ยืนเด่นบนเวทีโลกและกำลังจะมีผลงานล่าสุดคือการปรับปรุงพื้นที่พิพิธภัณฑ์ระดับโลก Louvre ในกรุงปารีส ดร.กุลภัทร ยันตรศาสตร์ มาแชร์ประสบการณ์การทำงาน “ออกแบบ” ที่ให้อะไรมากมายกับชีวิต"
มองจากมุมคนนอก อาชีพสถาปนิกเป็นอาชีพที่ดูเท่และท้าทาย ส่วนใหญ่จะรู้จักคนทำงานด้านนี้จากการได้เห็นภาพตึกสูงเสียดฟ้าหรือพื้นที่อาคารเก๋ๆ แต่มากไปกว่านั้นคือการออกแบบพื้นที่ให้สอดคล้องกับประโยชน์ใช้สอย ซึ่งเป็นหน้าที่ของสถาปนิกที่จะต้องคิดให้จบครบทุกกระบวนการ ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่างานของสถาปนิกไม่ใช่แค่ออกแบบที่อยู่อาศัย แต่ยังออกแบบชีวิตให้กับผู้คนด้วย “อาชีพสถาปนิกจะเรียกว่าเป็ดก็ไม่เชิง เพียงแต่ว่าปัญหาของสถาปนิกนั้นไม่ใช่เรื่องซีเรียส เราต้องมองให้ขาด มันต้องอยู่ทน มีความเป็นนักขาย ต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ เช่น อากาศ ความสุข เพราะฉะนั้นความรับผิดชอบในเรื่องของความเป็นมืออาชีพมันเยอะ ขณะเดียวกันเราก็ต้องรู้ทุกอย่าง ต้องรู้เรื่องอื่นๆ อย่างละนิด อย่างเรื่องจิตวิทยา โครงสร้าง ธรรมชาติ” สิ่งสำคัญคือต้องรู้เรื่องชีวิต “ผมจะพูดกับลูกน้องเสมอว่า ‘Design the Life Not the Form’ คือการออกแบบของเราไม่ใช่แค่ฟอร์มสวย แต่เราออกแบบการใช้ชีวิตของคน ทำอย่างไรให้การออกแบบของเรามันเสริมชีวิตเขาให้มีพลังขึ้นได้ เพราะฉะนั้นสถาปนิกที่ดีจะต้องใช้ชีวิตให้เป็น ไม่ใช่ไปทำเก๋ๆ แต่ว่าใช้งานไม่ได้”
จุดเริ่มต้นของการเป็นสถาปนิกของกุลภัทรเริ่มต้นจากความสนใจใคร่รู้เรื่องการสร้างบ้านเมื่อตอนเด็ก พอโตขึ้นก็มีโอกาสได้ไปชมงานศิลปะต่างๆ จากทั่วโลก ทำให้คลังความรู้และมุมมองด้านศิลปะของเขาค่อยๆ เติบโตขึ้นด้วยไปพร้อมกัน ปัจจุบันเขามีบริษัทออกแบบอยู่ที่นครลอสแอนเจลิส และเดินทางไปทำงานในเมืองต่างๆ ทั่วโลก ก่อนจะมาถึงจุดนี้กุลภัทรเคยทำงานกับสถาปนิกชื่อดังชาวญี่ปุ่น ทาดาโอะ อันโดะอยู่ถึง 8 ปี “การทำงานที่ญี่ปุ่นจะมีเอกลักษณ์ในแบบของเขามากๆ โดยเฉพาะในออฟฟิศของทาดาโอะยิ่งมีความแตกต่างอย่างชัดเจน คือเงียบไปหมด ไม่มีใครพูดเลย ตั้งแต่ 10 โมงเช้า ถึง 4 ทุ่ม โทรศัพท์ไม่มี ห้องเล็กๆ ใครทำดินสอตกก็ได้ยินกันทั้งห้อง บรรยากาศจะค่อนข้างตึงเครียด มีคนถามว่าอยู่ไปได้อย่างไรตั้ง 8 ปี เรารู้สึกว่าตอนที่อยู่มันสนุก ได้เรียนรู้ในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน มีวินัยมากๆ พอทำตามระบบไปมากๆ เราก็เกิดอิสรภาพขึ้นในใจ ที่ญี่ปุ่นเขาถือว่าอิสระมาจากการปฏิบัติ ยกตัวอย่างถ้าจะเป็นนักกีฬาหรือนักดนตรีก็ต้องทำต้องซ้อม ซึ่งพอทำไปเรื่อยๆ ร่างกายกับจิตใจจะเริ่มเข้ากับระบบ เกิดความแม่นยำและชำนาญมากขึ้น คนญี่ปุ่นจะไม่เหมือนคนไทย ของเราจะเน้นเรื่องแบบสวยๆ มาก่อน เรื่องสร้างไว้ทีหลัง ผมโชคดีที่ได้ไปเริ่มชีวิตที่นั่นทำให้สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการออกแบบตามวัฒนธรรมของแต่ละที่ได้ พอย้ายไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกาก็เป็นอีกแบบหนึ่ง ที่นั่นเน้นเรื่องความคิดสร้างสรรค์ จากประสบการณ์ที่ผ่านมาของเราทำให้เราสามารถทำงานได้ทั้งสองแบบ ซึ่งถือเป็นกำไร”
"ผมจะพูดกับลูกน้องเสมอว่า 'Design the Life Not the Form' คือการออกแบบของเราไม่ใช่แค่ฟอร์มสวย แต่เราออกแบบการใช้ชีวิตของคน ทำอย่างไรให้การออกแบบของเรามันเสริมชีวิตเขาให้มีพลังขึ้นได้ เพราะฉะนั้นสถาปนิกที่ดีจะต้องใช้ชีวิตให้เป็น ไม่ใช่ไปทำเก๋ๆ แต่ว่าใช้งานไม่ได้"
WATCH
1 / 3
ห้องสมุดในบ้านของคุณกุลภัทร มองเห็นสระว่ายน้ําจากด้านข้าง
2 / 3
ร็อกกี้เฟลเลอร์วิงของพิพิธภัณฑ์เมโทรโพลิทันในนิวยอร์ก ซึ่งจะเปิดให้เข้าชมเดือนพฤษภาคม 2025
3 / 3
บันไดด้านนอกสําาหรับชมวิวของบ้านภูเก็ต ซึ่งเชื่อมต่อทั้งสามชั้นเข้าด้วยกันและมองเห็นวิวทะเล
การทำงานกับทาดาโอะทำให้เขาได้เดินทางเยอะ โดยเฉพาะปารีสกับแอลเอ รวมไปถึงนิวยอร์กที่เขาได้รับโอกาสในการทำงานกับพิพิธภัณฑ์ The Met Museum ซึ่งเป็นใบเบิกทางให้มีงานอื่นๆ ตามมา “ผมค่อนข้างชอบงานออกแบบมิวเซียมนะ บางคนคิดว่าการออกแบบมิวเซียมระดับโลกจะต้องขาวสุดๆ แสงแรงๆ ไม่มีหน้าต่าง ไม่มีอะไร ความจริงแล้วมันไม่ใช่เรื่องดี เพราะจะให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในห้องแล็บ สไตล์ที่ผมนำมาใช้คือจะแมตช์ระหว่างศิลปะกับคน ศิลปะก็ต้องดูดี เรื่องของแสง เรื่องของการจัดวาง บรรยากาศต่างๆ ทำอย่างไรให้คนที่เข้ามาชมรู้สึกดี รู้สึกว่าพื้นที่นี้น่าอยู่ เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเมื่อเขารู้สึกสบาย เขาก็จะเชื่อมโยงกับงานหรือสเปซนั้นได้” กุลภัทรบอกว่าปัญหาของการออกแบบมิวเซียมส่วนใหญ่คือดูเข้าถึงยาก หรือเหมาะกับคนที่ต้องเข้าใจศิลปะเท่านั้น แต่สำหรับเขา ความรู้สึกเป็นมิตรกับพื้นที่ต่างหากที่เขาอยากให้ผู้คนได้เสพ “ผมรู้สึกว่าเป้าหมายหลักของสถาปัตยกรรมตอนนี้คือช่วงหลังโควิด คนเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในโลกโซเชียลมากขึ้น หรือแม้แต่การทำงานก็ยังผ่านซูม ทำให้เจอกันน้อยลง แต่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ต้องอยากไปเจอกัน เพราะฉะนั้นมิวเซียมต้องมีบทบาททำให้คนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เพราะโควิดแยกเราออกจากกัน ที่สหรัฐอเมริกามีปัญหาเยอะในเรื่องความแตกต่าง ทั้งทางเชื้อชาติและเรื่องอื่นๆ คนก็เริ่มใช้ตรงนี้มาเป็นเหตุผลในการเกลียดกันเอง เพราะฉะนั้นการออกแบบมิวเซียมหรืออาคารสาธารณะจำเป็นที่จะต้องทำให้ทุกคนรู้สึกว่าการมีคนอยู่ที่นี่มันดี ถ้าเป็นห้องเงียบๆ ไม่มีคนอื่นอาจจะเศร้า ผมคิดว่าเป็นเรื่องจำเป็นมากว่าจะทำอย่างไรให้คนรักกันและสนใจกันมากขึ้น”
งานประกวดแบบชนะเลิศทั่วโลก วิงใหม่ของพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ในกรุงปารีส ซึ่งเป็นแกลเลอรีจัดแสดงงานศิลปะจากโรมันและไบแซนไทน์ จะเปิดในปี 2027
งานใหญ่ที่เขาเพิ่งได้รับมอบหมายคือการรีโนเวตพื้นที่บางส่วนของพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ “ลูฟวร์เคยเป็นวังมาก่อนซึ่งอาจจะทำให้คนรู้สึกว่าดูน่ากลัว ดูหรูหรา แต่นั่นคือคาแร็กเตอร์ของเขา ในขณะเดียวกันช่วงชีวิตที่เขาอยู่มาก็ยาวนานมาก อย่างที่ผมเคยไปทำ The Met Museum ก็อายุ 125 ปีแล้ว แต่ลูฟวร์อายุ 400-500 ปี เขามีชีวิตมาแล้ว เรามีหน้าที่มาทำงานกับพื้นที่นี้เพียงช่วงหนึ่ง แต่ชีวิตเขาต้องมีต่อไป ในขณะที่เราอาจจะหายไปไหนแล้วก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมองในระยะยาว ไม่ใช่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น ถ้าเราพูดถึงการดูแลสุขภาพ เราจะคิดถึงการฝังเข็มไม่ใช่การผ่าตัดดึงหน้า อันนี้ก็เหมือนกัน เราต้องแก้ปัญหา มองให้เห็นระยะยาวเพื่อให้เขาเดินต่อไปข้างหน้า เราจะแก้ปัญหากับพื้นที่เดิมอย่างไร ถ้าอาคารแบบนี้คนกลัว แล้วทำอย่างไรล่ะให้เขารู้สึกเข้าถึงง่ายมากขึ้น ระบบไฟหรือระบบอากาศอาจจะไม่ดี ต้องแก้ปัญหาอย่างไร แก้แบบไหน โดยยังคงจิตวิญญาณของอาคารแบบเดิมไว้ให้มากที่สุด บางทีเราก็ถามตัวเองนะว่าทำไมไม่ทำให้หวือหวาหน่อย ให้คนจดจำ ผมมองว่าก็ต้องมีบ้างแต่ต้องเหมาะสม ไม่ใช่อยู่ดีๆ ไปเอาคุณยายมาใส่เสื้อผ้าเด็กรุ่นใหม่ ก็ไม่เหมาะหรืออาจจะดูดีบ้าง แต่ถ้าทำแบบนั้นเขาก็เสียเอกลักษณ์ของเขาไป เพราะฉะนั้นเราจึงต้องบาลานซ์ด้วย”
ห้องสมุดไม้ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของบ้านเชียงใหม่ ออกแบบให้เจ้าของบ้านที่เป็นคนรักหนังสือ เมื่ออยู่ในห้องสามารถมองเห็นวิวแม่น้ําปิงด้วย
สเปซในฝันที่สถาปนิกหลายคนอยากออกแบบอาจเป็นตึกที่เป็นสัญลักษณ์ต่างๆ ซึ่งสถาปนิกมากประสบการณ์ผู้นี้เคยทำมาหมดแล้ว ตอนนี้พื้นที่ในฝันของเขาคือการสร้างพื้นที่สำหรับผู้สูงวัยเพื่อให้ทุกคนในครอบครัวได้ใช้ประโยชน์ใช้สอยร่วมกันหรือเกื้อกูลกันเพื่อสร้างชีวิตที่มีความสุขให้ผู้สูงวัยรวมถึงใช้ชีวิตกับคนต่างรุ่นได้ง่ายและมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมากขึ้น เพราะเขาเชื่อว่าคนทุกรุ่นสามารถมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและเรียนรู้จากประสบการณ์ของกันและกันได้ “คนสูงวัยต้องไม่ถูกแยกออกไปจากสังคม เพราะประสบการณ์ของเขาจะให้อะไรแก่คนรุ่นอื่นๆ ขณะเดียวกันเขาก็สามารถเรียนรู้ชีวิตจากคนรุ่นใหม่ได้เหมือนกัน”
สุดท้าย สิ่งที่เขาอยากจะฝากถึงสถาปนิกรุ่นหลังก็คือ “Design the Life Not the Form การออกแบบชีวิตเป็นเรื่องยาก ถ้าจะออกแบบชีวิตก็ต้องเริ่มใช้ชีวิตก่อน เพราะถ้าคุณไม่ใช้ชีวิต คุณก็ออกแบบไม่ได้”
WATCH