Vogue Scoop MET Gala
LIFESTYLE

'MET Gala' งานแฟชั่นสุดยิ่งใหญ่ของโลกแฟชั่น ที่เหล่าคนดังทั่วโลกตั้งตารอคอย!

#VogueScoop พาไปไขรหัสลับทุกรายละเอียดในงาน MET Gala ตอบคำถามว่างานกาล่านี้เกี่ยวกับอะไร ไล่เรียงตั้งแต่เรื่องธีม, คนดังที่จะมาเป็นประธานร่วมจัดงานประจำปี, พรมแดงที่กลายเป็นสนามประลองฝีมือแฟชั่น เรื่อยไปจนถึงเม็ดเงินหมุนเวียนเกือบ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ในอุตสาหกรรมแฟชั่นอเมริกา

     'The First Monday in May' หรือ 'ทุกวันจันทร์แรกของเดือนพฤษภาคม' หนึ่งในวลีศักดิ์สิทธิ์ของอุตสาหกรรมแฟชั่นระดับโลก ที่เพียงแค่เอ่ยขึ้นมาท่ามกลางวงสนทนาของคนแฟชั่นก็เป็นอันรู้กันว่าหมายความถึงอะไร กระทั่งที่วลีดังกล่าวถูกนำไปตั้งเป็นชื่อของภาพยนตร์กึ่งสารคดีที่ออกฉายในปี 2016 เพื่อบอกเล่าเรื่องราวเบื้องหลังงานกาล่าสุดยิ่งใหญ่ของวงการแฟชั่นนามว่า MET Gala ซึ่งเมื่อนับมาถึงปีนี้ ก็ล่วงเข้าปีที่ 39 แล้วอย่างเป็นทางการ ที่งาน เมต กาล่า จัดขึ้นต่อเนื่องกันมา จากจุดเริ่มต้นในปี 1948 โดยสาวสังคมชั้นสูงคนสำคัญของวงการแฟชั่นฝั่งอเมริกาอย่าง Eleanor Lambert เป็นตัวตั้งตัวตีอยู่เบื้องหลังในการระดมทุนช่วยเหลือด้านหน่วยงาน พร้อมบูรณาการสถาบันเครื่องแต่งกาย The Costume Institute อันเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ The Metropolitan Museum of Art ในมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งในตอนแรกไม่ได้ถูกกำหนดให้จัดขึ้นทุกวันจันทร์ของเดือนพฤษภาคมแต่อย่างใด จนกระทั่งในปี 2005 ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น มีการกำหนดช่วงเวลาในการจัดงานให้ตรงกับการเปิดตัวชุดนิทรรศการใหม่ของพิพิธภัณฑ์ ประจำฤดูใบไม้ผลิ วลีศักดิ์สิทธิ์ที่กล่าวไปข้างต้นจึงเริ่มต้นทำงานนับแต่นั้น

     เมต กาล่า ถูกส่งต่อจาก Eleanor Lambert สู่มือของอดีบรรณาธิการนิตยสาร Vogue อย่าง Diana Vreeland ที่ทางสถาบันเครื่องแต่งกายเชิญเธอมานั่งแท่นเป็นประธานของงานกาล่าดังกล่าว หลังจากลาออกจากโว้กอเมริกา เธอจึงจัดการเปลี่ยนงานกาล่าดินเนอร์แสนธรรมดา ให้กลายเป็นงานกาล่าสุดยิ่งใหญ่ของวงการแฟชั่น ประทับตราความเล่นใหญ่ให้กับ เมต กาล่า ตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา ก่อนที่ในปี 1989 Anna Wintour จะเข้ามารับช่วงต่ออีกไม้ เป็นราชินีแห่งงาน เมต กาล่า อย่างเต็มตัว หลังจากที่ไดอานาเสียชีวิตลง ซึ่งในยุคของแอนนานี้เอง ที่กระแสของเมต กาล่า ก้าวกระโดดกลายเป็น Pop-Culture ในโลกแฟชั่นอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ แน่นอนว่าหนึ่งในปัจจัยของงานเมต กาล่า ที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนเมื่อเทียบอดีตและปัจจุบัน ก็เห็นจะหนีไม่พ้นราคาบัตรเข้างานจากราคาราว 800 ดอลลาร์สหรัฐเมื่อเริ่มต้น สู่ราคาบัตรราว 35,000 ดอลลาร์สหรัฐในตอนนี้ ส่งผลให้ในปีๆ หนึ่ง งานเมต กาล่า สามารถสร้างรายได้ให้กับสถาบันเครื่องแต่งกาย The Costume Institute ได้มากถึงเกือบ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

     ทั้งนี้จำนวนเงินสูงลิบลิ่วขนาดนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะมีสิทธิ์ในการเลือกที่นั่งดินเนอร์ได้ตามใจชอบ เพราะการวางหมากนั้นต้องปล่อยให้เป็นธุระของ แอนนา วินทัวร์ เท่านั้น ที่จะเป็นคนจัดที่นั่งให้กับแขกทุกคน ซึ่งปรากฏอยู่ในซีนหนึ่งของภาพยนตร์กึ่งสารคดีเรื่อง The First Monday in May ด้วยเช่นกัน ฉายภาพสะท้อนให้เห็นว่าการจัดที่นั่งในงานเมต กาล่า ไม่ใช่เรื่องง่าย ทว่าต้องคำนึงถึงเรื่องของคอนเน็กชั่นและผลประโยชน์ทางธุรกิจระดับปัจเจกบุคคลของแขกแต่ละคนด้วยเช่นกัน นั่นเองที่เป็นเรื่องที่หลายคนยังไม่เคยรู้ และทำให้โลกแฟชั่นน่าค้นหาขึ้นไปอีกขั้น เนื่องจากรายชื่อแขกคนสำคัญในงานนั้นมีความหลากหลาย ตั้งแต่เซเลบริตี้, ดีไซเนอร์ เรื่อยไปจนถึงสมาชิกราชวงศ์ อย่างเช่น ไดอาน่า อดีตเจ้าหญิงแห่งเวลส์ ก็เคยได้มีโอกาสมาเยือนงาน เมต กาล่า ในปี 1996 แล้วเช่นกัน

     ความน่าสนใจของงานเมต กาล่า ไม่ใช่เพียงแค่เม็ดเงินมหาศาลที่เข้ามาหมุนเวียนในอุตสาหกรรมศิลปะและแฟชั่นฝั่งอเมริกาเท่านั้น ทว่างานเมต กาล่า ยังเปรียบเป็นเหมือนสนามแห่งกลยุทธ์การโปรโมตแบรนด์แฟชั่นได้อย่างแยบคาย แบรนด์แฟชั่นระดับโลกหลายแบรนด์ตั้งตารอคอยวันจันทร์แรกของเดือนพฤษภาคมของทุกปี เพื่อจะใช้พรมแดงอันทอดยาวของงานเมต กาล่า เป็นพื้นที่โปรโมตผลงานของแบรนด์ โดยหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญก็คือ การลงสนามเดินพรมแดงด้วยตัวเองของเหล่าครีเอทีฟไดเร็กเตอร์แบรนด์ต่างๆ ที่จะควงคู่มากับเหล่ามิวส์คนสำคัญของแบรนด์ที่กำลังขึ้นหม้อ ณ เวลานั้นๆ เพื่อสร้างซีนผ่านแสงแฟลชของเหล่าช่างภาพพรมแดงที่พร้อมใจกันรัวชัตเตอร์อย่างไม่กลัวเกรงตั้งแต่ตะวันยังไม่ตกดินตามเวลาของสหรัฐอเมริกา และยังรวมไปถึงการแสดงของเหล่าคนดัง ที่เปลี่ยนพรมแดงเมต กาล่า ให้กลายเป็นโรงละครในชั่วพริบตา เพื่อแย่งซีนให้กลายเป็นที่พูดถึงในโลกออนไลน์ อย่างเช่นชุดเรืองแสงซินเดอร์เรลล่าของ Zendaya ในปี 2019 หรือการเล่นใหญ่เปลี่ยนถึง 4 ชุดตลอดทางเดินพรมแดงของ Lady Gaga ในปีเดียวกัน ในฐานะของประธานร่วมจัดงาน ซึ่งกลายเป็นธรรมเนียมสำคัญของงานเมต กาล่า ทุกปีไปแล้วเรียบร้อยว่า ในทุกๆ ปี แอนนา วินทัวร์ จะเลือกประธานร่วมจัดงาน หรือที่หลายคนเรียกติดปากว่า Co-Chairs เพื่อเป็นตัวแทนเพื่อนำเสนอธีมของงานในแต่ละปี ทั้งธีมงานนิทรรศการ และธีมการแต่งตัว ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในเรื่องสำคัญที่คนแฟชั่นรอคอย ที่ส่วนใหญ่แล้วก็จะลงเอยกับเหล่าคนดังจากวงการต่างๆ ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในตอนนั้น เพื่อสร้างแรงกระเพื่อมและดึงดูดให้คนทั่วโลกหันมาสนใจงาน เมต กาล่า ในแต่ละปี

     สำหรับปี 2024 นี้ ธีมงานนิทรรศการเมต กาล่า ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 6 พฤษภาคม 2024 จะใช้ชื่อว่า 'Sleeping Beauties: Reawakening Fashion' ที่ไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับตัวละครเจ้าหญิงนิทราของดิสนีย์แต่อย่างใด ทว่าธีมของงานเมต กาล่าปีหน้าหมายถึง เหล่าชุดแฟชั่นระดับตำนานบนหน้าประวัติศาสตร์ที่เปราะบางเกินกว่าจะถูกนำมาสวมใส่อีกครั้ง และต้องหลับใหลอยู่ใน The Metropolitan Museum of Art มาเนิ่นนาน ซึ่งนิทรรศการในงานเมต กาล่า ปี 2024 นี้จะนำเสนอผลงานชิ้นประวัติศาสตร์เหล่านั้นกว่า 250 ชิ้น โดยคัดจากผลงานจัดแสดงถาวรของพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน ตั้งแต่ผลงานที่ถูกตัดเย็บในช่วงศตวรรษที่ 17 ในยุคทองของราชินีเอลิซาเบธที่ 1 เรื่อยมาจนถึงชุดกาวน์สุดไอคอนิกของ Christian Dior อย่าง Junon และ Venus และอีกมากมาย ที่จะสะท้อนประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 400 ปีของอุตสาหกรรมแฟชั่น โดยไฮไลต์ของนิทรรศการครั้งนี้จะแบ่งเป็น 3 โซนจัดแสดงหลัก นั่นคือ โซนผืนดิน, โซนผืนน้ำ และโซนท้องฟ้า อิงตามวัสดุที่ใช้ตัดเย็บ ร่วมด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำให้นิทรรศการน่าตื่นตามากยิ่งขึ้น และสร้างความเซอร์ไพรส์ด้านวิชวลให้กับผู้ชม พร้อมเปิดให้ชมตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2024 เป็นต้นไป



WATCH




ภาพ : จินาภา ฟองกษีร

WATCH