LIFESTYLE

#VogueFoodGuide รู้จักกับปลาทะเลไทย 5 สายพันธ์ุ สู่การยกระดับเป็นเมนูอาหารชั้นเลิศ

แม้ปลาในบางสายพันธุ์จะเป็นปลาที่มีราคาไม่สูงมาก แต่เมื่อผ่านกรรมวิธีการปรุงอาหารที่หลากหลายก็ช่วยเพิ่มมูลค่าให้จานนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี

     เมนูอาหารสไตล์ซาชิมิเป็นอีกหนึ่งเมนูสุดคุ้นตาที่เชื่อว่าหลายๆ คนอาจเคยได้ลิ้มลอง ไม่ว่าจะเป็นซาชิมิจากปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาหมึก หรือสัตว์ทะเลอื่นๆ แต่ในบทความนี้ #VogueFoodGuide จะพาแฟนๆ และคนรักอาหารไปรู้จักกับปลาทะเลไทย 5 สายพันธุ์ ที่ถูกหยิบมารังสรรค์เป็นอาหารจานปลาที่มีดีไม่แพ้ปลานำเข้าแต่อย่างใด

 

 ภาพจาก marriottfisheries.co.uk 

     เริ่มกันที่ปลาสายพันธุ์แรกกับ “ปลากะพง” ปลาท้องถิ่นที่พบเจอได้พื้นที่แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงในประเทศไทย เป็นปลาที่สามารถพบได้ทั้งในน้ำจืดและน้ำเค็ม นอกจากแหล่งที่อยู่ที่ถูกพบเจอได้ง่ายในไทยแล้ว ปลากะพงยังถือเป็นปลาที่มีความสำคัญทั้งในแง่เศรษฐกิจและวิถีชีวิตของคนไทยมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่การเป็นอาหารหลักในระดับครัวเรือน ไล่ไปจนถึงระดับอุตสาหกรรมที่มีการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ในแง่ของรสชาติและรสสัมผัสแล้ว ปลากะพงถือได้ว่าเป็นปลาที่มีรสชาติดี เนื้อปลามีความนุ่มขาว สามารถทำอาหารได้หลากหลายประเภท ตั้งแต่เมนูปรุงสุกไปจนถึงเมนูซาชิมิที่กำลังเริ่มได้รับความนิยมเพิ่มสูงมากขึ้นในช่วงหลังมานี้ นอกจากรสชาติแล้วปลากะพงยังมาพร้อมกับสารอาหารต่างๆ อีกมากมาย เช่น โปรตีนสูง ไขมันต่ำ รวมถึงวิตามินและแร่ธาตุๆ ที่พบเจอได้ในปลา

 

ภาพจาก Patrick บน Unsplash

     ต่อกันที่ปลาชนิดถัดมาอย่าง “ปลาอินทรี” ปลาที่ถูกขนานนามว่าเป็น ปลาราชินีแห่งท้องทะเล โดยปลาชนิดนี้ขึ้นชื่อในเรื่องของรสชาติและเนื้อสัมผัสที่โดดเด่นกว่าปลาประเภทอื่นๆ ตลอดจนคุณค่าทางโภชนการที่สูง ไม่ว่าจะเป็นโปรตีน ไขมัน โอเมก้า 3 รวมถึงวิตามินและแร่ธาตุอื่นๆ ทำให้ปลาชนิดนี้เป็นหนึ่งในปลายอดนิยมในกลุ่มผู้บริภาคเช่นกัน แหล่งที่อยู่อาศัยของปลาอินทรีสามารถพบได้ทั่วไปในท้องทะเล ไล่มาตั้งแต่แถบมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิกตะวันตก โดยเฉพาะในบริเวณน่านน้ำเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน ตลอดจนในประเทศไทยที่สามารถพบเจอได้ทั้งทะเลในฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน

 



WATCH




ภาพจาก Paul Einerhand บน Unsplash

     ปลาสายพันธุ์ที่สามที่เราต้องพูดถึงอย่าง “ปลาลิ้นหมา” ปลาที่ได้รับความนิยมมาอย่างช้านานในบริเวณภาคใต้ของประเทศไทย ถึงแม้ว่าปลาชนิดนี้จะมีรูปร่างหน้าตาที่ดูแปลกออกไป แต่ในแง่ของรสชาติและคุณค่าทางโภชนาการนั้นก็ไม่แพ้กับปลาทะเลชนิดอื่นๆ แม้แต่น้อย โดยรสชาติของปลาลิ้นหมานั้นมักมีความหวาน และไร้กลิ่นคาว เนื้อสัมผัสมีความนุ่มแน่น ไม่เหนียว ถือเป็นปลาเศรษฐกิจยุคใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยปลาลิ้นหมาสามารถพบเจอได้ทั่วโลกโดยเฉพาะในพื้นที่ทะเลเขตร้อนและเขตกึ่งร้อน มักอาศัยอยู่ตามพื้นทรายใต้ทะเล นอกจากหน้าตาที่แตกต่างแล้ว ปลาชนิดนี้ยังมีความสามารถในการพรางตัวเพื่อหาอาหารและหลบเลี่ยงปลานักล่าชนิดอื่นๆ ได้อีกด้วย และสีของปลาลิ้นหมามักจะเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมที่มันอาศัยอยู่นั่นเอง

 

ภาพจาก oceanrafting.com.au

     ถัดมากับ “ปลาเก๋าเหลือง” ปลาที่รู้จักกันในชื่อ “ปลากะรังเหลืองจุดฟ้า” เป็นหนึ่งในตระกูลปลาเก๋าที่ขึ้นชื่อทั้งในเรื่องรสชาติและความอร่อย มีจุดเด่นคือลักษณะภายนอกที่แตกต่างจากปลาเก๋าทั่วไป โดยปลาชนิดนี้มักมีสีน้ำตาลเข้มลายสีเหลืองและมีจุดสีฟ้ากระจายทั่วทั้งตัว แต่ด้วยสีสันที่โดดเด่นนี้เองที่ทำให้มันมักถูกล่าทั้งจากมนุษย์และปลานักล่าอื่นๆ จนต้องได้รับการส่งเสริมอนุรักษ์และการเพาะพันธุ์เพื่อเป็นปลาเศรษฐกิจในที่สุด ในแง่ของรสชาตินั้นเราอาจพูดได้ว่าปลาเก๋าและปลาเก๋าเหลืองนั้นมีรสชาติที่ใกล้เคียงกัน นั่นคือมีความหวานนำตามแบบฉบับปลา เนื้อมีความนุ่มแน่น ก้างน้อย สามารถนำไปทำอาหารได้หลากหลาย แต่ด้วยสีสันของมันที่ดึงดูดทำให้ปลาเก๋าเหลืองจึงได้รับความนิยม และมีราคาที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าปลาเก๋าทั่วไป

ภาพจาก scmp.com

     ปิดท้ายด้วยปลาทะเลไทยสุดคลาสสิกที่เราต่างก็รู้จักกันดีกับ “ปลาทู” ปลาที่พบเห็นได้ทั่วไปในท้องตลาด แต่กลับเป็นปลาอีกหนึ่งชนิดที่ได้รับความนิยมสูง ไม่ว่าจะเป็นด้านรสชาติที่มีรสชาติและกลิ่นที่หอมเฉพาะตัว ตลอดจนคุณค่าทางโภชนาการที่สูง ทั้งโปรตีน ไขมันดี และแร่ธาตุต่างๆ ที่จำเป็นต่อร่างกาย ถึงแม้ปลาทูจะเป็นปลาคลาสสิกที่สามารถทำได้ตั้งแต่เมนูง่ายๆ อย่างการนำไปย่างหรือทอด ไล่ไปจนถึงเมนูที่ต้องอาศัยการปรุงแต่งรสชาติและกรรมวิธีที่เฉพาะตัวเพื่อยกระดับปลาธรรมดานี้ให้พิเศษมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันนี้ปลาทูนี้เองก็ได้รับความนิยมไปอย่างแพร่หลาย มีกรรมวิธีในการรับประทานที่หลากหลายมากขึ้น เช่นการเสิร์ฟในเมนูซาชิมิปลาทู ที่ทำให้เราได้สัมผัสกับรสชาติดั้งเดิมตามธรรมชาติได้เป็นอย่างดี

 

เรื่อง : Worramate Khamngeon
เรียบเรียง : Ramita Naungtongnim

WATCH