LIFESTYLE
มันใช่เหรอ! ภาพวาดหญิงสาวจากปี 1860 ถูกมองว่าบุคคลในภาพกำลังเลื่อนหน้าจอโทรศัพท์ทัชสกรีนการมองและตีความศิลปะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ผู้เชี่ยวชาญไม่ได้มองเรื่องนี้เป็นเรื่องไร้สาระ แต่เป็นการศึกษาพลวัตทางสังคม |
แวดวงศิลปะเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยความแปลกใหม่อยู่เสมอ แม้ผลงานบางชิ้นจะเก่าแก่มีอายุนับร้อยนับพันปี แต่การตีความหรือมุมมองต่อศิลปะก็ลื่นไหลไปตามพลวัตเสมอ ดังนั้นไม่แปลกถ้าจะมีแง่มุมแปลกๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และวันนี้ผลงานภาพวาด “The Expected One” ของ Ferdinand George Waldmüller คือผลงานล่าสุดที่ถูกนำมามองผ่านเลนส์ของคนยุคดิจิทัล และถูกแชร์จนเกิดเป็นกระแสไวรัลจากผู้หญิงในภาพที่ข้ามเวลามาจากอนาคต เพราะเธอทำท่าทางราวกับกำลังเลื่อนหน้าจอโทรศัพท์ทัชสกรีน ทั้งๆ ที่ภาพนี้ถูกวาดมาตั้งแต่ปี 1860
มันอาจจะฟังดูไร้สาระ แต่เมื่อศิลปะหลายชิ้นถูกมองว่าเป็นการคาดเดาและใช้จินตนาการละเลงผลงานผ่านลายเส้นของศิลปินคนนั้นๆ จึงไม่น่าแปลกใจที่ท่าทางบางอย่างจะทำให้คนแต่ละยุคสมัยใช้จินตนาการในการมองไม่เหมือนกันด้วย ผลงานชิ้นนี้ถูกแชร์เป็นเรื่องขำขันและแซวว่านี่อาจเป็นโทรศัพท์ทัชสกรีนเครื่องแรกของโลก แน่นอนล่ะว่าคนส่วนใหญ่ทราบดีว่านี่คือการหยอกล้อในแวดวงศิลปะ ไม่ใช่การกล่าวอ้างตามข้อเท็จจริง ทว่าเรื่องราวมันก็ใหญ่โตถึงขนาด Gerald Weinpolter ประธานกรรมการบริหารของเอเจนซี่ด้านศิลปะชื่อดังต้องออกมาพูดถึงเรื่องนี้อย่างจริงจัง
เจรัลด์อธิบายถึงภาพนี้ด้วยเหตุผล หลักการ และหลักฐานที่ปรากฏขึ้นในองค์ประกอบของงานชิ้นนี้ โดยเขาบอกว่าหญิงสาวในภาพของเฟอร์ดินานด์ไม่ได้กำลังเลื่อนหน้าจอโทรศัพท์ แต่เธอกำลังถือหนังสือสวดมนต์ขณะกำลังเดินกลับจากโบสถ์ ซึ่งถ้าสังเกตภาพนี้อย่างจริงจังจะพบว่ามีอาคารหลังหนึ่งอยู่ด้านหลัง ห่างออกไปไกลพอสมควร ซึ่งมีรูปร่างคล้ายกับศาสนสถาน ซึ่งด้วยท่าทางการถือประกอบกับการเดินทำให้เชื่อว่าหญิงสาวผู้นี้กำลังเดินกลับจากโบสถ์พร้อมกับหนังสือสวดมนต์ และในภาพยังมีชายหนุ่มผู้หนึ่งถือดอกไม้รอมอบให้กับเธออยู่
เรื่องนี้อาจดูเป็นเรื่องตลกขบขันไร้สาระ ทว่าผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะกลับมองต่างออกไป นี่คือกรณีศึกษาว่ามุมมองด้านศิลปะเปลี่ยนแปลงไปตามสังคมและสภาพแวดล้อม การตีความสิ่งที่เห็นในภาพก็เปลี่ยนไปเช่นกัน ในเมื่อศิลปินใช้จินตนาการในการสร้างสรรค์ผลงานได้ ผู้ชมก็มีสิทธิ์จะมองในมุมที่ต่างออกไปได้เช่นกัน ย้อนกลับไป 160 ปีก่อนทุกคนคงชี้ชัดว่านี่คือหนังสือสวดมนต์ แต่เมื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัล ท่าทางดังกล่าวดูเหมือนกริยาการใช้ชีวิตในโลกยุคนี้มากกว่า การเปิดใจและไม่รีบตัดสินของผู้เชี่ยวชาญแสดงให้เห็นว่าศิลปะเปิดกว้างเพียงใด เมื่อมองมันให้สนุกมันก็สนุกในแบบที่มันเป็น สุดท้ายแม้หลักการศึกษาศิลปะอาจจะแม่นยำ 99.9 เปอร์เซ็นต์ แต่สุดท้ายผู้ล่วงรู้เกี่ยวกับทุกอย่างในภาพนี้ก็คงเป็นเฟอร์ดินานด์คนเดียวเท่านั้น เช่นเดียวกับงานศิลปะทุกชิ้นที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมมีส่วนร่วมเสมอ แต่คนที่รู้ดีที่สุดก็คงเป็นเจ้าของผลงานชิ้นนั้นๆ
WATCH