LIFESTYLE

เพราะเหตุใด 'The Devil Wears Prada' จึงเป็นนางมารผู้สวมความสำเร็จข้ามทศวรรษ?

นี่คือเหตุผลของภาพยนตร์ที่ขึ้นแท่นเป็นตำนานที่สะท้อนวงการสื่อแฟชั่นและสังคมการทำงานอย่างแท้จริง

     ‘ภาพยนตร์เรื่องโปรด’ คำนี้ของแต่ละคนคงมีคำตอบที่แตกต่างกันออกไปว่าจะให้ภาพยนตร์เรื่องใดขึ้นแท่นเป็นหนังในดวงใจตลอดกาล แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นคงเป็นคำตอบที่ใครหลายคนที่ต่างชาติ หรือต่างบ้านเกิดดันเลือกภาพยนตร์เรื่องเดียวกันแบบไม่ได้ตั้งใจ ‘The Devil Wears Prada’ ก็เป็นภาพยนตร์อีกหนึ่งเรื่องที่หลายผู้คนต่างวัยล้วนยกให้เป็นหนึ่งในภาพยนตร์สุดไอคอนิกที่ยากจะลืมเลือน แม้จะได้ออกฉายให้แก่ทั่วโลกได้รับชมตั้งแต่ปี 2006 ซึ่งล่วงเลยมาถึง 18 ปีแล้วก็ตาม และที่นางมารสวมชุดปราด้ากลายเป็นหนึ่งในลิสต์หนังโปรดของหลากผู้คนย่อมมีเหตุผลของมัน

 

นิยาย ‘The Devil Wears Prada’ ของนักเขียนชาวอเมริกัน Lauren Weisberger

     ซึ่งภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวจะเป็นการหยิบยกจากนิยาย ‘The Devil Wears Prada’ ในปี 2003 ของนักเขียนชาวอเมริกัน Lauren Weisberger ซึ่งสร้างปรากฏการณ์ให้หนังสือนางมารสวมปราด้ามียอดขายถล่มทลายทั่วโลก ทั้งยังติดอันดับเป็นหนังสือขายดีบน The New York Times นานถึง 6 เดือน ด้วยการเล่าเรื่องและมีกลวิธีการใช้ภาษาอย่างเข้มข้น หนังสือเล่มนี้จึงได้ถูกถ่ายทอดผ่านม้วนฟิล์มโดยผู้กำกับมือฉมัง David Frankel ที่สร้างตัวตนของ Miranda Priestly (นำแสดงโดย Meryl Streep) และ Andrea Sachs (นำแสดงโดย Anne Hathaway) เจ้านายและลูกน้องที่เล่นเสียดสีกันตลอดทั้งเรื่องให้ราวกับมีชีวิตจริงในวงการนิตยสารแฟชั่น

 

 ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง ‘The Devil Wears Prada’ / ภาพ: SAOstar

     แน่นอนว่าเนื้อเรื่องดำเนินไปด้วยความเผ็ดร้อนที่นำเสนอแง่มุมเบื้องลึกถึงวงการแฟชั่นและนิตยสารแฟชั่น แต่สิ่งที่ทำให้ผู้คนจดจำและหวนนึกถึงเสมอคงหนีไม่พ้นองค์ประกอบต่างๆ ของเนื้อเรื่องที่มันมีมากกว่าแค่การดำเนินเรื่องไปเรื่อยๆ คือการใส่รายละเอียดของแฟชั่นละลานตาและเป็นเอกลักษณ์ที่ถึงแม้จะหยิบมาดูอีกครั้งในช่วงเวลานั้นก็ยังรู้สึกว่าไม่มีวันตกยุคแม้กาลเวลาจะผันเปลี่ยนไปแล้วก็ตาม นอกจากนี้ยังตีแผ่เรื่องคนวัยทำงานเข้าอย่างจังที่หลายคนต้องรับมือกับสิ่งที่ไม่พร้อมเผชิญ เฉกเช่นการแก้ปัญหางานในแต่ละวัน หรือแม้แต่ต้องรองรับอารมณ์คนจากบุคคลที่มาจากร้อยพ่อพันแม่ ซึ่งล้วนสะท้อนถึงสังคมการทำงานที่เกิดขึ้นจริงทั่วโลกทั้งสิ้น

 



WATCH




 ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง ‘The Devil Wears Prada’ / ภาพ: Sky News 

     สุดท้ายนี้ที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือการนำเสนอของเหล่านักแสดงที่ถูกสวมคาแร็กเตอร์จนลืมคราบความเป็นตัวเองไปโดยปริยาย ซึ่งทั้งตัวละครอันเดรอา มิรันดา เอมิลี่ ชาร์ลตัน หรือตัวละครอื่นๆ ก็ล้วนแล้วแต่มีเอกลักษณ์และสีสันเฉพาะตัว ทั้งยังเล่าถึงพัฒนาการของตัวละครที่เห็นได้ชัดอย่างอันเดรอาจากการเป็นหญิงสาวผู้เรียบร้อย ไม่ได้สนใจแฟชั่นเท่าที่ควร แต่ต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับเจ้านายผู้เป็นนางมารมิรันดาในสายเธอ(และผู้ชม) โดยการเปลี่ยนแปลงตัวเองทั้งเสื้อผ้าหน้าผมให้กลายเป็นบุคคลที่มั่นใจและดูช่ำชองในวงการแฟชั่น จนมิรันดายอมไฟเขียวให้เป็นลูกน้องคนโปรดหลังจากที่เธอสาดถ้อยคำสุดบั่นทอนและการกระทำของเจ้านายที่คิดว่าตัวเอง ‘ถูกเสมอ’ มาตลอดตั้งแต่อันเดรอาก้าวเข้ามาทำงาน องค์ประกอบเหล่านี้จึงทำให้ผู้คนทั้งในและนอกวงการยิ่งหูตาสว่างและพึงระลึกได้เสมอว่า ‘มันไม่มีเรื่องใดเกินจริงจากภาพยนตร์เรื่องนี้’ ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลหลักๆ ว่าทำไมภาพยนตร์อมตะจึงครองใจผู้คนตลอดกาล หากใครยังไม่เคยรับชมก็ลองย้อนกลับไปเรียนรู้และเปิดโลกเกี่ยวกับตัวละครและเนื้อเรื่องนี้ดู ก่อนที่นางมารสวมปราด้าภาคสองจะตามมาในไม่ช้า...

 

ตามไปอ่านเรื่องราวเพิ่มเติมได้ที่ 'ที่สุดของเซอร์ไพรส์! หนังเรื่อง The Devil Wears Prada กำลังจะมีภาคต่อแล้ว' และ '5 บทเรียนจากภาพยนตร์เรื่อง The Devil Wears Prada ที่ยังคงนำมาปรับใช้กับการทำงานได้ทุกยุคสมัย'

 

WATCH