LIFESTYLE

VOGUE SCOOP | เจาะประเด็นความไทยทุกมิติผ่านซีรี่ส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ทั้งในและนอกจอ

การนำเสนอบริบทของสังคม ฉาก และองค์ประกอบต่างๆ ในซีรี่ส์ The White Lotus ซีซั่น 3 สะท้อนภาพการพัฒนามุมมองของคนต่างชาติที่มองประเทศไทยด้วยความสมจริงมากยิ่งขึ้น

เป็นที่ฮือฮาสำหรับคนไทยอย่างมากเมื่อมีการประกาศว่าซีรี่ส์ดังจากแพลตฟอร์ม MAX อย่าง The White Lotus ซีซั่น 3 จะถ่ายทำและเล่าเรื่องราวในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีนักแสดงไทยร่วมแสดง พร้อมทั้ง ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล ที่รับบทบาทเป็นนักแสดงอย่างจริงจังครั้งแรกในชีวิต ความน่าสนใจเกี่ยวกับการนำเสนอผลผลิตเชิงวัฒนธรรมจากอุตสาหกรรมบันเทิงฝั่งตะวันตกมักโดนตั้งคำถามเกี่ยวกับความเข้าใจบริบททางสังคมหรือการเหมารวมในสมัยก่อน วันนี้ซีรี่ส์ภาคต่อกำลังทำการบ้านอย่างหนักเพื่อตอบโจทย์ความสมจริงผ่านมุมมองที่เป็นธรรมชาติมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ยังรักษาสัญญะแห่งความเป็นไทยในเวทีสากลอยู่อย่างชัดเจน #VOGUESCOOP จึงไม่พลาดพาทุกคนไปเจาะลึกประเด็นทั้งในจอและนอกจอว่า The White Lotus นำเสนอมิติใดในเรื่องความเป็นไทยบ้าง

  • LISA’S FIRST TIME AS ACTRESS

ไฮไลต์สำคัญที่ทำให้คนทั้งโลกให้ความสนใจคงหนีไม่พ้นการรับบทบาทนักแสดงครั้งแรกของ “ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล” กับบทมุก ในซีรี่ส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ครั้งนี้ ตลอดระยะเวลานานนับเดือนก่อนฉายจริง ทางค่ายมีการปล่อยภาพและวิดีโอโปรโมตมากมาย แทบทุกครั้งลิซ่าจะปรากฏตัวในฉากที่สะดุดตาอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาสวมชุดพนักงานโรงแรมโต้ตอบกับตัวละครอื่นๆ หรือตอนสวมชุดไทยถ่ายทอดศิลปะรำไทยได้อย่างงดงาม มากไปกว่านั้นการโปรโมตซีรี่ส์ตอนแรกของ MAX บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยังเลือกฉากของลิซ่าในซีรี่ส์มาเป็นดั่งประกาศว่า “The White Lotus เข้าฉายแล้ววันนี้” เมื่อวันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มิติความเป็นไทยของลิซ่ากับการพูดถึงครั้งนี้สะท้อนภาพความเป็นสตาร์ระดับโลกที่เชื่อมโยงกับประเทศไทยอยู่เสมอ หากจะพูดว่าเธอคือคนไทยที่มืชื่อเสียงและโด่งดังที่สุดในโลกก็คงไม่ผิดนัก ถ้าชาวต่างชาติที่เสพผลงานบันเทิงพูดถึงประเทศไทย ลิซ่าน่าจะเป็นชื่อลำดับแรกๆ ที่คนทั่วโลกนึกถึงอย่างแน่นอน

  • THAI ACTOR-ACTRESS

เรื่องราวนอกจอเชื่อมถึงในจอประเด็นที่ 2 คือเหล่านักแสดงชาวไทยที่มีส่วนร่วมในซีรี่ส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ครั้งนี้ ต้องบอกว่านักแสดงฝีมือเยี่ยมก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญกับเรื่องราวที่มีฉากและเส้นเรื่องผูกโยงกับดินแดนสวรรค์แห่งใหม่ในจักรวาลซีรี่ส์นี้ นอกจากลิซ่าแล้วยังมี ดอม เหตระกูล, ภัทราวดี มีชูธน, เทม ทับทิมทอง และ สุทธิชัย หยุ่น นับว่าเป็นอีกหนึ่งก้าวของอุตสาหกรรมบันเทิงไทยที่ส่งนักแสดงยอดฝีมือหลากหลายมิติมารับบทบาทที่จะถูกนำเสนอสู่สายตาชาวโลก แน่นอนว่าตัวละครหลักในเรื่องทั้งหมดจะเป็นนักแสดงฝั่งตะวันตก ทว่าตัวละครท้องถิ่นที่สำคัญก็จะถูกถ่ายทอดให้ผู้ชมด้วยความเป็นธรรมชาติจากนักแสดงไทยโดยไม่ต้องปรุงแต่ง มิติความล้ำลึกในการแสดงออกถึงตัวตนคาแร็กเตอร์แบบคนไทยที่มีมิติซับซ้อนกว่าด้วยมุมมองของคนไทยเอง สามารถล้วงแก่นความลึกซึ้งได้มากกว่าการถ่ายทอดผ่านมุมมองคนนอกอย่างเป็นประจักษ์ ซึ่งจะนำไปสู่อีกประเด็นที่จะพูดถึงในบทความนี้




  • SENSE OF FASHION

ปิดท้ายเรื่องนอกจอด้วยประเด็นด้านแฟชั่นที่สะท้อนความเป็นไทยอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรากฏตัว ณ งานฉายรอบปฐมทัศน์ของซีรี่ส์เรื่องนี้ทั้งจากฝั่งลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา จนมาถึงกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทย เหล่านักแสดงไทยต่างนำเสนอผลงานศิลปะที่สะท้อนความเป็นไทยอย่างชัดเจน ลิซ่า ปรากฏตัวบนพรมแดงในอีกฟากโลกพร้อมงานศิลปะดอกบัวชิ้นพิเศษชื่อ “Light of Lotus No.001” จากแบรนด์ SARRAN ในขณะที่ ดอม เหตระกูล และ ภัทราวดี มีชูธน นำเสนอชุดผ้าไหมไทยจาก Jim Thompson ทั้งหมดเชื่อมโยงถึงผลผลิตเชิงวัฒนธรรมในรูปแบบของไทยดั้งเดิม ผสมผสานกับกลิ่นอายแฟชั่นแบบสากล การสไตลิ่งที่เข้ากับบริบทต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพรมแดงงานสำคัญเช่นนี้มีค่าเท่ากับการถ่ายทอดมนต์เสน่ห์ของความเป็นไทยผ่านแฟชั่นบนเวทีระดับโลกโดยแท้จริง

  • REAL LIFE, DIALOGUE & SOUND

กลับเข้ามาถึงประเด็นภายในจอกันบ้าง ความน่าสนใจในการถ่ายทอดความเป็นไทยใน The White Lotus ซีซั่น 3 ไม่ใช่เพียงการนำเสนอฉากความงดงาม แต่เป็นการถ่ายทอด “True Perspective” หรือมุมมองที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย เรื่องราววิถีชีวิตถูกนำมาใช้เป็นสลักสำคัญ บรรยากาศความเป็นธรรมชาติไม่ประดิดประดอยจนเกินพอดี หรือความแข็งกระด้างที่แสดงถึงการศึกษาเพียงเปลือกนอกและปรับโฉมไม่ปรากฏให้เห็นเท่าไหร่นัก เราเห็นฉากปีนต้นมะพร้าวตามวิถีชีวิตคนท้องถิ่น เราจะได้เห็นซีนการขี่รถเครื่อง (มอเตอร์ไซค์) การพูดคุยหยอกล้อด้วยบทสนทนาที่เป็นปกติ เรื่องนี้สำคัญมากเพราะถ้าไม่ทำการบ้านดีพอหรือไม่ใส่ใจคนไทยจะพบกับความแข็งกระด้างและขาดซึ่งความเป็นปกติธรรมดาในการพูดคุยกันของคนทั่วไป ยกตัวอย่างเช่นตอนมุกกับไก่ต๊อกร่วมกันในฉากรถเสีย วิธีการคุยและเล่นมุกตลกคือจำลองนิสัยใจคอฉบับคนไทยได้เป็นอย่างดี รวมถึงถ่ายทอดสถานการณ์การแก้ปัญหาที่สามารถเชื่อมโยงกับประสบการณ์คนไทยได้เป็นธรรมชาติ “เอามาร้อยนึง” คำพูดแบบนี้เราอาจไม่ได้ฟังจากภาพยนตร์หรือซีรี่ส์ตะวันตกเท่าไหร่นัก แม้จะมาถ่ายทำถึงที่ก็ตาม ตรงจุดนี้เป็นไปตามวิถีเชิงสังคมวิทยาที่มีนักสังคมวิทยากล่าวไว้โดยมีใจความว่า “มุกตลกของข้อพิสูจน์ความกลมกลืน” หมายความว่าหากจะเป็นกิ้งก่าคาเมเลียนที่ปรับตัวไปตามที่ต่างๆ ได้อย่างแนบเนียน การเข้าใจมุกตลกหรือถ่ายทอดมุกตลกคือด่านสุดท้ายที่โหดหินที่สุด นอกจากเรื่องบทสนทนาแล้วยังมีบริบทต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดีก็ตาม กิจกรรมฟูลมูนปาร์ตี้ที่โดดเด่น กิจกรรมอื่นๆ การไหว้ และการกระทำที่บ่งบอกถึงความเป็นไทยในชีวิตประจำวันก็ถูกใส่เข้ามาแบบที่พิสูจน์แล้วว่าทำการบ้านมาอย่างดี รวมถึงเพลงประกอบที่มีทั้งเพลง “เมดอินไทยแลนด์” โดย คาราบาว และเพลงท้องถิ่นที่ถูกใส่เข้ามาแบบเหมาะเจาะพอดี แน่นอนว่าบางสัดส่วนถูกแต่งแต้มเพื่อความสมดุลตามภาพรวมของซีรี่ส์ แต่ด้วยปัจจัยที่กล่าวไปก็สะท้อนภาพความ “จริง” ที่เกิดขึ้น ณ ประเทศไทยได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

  • LUXURY HEAVEN

ในขณะที่วิถีชีวิตท้องถิ่น บทสนทนาอันเป็นธรรมชาติ เรื่อยไปจนถึงองค์ประกอบต่างๆ ที่ถูกนำเสนออย่างถูกต้อง (มากขึ้นกว่าผลงานฝั่งตะวันตกสมัยก่อน) อีกหนึ่งมุมมองต่อประเทศไทยที่เปลี่ยนแปลงไปแต่ปรากฏขึ้นอย่างเป็นประจักษ์คือความหรูหราราวกับสวรรค์ของประเทศไทย ซึ่งแน่นอนว่ามุมหนึ่งหลายคนโฟกัสกับความท้องถิ่นดั้งเดิม แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัจจุบันประเทศไทยคือจุดหมายปลายทางสไตล์ลักชัวรีที่เพียบพร้อมในหลายองค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นที่พัก กิจกรรม อาหาร การบริการ และอื่นๆ อีกมากมาย สวรรค์บนดิน (ติดทะเล) ไม่ใช่สิ่งที่เหนือจินตนาการในประเทศไทยอีกต่อไป ลบภาพจำแบบดั้งเดิมว่าประเทศไทย โดยเฉพาะในภาพยนตร์หรือซีรี่ส์ฝั่งตะวันตกยุคเก่าจะเต็มไปด้วยการไม่พัฒนาในหลายแง่มุม โรงแรม Four Seasons Koh Samui สถานที่ถ่ายทำหลักของซีรี่ส์เรื่องนี้เป็นภาพสะท้อนของความหรูหราเหนือระดับและเป็นดั่งสวรรค์ที่เตรียมมอบประสบการณ์สุดพิเศษ ความเป็นไทยในยุคสมัยใหม่ นำเสนอผ่านมุมมองแบบใหม่ ส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยวสไตล์ลักชัวรีให้ดังไกลมากขึ้นกว่าเดิม ภาพการเหมารวมยุคเก่าๆ กำลังจะถูกลบล้างไปพร้อมกับการเข้ามาแทนที่โดยมุมมองใหม่ดั่งเช่นที่ The White Lotus กำลังนำเสนอในขณะนี้

  • STRONG BELIEVE

ก้าวมาอีกหนึ่งมิติที่ถูกนำเสนอผ่านสัญลักษณ์และฉากจำนวนไม่น้อยคือเรื่องความเชื่อของคนไทย ประเทศไทยเป็นประเทศที่ผู้คนชื่นชอบหรือผูกโยงกับเรื่องความเชื่อความศรัทธามาอย่างยาวนาน เราจะเห็นศาลศักดิ์สิทธิ์ รูปปั้นสักการะ การบูชา รวมถึงสถานที่ทางศาสนาอย่างวัดปรากฏอย่างเด่นชัดในซีรี่ส์เรื่องนี้ นอกจากนี้ยังมีการเจาะลึกถึงประเด็นการบูชาหรือขอพร ซึ่งมีฉากกระตุกอารมณ์ที่ถูกตัดออกไป “‘I said don’t let anything happen to my mother, motherf**ker!” ที่ตัวละครพูดกับพระพุทธรูปละเอียดอ่อนและถูกนำเสนอในเวอร์ชั่นไม่เซ็นเซอร์ แม้จะเหมือนการดูหมิ่นแต่ในบริบทความเป็นจริงด้วยอารมณ์ความโมโหของมนุษย์อาจเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นจริง ในขณะเดียวกันก็สะท้อนภาพการขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นดั่งสัญลักษณ์ประจำชาติไปเรียบร้อยแล้ว ความเชื่อที่หนักแน่นและเชื่อมโยงไปจนถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไม่ว่าจะในหรือกนอกศาสนาคืออีกประเด็นสำคัญที่ปรากฏในซีรี่ส์ตั้งแต่ช่วงแรก

  • THAILAND’S SIGNAUTRE SYMBOLS

เมื่อกล่าวถึงความล้ำลึกที่ถูกนำเสนอผ่านเรื่องราวทั้งในและนอกจอไปแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้คือการนำเสนอสัญลักษณ์หรือความโดดเด่นของวัฒนธรรมไทยในหลายแง่ที่อาจเป็นของขึ้นชื่อของประเทศไทยอยู่แล้ว “ประเทศไทย” คำนี้สำหรับชาวต่างชาติจะสามารถผูกโยงได้ทันทีกับศิลปะแม่ไม้มวยไทยที่ปรากฏในฉาก หรือจะเป็นลวดลายการรำไทย ศิลปะท้องถิ่นที่สามารถครองใจชาวต่างชาติมายาวนานตลอดหน้าประวัติศาสตร์ มากไปกว่านั้นหากใครศึกษาข้อมูลหรือเคยมีเยี่ยมเยียนประเทศไทยสิ่งที่ขาดไม่ได้คือศาสตร์การนวดที่เลื่องลือไปทั่วโลก สิ่งเหล่านี้ก็ปรากฏในซีรี่ส์ The White Lotus อย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอสัญลักษณ์ความเป็นไทยรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ประจำชาติอย่างช้าง หรือจะเป็นพวงมาลัยที่สามารถเชื่อมโยงถึงประเทศไทยได้แทบจะทันที สิ่งเหล่านี้ถูกผลิตซ้ำและเป็นภาพจำเกี่ยวกับประเทศไทยของคนต่างชาติมาโดยตลอด วันนี้พลังของทุกสิ่งยังแข็งแกร่งและสะท้อนภาพความเป็นไทยได้อย่างยอดเยี่ยมเสมอ

  • ART & CULTURE

ประเด็นสุดท้ายของเรื่องไทยๆ ใน The White Lotus ซีซั่น 3 ขมวดปมด้วยเรื่องศิลปะและวัฒนธรรม แม้ประเด็นนี้จะเป็นประเด็นกว้างที่อาจครอบคลุมไปยังส่วนอื่นๆ ทว่าจุดเด่นหลักของซีรี่ส์คือการนำเสนอศิลปะไทยอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม อย่างที่กล่าวไปว่ามิติการรำไทยกับศิลปะท้องถิ่นที่ปรากฏขึ้นพร้อมชุดไทยที่บ่งบอกถึงความงดงามอ่อนช้อยและการรังสรรค์ศิลปะอันงดงามที่มาช้านาน และที่ขาดไม่ได้คืองานศิลปะฝาผนังที่ถูกนำมาใช้เป็นอาร์ตเวิร์กหลักของซีรี่ส์ ไม่ว่าจะเป็นโปสเตอร์โปรโมต โพสต์บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย หรือแม้แต่ฉากเปิดในแต่ละตอนที่ใช้งานศิลปะของไทยมาเป็นฉากสวยงามเคียงคู่กับชื่อนักแสดงและชื่อซีรี่ส์ที่ปรากฏอย่างเด่นชัด พร้อมกับการเลือกโทนสีและฟอนต์ที่สอดประสานระหว่างความเป็นไทยและความเป็นสากลอย่างลงตัว

*การเจาะลึกประเด็นความเป็นไทยครั้งนี้ผ่านการโปรโมต ตัวอย่าง และซีรี่ส์ฉบับเต็มตอนแรกที่เข้าฉาย ณ วันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เท่านั้น คาดว่ายังมีประเด็นความไทยในด้านต่างๆ ปรากฏขึ้นอีกในตอนต่อๆ ไปอย่างแน่นอน และนอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องความเป็นไทยในรูปแบบต่างๆ ที่ซ่อนอยู่อีกไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศสถานที่ ธรรมชาติอันสวยสดงดงาม หรือแม้แต่การแสดงภาพงานบริการอันยอดเยี่ยม และอื่นๆ อีกมากมาย สามารถชมและหาคำตอบกันได้ว่า The White Lotus จะนำเสนอมิติความเป็นไทยอะไรอื่นๆ อีกบ้างหรือไม่ โว้กบอกเลยว่าไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

 

(สามารถอ่านบทความแบบเจาะลึกกับซีรี่ส์ VOGUE SCOOP เพิ่มเติมกับเรื่อง VOGUE SCOOP | แค่เปลี่ยนดีไซเนอร์ไม่พอ! วงการแฟชั่นต้องทำอะไรอีกเพื่อให้ตลาดกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง ได้ที่นี่)

เรื่อง : นาทนาม ไวยหงษ์
กราฟิก : จินาภา ฟองกษีร
ค้นหาข้อมูล : แพรไหม ทองอยู่
ภาพ : Courtesy of Max, Jim Thompson, Sarran & Getty Images

WATCH

 
Close menu