LIFESTYLE
THE MOST HATED MAN ON THE INTERNET ความระยำที่ทำให้เห็นว่า Victim Blaming น่ากลัวแค่ไหนระบบกลไกความคิดที่คอยโทษเหยื่อคือองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ชายผู้อยู่เบื้องหลังเรื่องเลวทรามลอยหน้าลอยตาแบบไม่เกรงกลัวอะไรเลย |
การสร้างสรรค์ผลงานสารคดีสักเรื่องต้องหมั่นทำการบ้านไปจนถึงรากลึกของเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหลักฐาน ข้อมูลการสัมภาษณ์ มุมมองความคิดเห็น รวมถึงทำความเข้าใจบริบทสังคมช่วงนั้นด้วย ซีรี่ส์สารคดีเรื่อง “THE MOST HATED MAN ON THE INTERNET” คือสารคดีเรื่องใหม่บนเน็ตฟลิกซ์ที่ตีแผ่กลไกการทำความผิดอันมาพร้อมกับความอวดดีของชายคนหนึ่งนามว่า “Hunter Moore” แต่เรื่องราวนี้กลับได้รับความสนใจแบบกลับด้าน ผู้คนที่ได้รับความเดือดร้อนอาจต้องปิดปากเงียบ และผู้กระทำการสุดโหดร้ายสามารถลอยตัวและใช้ชีวิตได้อย่างสนุกสุดเหวี่ยง
อ่านเรื่องราวของ Cyber Hell สารคดีเปิดขุมนรกการล่วงละเมิดทางเพศออนไลน์ของเกาหลีที่บีบหัวใจที่สุดได้ ที่นี่
ภาพ: Rolling Stone
ฮันเตอร์คือเจ้าของเว็บไซต์ IsAnyoneUp.com ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์เลื่องชื่อที่มุ่งเน้นให้คนนำภาพอนาจารของใครก็ตามมาโพสต์ ไม่ได้เพื่อแค่สนองตัณหาความใคร่ แต่ยังสนองความต้องการล้างแค้นหรือบูลลี่อย่างสนุกสนาน หรือที่เรียกกันว่า “Revenge Porn” ภาพลามกของทุกเพศถูกนำมาโพสต์ไม่ใช่เพื่อให้ทุกคนชมความงดงามของเรือนร่างหรือท่วงท่าการมีเพศสัมพันธ์ แต่มันถูกออกแบบมาเพื่อให้เจ้าของภาพอับอายขายขี้หน้า ณ ขณะนั้น เป็นช่วงปี 2011 ต่อ 2012 ยุคดิจิทัลยังไม่เฟื่องฟูเท่าปัจจุบัน อีกทั้งกลไกการมองสังคมก็ยังเป็นชุดความคิดเดิมๆ อยู่ ดังนั้นช่องโหว่ตรงนี้จึงสร้างพื้นที่บ่อนทำลายชีวิตคนบนอินเทอร์เน็ตได้อย่างโจ๋งครึ่ม
ความน่ากลัวคือฮันเตอร์พยายามใช้กลไก “มือสะอาด” เขาอ้างสิทธิ์ว่าที่เข้าเปิดเว็บแบบนี้ไม่มีใครสามารถเอาผิดได้ เพราะสุดท้ายคนเลวก็เป็นคนอัปโหลด เจ้าของเว็บไซต์เป็นเพียงพื้นที่สาธารณะเท่านั้น แน่นอนเขาหารายได้จากโฆษณาหน้าเว็บที่มีผู้ชมเข้ามาชมภาพส่วนตัวของผู้เคราะห์ร้าย แต่อะไรทำให้ไม่มีใครกล้ากระโดดข้ามลวดหนามแห่งความเจ็บปวดบนโลกออนไลน์มาเอาเรื่อง นอกจากหนุ่มมั่นหน้าจะทำท่าทีเป็นคนหยิ่งผยองไม่สนใจโลกแล้ว เขายังใช้วิธีการข่มขู่และถ่มถุยคำสกปรกเยาะเย้ยจนกลายเป็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นดูจะเป็นเรื่องปกติไปเสียอย่างนั้น
ภาพ: Netflix
อะไรน่ากลัวกว่าฮันเตอร์...ตอบได้อย่างรวดเร็วเลยว่ามุมมองต่อเรื่องความเป็นส่วนตัวและความเชื่อมโยงกับโลกอินเทอร์เน็ตในขณะนั้น รูปมากมายถูกอัปโหลดขึ้นโดยมีที่มาจากรูปส่วนตัวที่ชายหญิงใช้ส่งของลับให้กัน การแก้แค้นแบบนี้จึงถูกขนานนามว่าเป็น “Revenge Porn” เพราะฉะนั้นฮันเตอร์และอีกหลายคนในสังคมมองว่าเพราะพวกเขาและเธอ “โง่” เกินไป และส่งสิ่งที่ไม่ควรส่งไปบนโลกออนไลน์ไม่ว่าจะช่องทางส่วนตัวแค่ไหนก็ตาม ถึงขั้นมีรายการโทรทัศน์ของสหรัฐฯ ที่ออกมาให้ความเห็นประมาณว่าไม่ว่าจะเป็นช่องทางส่วนตัวแค่ไหน การกระทำแบบนี้ก็เป็นสิ่งโง่เขลาอยู่ดี
แนวคิดแบบนี้รู้จักกันดีในนาม “Victim Blaming” หรือการโทษเหยื่อ เมื่อก่อนเราจะเห็นความคิดเห็นกระแสหลักเอนเอียงไปทางว่าเหยื่อเป็นผู้ผิดพลาด ยกตัวอย่างเช่นการข่มขืนที่เคยถูกตีตราว่าเหยื่อก็มีส่วนสำคัญ โดยความคิดเหล่านี้ก็เปลี่ยนไป เพราะการโทษเหยื่อไม่ใช่ทางออกและเหยื่อเองก็มีสิทธิ์ในร่างกายรวมถึงสิ่งใดก็ตามที่บ่งบอกตัวตนของตัวเองด้วยเช่นกัน เรื่องนี้มีพล็อตคล้ายกันว่าสุดท้ายแม้เหยื่อจะส่งภาพหรือเก็บรักษาและโดนขโมยไป เหยื่อไม่ควรถูกรุมกัดด่าว่าโง่ หรือเป็นส่วนสำคัญให้เกิดอาชญากรรม เพราะสุดท้ายกลไกแนวคิดแบบนี้กำลังปกป้องปีศาจที่ใช้ช่องโหว่ทางความคิดมนุษย์เป็นเครื่องมือในการบ่อนทำลายชีวิตคนแล้วคนเล่า
WATCH
ภาพ: Netflix Life
การโทษเหยื่อคือไพ่ไม้ตายที่ใช้ขัดคอเหยื่อไม่ให้ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อความยุติธรรม ความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ แต่สุดท้ายพวกเขาก็ยังเป็นเหยื่ออยู่ดี และการเป็นเหยื่อบนโลกออนไลน์นั้นโหดร้าย ทุกคนสามารถเข้ามาสาดสีสาดโคลนตามใจชอบแบบไม่ต้องเปิดเผยตัวตน บ้างก็ไล่ให้ไปตาย บ้างก็วิจารณ์โดยไม่สนความรู้สึก และปิดท้ายด้วยการตอกย้ำความเจ็บปวดด้วยคำว่า “โง่เอง” ทั้งหมดกลายเป็นมีดแหลมทิ่มแทงเหยื่อจนบางคนเลือกปลิดชีวิตตัวเองลงอย่างที่เคยเห็นข่าวกันอยู่บ่อยๆ ดังนั้นซีรี่ส์ชายผู้ที่โดนเกลียดมากที่สุดในอินเทอร์เน็ตกำลังนำเสนอคือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เห็นว่าระบบกลไกความคิดการโทษเหยื่อคือดาบเล่มแหลมที่บางคนใช้แทงคนอื่นแบบไม่รู้ตัว นอกจากนี้ซีรี่ส์ยังมีอีกหลายแง่มุมให้ทุกคนติดตาม ใครเป็นคอสารคดีที่ติดตามเรื่องราวสุดเข้มข้นและบอกเล่าผ่านผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์จริงๆ ต้องไม่พลาดบนเน็ตฟลิกซ์
WATCH