noodle
LIFESTYLE

#VogueFoodGuide รู้จัก ‘บะหมี่หยกชวา’ เส้นบะหมี่ไฟเบอร์สูงที่ยกระดับจากวัชพืชไร้ค่า

ถือเป็นการต่อยอดและสร้างมูลค่าให้กับวัชพืชชนิดนี้อยู่ไม่น้อย

     ว่ากันว่าชีวิตคนไทยแต่เดิมมักเคียงคู่กับสายน้ำทั้งการสัญจร การทำมาหากิน และการใช้ชีวิตต่างๆ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่มักอยู่คู่กับแหล่งน้ำและวิถีชีวิตของเรานั่นก็คือ “ผักตบชวา” วัชพืชน้ำสีเขียวที่เรามักเห็นอยู่บ่อยครั้ง และเรียกได้ว่ามีปริมาณที่เยอะมากเกินไปเสียด้วยซ้ำ ด้วยปริมาณที่มากจนก่อให้เกิดปัญหานี้ทำให้ผักตบชวามักถูกนำมาสร้างสรรค์เป็นของใช้ต่างๆ มากมาย และแน่นอนว่ารวมถึงการนำมารังสรรค์เป็นเมนูเส้นเพื่อรับประทานเช่นกัน แน่นอนว่าทุกคนคงอ่านไม่ผิดกัน เพราะในบทความนี้ #VogueFoodGuide จะพาทุกคนและคนรักอาหารไปทำความรู้จักกับ “บะหมี่หยกชวา” หนึ่งในเมนูเส้นที่คนรักเส้นอาจลองเปิดใจชิมเพื่อสัมผัสรสชาติสุดเฉพาะตัว 

 

ภาพ: Faunaandfloraofvietnam.blogspot.com

     บะหมี่หยกชวานั้นเป็นเส้นบะหมี่ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยคนไทย นำโดยกลุ่ม กศน. ตำบลหนองน้ำใส อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทำงานร่วมกับ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ในการคิดค้น ต่อยอดและแปรรูปผักตบชวาให้กลายมาเป็นเส้นบะหมี่สีเขียว น่ารับประทาน ไม่เพียงเท่านั้นเส้นบะหมี่หยกชวา ยังได้รับการทดสอบมาตรฐาน ตลอดจนสารตกค้างที่อาจเกิดจากการรับประทานอีกด้วย

 

 Facebook: Teille.Datinee

     จุดเด่นที่น่าสนใจของบะหมี่หยกชวานั้นอาจไม่ได้มีเพียงสีสันสดใส และเท็กซ์เจอร์ของเส้นที่มีความนุ่มเด้ง แต่ยังรวมไปถึงคุณค่าทางโภชนาการที่มากเกินความคาดหวังของใครหลายคน ไม่ว่าจะเป็นไฟเบอร์สูง วิตามิน และแร่ธาตุต่างๆ ที่จำเป็นต่อร่างกาย และนอกจากนี้ยังถือเป็นอีกหนึ่งอาหารทางเลือกที่น่าสนใจอีกด้วย

 



WATCH




ภาพ: Facebook: Teille.Datinee

     ขั้นตอนในการทำเส้นบะหมี่หยกชวานั้นก็ทำได้อย่างง่ายดาย เริ่มต้นโดยการคัดเลือกเอาส่วนยอดอ่อนของผักตบชวา ซึ่งมักมีการรับประทานกันอยู่แล้วท้องถิ่น มาทำความสะอาดและหั่นเป็นชิ้นก่อนนำไปต้ม หลังต้มเสร็จนำมาปั่นเพื่อคั้นเอาน้ำผักตบชวาออกมาผสมกับแป้งและไข่เพื่อให้ขึ้นรูปเป็นเส้นบะหมี่ได้ เมื่อนวดส่วนผสมทั้งเข้าด้วยกันเรียบร้อยแล้วก็นำไปรีดและตัดเส้น เท่านี้ก็จะได้เส้นหมี่สีเขียวสดใสน่ารับประทานแล้ว

     เรียกได้ว่าการที่ผักตบชวาถูกต่อยอดมาให้กลายเป็นอาหารแปรรูปรูปแบบใหม่ เป็นการต่อยอดและสร้างมูลค่าให้กับวัชพืชชนิดนี้อยู่ไม่น้อย อีกทั้งยังเป็นการลบภาพจำเดิมๆ ที่เรามักเห็นว่าผัวตบชวานั้นถูกนำไปแปรรูปเป็นข้าวเครื่องใช้ต่างๆ นั่นทำให้เราได้เห็นว่าองค์ความรู้และภูมิปัญญาของคนไทยนั้นก็มีความสร้างสรรค์และโดดเด่นไม่แพ้ใคร

 

เรื่อง : Worramate Khamngeon
เรียบเรียง : Ramita Naungtongnim

WATCH