olieang
LIFESTYLE

#VogueFoodGuide ย้อนส่องที่มาของกาแฟ “โอเลี้ยง” สัมผัสกลิ่นหอมและรสชาติที่เคล้ากับวิถีชีวิตของผู้คน

ทั้งนี้ยังมีการเรียกโอเลี้ยงว่า 'ลาเต้เมืองไทย' อีกด้วย

     หากพูดถึง 'กาแฟ' ใครหลายคนอาจมีภาพแฟลชแบ็กไปถึงกาแฟแก้วเล็ก ที่ต้องใช้กรรมวิธีในการชงอย่างพิถีพิถันเพื่อจะได้มาซึ่งเครื่องดื่มสีน้ำตาลเข้มและกลิ่นอันหอมหวนที่เป็นดั่งซิกเนเจอร์ แต่ในบทความนี้ #VogueFoodGuide จะพาเหล่าคอกาแฟไปเจาะเรื่องราวของกาแฟอีกหนึ่งประเภทที่อยู่เคียงข้างกับวิถีชีวิตของผู้คนมาตั้งแต่อดีต

 

ภาพจาก hot-thai-kitchen.com

     กาแฟที่เราจะพูดถึงในครั้งนี้คือ “โอเลี้ยง” กาแฟสีน้ำตาลเข้มที่ค่อนไปทางดำสนิทเสียมากกว่า แต่สีที่แสนเข้มข้นนี้กลับตรงกันข้ามกับรสชาติที่เมื่อได้ลิ้มลองแล้วกลับให้ความสดชื่นและกลิ่นหอมที่ต่างจากกาแฟทั่วไป โดยความเป็นมาของโอเลี้ยงนั้นเราอาจต้องย้อนเวลาไปถึงช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวนั้นการอพยพของชาวจีนแต้จิ๋วเข้ามาในไทยมีเพิ่มสูงมากขึ้น และการอพยพเข้ามานี้เองทำให้เครื่องดื่มชนิดนี้ถูกนำมาเผยแพร่สู่คนไทยในสมัยนั้นกันอย่างกว้างขวาง ดังนั้นแล้วคำว่า “โอเลี้ยง” จึงมีรากศัพท์ที่มาจากภาษาจีนแต้จิ๋วนั่นเอง โดยคำว่า “โอ” มีความหมายว่า ดำหรือสีดำ ในขณะที่คำว่า “เลี้ยง” ก็มีความหมายว่า เย็น หรืออุณหภูมิต่ำ เมื่อนำทั้งสองคำมารวมกันจึงเกิดเป็นคำว่าโอเลี้ยงที่มีความหมายว่า เครื่องดื่มสีดำเย็น หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ กาแฟดำเย็น นั่นเอง

 

ภาพจาก sugarandsoul.co

     เครื่องดื่มโอเลี้ยงนั้นมีกรรมวิธีในการทำที่แตกต่างจากกาแฟทั่วไปเป็นอย่างมาก โดยเริ่มต้นคือการนำเอากาแฟโบราณที่บดเรียบร้อยแล้ว มาผสมเข้ากับเมล็ดข้าวโพด เมล็ดมะขามคั่ว และอื่นๆ อีกมากมาย ใส่ลงไปในกระทะและคั่วจนหอมได้ที่ จากนั้นก็ถึงเวลาเคล็ดไม่ลับที่ทำให้กลิ่นของโอเลี้ยงแตกต่างจากกาแฟนั่นคือการเติมน้ำเชื่อมและเนยลงไป ทำให้กลิ่นของกาแฟมีความหอมแบบยูนีกและไม่เหมือนใคร หลังจากส่วนผสมทุกอย่างเข้ากันดีและคั่วได้ที่แล้วก็นำมาบดให้เป็นผงสำหรับชงโอเลี้ยง ในขั้นตอนการชงก็ทำได้ง่ายๆ เพียงนำเอาน้ำโอเลี้ยงผสมกับน้ำตาล คนจนน้ำตาลละลาย จากนั้นจึงเติมน้ำแข็งเข้าไปก็จะได้เครื่องดื่มชื่นใจที่หารสชาติไหนมาเทียบเคียงได้ยาก 

 



WATCH




ภาพจาก coffees.gr

     ไม่เพียงโอเลี้ยงจะเป็นกาแฟยอดนิยมของคนไทยสมัยก่อนเท่านั้น กาแฟชนิดนี้ยังเป็นเครื่องดื่มตั้งต้นให้กับกาแฟตระกูล “โอ” อื่นๆ อีกเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น “โอยั๊วะ” เครื่องดื่มกาแฟดำแบบร้อน หรือพูดให้เข้าใจแบบง่ายๆ ก็คือโอเลี้ยงร้อนนั่นเอง นอกจากนี้ยังตามมาด้วยความหลากหลายของรสชาติผ่านการปรุงแต่งและเสริมวัตถุดิบอื่นๆ เข้าไป เช่น “โอเลี้ยงยกล้อ” เมนูโอเลี้ยงที่เติมนมเข้าไปทำให้รสชาติกลมกล่อมมากขึ้น จนได้รับการตั้งฉายาว่า “ลาเต้เมืองไทย” หรือจะเป็น “กาแฟจั้มบ๊ะ” เมนูโอเลี้ยงสุดครีเอตที่เอาโอเลี้ยงธรรมดาๆ มาผสมเข้ากับน้ำเชื่อมหวานอย่าง น้ำแดง หรือ น้ำเขียว แทนกาารใช้น้ำตาลนั่นเอง

     ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวและเสน่ห์ของโอเลี้ยง กาแฟดำที่อยู่ในดวงใจของคนไทยมาแต่ท้ายสมัยอยุธยา ซึ่งในอดีตผู้คนมักดื่มโอเลี้ยงเพื่อเพิ่มความสดชื่นระหว่างวัน ระหว่างการทำงาน ถือได้ว่าเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมมาอย่างช้านาน

 

เรื่อง : Worramate Khamngeon
เรียบเรียง : Ramita Naungtongnim

WATCH

คีย์เวิร์ด: #VogueFoodGuide