เจาะนัยยะซ่อนเร้นจากซีรีส์ Squid Game ที่ความระยำตำบอนของชีวิตสร้างความสนุกสุดโหดร้าย
ชนชั้น กับดักชีวิต สัญลักษณ์ทางสังคม และความเป็นมนุษย์ ทั้งหมดผสมผสานกันในซีรีส์เรื่องนี้อย่างลงตัว
ถ้ามีซีรีส์สักเรื่องที่เข้าขั้น “ต้องดู” ในเดือนกันยายน 2021 ซีรีส์เกาหลีเรื่อง “Squid Game” นั้นถือว่าเป็นซีรีส์เรื่องเยี่ยมที่พลาดไม่ได้จริงๆ เพราะความสนุกแบบเข้าใจง่าย ตัวละครเองก็มีมิติที่ลงลึกพอสมควรแต่ก็ไม่ได้ขายดราม่าจนเกินไป เรียกว่าเป็นเหมือนอาหารจานเดี่ยวที่พร้อมเสิร์ฟความอร่อยแบบไม่ต้องปรุงหรือมีพิธีรีตองในการรับประทานอะไรมากมาย ทว่าเรื่องราวภายใต้ความสนุกแสนเรียบง่ายนั้นกลับซ่อนความหมายในการสะท้อนสังคมบางอย่างไว้ได้แนบเนียนจนเราเสพความบันเทิงพร้อมซึมซับมันไปโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว
“เกมแห่งความหวัง” หลายครั้งเรามักเห็นการแข่งขันหลายต่อหลายอย่างพ่วงมาด้วยความหวังเสมอ การลงมือทำอะไรสักอย่างหนึ่งล้วนคิดถึงผลลัพธ์อันแสนคุ้มค่าเสมอ สำหรับ Squid Game ก็สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเหล่าตัวละครเลือกเล่นเกมชีวิตจากคำชักชวนอันน่าสนใจของผู้มีความน่าเชื่อถือ(หรืออาจจะทำให้ดูน่าเชื่อถือเพราะลักษณะดูเป็นคนชนชั้นที่เหนือกว่าทางสังคม) เกมที่เล่นตอนเด็กๆ จึงกลายเป็นเครื่องมือสร้างความสนุกให้กับซีรีส์ แต่กำลังจะสร้างหายนะให้กับชีวิตของเหล่าผู้ร่วมเข้าแข่งขัน
ชีวิตในโลกทุนนิยมต้องใช้เงินเพื่อทำทุกสิ่งทุกอย่าง และต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อให้ได้เงินนั้นมาอีกครั้ง เพราะฉะนั้นเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นจากความต้องการของตัวละครหลัก รวมถึงตัวละครอีกหลายตัวที่บ่งบอกว่าต้องใช้เงินเพื่อสนองความต้องการหรือความจำเป็นแก่ชีวิต เด็กน้อยในเรื่องเปรียบดั่งสิ่งบริสุทธิ์ที่ยังไม่แปดเปื้อนกับอำนาจเงิน ยังอยู่กับความเรียบง่าย มีความสุขด้วยความรู้สึก ความสบายใจ หรือแม้แต่ความโปรดปราน ไม่ต้องกินอาหารหรู ไม่ต้องมีของขวัญเลิศเลอ สิ่งบริสุทธิ์เหล่านั้นต้องการเพียงความรัก ทว่าผู้ใหญ่หลายคนที่จนมุมเขาเลือกวิธีแสนง่ายดายเพื่อให้ได้มาซึ่งเงิน ในเรื่องนี้ใช้ตัวอย่างของการเล่นเกมเรียลิตี้ การขโมย รวมถึงการพนัน
WATCH
ผู้คนชนชั้นรองในสังคมทั้งบาดหมางและช่วยเหลือกันเอง ความขัดแย้งตรงนี้ผู้สร้างเก็บรายละเอียดมาให้เห็นอย่างชัดเจนและน่าสนใจอย่างยิ่ง การใช้เงินของคนที่ไม่เคยมีตรงตามคำเปรียบเปรยว่า “สามล้อถูกหวย” เหล่าตัวละครชนชั้นรองล้วนหยิบจับง่ายก้อนใหญ่ด้วยการใช้มันอย่างสุรุ่ยสุร่าย ในขณะเดียวกันก็ใช้ไปกับการช่วยเหลือเพื่อนร่วมโลกด้วย เพราะพวกเขามองว่าการมีโอกาสอันน้อยนิดในชีวิตมันช่างหนักหนาสาหัสเพียงใด ในอีกมุมหนึ่งพวกเขาก็ต้องทะเลาะบาดหมางกันเพราะทรัพยากรมันมีจำกัดจำเขี่ย พวกเขาต้องแย่งชิงเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น ทรัพยากรจากยอดพีระมิดไม่เคยส่งลงถึงฐานแต่อย่างใด เงินถูกป้อนเข้าระบบเพียงเพื่อดำรงระดับชนชั้นให้คงอยู่ ผู้ใดได้ครองทรัพยากรในชนชั้นรองของสังคมก็มักหาประโยชน์ด้วยการปล่อยกู้หรือใช้เงินหลอกล่อเพื่อหาประโยชน์แอบแฝง พร้อมทั้งเตรียมใช้กำลังตอบสนองความบาดหมางอยู่ร่ำไป
ชีวิตกับการหลุดพ้นมนุษย์จะเลือกอะไร ซีรีส์นี้ตั้งคำถามได้ตั้งแต่ช่วงแรก หลายครั้งคนเราก็มองว่าชีวิตมันไม่ใช่สิ่งของใช้แลกเปลี่ยนกับเงินตรา ทว่าอีกมุมมองหนึ่งคนเหล่านี้ต้องการปลดล็อคชีวิตในนรกบนดินแบบที่เป็นอยู่ก็ต้องแลกมาด้วยชีวิต เพราะฉะนั้นความดำมืดในสังคมแห่งโลกความเป็นจริงก็สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เวลาคนไร้โอกาสและหมดหนทางพวกเขาก็ต้องยอมแลกทุกอย่างแม้กระทั่งชีวิตเมื่อรู้สึกว่าข้อเสนอใดก็แล้วแต่มัน “คุ้ม”
กรอบแนวคิดอันทันสมัยทำให้การกดขี่ดูชอบธรรมมากขึ้น แน่นอนว่ากลไกที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ทั้งหมดตีกรอบให้ผู้ด้อยโอกาสทางสังคมต้องติดกับดักเกมนี้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่ทำให้คนเหล่านั้นรู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรม ไม่โดนเอาเปรียบ หรือแม้แต่ทำให้คนภายนอกว่าสังคมมันไม่ได้บิดเบี้ยว เพราะถ้ามันไม่เป็นธรรมผู้มีอำนาจจะเสนอทางที่แสนดูดี(หรือแค่ดูดีเพียงฉากหน้า)ได้อย่างไร ประชาธิปไตยในกลุ่มย่อยและการรับฟังความเห็นเรื่อยไปจนถึงการทำตามสัญญาไม่ใช่ความเป็นธรรมที่แท้จริง แต่ชนชั้นปกครองเลือกใช้มันเป็นเครื่องมือปิดบังความเลวร้ายเชิงระบบที่พวกเขาออกแบบไว้อย่างถี่ถ้วนต่างหาก ยิ่งคนใต้อำนาจปกครองพยายามหนี พยายามตั้งคำถามก็จะถูกกำจัดไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หรือถ้าพวกเขาปฏิเสธโอกาสที่ดูสวยงามจากเม็ดเงินมหาศาลก็สูญสลาย ต้องกลับไปใช้ชีวิตอันโหดร้ายเช่นเดิม สุดท้ายก็กลับมาสู่กับดักทางความคิดที่ปฏิเสธไม่ได้นี้อยู่วันยังค่ำ
สัญลักษณ์ในเรื่องนี้ถือว่าเข้าใจได้ไม่ยากและสร้างความรู้สึกร่วมได้อย่างดี ชุดสูท แก้ววิสกี้ ดนตรีแจ๊ส เก้าอี้หนัง เป็นเหมือนสัญญะของเหล่าชนชั้นสูงที่ควบคุมทุกอย่าง ทำชีวิตของคนชนชั้นรองผู้แทบไม่มีโอกาสในชีวิตเป็นเหมือนเกมสุดสนุกที่เจ้าของเกมพร้อมควบคุมทุกสถานการณ์ กลับกันหน้าตาเลอะเทอะชุดวอร์มสำหรับเข้าแข่งขันและเตียงนอนในรูปแบบซ้อนชั้น แสดงถึงความเป็นชนชั้นรอง หรือแม้แต่อาหาร การเอ่ยถึงสหรัฐอเมริกา ซึ่งมุมมองดังกล่าวสะท้อนความแตกต่างระหว่างคน 2 กลุ่ม(การไปต่างประเทศในมุมมองของแต่ละชนชั้นต่างกัน) ความภาคภูมิใจการเรียน ดีกรีนักเรียนนอก และการมีภาพลักษณ์ดีก็ถือเป็นกับดักความคิดที่คนในสังคมถูกหล่อหลอมระบบความคิดมาอย่างหนักแน่น มากไปกว่านั้นยังลึกซึ้งถึงขนาดผู้บงการหรือผู้ควบคุมมักเป็น Anonymous หรือบุคคลไร้ตัวตนเสมอ เพราะการเปิดเผยตัวตนอาจเป็นภัยทำให้ระบบสั่นคลอนได้ เรื่องนี้สามารถแสดงให้เห็นผ่านการใช้สัญลักษณ์ทั้งหลายได้ยอดเยี่ยมจริงๆ
ทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นเรื่องระบอบความคิดของเรื่องชนชั้นที่ทำให้เกิดเกมชีวิตนี้ขึ้นมา ความระยำตำบอนในชีวิตสามารถสร้างปีศาจทางความคิดครอบงำให้ยอมแลกกับสิ่งจำเป็นเสมอ(ในเรื่องนี้คือเงิน) “เกมง่ายๆ ใครๆ ก็ผ่านได้” หรือ “เล่นมาตั้งแต่เด็ก” สิ่งนี้ไม่ได้การันตีได้เลยว่าพออยู่ในสภาวะสุดกดดันทุกคนจะผ่านไปได้ดั่งใจคิด บทความนี้ยกตัวอย่างจากซีรีส์ในช่วงแรกเท่านั้น ดังนั้นใครอยากติดตามความสนุกที่เต็มไปด้วยแง่คิดอันลึกซึ้งแต่ไม่ได้มีเนื้อหนักเกินกว่าจะเสพต้องห้ามพลาดซีรีส์เรื่องนี้เป็นอันขาด
WATCH