LIFESTYLE
เปิดบทสัมภาษณ์ 'Simon Porte Jacquemus' ผู้วิ่งตามความฝัน และใช้ชีวิตกับครอบครัวแสนอบอุ่นในฝรั่งเศส"ใจบันดาลแรง" ให้ Simon Porte Jacquemus พลิกความสูญเสียครั้งใหญ่ เป็นพลังที่อัดแน่น พร้อมจะวิ่งตามฝันครั้งใหญ่ของตัวเอง วันนี้เขามีคู่ชีวิตและลูกแฝดตัวน้อยเป็นครอบครัวอันแสนสมบูรณ์พูนสุข |
ช่างภาพ: Théo de Gueltzl
เรื่อง: Nathan Heller
แปลและเรียบเรียง: วิริยา สังขนิยม
แต่งหน้า: Niamh Quinn
ทำผม: Diego Da Silva
ในงานวันเกิดเพื่อนที่ปารีสเมื่อไม่นานมานี้ เจ้าภาพจัดเลี้ยงโต๊ะยาวในร้านอาหารเล็กๆ แถวบ้าน ผมไปถึงสาย พอนั่งลงก็ถูกเพื่อนร่วมโต๊ะถามว่าลมอะไรพัดมาฝรั่งเศส ซึ่งไม่ใช่บ้านผม ผมตอบเลี่ยงๆ ตามประสานักเขียนที่ต้องพูดถึงงานที่ยังไม่เสร็จว่าผมมาทำเรื่องเกี่ยวกับแฟชั่นดีไซเนอร์คนหนึ่ง “หวังว่าเป็นเรื่อง Jacquemus นะ” คนที่นั่งอีกฝั่งของโต๊ะพูดแทรกขึ้น “ใช่ แจ็กเกอมุส” แขกอีกคนเห็นด้วย จากจุดนั้นผมอดแปลกใจไม่ได้ที่คนพูดเป็นเสียงเดียวกันหมด ทั้งที่แขกโต๊ะนี้ส่วนใหญ่ไม่ใช่คนวงการแฟชั่น บางคนทำหนัง บางคนเป็นนักธุรกิจ เป็นคนมีลูก เป็นทนาย แต่ก็มีความเห็นเกี่ยวกับแบรนด์นี้ด้วย “แจ็กเกอมุสน่าตื่นเต้นจริงๆ” ใครคนหนึ่งยืนยัน “รู้สึกได้เลยว่าเขากำลังทำอะไรใหม่ๆ”
ถ้าจะพูดให้ถูก ก็ไม่ได้มีอะไรใหม่มากมายเกี่ยวกับแจ็กเกอมุสซึ่งก่อตั้งเมื่อ 15 ปีที่แล้ว (ในวงการแฟชั่นต้องเรียกว่านานชั่วกัปชั่วกัลป์) โดยเด็กหนุ่มวัย 19 ที่ตอนนั้นยังใช้ชื่อว่าซีมง ปอร์ต และเอานามสกุลเดิมของแม่มาใช้เป็นชื่อแบรนด์หลังแม่เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ในปีเดียวกัน ช่วงหลังนี้แบรนด์ปังสุดๆ ทั้งด้านการเติบโตและความสนใจที่ได้รับ จนเปล่งราศีความทรงอำนาจอย่างหาตัวจับยาก แม้แต่ในหมู่แบรนด์ลักชัวรีที่ครองความน่าเป็นเจ้าของมายาวนาน เมื่อ 10 ปีที่แล้วแจ็กเกอมุสมีแฟนพันธุ์แท้กลุ่มเล็กๆ และขายของผ่านช่องทางออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ แต่ละคอลเล็กชั่นผ่านการคัดสรรมาอย่างเข้มงวด ดูจี๊ดจ๊าดสดใสเบาสบายในโทนสีจัดจ้าน แต่เมื่อ 5 ปีที่แล้ว หลังเจาะตลาดเสื้อผ้าผู้ชายได้อย่างหวือหวา แบรนด์ก็ทำรายได้ทะลุ 10 ล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรก และเริ่มเล็งเปิดร้านในฝรั่งเศส แต่มาถึงวันนี้ความสำเร็จครั้งนั้นดูเล็กไปถนัด เพราะยอดขายของแจ็กเกอมุสพุ่งสูงจากปีที่แล้วถึงเท่าตัว ทั้งที่เพิ่งจะเริ่มแผนขยายธุรกิจแบบเล็งผลเลิศที่สุดได้ไม่นาน ฤดูใบไม้ผลิปีนี้แบรนด์ไปเปิดร้านที่ดูไบ กาปรี และแซ็งตรอเป พอฤดูใบไม้ร่วงก็ไปเปิดร้านที่นิวยอร์กและลอนดอน และมีคิวจะเปิดที่ลอสแอนเจลิสในปีหน้า แจ็กเกอมุสซึ่งยังไม่ขยับจากความมีเสน่ห์ในแบบตัวเอง ซึ่งไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่าจะปัง อาจใกล้จะขึ้นแท่นแบรนด์ที่ใครๆ ก็รู้จัก ยิ่งกว่าแบรนด์อื่นใดในแวดวงแฟชั่นลักชัวรีเลือดใหม่ และสาวกของแบรนด์ก็ตามติดความเคลื่อนไหวชนิดหมกมุ่น ตามเจาะลึกผ่านโซเชียลมีเดีย โดยศูนย์กลางของการตามติดก็คือชีวิตเปี่ยมจินตนาการของผู้ก่อตั้งแบรนด์นั่นเอง
“นี่เป็นครั้งแรกในรอบนานมากๆ ที่มีแบรนด์ถูกเขียนด้วยสรรพนามบุรุษที่ 1” Loïc Prigent ให้ความเห็นในฐานะคนทำสารคดีแฟชั่นและนักข่าวที่ติดตามแจ็กเกอมุสอย่างใกล้ชิดมาตั้งแต่ต้น “มีแบรนด์ที่น่าสนใจจริงๆ อยู่หลายแบรนด์ที่มีแต่โลโก้ แต่แจ็กเกอมุสคือแบรนด์หนึ่งที่ไม่ใช่แค่ทำแบรนดิ้งน่าสนใจอย่างเดียว แต่ผู้คนจะเห็นเรื่องราวของซีมงอยู่เบื้องหลังทุกสิ่งทุกอย่าง” (และอยู่เบื้องหลังภาพที่ปรากฏต่อสาธารณะในระดับที่บางครั้งก็น่าตกใจ โลอิก ปรีจองต์บอกว่า “ถ้าผม DM แอ็กเคานต์ของแจ็กเกอมุสในอินสตาแกรม จะได้รับการตอบกลับในไม่กี่นาทีจากซีมง”)
วันนี้ซีมงใช้ชื่อว่าซีมง ปอร์ต แจ็กเกอมุส ซึ่งมาจากชื่อตัวบวกชื่อแบรนด์ แถมยังเป็นคำโฆษณาที่เข้าทีในภาษาฝรั่งเศส (แปลว่า “ซีมงใส่แจ็กเกอมุส”) ซึ่งเขาก็ใส่จริง และไม่ได้ใส่แค่บนรันเวย์กับเวลาออกงานเรดคาร์เปตเท่านั้น แต่ใส่ในทุกจังหวะของชีวิตที่ช่างดูแกลมไปหมด ผู้คนรู้สึกว่าตัวเองรู้จักซีมงจากสิ่งที่เห็นผ่านอินสตาแกรมส่วนตัวของเขา ซึ่งมีผู้ติดตาม 300,000 คน (ยังไม่ต้องพูดถึงอินสตาแกรมของแบรนด์ ที่ยอดผู้ติดตามสูงกว่าเยอะ แต่ก็ดูสนิทสนมเป็นกันเองเช่นกัน) อินสตาแกรมของซีมงมีความเป็นไดอารีส่วนตัว 1 ส่วน เป็นแพลตฟอร์มการตลาดระดับโลก 1 ส่วนและเป็นหน้าต่างโชว์สิ่งที่เขาเรียกว่า “โลกของแจ็กเกอมุส” เสีย 4 ส่วน “นางแบบ ช่างภาพ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำงานด้วย อาจจะสูงมากก็จริง” Marco Maestri สามีของซีมงบอกในฐานะนักการตลาดไวรัลผู้ให้คำปรึกษาแก่แบรนด์ “แต่ทุกคนสามารถรู้สึกได้ว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องราวของแจ็กเกอมุส” ตามธรรมเนียมแต่ไหนแต่ไรมา ดีไซเนอร์จะพรีเซนต์ตัวเองต่อสาธารณะว่าเป็นกึ่งๆ เทพ หรือไม่ก็เป็นคนเพี้ยนๆ เรื่องเยอะ เอาใจยาก แต่ซีมงไม่ได้เป็นอย่างนั้น เขาเติบโตที่ภาคใต้ของฝรั่งเศส และภาพของเขาเท่าที่เห็นผ่านโซเชียลและแพลตฟอร์มต่างๆ ก็ดูสบายๆ ระเริงแดด ระเริงชล มีเสน่ห์แบบมนุษย์ปุถุชน แม้แต่สถาปนิกคนหนึ่งที่ผมรู้จัก ซึ่งไม่ใช่สายแฟชั่นเท่าไรก็ยังรู้จักแบรนด์นี้ เพราะไปสะดุดตากับ “ขนหน้าอกสุดประทับใจ” ของซีมงในอินสตาแกรม
1 / 3
PERFECT PARADISE
2 / 3
ลานสังเกตการณ์เฉพาะกิจเหนือทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
3 / 3
SOUTHERN CHARM
Simon Porte Jacquemus กับสามี Marco Maestri ในอิริยาบถสบายๆ ที่บ้านริมฝั่งทะเลฝรั่งเศส
ตัวจริงของซีมงนั้น มองแว่บแรกก็ไม่ต่างจากที่เห็นผ่านอินสตาแกรม คือสูงปานกลาง หุ่นนักยิมนาสติก ไว้เคราดกสีน้ำตาล ยิ้มกว้างเห็นฟัน ดูแล้วรู้สึกถึงที่ไหนสักแห่งที่เบาสบายกว่าปารีสซึ่งเป็นที่ทำงานของเขา ผมได้พบเขาครั้งแรกที่สำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของแจ็กเกอมุส ย่านเขต 8 ของปารีส (อาคารทรงเรขาคณิตแนวมินิมัลหลังนี้ภายในออกแบบโดยซีมง ตกแต่งด้วยวัสดุกระเบื้องดินเผาและอีกหลายสิ่งที่บ่งบอกถึงฝรั่งเศสตอนใต้ที่อบอุ่น) เขาพาผมออกไปที่เทอร์เรซส่วนตัวซึ่งปลูกต้นเลมอนไว้เป็นแนว “บางครั้งผมออกมาตรงนี้แล้วบอกตัวเองว่า ‘ซีมงเอ๋ย เอนจอยโมเมนต์นี้เสียเถิด เพราะนายไม่มีทางรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้’” เขาบอกพลางส่งสายตาไปที่ต้นมะนาว ในยุคที่คนมักเชื่อว่าแฟชั่นปารีสกับแฟชั่นฝรั่งเศสนั้นเหมือนๆ กัน สับเปลี่ยนกันได้ และหน้าต่างโชว์สินค้าแถวปลาส วองโดมก็สะท้อนรสนิยมของชาติ ซีมงกลับนำเสนอสิ่งที่ต่างออกไป แทนที่จะขายน้ำหอมเก๋ๆ และเสื้อผ้าที่สื่อถึงอำนาจ แบรนด์นี้กลับมีเครื่องหมายเป็นผ้าขนหนูชายหาดลายทางกับกระเป๋าสีสันเหมือนออกมาจากหนังของฌัก เดอมี วันนี้ซีมงใส่เสื้อตัวโคร่งสีขาว กางเกงขาสั้นสีดำ รองเท้าผ้าใบหุ้มข้อ Chuck Taylor สีเหลืองมะนาว ท่าทางเหมือนพร้อมจะคว้าผ้าเช็ดตัวมุ่งไปชายหาด ดังสโลแกนการประท้วงใหญ่เดือนพฤษภาคม 1968 ที่บอกว่า “Sous les pavés, la plage” (ใต้พื้นถนนคือชายหาด) ซึ่งเป็นสโลแกนที่น่าคล้อยตามไม่เบาในกรุงปารีสเวอร์ชั่นแจ็กเกอมุส
เมื่อครั้งทำคอลเล็กชั่นแรกในปี 2009 ซีมงซื้อผ้าแล้วไปหาช่างเย็บผ้าแถวบ้าน “ผมถามว่า ‘กระโปรงตัวละเท่าไร’ เธอตอบว่า ‘ร้อยห้าสิบ’ ผมบอกว่า ‘หนึ่งร้อย พรุ่งนี้ผมมาเอา’” จากนั้นเขาออกแบบเว็บไซต์ซึ่งเป็นตัวกำหนดความปิ๊งปั๊งดูสบายๆ ของแบรนด์มาตั้งแต่นั้น เขาทำแบรนด์ของตัวเองควบคู่ไปกับการทำงานที่ Comme des Garçons ต่อมาอีกระยะหนึ่ง งานที่กอมม์ เดส์ การ์ซงส์คือตำแหน่งพนักงานขาย ไม่ใช่ดีไซเนอร์ เขาจึงได้เห็นว่าสินค้ากับนักช็อปต่อกันติดได้อย่างไร พอเขาเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น แบรนด์แจ็กเกอมุสและผู้สร้างแบรนด์ที่ดูชิลสุดๆ ในเสื้อเชิ้ตพิมพ์ลายโฟเว่ (ลวดลายสัตว์ในสไตล์โฟวิสม์) ก็ได้สมญาว่า “ฮิมโบ” ถ้ามองให้เป็นการ์ตูนล้อเลียน แบรนด์นี้คือแบรนด์ของพวกชอบอาบแดด โดดหน้าผา หาความสำราญ จัดงานบนเรือ และหัวโจกก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ผู้ก่อตั้งแบรนด์นั่นเอง “เขาเป็นคนชอบสนุก แล้วก็จิตวิญญาณเสรีจริงๆ” Dua Lipa ผู้เป็นเพื่อนสนิทและมิวส์ประจำตัวของซีมงมาตั้งแต่เจอกันครั้งแรกในรายการโทรทัศน์ฝรั่งเศสเมื่อปี 2018 พูดถึงเขาอย่างนี้ “ฉันรู้ว่าเขาน่ะพึ่งได้ทั้งเรื่องทั่วๆ ไป แล้วก็บนฟลอร์เต้นรำ”
อารมณ์สดใสไร้กังวลของแบรนด์แจ็กเกอมุสนั้นผ่านการปรับจูนมาอย่างดีในทุกสิ่งที่แบรนด์แสดงออกมา จนออกจะน่าแปลกใจที่ได้รู้ว่าในเวลาออฟไลน์ (และนอกฟลอร์เต้นรำ) ซีมงทุ่มเททำเพื่อบริษัทอย่างแน่วแน่ และกังวลอยู่ไม่น้อยว่าจะพลาดเป้าที่ตั้งไว้ให้กับแบรนด์ที่กำลังโต
“ผมต้องคอยส่งเสียง แล้วก็ไม่ใช่แค่ทุก 6 เดือนนะ ทุก 15 วัน ทุกอาทิตย์ ต้องทำอะไรที่คนจะสนใจ อย่างแคมเปญดีๆ ป๊อปอัปใหม่ๆ หรือทำเสื้อให้เซเล็บใส่” เขาบอกผมจากอาร์มแชร์คลุมผ้าสีเหลืองในห้องทำงาน “แบรนด์ที่กำลังจะขึ้นมารุ่งหลายๆ แบรนด์หายหน้าไปภายใน 2 ปี เพราะการทำตัวให้คนเห็นอยู่ตลอดน่ะมันยาก”
หลายเดือนมาแจ็กเกอมุสขยายคอลเล็กชั่นออกไปพร้อมกับขึ้นราคา โดยเล็งจะยึดพื้นที่ถาวรในตลาดลักชัวรีดั้งเดิมให้ได้ ผมถามเขาว่าการดำเนินงานในรูปแบบบริษัทที่กำลังเติบโตจากที่เคยมีตัวเองคนเดียวกลายเป็นบริษัทที่มีพนักงาน 300 คน เขากังวลไหมว่าแจ็กเกอมุสเสี่ยงที่จะเสียมุมมองที่เป็นแก่นแท้ของแบรนด์ไป “นั่นน่ะ” ซีมงตอบอย่างเหนื่อยล้า “งานไม่รู้จบของผมเลย” เขาลงไปดูทุกด้านของแบรนด์ด้วยตัวเองแบบคลุกวงใน ยิ่งกว่าครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ส่วนใหญ่ในปารีส ตั้งแต่งานศิลปะบนผนังออฟฟิศ (รวมผลงานของศิลปินหลายคน รวมทั้ง Miró และศิลปินชาวฝรั่งเศสตอนใต้ Aristide Maillol ซึ่งซีมงสะสมงานทั้งสองคน) ไปจนถึงงบดุลและยอดขายประจำวัน และเมื่อเร็วๆ นี้เขายังทำหน้าที่ซีอีโอรักษาการของแบรนด์ด้วย เจ้าตัวบอกว่า “ผมเข้าใจมาตั้งแต่แรกแล้วว่าเป็นดีไซเนอร์อย่างเดียวไม่พอ ผมต้องเป็นผู้ประกอบการด้วย” แรงขับเคลื่อนสู่ความเด่นดังของเขานั้นแทบจะกรุ่นกำจายอยู่ทุกห้องก็ว่าได้ เมื่อ 2-3 ปีก่อนเริ่มมีมติเป็นเอกฉันท์ในวงการว่าซีมงได้พิสูจน์ความสามารถให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ คนก็เริ่มเกิดคำถามว่าเขาอยากไปนั่งตำแหน่งสูงสุดของห้องเสื้อฝรั่งเศสแห่งใดแห่งหนึ่งหรือไม่ “ผมอยู่ห้องเสื้อใหญ่ของฝรั่งเศสอยู่แล้ว” ซีมงตอบอย่างผยองไม่เบา “ผมอยู่ที่แจ็กเกอมุส”
WATCH
ห้องนอนแขก ริมทางเดินสู่ทะเล
“เขาเป็นคนชอบสนุก แล้วก็จิตวิญญาณเสรีจริงๆ ฉันรู้ว่าเขาน่ะพึ่งได้ทั้งเรื่องทั่วๆ ไป แล้วก็บนฟลอร์เต้นรำ” Dua Lipa พูดถึง Simon
วิสัยทัศน์และความกร้าวเช่นนี้สร้างผลตอบแทนได้อย่างน่าตะลึงเลยทีเดียว ฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมาซีมงขึ้นแท่นดีไซเนอร์อายุน้อยที่สุดที่ได้รับอิสริยาภรณ์ศิลปศาสตร์และอักษรศาสตร์ชั้นอัศวิน (Chevalier de l’Ordre des Arts et des Lettres) และการขยายร้านของแบรนด์ก็เกิดตามมาจากยอดรายได้ที่พุ่งทะลุ 250 ล้านดอลลาร์ในปี 2022 ซึ่งเป็นตัวเลขที่เมื่อ 10 ปีที่แล้วไม่น่ามีใครคิดไปถึง นอกจากตัวเขาเอง เดือนเมษายนที่ผ่านมาซีมงกับมาร์โก มาเอสตรีซึ่งแต่งงานกันมาตั้งแต่ปี 2022 (แจ้งข่าวผ่านอินสตาแกรมว่า “I SAID YES”) ฉลองการลืมตาดูโลกของลูกแฝดมีอาและซัน จากนั้นทั้งคู่ลงมือปรับปรุงบ้านสุดโอฬารบนชายฝั่งตอนใต้ของฝรั่งเศส (“บ้านบนชายฝั่งหลายหลังถูกทำลายด้วยการใส่หินอ่อนเข้ามาอย่างเยอะ ติดเครื่องปรับอากาศ แล้วก็ปรับปรุงแบบแย่ๆ” ซีมงเล่า “บ้านนี้แสนจะเรียบง่าย นึกภาพเพ็กกี้ กุกเกินไฮม์มาเที่ยวบ้านนี้ช่วงพักผ่อนหน้าร้อนยุค 1930 ยังออกอยู่เลย แล้วก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนจากสมัยนั้น กลิ่นอายยังคงอยู่เพราะเราปรับปรุงบ้านก็จริง แต่เราอนุรักษ์ไว้แบบเดิม”) บ้านหลังนี้เป็นการประกาศความสำเร็จรุ่งโรจน์ แต่พิกัดของบ้านก็อยู่กึ่งกลางระหว่างเมืองที่เขากับมาร์โกเคยอยู่ในวัยเยาว์ “ไม่มีอะไรต่างจากเดิม แต่หลายสิ่งเปลี่ยนไป” ซีมงรำพึง “ชีวิตผมตอนนี้เหมือนกับที่ผมเคยฝันและเคยอยากมี งานที่เราทำบางครั้งก็เป็นโจทย์ยาก เพราะเรามีความอยากได้อยากมีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่บางทีก็ต้องบอกตัวเองว่านายมีความสุขแล้วนะ”
โลกของแจ็กเกอมุสนั้นมีแต่หน้าร้อน ยิ่งพอเข้าฤดูร้อนจริงๆ อันเป็นช่วงไฮซีซั่นด้านค้าปลีกสำหรับแบรนด์ด้วยแล้ว บรรยากาศยิ่งซัมเมอร์สุดๆ ช่วงฤดูที่กลางวันยาวของปี 2024 ตรงกับวาระครบรอบ 15 ปีของแบรนด์ จึงเป็นจังหวะเหมาะสำหรับการมองย้อนอดีต และเป็นโอกาสให้ซีมงตั้งเป้าใหม่แบบสูงลิบ เมื่อปีที่แล้วซีมงควงแบด บันนี่ไปงานเมตกาล่าในสูทคู่สีดำขาวเปิดหลังที่เขาออกแบบเพื่อแสดงการคารวะคาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ผู้ที่เขาเคยร่วมงานด้วยในปี 2015 หลังได้รับรางวัลพิเศษจาก LVMH และได้เข้าโครงการพี่เลี้ยงกับคาร์ลและแบร์นาร์ อาร์โนลต์ เจ้าของแอลวีเอ็มเอช ซีมงคารวะดีไซเนอร์ผู้ล่วงลับบนพรมแดง ด้วยการใช้ภาพที่คาร์ลถ่ายเมื่อปี 1997 จากบนหลังคาของ Casa Malaparte มาแต่งบนเสื้อสูท บ้านสีแดงทรงลิ่มสุดแปลกตาบนเกาะกาปรีหลังนี้เป็นไอคอนทางสถาปัตยกรรมชิ้นหนึ่ง ตั้งอยู่บนยอดผาเหนือทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และโด่งดังจากการเป็นฉากถ่ายทำภาพยนตร์ซ้อนภาพยนตร์ (กำกับโดยฟริตซ์ ลัง) ในผลงานชิ้นเอกของ Jean-Luc Godard เรื่อง Le Mépris (ชื่อภาษาอังกฤษคือ Contempt) บ้านนี้เดิมเป็นบ้านของกูร์ซิโอ มาลาปาร์เต นักเขียนนวนิยายและปัญญาชนยุคกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 ผู้เก็บตัวเงียบไม่พบปะผู้คน หลังการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว บ้านนี้ก็ปิดไม่ให้คนทั่วไปเข้าชม แต่ทายาทเจ้าของบ้านเห็นผลงานของซีมงที่พาดพิงถึงบ้าน ผ่านภาพถ่ายงานเมตกาล่าในคืนนั้นจึงเชิญเขามาเยี่ยมชม
“ผมได้ดู Le Mépris ตอนอายุ 15” ซีมงเล่าให้ผมฟัง ในวัยนั้นเขาเป็นแฟชั่นบล็อกเกอร์ที่มีคนติดตามคับคั่ง เขาเดินทางเข้าปารีสเป็นครั้งคราวเพื่อกว้านซื้อ Vogue และเสื้อผ้าลดราคาเท่าที่เงินในกระเป๋าจะอำนวย เป็นต้นว่าเสื้อผ้าจาก Colette และสนีกเกอร์ที่เอดิ สลีมานออกแบบ “พ่อแม่ผมเป็นคนบ้านนอก...พูดได้ไหมเนี่ยคำนี้” ซีมงเล่าความหลัง “ครอบครัวเราเป็นเกษตรกร การชอบแฟชั่นเป็นอะไรที่นอกกรอบ แต่ในขณะเดียวกันครอบครัวเราก็รักความสวยงาม” (ซีมงได้ลูกยุจากที่บ้าน “ไม่มีใครในครอบครัวเคยบอกผมว่า โอ๊ย เป็นไปไม่ได้หรอก แม่บอกว่า ได้สิ ลูกต้องดังที่สุด”) และในที่สุดเขาก็มองแบบเดียวกับพ่อแม่ “ผมอยากพูดถึงผู้หญิงฝรั่งเศส ไม่ใช่หอไอเฟลกับความแปลกแหวกแนวแบบปารีเซียงที่เฝือเต็มทน แต่เป็นผู้หญิงตามทุ่ง ผู้หญิงที่ทำงานโรงงาน อะไรบางอย่างที่เงียบ เถื่อน ดิบ” ระหว่างที่ซีมงกำลังค้นหาภาษามาบรรยายความงามนี้ เขาก็ได้เปิดหูเปิดตากับหนังของฌ็อง-ลุก กอดาร์ที่มีเอกลักษณ์ตรงไตเติลการ์ดที่พิมพ์ด้วยฟอนต์ sans serif และความเจิดจรัสของกระบวนการ “ถ้าคุณดูหนังตัวอย่าง Le Mépris คุณจะเห็นวิสัยทัศน์ของแจ็กเกอมุสชัดเจนเต็มรูปแบบอยู่ในนั้น” ซีมงเปิดใจ “ผมบอกเจ้าของกาซ่า มาลาปาร์เตว่า ‘ผมหลงใหลใฝ่ฝันถึงบ้านหลังนี้มา 15 ปี’ ตอนผมไปที่นั่น ผมส่งรูปให้ทีมงานดู บอกทุกคนว่า ‘ผมอยากทำโชว์ที่นี่’”
แล้ววันหนึ่งในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หลังจากแจ็กเกอมุสเปิดบูติกเล็กๆ บนเกาะกาปรีได้ไม่นาน คนวงการแฟชั่นกลุ่มเล็กๆ ก็มาเจอกันที่บ้านนี้เพื่อเติมเต็มความฝันกลางทะเลเมดิเตอร์เรเนียนให้กับซีมง โชว์นี้บรรยากาศใกล้ชิดมาก จัดที่นั่งไว้ 40 ที่ แขกทุกคนมาทางเรือ วิ่งลัดเลาะรอบเกาะมาเทียบท่าซึ่งทั้งเล็กทั้งขรุขระ ถ้าทะเลมีพายุเรือจะเข้าท่าไม่ได้เลย บันไดที่ทอดขึ้นสู่ตัวบ้านนั้นสูงเอาการ แถมขั้นบันไดยังไม่เสมอกัน ตรงหัวบันไดมีแก้วน้ำและร่มกันแดดวางไว้ให้ผู้มาเยือน พร้อมกล้อง Steadicam ที่คอยหมุนมาจับภาพการมาถึงของแขก เพื่อเผยแพร่ออนไลน์
“ยินดีต้อนรับสู่มาลาปาร์เต” ใครคนหนึ่งเอ่ยขึ้นเป็นภาษาอิตาลีขณะที่เลนส์กล้องขยับมาใกล้
ตัดภาพมาด้านในวิลล่ากันบ้าง ทางเดินในตัวบ้านเซ็งแซ่ไปด้วยเสียงของการเตรียมการขั้นสุดท้ายก่อนโชว์จะเริ่ม มาร์โกทำหน้าที่ประธานศูนย์บัญชาการชั่วคราวสำหรับสื่อมวลชนที่ตั้งอยู่บริเวณหัวบันได ส่วนห้องทำงานของบ้านนั้นมีห้องสมุดในตัว เก็บหนังสือปกอ่อนภาษาฝรั่งเศสของ Giraudoux, Hölderlin, Alphonse de Châteaubriant ที่เริ่มกรอบผุเพราะอากาศริมทะเล ในห้องนี้ซีมงกำลังสาธยายวิสัยทัศน์ที่วางไว้ให้กับแบรนด์ “สมัยผมเด็กๆ ผมแค่พยายามจะทำอะไรที่ใหม่ แต่ตอนนี้ผมคิดถึงการอยู่ยาว” เขาบอกนักข่าว 2-3 คนที่มาสัมภาษณ์ “ซึ่งคงเป็นเพราะผมเป็นพ่อคนแล้ว” ด้านนอกห้อง ทั้งบนบันไดวิลล่าและทางเดินบนหลังคา มีอุปกรณ์ถ่ายภาพยนตร์วางรวมเป็นกลุ่มเหมือนฉากจบของหนังฌ็อง-ลุก กอดาร์ที่อัปเดตใหม่เพื่อยุค TikTok
หนึ่งในแขกที่มาถึงเป็นกลุ่มสุดท้ายคือกวินเนท พัลโทรว์ ที่ซีมงเชิญมาโดยไม่เคยพบเธอมาก่อน บ่ายวันนี้อากาศร้อนชื้น จะว่ากวินเนทโชคดีก็ไม่เชิงที่ทีมงานจัดชุดติดกันแขนยาวขาบานคลุมเข่าสีดำล้วนของแจ็กเกอมุสให้เธอใส่ “กวินเนท?” ทีมงานดูแลแขกคนหนึ่งร้องเรียก “เดี๋ยวต้องให้คุณทำตามนี้นะครับ...” เขาบอกเธอว่าต้องขึ้นบันไดใหญ่ของบ้าน
กวินเนทตอบว่า “ดี” จับผมทัดหูแล้วค่อยๆ ยุรยาตรขึ้นบันไดอย่างนางพญา (บนส้นสูงของแจ็กเกอมุส) เสียงเพลงจาก Le Mépris ดังมาจากลำโพงที่อยู่แถวนั้น กวินเนทเดินขึ้นไปได้ครึ่งทางก็หันมาแผ่พลานุภาพดารา
“มองตรงมาที่สี่เหลี่ยมสีส้ม!” ผู้กำกับร้องบอก “พอผมบอก ‘แอ็กชั่น!’ คุณพูดว่า ‘บงฌูร์’ โอเคนะ” เธอกวาดตามองไปรอบๆ
“กล้อง...ซาวนด์...แอ็กชั่น!”
“บงฌูร์” กวินเนทกล่าว
โมเมนต์นั้นอาจเรียกได้ว่าทุกอย่างหยุดนิ่งตะลึงงัน ก่อนที่มนตร์ขลังจะถูกทำลายโดยผู้ช่วยคนหนึ่งที่ดูดบุหรี่ไฟฟ้าไปด้วย
“เดี๋ยวต้องขอดังกว่านี้อีกที!” กวินเนทพยักหน้าแล้วรีเซตตัวเองใหม่ บรรยากาศตกอยู่ใต้ความเงียบแบบกลั้นใจรออีกครั้ง
“บงฌูร์!” เธอพูดแบบใส่ฟีลลิ่ง
หนึ่งชั่วโมงหลังจากนั้นโชว์ก็เริ่มขึ้น ขณะที่ทุกคนเข้าที่นั่งเรียบร้อยและเชื่อสนิทว่ากำลังจะได้ชมลุคแรก ดูอา ลิปาก็วิ่งมาตามรันเวย์ในเดรสทรงเพรียวสีฟ้าอ่อน เธอยักไหล่ในลีลานักร้องโอเปร่าแล้วกางแขนกอดมาร์โกที่ลุกจากที่นั่งโผมาหาเธอตรงกลางเฟรมพอดี โมเมนต์ที่ผ่านการออกแบบลีลามาอย่างดีนี้ เมื่ออยู่ท่ามกลางคนดูที่ประกอบด้วยบรรณาธิการและคนใหญ่คนโตที่นั่งเงียบกริบ ก้มดูจมูกเล็บตัวเองบ้าง ดูจอมือถือบ้าง มันดูปลอมสุดๆ แต่พอมาดูผ่านโซเชียลมีเดียกลับสวยงามเป็นธรรมชาติ ในที่สุดเสียงดนตรีเครื่องสายก็ดังกระหึ่ม พร้อมการปรากฏขึ้นของเดรสสีเหลืองอ่อนที่ได้แรงบันดาลใจจากเสื้อคลุมอาบน้ำของบริจิตต์ บาร์โดต์ใน La Mépris และเป็นลุคแรกเปิดคอลเล็กชั่น จากเดรสสีเหลืองอ่อนก็เป็นสูทลำลองสีพื้น หนึ่งในซิกเนเจอร์ของแจ็กเกอมุส ตามมาด้วยเดรสจับเดรปโปร่งบาง เสื้อปกถ่วง ชุดลายพิมพ์หนังสัตว์ ชุดกระโปรงทรงเพปลัม ผ้าคลุมผม และเสื้อเชิ้ตแต่งสาบเฉียงเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ นับเป็นคอลเล็กชั่นที่เดินบนทางของตัวเองแบบแจ็กเกอมุส คืออยู่ระหว่างความเป็นเสื้อผ้าลักชัวรีที่เน้นซิลูเอต สำหรับสายแฟชั่นพันธุ์แท้ที่เดินไฮสตรีต กับสปอร์ตแวร์รายละเอียดเยอะ สำหรับพวกชอบวางมาดตามคลับ ส่วนสีสันก็เจิดจ้าเหมือนออกมาจากหนังของฌ็อง-ลุก เพลงธีมจากหนังเรื่องเดียวกันดังกระหึ่มประกอบลุคท้ายๆ และการเดินวนปิดท้ายของนางแบบนายแบบ (“เสื้อผ้ากระเป๋าของซีมง รองเท้า กระเป๋า มีความเด่นเฉพาะตัว อยู่ห่างเป็นไมล์ก็รู้ว่าเป็นเขา” ดูอา ลิปา บอกกับผมในภายหลัง) หลังโชว์จบ ดูอา ลิปาไปกอดกวินเนท พัลโทรว์ซึ่งไปกอดซีมง ผู้บอกกับเหล่าอินฟลูเอนเซอร์และนักข่าวแฟชั่นที่มารุมล้อมว่า “ห้องเสื้อของผมเปิดมาได้ 15 ปี ไม่ใช่ร้อยปี ดังนั้นผมภูมิใจครับ”
ชีวิตบนยอดผาพอได้มาสัมผัสจริงๆ ก็มีความติดดินอยู่เหมือนกัน กาซ่า มาลาปาร์เตและลานหินของบ้านนั้นร้อนปานเตาอบ ท่ามกลางความชื้นและแดดกล้ายามเที่ยงวันที่แผดเปรี้ยงลงมาโดยไม่มีลมรำเพยสักนิด เรียกว่าอากาศไม่เป็นใจเอาเสียเลยสำหรับผู้ที่เมาคลื่นจากตอนขามายังไม่หาย กวินเนทนั้นตั้งแต่มาถึงก็ปักหลักนั่งใต้กิ่งสนกิ่งเดียวที่พอมีร่มเงาอยู่เกือบชั่วโมง พอทีมงานแจ็กเกอมุสมาริบร่มกันแดดและแก้วน้ำไป เพราะเชื่อว่าถ้าเข้ากล้องจะดูไม่สวย แขกทั้งหลายก็เริ่มรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นตัวประกอบหนังที่รอเข้าฉากทะเลทราย พอคนเริ่มสลายตัว ผมพุ่งไปหาก๊อกน้ำเย็นเพื่อกู้ชีพตัวเอง และพบว่าไม่ได้มีแต่ผมคนเดียวที่ต้องรีบถอยอย่างเร็ว ชีวิตดีๆ มันก็เป็นงานยากอยู่นะ
ด้านนอกห้องครัวก็มีระเบียง
คืนนั้นแจ็กเกอมุสจัดอาฟเตอร์ปาร์ตี้บนเรือ Lady Adriana ที่จอดอยู่นอกฝั่งกาปรี ระหว่างนั่งชัตเติลบัสไปท่าเรือ และลงเรือสปีดโบ๊ตต่อไปยังเรือใหญ่ แฟนรุ่นเด็กใส่เสื้อเชิ้ตแขนกุดคนหนึ่งจัดการยึดระบบเครื่องเสียงในรถเพื่อนำเชียร์
“พอผมบอกว่า ‘แจ็กเกอ-’ ให้คุณบอกว่า ‘-มุส’! เขาตะโกนลั่น “แจ็กเกอ-!” (“-มุส!” ผู้โดยสารที่เหลือร้องตอบ) วนไปแบบนี้ เหมือนนั่งรถเวียนส่งแขกงานแต่งตอนตีหนึ่ง เป็นการบอกให้รู้ เผื่อใครลืมไปว่าสำหรับแบรนด์นี้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นที่รู้สึกอย่างแรงกล้า และเกินบรรทัดฐานวงการลักชัวรีไปมาก
ซีมงรู้มานานก่อนออกแบบคอลเล็กชั่นแรกแล้วว่าตัวเองจะสร้างสุนทรียะแบบใด เจ้าตัวบอกว่า “มะเขือเทศ อาทิตย์อัสดง บ้านสถาปัตยกรรมสวย ผมทำของพวกนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีกโดยไม่รู้ตัว” แต่เขาก็ต้องเซอร์ไพรส์ที่ผู้ชมเข้าใจได้เร็วมาก “แม้แต่ตอนที่แบรนด์ยังไม่ดังเท่าไร คนก็แคปรูปรถยนต์ อาคาร หรือภูมิทัศน์ แล้วบอกว่า “มีความแจ็กเกอมุสมากๆ” เขาเอ่ยขึ้นมา ระหว่างไปคุมการถ่ายลุคบุ๊กที่ Aubervilliers เมืองทางเหนือของปารีส
โอแบร์วิลิเยร์นั้นจะว่าไปก็เป็นสถานที่แนวมะเขือเทศและอาทิตย์อัสดงอยู่เหมือนกัน แม้จะไม่ติดทำเนียบสถานที่โรแมนติกบนเกาะอีล-เดอ-ฟร็องส์ก็ตาม ที่นี่มีอาคารที่อยู่อาศัยแบบเน้นประโยชน์ใช้สอย อยู่ปะปนกับกระท่อมคนงานและที่ดินเปล่าหญ้าขึ้นรก แต่ในวันฟ้าใสหลังฝนตกอย่างนี้ ลานหน้าประตูบ้านและถนนสายแคบๆ ล้วนหอมฟุ้งด้วยกลิ่นดอกไลแล็กหน้าร้อน บริเวณริมแม่น้ำที่คนทุกชนชั้นมาแวะพักมีหญ้าขึ้นสูง ยอดหญ้าโบกสะบัดอยู่ริมทางขึ้นสะพานโค้งสูงลิ่ว เป็นโมเมนต์ที่สดใสสวยงามเรียบง่าย การถ่ายภาพวันนี้ใช้นายแบบและนางแบบทั้งหมด 4 คน ซีมงนั่งแผ่อยู่ที่มุมโซฟาหนังสีดำ เปิดพัดลมใส่ตัวเอง คืนที่ผ่านมาเขาไปดูคอนเสิร์ตดูอา ลิปาที่นีมและนั่งรถไฟกลับปารีสตอนเช้ามืด ได้นอนเพียง 3 ชั่วโมง
“นี่แหละไลฟ์สไตล์ที่ผมไม่ต้องการ” เจ้าตัวบอก “อาจจะมีแบบนี้เดือนละครั้ง หรือ 2 เดือนครั้ง ไม่บ่อยกว่านี้” แม้จะมีภาพลักษณ์ของสายปาร์ตี้ แต่เขาเป็นคนที่ทำอะไรเป็นกิจวัตร ตอนเช้าตื่น 7 โมงครึ่งพร้อมลูกๆ แล้วไปออกกำลังกาย เสร็จแล้วเข้าที่ทำงาน พอหัวค่ำก็กลับถึงบ้าน แวะดุมาร์โกที่ยังเปิดแล็ปท็อปอยู่อีก พอ 4 ทุ่มก็ได้เวลาปิดไฟนอน (เขาบอกว่า “ผมต้องนอน 9 ชั่วโมง” และทำได้ตามนั้นเพราะมีครอบครัวและพี่เลี้ยงเด็กเป็นกองหนุน) แต่ตอนนี้เขามีทีมงานอยู่รอบตัว จึงออกปากขอกาแฟ
“ดูผมสิ” เขาครวญแล้วขดตัวซุกโซฟา
ลุคบุ๊กที่กำลังถ่ายอยู่นี้เป็นของคอลเล็กชั่นต่อไปของแจ็กเกอมุสซึ่งออกแบบเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่เผยโฉมจนกว่าจะถึงเดือนมกราคมปีหน้า นับว่าทำล่วงหน้านานกว่าบรรทัดฐานของวงการ ซึ่งตามธรรมเนียมแล้วจะไม่ดึงคอลเล็กชั่นออกจากสตูดิโอออกแบบก่อนเวลาจัดแสดงตั้งครึ่งปีแบบนี้ แต่แจ็กเกอมุสทำอย่างนี้มา 3 ปีเพื่อให้คน “เห็นแล้วซื้อเลย” กว่าคอลเล็กชั่นจะออกโชว์ครั้งแรก การผลิต จัดจำหน่าย และโฆษณาก็เสร็จเรียบร้อยหมดแล้ว แบรนด์แค่กดสวิตช์ก็เริ่มขายได้ทั้งออนไลน์และในร้าน ตั้งแต่นางแบบคนสุดท้ายก้าวลงจากรันเวย์ (หรือเร็วกว่านั้นอีก อย่างช่วงก่อนโชว์ที่กาปรี ร้านแจ็กเกอมุสบนเกาะกาปรีก็เริ่มอวดเสื้อผ้าและกระเป๋าที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการที่กาซ่า มาลาปาร์เต) ขณะที่หลง ลี่นายแบบหนุ่มหุ่นสูงผอมหน้าตาเกลี้ยงเกลาเดินมาเข้าฉากในชุดสูทสีดำกับเสื้อเชิ้ตตัดเฉลียงสีขาว ซีมงก็ขมวดคิ้ว
“เราทำอะไรกับปกเสื้อหน่อยได้ไหม” เขาออกปากถาม
Guillaume Semerciyan เข้ามาดูปกเสื้อที่ตัดแบบอสมมาตรแล้วจับให้ตั้งขึ้น ในฐานะหัวหน้าฝ่ายคอนเซปต์สร้างสรรค์ของแบรนด์ เขามีหน้าที่ทำให้โลกของแจ็กเกอมุสมีความลึกและความเหนือชั้นอย่างผู้มีวัฒนธรรม (“ยกตัวอย่างโชว์ที่กาซ่า มาลาปาร์เต ผมเสนออิทธิพลหลายๆ อย่างจาก Le Mépris ให้ซีมงพิจารณา”)
“ปิดประเด็นได้” ซีมงบอก “ดูดีขึ้นเลย”
แจ็กเกอมุสชอบทำตัวไม่เหมือนใครแทบจะตั้งแต่ต้นเลยก็ว่าได้ แอ็กเซสเซอรี่สุดฮิตชิ้นแรกๆ ของแบรนด์คือกระเป๋า Le Chiquito ไซซ์มินิที่ปล่อยออกมาในปี 2019 ขนาดที่เกือบจะเล็กกว่ากระเป๋าสตางค์ของมัน ทำให้มีทั้งคนปลื้มและคนล้อ นอกจากนี้แบรนด์ยังไม่จัดโชว์ในเวลาปกติและสถานที่ปกติที่แบรนด์อื่นจัดกัน โลอิก ปรีจองต์บอกว่า “เขาไม่อยากเห็นคนในวงการที่ไปทุกโชว์มาโผล่ที่โชว์ของเขา” ซีมงแสดงผลงานนอกช่วงแฟชั่นวีก และเชิญไอดอลวัยเด็กกับคุณยายของเขาเองมาดู “เขาไม่ค่อย ‘เข้ากระแส’ หรอก” โลอิกบอก “เขาก็ทำอะไรของเขา ซึ่งก็มีความใสซื่อ ไม่กลัวว่าจะเฉิ่มอยู่ในนั้น”
ช่วงพักการถ่ายทำ ซีมงเดินไปที่ราวแขวนเสื้อ ตรวจดูข้าวของบนราว
“ผมลำบากใจเหมือนกันนะที่ได้เห็นสินค้าในสิ่งแวดล้อมแบบนี้” เขาบอกพลางขมวดคิ้ว สตูดิโอนี้หน้าตาเหมือนโรงจอดเครื่องบิน เปิดไฟสลัว ไม่น่าดูเลย เขายักไหล่พลางจับเสื้อผู้ชายอีกตัวขึ้นมาดู
1 ปีมานี้กลุ่มลูกค้าของแจ็กเกอมุสดูเหมือนจะเป็นผู้ใหญ่และมีฐานะกว่าเดิม
“ก็สนุกดีที่จู่ๆ ลูกค้าของเราก็เปลี่ยนจากกลุ่มที่ซื้อกระเป๋าใบเดียวมาเป็นกลุ่มที่ซื้อของใหญ่อย่างเสื้อผ้าสำเร็จรูป” เขามองไปรอบๆ สตูดิโอที่กำลังวุ่นได้ที่ด้วยท่าทางพอใจ “มันคือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สำหรับบริษัทเรา”
เช้าวันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันเสาร์ ซีมงไปเดินตลาดนัดแซ็งตวน-ซูร์-แซนที่อยู่เลยทางยกระดับชานกรุงปารีสไปนิดเดียว ตลาดนัดชื่อดังแห่งนี้เป็นเหมือนหมู่บ้าน มีแผงค้าตั้งเรียงเป็นแถวๆ สุดลูกหูลูกตา ของที่วางขายมีตั้งแต่สินค้าแบรนด์เนมของก๊อป (แจ็กเกอมุสปลอมก็ยังมี) ไปจนถึงเสื้อผ้าวินเทจหายากและแอนทีก ซีมงไม่ได้จ้างที่ปรึกษาด้านศิลปะหรือนักตกแต่งภายในเหมือนคนมีเงินที่ภารกิจรัดตัวหลายๆ คน เขามาเดินดูของด้วยตัวเองทุกสุดสัปดาห์ แต่เดี๋ยวนี้จะเดินเฉพาะฝั่งของหรูในตลาด และเดินเส้นทางเดิมทุกครั้ง เริ่มจากเสื้อผ้าวินเทจ แล้วต่อไปฝั่งเครื่องเรือน แวะดื่มคาปูชิโนที่ Van Hoos & Sons จากนั้นเดินต่อไปฝั่งของแต่งบ้านซึ่งอยู่ในร่ม ด้วยความที่เขามาเป็นประจำและกระหน่ำสะสมของหลายๆ คอลเล็กชั่นแบบไม่ยั้ง (“ปัญหาของผมคือผมเนี่ยรักหลายสไตล์เหลือเกิน”) เขาจึงเป็นเซเล็บตลาดนัด เดินไปทางไหนคนขายก็ร้องเรียก บ้างบอกว่ากำลังจะมีอะไรใหม่มาลง บ้างก็ชมเชยโชว์ของแจ็กเกอมุสครั้งที่ผ่านมา บ้างก็ฝากของไปให้ลูกแฝดที่บ้าน และมีเหมือนกันที่นักช็อปจำเขาได้และขอถ่ายรูป
“ผมมาที่นี่บ่อยจนทางตลาดเชิญให้ผมมาเปิดบูติกของตัวเอง” ซีมงบอก “ผม--อู้!” แววตาเขาเป็นประกายขึ้นทันที “เลิฟเก้าอี้ตัวนี้จัง!”
เก้าอี้ที่ว่าคืออาร์มแชร์หวายทรงบึกบึนพร้อมหมอนอิงลายดอกสีเหลือง ดูเป็นแจ็กเกอมุสที่สุดแล้วในบรรดาข้าวของแถวนั้นที่ไม่ใช่แบรนด์แจ็กเกอมุส วันนี้ซีมงแต่งชุดหล่อสำหรับเช้าวันเสาร์ รองเท้าโบ๊ตชูส์สีขาว กางเกงขายาวทรงหลวมสีขาวสดใส เสื้อฮู้ดดี้สีเทา สวมทับด้วยเสื้อวอร์มสีขาวขลิบน้ำเงิน เมื่อไม่กี่นาทีมานี้เขาเพิ่งซื้อของชิ้นแรกเป็นเสื้อกีฬาลายทางสีส้ม ราคา 65 ยูโร (“แพงจัง” เขาพึมพำพลางส่ายหน้าไปมา “แต่ผมหลงลายทางแบบนี้”) “สิ่งที่ผมหลงกว่าอะไรก็คือกีฬา” เขาบอกผมระหว่างเดินดูแผงต่างๆ “ผมว่ากีฬาคือซูเปอร์สตาร์ของโลกเรา” ซีมงเจอมาร์โกครั้งแรกเมื่อปี 2018 ในช่วงที่เขาพยายามทำให้แบรนด์มีความสปอร์ตมากขึ้น และเชิญโยอันน์พี่ชายของมาร์โกซึ่งเป็นนักรักบี้ทีมชาติฝรั่งเศสมาถ่ายแคมเปญ
“เราถูกชะตากันมาก เขาบอกผมเรื่องมาร์โก” ซีมงเล่าความหลังครั้งเจอโยอันน์ “ผมตัดสินใจส่งข้อความถึงมาร์โกว่า ‘อยากกินพาสต้าไหมคืนนี้’” ไม่ได้ทอดสะพานแบบอ้อมๆ แต่ซีมงชอบทำและชอบกินพาสต้า “เขาปฏิเสธ น่าจะเหนื่อยมาไม่ไหว 2-3 วันต่อมาผมบอกว่า ‘โอเค มาหน้าตึกผมเลย เราจะกินพาสต้ากัน’”
เผอิญว่าสุดสัปดาห์นั้นลูกพี่ลูกน้องวัย 18 ของซีมงมาจากต่างจังหวัดและพักอยู่กับเขา จึงได้ร่วมวงกินพาสต้าด้วย ซีมงบอกว่า “จะว่าไปมันก็มีส่วนช่วยนะ มีบางอย่างก่อตัวขึ้นมาจากการคุยสบายๆ กับวัยรุ่น”
มาร์โกบอกว่า “ผมรู้ครับว่าเขาอยู่วงการแฟชั่น ผมคิดว่าหนุ่มทรงนี้ต้องเป็นขาเที่ยวอยู่แล้ว ต้องไปปาร์ตี้หรูๆ กับคนอีก 90 คนตลอดเวลาแหละ พอมาเห็นเขาเป็นคนง่ายๆ ผูกพันกับครอบครัว กับเพื่อนเก่า ผมเลยแปลกใจ มันคือสิ่งแรกเลยที่ทำให้ผมคิดว่าถูกใจเข้าแล้ว”
“สมัยผมกำลังโต ผมไปกินข้าวบ้านตายายทุกวัน” ซีมงเล่า “บ้านยาย บ้านน้า บ้านพี่ชาย พี่สาว บ้านพ่อ บ้านปู่ย่า อยู่บนถนนสายเดียวกันหมด แค่เจ็ดนาทีผมก็จูบทักทายญาติได้ครบทั้งครอบครัว และถ้าไม่นับน้องญาติกันคนหนึ่งที่มาทำงานกับผมที่บริษัท ก็ไม่มีใครออกจากหมู่บ้านเราไปอยู่ที่อื่นเลย”
หมู่บ้านนั้นคือนิคมมาลเลอโมร์ซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างอาวีญงกับมาร์แซย์ในแคว้นที่ครอบครัวของซีมงมาตั้งรกรากอยู่นานแล้ว ซีมงกับมาร์โกมีจุดยืนชัดเจนมาตั้งแต่แรกว่าอยากสร้างครอบครัว “ผมว่าเราเจอกันอาทิตย์เดียวก็เริ่มคุยกันแล้วว่าอยากมีลูกหรือเปล่า” มาร์โกเล่า “ผมบอกว่า ‘ผมฝันไว้ว่าจะมี’ เขาบอกว่า ‘ผมก็เหมือนกัน’”
กระบวนการอุ้มบุญใช้เวลา 3 ปีครึ่งและไปสิ้นสุดที่เลกทาโฮ ซีมงและมาร์โกไปอยู่ที่นั่นตลอดฤดูใบไม้ผลิเพื่อรอลูกแฝดคลอด เส้นทางยาวไกลสู่การเป็นพ่อทำให้ทั้งสองกลายเป็นสัญลักษณ์ของความพยายามอย่างไม่ลดละและความสุขของการเป็นพ่อคน โดยเฉพาะในฝรั่งเศสที่การอุ้มบุญให้คู่รักเพศเดียวกันยังเป็นเรื่องไม่ธรรมดา “ฉันนี่ใจฟูเป็น 10 เท่าเวลาเห็น 2 คนนี้อยู่กับลูก” ดูอา ลิปาเปิดใจ
“เราพาลูกกลับมา แล้วก็หลับยาว 28 ชั่วโมง” ซีมงเล่า “ก็รู้เลยแหละว่าลูกเปลี่ยนเร็วขนาดไหน” ตามทฤษฎีแล้วการดูแลทารกในช่วงปีที่งานยุ่งที่สุดในชีวิตเป็นโจทย์ยาก แต่ซีมงบอกว่าไม่ได้รู้สึกอย่างนั้นเลย
“หลายปีมานี้เป็นหลายปีที่ประหลาดสำหรับวงการแฟชั่น” ซีมงบอก “แต่การเป็นพ่อคนพาผมมาถึงจุดที่ง่ายขึ้น เพราะเวลามีลูกอยู่ด้วย อะไรอย่างอื่นก็หมดความหมายนะจะว่าไปแล้ว”
เราอยู่กันที่แผงค้าในร่ม ศูนย์กลางของโซนนี้คือแอนทีกชั้นดี ซีมงร้องอุทานเมื่อได้เห็นจานชามสีเหลืองสีเขียว เครื่องแก้ววินเทจ และอาร์มแชร์โทรมๆ ลายเชฟรอนใหญ่มหึมาดูแล้วรักไม่ค่อยลง จากนั้นเขาตรงไปแผงโปรดซึ่งขายกระเป๋าวินเทจและหีบหลุยส์ วิตตองโดยเฉพาะ ผู้ค้าคนหนึ่งตรงดิ่งเข้ามาถามถึงลูกแฝดของเขาที่หน้าแผง
“วันหลังพามาอีกนะ ฉันรักเบบี๋!”
“ด้วยความยินดี!” ซีมงตอบ
“ฉันโดนเพื่อนว่า ‘พวกผู้หญิงไม่ได้อยากมีลูกกันหรอก อยากมีเบบี๋แค่นั้นแหละ!’” ผู้หญิงคนเดิมบอกกลั้วหัวเราะ “ฝากจุ๊บลูกๆ ด้วยนะ”
เตียงนอนกลางวันเหล็กจัดวางไว้ที่ระเบียงราวลูกกรง
ความสนิทสนมแบบคนในครอบครัวคือตัวหล่อหลอมบริษัทของซีมง “อลิซเด็กฝึกงานคนแรกของเราตอนนี้เป็นหัวหน้าสตูดิโอ ฟาเบียงที่เคยเป็นพนักงานขายคอลเล็กชั่นแรกตอนนี้เป็นผู้อำนวยการฝ่ายภาพลักษณ์ พนักงาน 10 คนแรกของแบรนด์ยังอยู่กับเราจนวันนี้ 6 คน” ซีมงบอก “ผมจะไม่โม้ว่าเราคือครอบครัวใหญ่ที่มีสมาชิก 300 คน บางครั้งผมเจอคนที่ไม่เคยเห็นหน้ามาก่อนในโรงอาหารของเราก็มี แต่ผมยังรู้สึกว่าเรารักษาบางสิ่งบางอย่างที่ดีมากๆ ไว้ใด้ในโลกแฟชั่น” ว่าแล้วเขาก็ขมวดคิ้ว “เวลาผมได้ยินว่าดีไซเนอร์หน้าใหม่บางคนดราม่าสุดฤทธิ์ แหวใส่คนนั้นคนนี้ ผมไม่เข้าใจเลยว่าเขาทำได้อย่างไร สมัยผมอายุ 20 ผมนี่ภาวนาขอให้คนช่วยผมที”
สมัยนั้นคือช่วงเปิดตัวแบรนด์ ซึ่งน่าจะเป็นช่วงหนักที่สุดในชีวิตเขาแล้ว แม่เขาเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ในวัย 42 ซีมงเพิ่งมาอยู่ปารีสได้เดือนเดียวเพื่อเรียนแฟชั่นที่ École Supérieure des Arts et Techniques de la Mode และแม่ก็กำลังจะขายรถคันนั้นเป็นค่าเล่าเรียนให้เขาอยู่พอดี
“มันคือความฝันนะ ฝันครั้งใหญ่เลย” ซีมงบอก “พอเสียแม่ไป ผมเข้าใจขึ้นมาทันทีเลยว่าเวลากำลังวิ่งไปข้างหน้า ผมเริ่มหมกมุ่นกับความคิดนั้น เวลามันวิ่งไปข้างหน้าอยู่นะเว้ย ผมอยากทำความฝันของตัวเองให้เป็นจริง หลังจากแม่ตาย แทนที่จะอยู่ทางใต้กับครอบครัวหลายๆ อาทิตย์ ผมกลับขึ้นรถไฟมาปารีสหลังจากนั้น 4-5 วัน ยายผมว่า ‘ซีมง หลานทำอะไรของหลาน เป็นอะไรหรือเปล่า’ ผมบอกว่า ‘ผมกลับละ’ ผมมีพลังอัดแน่นมาก” เขาดีดนิ้วดังเปาะ “มันคือจุดเปลี่ยน ผมออกไปตลาดผ้า ซื้อผ้ามาเลย”
การออกแบบเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของงาน “ผมจินตนาการแคมเปญขึ้นมา เอาไปลงเฟซบุ๊กบอกว่า ‘ฮัลโหล นี่คอลเล็กชั่นแรกของผมนะ L’Hiver Froid!’ แล้วก็เริ่มมีคนแชร์ แชร์ แชร์ ใน Tumblr มียอดแชร์ล้านครั้ง หลังจากนั้น 3-4 อาทิตย์สื่อฝรั่งเศสโทร.มาหาผมบอกว่า ‘เราอยากทำบทสัมภาษณ์’ ผมนี่แบบว่า อะไรนะ นี่แหละ ตอนเริ่มเป็นแบบนี้ จะว่าเป็นหนังเรื่องหนึ่งก็ได้ มันสวยงามเหลือเกิน ผมอยากให้ทุกคนมาสนใจ ผมหมกมุ่น ผมกับเพื่อนไปยืนตั้งจิตดลบันดาลที่หน้าโชว์ของ Dior เอาคอลเล็กชั่นแรกของตัวเองไปร่วมเทศกาล Vogue ที่แอเวอนู มงตาญ ออกไปยืนบนถนน ร้องบอกคนว่า ‘เฮ้ มาดูงานผมกันนะ!’ ก็ผมไม่มีทางเลือกอื่นนี่ ผมจำเป็นต้องให้คนเห็นและต้องได้อยู่วงการนี้”
เราเดินกันมาเกือบสุดเส้นทางตะลุยตลาดนัดของซีมงแล้ว เขาผ่อนความเร็วลงนิดหนึ่ง เหมือนกำลังแบกความทรงจำที่หนักอึ้ง “ผมพูดเสมอว่าผมไม่ได้เสียแม่ไป แม่อยู่กับผม และนี่คือเหตุผลว่าทำไมผมกลับมาเร็วและมีพลังเยอะขนาดนั้น ผมไม่รู้สึกว่าอยู่ตัวคนเดียวเลย” เขาบอกว่าตอนที่แม่จากไป เขาได้ทิ้งของไว้กับแม่เพียงชิ้นเดียวคือโว้ก 1 เล่ม
เดือนกันยายน ซีมงมานิวยอร์กเพื่อดูแลการปรับปรุงสถานที่ขั้นสุดท้าย ก่อนเปิดร้านแรกของเขาในสหรัฐอเมริกา ซึ่งอยู่ในอาคารผนังไม้ตีซ้อนเกล็ด หัวมุมถนนสปริงตัดกับถนนวูสเตอร์ “มันเป็นตึกที่ประหลาดอยู่นะ แต่กลางวันแสงส่องสว่างดี แล้วผมก็ชอบย่านนี้ด้วย” เขาบอกพลางมองไปรอบๆ ชั้นล่างของร้าน ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นที่โชว์แอ็กเซสเซอรี่แจ็กเกอมุส แต่ตอนนี้ยังฝุ่นเขรอะและรกไปด้วยโครงสร้างเหล็กเปลือยกับสายไฟระโยงระยาง ซาลอนชั้นบนซึ่งบรรยากาศเป็นกันเองกว่า จะเป็นที่สำหรับให้ลูกค้าเลือกชมและลองเสื้อผ้า แม้ตอนนี้จะยังมีบันไดวางเกะกะ แต่วิสัยทัศน์นั้นถูกปลูกไว้แล้วแน่นอน ไม่ต่างจากต้นเลมอนที่ปารีส พื้นจะปูกระเบื้องหินปูนจาก Pierre de Bourgogne ผนังด้านริมถนนวูสเตอร์จะเจาะช่องหน้าต่างให้แสงส่องผ่าน บันไดโค้งจะติดราวเหล็กตีด้วยมือ ซึ่งซีมงบอกว่าเป็นการบอกใบ้ถึงงานของฌัก เควลล์ สถาปนิกเมดิเตอร์เรเนียนยุคมิดเซ็นจูรี (ยุคกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20) เขาบอกว่า “หน้าตาร้านจะเป็นลูกครึ่งฝรั่งเศสตอนใต้กับนิวยอร์ก” ราวเหล็กชิ้นแรกมาถึงร้านแล้ว ซีมงค้นหาเพลงฮาร์ปในมือถือ แล้วถ่ายคลิปตัวเองเคาะราวเหล็กทรงเพรียวตามจังหวะการดีดฮาร์ป คลิปที่เขาใช้เวลาทำแค่หลักวินาทีนี้เหมาะที่จะเผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดีย
การมานิวยอร์กครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ซีมงอยู่ห่างลูกนานเกิน 1 วัน เช้านี้ลมพัดเบาๆ อากาศกำลังสบาย เขาเดินเรื่อยเปื่อยออกไปถึงทางขึ้นสะพานกลับรถบนถนนวูสเตอร์ แล้วโหนตัวขึ้นไปนั่งบนราว ซึ่งเป็นทำเลเหมาะสำหรับดูคนเดินถนนย่านโซโห พร้อมเพลิดเพลินกับการโฆษณาตัวเองในย่านแฟชั่นไกลบ้าน หญิงสาว 3 นางแวะมาแสดงความชื่นชม (“ขอโทษที่รบกวน ฉันเป็นแฟนผลงานคุณตัวยงเลย คุณคือแรงบันดาลใจจริงๆ”) ส่วนคนอื่นที่ผ่านไปมาต่างแสดงท่ามาตรฐานของชาวนิวยอร์ก นั่นคือจัดสีหน้าใหม่แล้วรีบเดินผ่านไป เป็นการยอมรับความดังของเขาแบบไม่โจ่งแจ้งแต่รู้กัน
“ผมไม่เคยคิดว่าคนที่โซลจะคิดต่างจากคนที่ปารีส เพราะเดี๋ยวนี้เราเสพสื่อเดียวกันหมด” ซีมงบอก “แต่คนอเมริกันรักและเข้าใจเรื่องราวของผม ในสหรัฐอเมริกาเวลาใครทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตัวเองก็จะเป็นที่ชื่นชม”
ซีมงเคยให้สัมภาษณ์สื่ออย่างต่อเนื่องมาหลายปีว่าการมีหน้าร้านเป็นเรื่องโง่สำหรับแบรนด์หน้าใหม่ เพราะมีแต่จะแบกภาระค่าโสหุ้ยไม่ไหว แล้วอีกอย่างก็ไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านในยุคของการสั่งของผ่านสื่อดิจิทัลและห้างสรรพสินค้า วันนี้เขายังไม่เปลี่ยนความคิดไปจากเดิม แต่เขารู้สึกว่าแบรนด์ของตัวเองใหญ่พอที่จะเผชิญความเสี่ยงนั้นแล้ว “ผมไม่อยากได้ร้านคิวต์ๆ คูลๆ แถวเลอ มาเร” ซีมงบอก “ผมอยากได้แอเวอนู มงตาญ” อันเป็นศูนย์กลางแฟชั่นชั้นสูงของปารีส วันนี้เขาได้ตามต้องการแล้ว ก้าวต่อไปคือบูติกย่านโซโหที่แพงทั้งการออกแบบและการบำรุงรักษา “ผมยึดมั่นจุดยืนของตัวเองมาตั้งแต่อายุ 18” ซีมงเปิดใจ “ผมปฏิเสธหลายๆ สิ่งในชีวิตไป เพราะผมมีอย่างอื่นอยู่ในใจแล้ว”
ในช่วงที่กำลังตกแต่งร้านย่านโซโห เขารู้สึกว่าต้องทำตามเป้าหมายที่ขัดกัน นั่นคือรสนิยมแบบบ้านริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน กับการทำพื้นที่ค้าปลีกประสิทธิภาพสูง
“ผมอยากใส่อะไรที่เป็นส่วนตัวเข้าไปมากกว่านี้ อย่างโต๊ะไม้เก่าๆ ข้างโซฟาวินเทจ” เขาบอกแล้วขมวดคิ้ว “นี่ผมยังไม่พอใจนะ ยังต้องทำต่อ” เขายืนดูงานก่อสร้างที่กำลังดำเนินไป ท่ามกลางฝุ่นและความไม่สมบูรณ์แบบ ที่แฝงไว้ด้วยความงามแปลกๆ ไม่ว่าจะเป็นงานช่างไม้ฝีมือเฉียบ หรือถังขยะข้างประตูที่เป็นสีเขียวแจ็กเกอมุส “ผมต้องโชว์สินค้าของผม ในสิ่งแวดล้อมของผม” ซีมงบอกพลางปรับโฟกัสสายตา “ทำให้คนรู้สึกว่าเขาอยู่ในบ้านผม”
“บางครั้งผมออกมาตรงเทอร์เรซนี้แล้วบอกตัวเองว่า “Simon เอ๋ย เอนจอยโมเมนต์นี้เสียเถิด เพราะนายไม่มีทางรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้” Simon เปิดใจ
WATCH