LIFESTYLE
'Tone Policing' อุปสรรคขัดขวางการพูดความจริงที่สะท้อนจากภาพยนตร์ Don't Look Upบางครั้งคนไทยอาจจะคลุกคลีอยู่กับ Tone Policing ตลอดเวลา แต่อาจแค่ไม่รู้ว่ามันถูกใช้เพื่อรักษาความสวยงามอย่างที่ควรจะเป็นหรือไม่ |
ถ้าพูดถึงภาพยนตร์ที่มาแรงที่สุดตั้งแต่ช่วงปลายปี 2021 จนถึงช่วงเปิดปี 2022 ก็คงหนีไม่พ้น Don’t Look Up ภาพยนตร์ตลกร้ายที่รวมเอานักแสดงชั้นนำระดับโลกมารวมตัวกันมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Leonardo DiCaprio, Jennifer Lawrence, Jonah Hill, Meryl Streep, Cate Blanchett และ Timothée Chalamet ด้วยลิสต์นักแสดงคับคั่งขนาดนี้ทำให้ภาพยนตร์ได้รับการจับตามองอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางการเล่าเรื่องและการดึงศักยภาพของนักแสดง โจทย์หลักคือจะทำอย่างไรให้พวกเขาเหล่านี้ดึงความโดดเด่นของบทออกมาถ่ายทอดได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีใครด้อยกว่าใคร
ประเด็นสำคัญของเรื่องคือการพูดถึงภัยพิบัติพร้อมกับการรับมือของรัฐ ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้ความตลกยียวนมาล้อเลียนเสียดสีการทำงานของรัฐที่มุ่งเน้นแต่เรื่องผลประโยชน์ คะแนนเสียง และเมินเฉยต่อปัญหาบางอย่างที่แท้จริงมันช่างหนักหนาสาหัสเสียเหลือเกิน การหยิบประเด็นรูปแบบดังกล่าวมาถ่ายทอดให้เหนือจริงขึ้นด้วยปัญหาดาวหางชนโลก การเปรียบเปรยดังกล่าวทำให้เห็นภาพว่าปัญหามันยิ่งใหญ่จริงๆ เพราะมันถึงขนาดทำให้เกิดการสูญพันธุ์ได้เลย แต่ประเด็นที่เราจะพูดถึงการในวันนี้ ไม่ใช่รายละเอียดเนื้อเรื่องทั้งหมด แต่เป็นการชูประเด็นเกี่ยวกับการใช้คำพูดและกรอบบางอย่างที่ปิดกั้นไม่ให้ผู้คนรับรู้ความจริง หรือปฏิเสธความจริงไปอย่างหน้าตาเฉย
“พูดไม่น่าฟัง หรือแค่ไม่อยากได้ยิน” บางครั้งสาระสำคัญของเนื้อหาอาจถูกกลบไปอย่างสิ้นเชิงเมื่อมีแนวคิดหรือผลประโยชน์เข้ามาสอดแทรกระหว่างการสนทนา ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเสมอเมื่อ “ความโลภบังตา” โลภในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่เรื่องเงินหรือทรัพย์สินโดยตรงอย่างเดียวเท่านั้น แต่หมายถึงความต้องการผลประโยชน์บางอย่างจนล้นฟ้าเสียจนละเลยปัญหาที่ใหญ่เกินจะรับมือ อย่างเช่นประธานาธิบดีที่มองเห็นเรื่องโลกแตกเป็นเรื่องไม่เร่งด่วนเมื่อเทียบกับการเรียกคะแนนนิยมระหว่างการเลือกตั้ง อีกทั้งยังมองว่าการพูดของ Dr.Randall Mindy นั้นช่างไม่น่าฟัง ตะกุกตะกักและเต็มไปด้วยข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ หรือแปลง่ายๆ คือเขาพูดไม่ค่อยจะรู้เรื่อง ดังนั้นนี่เป็นขั้นแรกที่ทำให้ทีมค้นพบดาวหางที่พุ่งตรงมายังโลกถูกตีกรอบด้วยทักษะการสนทนา แทนที่จะได้รับความสนใจในเรื่องสำคัญๆ มากกว่า
WATCH
Kate Dibiasky กับความฉิบหายในการออกรายการโดยไร้การควบคุม ในทำเนียบขาวเธอแย่งซาแน็กซ์ (ยากล่อมประสาทชนิดหนึ่ง) จากศาตราจารย์ได้สำเร็จ แต่เมื่อมาออกรายการทีวีครั้งแรกเธอไม่ได้รับประทานยาตัวนี้แต่อย่างใด และด้วยกังวลและเครียดสะสมเรื่องดาวหางพุ่งชนโลก เธอจึงระเบิดอารมณ์ออกมา ทั้งๆ ที่สิ่งที่เธอพูดมันเป็นความจริง ความต้องการ และชี้ให้ทุกคนตระหนักถึงเรื่องใหญ่ระดับจักรวาล แต่เธอกลับโดนประเด็นเรื่อง Tone Policing เสียอย่างนั้น เธอกลายเป็นมีม กลายเป็นคนไม่น่ารัก พูดจาไม่น่าฟังอย่างยิ่ง และสิ่งสำคัญคือมันทำให้ทุกคนเมินเฉยต่อปัญหาไปอย่างน่าตกใจ เมื่อเทียบกับ Riley Bina นักร้องสาวสุดฮอต เธอคนนี้ใช้คำพูดอ่อนโยนต่อหน้ากล้อง ทั้งๆ ที่เรื่องที่จะพูดมันช่างไร้สาระและไม่ได้มีประโยชน์อะไรเท่าไหร่นัก แต่กลับมีคนฟัง เพราะอะไร คำตอบง่ายๆ ก็คือสังคมยังผูกติดอยู่กับ Tone Policing กันมาโดยตลอด
แล้ว Tone Policing คืออะไรกันแน่ อธิบายอย่างง่ายคือการเมินเฉยต่อสาระสำคัญของผู้พูด เพราะการแสดงออกที่ไม่สุภาพหรือเต็มไปด้วยอารมณ์ สิ่งนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและกลายเป็นกรอบที่ถูกตีขึ้นเพื่อรักษาฉากหน้าอันดีงามในการสนทนาระหว่างกัน ตั้งแต่ระดับบุคคลสู่บุคคล ไปจนถึงรัฐต่อรัฐ ดังนั้นเมื่อผู้ถูกกดขี่ ผู้เรียกร้อง หรือผู้ที่วิตกกังวลกับปัญหาพยายามพูดในสิ่งที่เกิดขึ้น ประท้วงในความอยุติธรรม หรือแม้แต่ชี้ทางสว่างทางใหม่ แต่เมื่อมันมาพร้อมกับอารมณ์หรือความไม่สุภาพบางอย่าง สาระสำคัญจะถูกโยนทิ้งและกลายเป็นว่าพวกเขาก็จะถูกขังอยู่ในกรอบความสุภาพเดิมๆ ที่เป็นกับดัก ซึ่งอาจส่งผลให้คนไม่เห็นปัญหา หรือไม่เปิดกว้างต้อนรับการพัฒนาใหม่ๆ
อีกหนึ่งเหตุการณ์คือการที่ด็อกเตอร์มินดี้ต้องกลับไปรายการสัมภาษณ์สดอีกครั้งหนึ่ง หลังจากครั้งที่แล้วเขาควบคุมอารมณ์ได้และกลายเป็นที่รักของผู้ชม มาครั้งนี้เขาระเบิดอารมณ์จากการถูกกดขี่ เมินเฉย และกลายเป็นส่วนเกินในความลักลั่นเชิงบริหารของรัฐบาล ด็อกเตอร์มินดี้ระเบิดอารมณ์พูดจากระโชกโฮกฮากเต็มไปด้วยอารมณ์ฉุนเฉียว คำพูดรุนแรงและเหมือนกับพยายามโน้มน้าวให้คนเชื่อในความจริงที่เขาพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์มาแล้ว นี่เป็นอีกครั้งที่ตัวละครในเรื่องนี้ติดกับดัก Tone Policing ผู้มีอำนาจใช้กลไกนี้ในการจัดการพลังต่อต้านและสร้างความชอบธรรมให้ตัวเองด้วยการสื่อสารแบบขั้วตรงข้าม เหล่านักการเมืองก็พยายามจัดสรรข้อมูลอย่างประณีต ก่อนจะนำเสนออย่างสวยหรู สุภาพน่าฟัง ทั้งๆ ที่แก่นของเรื่องมันควรจะเอนเอียงไปอีกฝั่งมากกว่าแต่ดันมาติดกับดักแนวคิดการสื่อสารด้วยความอ่อนโยนเสียก่อน ดังนั้น Don’t Look Up จึงเป็นภาพยนตร์ที่ตีแผ่แนวทางการใช้ Tone Policing เป็นเครื่องมือในการจัดการสังคมของผู้มีอำนาจ และแสดงให้เห็นถึงกลไกการทำงานของมัน รวมถึงผลกระทบในหลายมุมมองอีกด้วย
แล้ว Tone Policing ในประเทศไทยเป็นอย่างไร เรื่องนี้ต้องบอกว่าแทรกซึมอยู่ในสังคมไทยมาเป็นเวลานานแล้ว แนวคิดเชิงอำนาจต่างๆ ผูกติดกับความอ่อนน้อมอ่อนโยนเสมอ คำพูดที่แสดงถึงเนื้อหาสำคัญมักถูกตีกรอบให้ออกมาในรูปแบบความสุภาพตามขนมธรรมเนียมเท่านั้น สังคมไทยจึงเป็นสังคมที่เมื่อมีปัญหาหรือใครก็ตามถูกบีบรัด และต้องการระบายสิ่งนั้นออกอย่างตรงไปตรงมาก็มักจะถูกดักด้วยกลไก Tone Policing เสมอ การพูดเพราะ การถ่อมตน และอื่นๆ อีกมากมายถูกนำมาเป็นสาระสำคัญแทน และตัวสาระสำคัญของเนื้อหากลายเป็นสิ่งที่โดนบดบังอยู่บ่อยครั้ง นั่นอาจกำลังบอกได้ว่ายิ่งสังคมไหนมีรูปแบบวัฒนธรรมที่อ่อนช้อยสวยงามก็ยิ่งมีโอกาสที่ Tone Policing จะแทรกตัวอย่างแนบเนียนได้ตลอดเวลา ผู้คนค่อยๆ หล่อหลอมกันด้วยกรอบแห่งความดีความงาม และการใช้เหตุผลที่พ่วงมาด้วยกัน แต่ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ต้องถามกลับไปว่า เมื่อผู้คนมีอารมณ์และเริ่มไม่สุภาพ พวกเขาต้องเผชิญกับอะไร ถูกกดขี่อย่างไร และทำไมถึงต้องแสดงออกอย่างหนักแน่นและเกรี้ยวกราดเช่นนั้น บางครั้ง Tone Policing อาจจะดีในแง่การถกเถียงเชิงวิชาการ การประชุม หรือการอภิปรายเชิงลึก แต่ในอีกมุมหนึ่งมันคือกับดักร้ายที่คอยขัดขวางการเปิดปากพูดอะไรบางอย่างที่เป็นข้อเท็จจริงหรือการท้าพิสูจน์ สำหรับ Don’t Look Up ประเด็นนี้ไม่ใด้เหนือจริงเกินไปนัก เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้เสียดสีล้อความจริงของสังคมได้อย่างเจ็บแสบดีเชียว
WATCH