LIFESTYLE

ทำไมบทเพลงของ The Beatles จึงยังเป็นอมตะแม้ผ่านกาลเวลานานกว่าครึ่งทศวรรษ

นับจากวันที่ The Beatles สิ้นสุดอย่างเป็นทางการจนถึงวันนี้เวลาก็ล่วงเลยมาครบ 50 ปีพอดิบพอดี อย่างไรก็ตามพวกเขากลับยังยิ่งใหญ่ เป็นวงดนตรีอันดับหนึ่งแบบที่ไม่มีใครสามารถทำได้

30 มกราคม ค.ศ. 1969 ท่ามกลางอากาศหนาว อุณหภูมิลดต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส แต่บนดาดฟ้าตึกสูง Apple Corps บริษัทค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ที่ตั้งอยู่ใจกลางมหานครลอนดอน ประเทศอังกฤษ ชายหนุ่ม 4 คนกลับปรากฏตัวขึ้นพร้อมเครื่องดนตรีชิ้นเก่งราวกับลมหนาวที่กำลังพัดโหมไม่สามารถทำอะไรพวกเขาได้ จากนั้นก็เริ่มบรรเลงเพลงด้วยท่วงทำนองแสนคุ้นหู ผลที่ตามมาคือผู้คนบนท้องถนนเบื้องล่างพร้อมใจหยุดทุกกิจกรรมในชีวิตและเงยหน้ามองดูพวกเขา จนเกิดเป็นความโกลาหลย่อมๆ ก่อนที่ทุกอย่างจะสิ้นสุดลงภายในระยะเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง

 

เหตุการณ์ด้านบนคือเหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์โลกดนตรี เพราะมันคือการแสดงสดครั้งสุดท้ายของ The Beatles ก่อนที่อีก 1 ปีต่อมา Paul McCartney จะออกมาประกาศว่าสมาชิก The Beatles ทุกคนได้แยกย้ายไปตามทางของตัวเองแล้ว เป็นการปิดตำนานสีเต่าทองวงดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 เมษายน ค.ศ.1970 นับจากวันที่ The Beatles สิ้นสุดอย่างเป็นทางการจนถึงวันนี้เวลาก็ล่วงเลยมาครบ 50 ปีพอดิบพอดี อย่างไรก็ตามพวกเขากลับยังยิ่งใหญ่ เป็นวงดนตรีอันดับหนึ่งแบบที่ไม่มีใครสามารถทำได้ แน่นอนว่ามีหลายปัจจัยที่ส่งให้ทั้ง 4 ขึ้นไปอยู่บนแท่นที่มีคำว่าตำนานจารึกเอาไว้ แต่ในครั้งนี้เราจะหยิบยกหนึ่งในปัจจัยสำคัญนั้นมาพูดถึง นั่นก็คือเรื่องของ “บทเพลง” พวกเขาสร้างสรรค์มันอย่างไรจึงยังเป็นอมตะแม้ผ่านกาลเวลานานกว่าครึ่งทศวรรษ

The Quarrymen วงดนตรีที่มี Paul McCartney, John Lennon, และ George Harrison เป็นสมาชิก จุดเริ่มต้นก่อนที่โลกจะรู้จักกับ The Beatles

 

สี่เต่าทองในจังหวะร็อกแอนด์โรลป๊อป

The Beatles คือวงดนตรีที่ถือกำเนิดอย่างเป็นทางการในปี 1960 แต่เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นก่อนหน้านั้นประมาณ 4-5 ปี จากการที่ John Lennon ที่ตอนนั้นวัยเพียง 16 ปี ได้รวบรวมกลุ่มเพื่อนในเมืองลิเวอร์พูลตั้งวงดนตรีขึ้นมา ในตอนแรกใช้ชื่อว่า The Quarrymen ซึ่งในจำนวนนั้นมี Paul McCartney  และ George Harrison รวมอยู่ด้วย อย่างไรก็ตาม The Quarrymen ก็เป็นเพียงวงดนตรีเล็กๆ ยังไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดัง จนกระทั่งจบการศึกษาชั้นมัธยม และขึ้นสู่มหาวิทยาลัย เหล่าเพื่อนๆ ต่างก็พากันแยกย้าย เหลือเพียงสมาชิกสี่เต่าทอง 3 คนเท่านั้นที่ยังยืนยันจะเล่นดนตรีกันต่อไป

 

John, Paul, และ George ได้มาพบเจอกับ Ringo Starr สมาชิกเต่าทองคนสุดท้ายในปี 1962 ที่เมืองฮัมบวร์ก ประเทศเยอรมัน และด้วยเหตุผลด้านฝีมือ รวมถึงความเหมาะสมกับภาพลักษณ์ของวง Brian Epstein และ George Martin บุคคลผู้มีส่วนสำคัญในการปลุกปั้นวงดนตรีวงนี้จึงได้ชวน ริงโก้ เข้ามาร่วมวง แทนที่ Pete Best ที่จำใจต้องออกจากวงไปอย่างเจ็บปวด เมื่อได้สมาชิกครบถ้วน ในปี 1963 The Beatles ก็ได้ปล่อยผลงานอัลบั้มแรกออกมาให้ชาวโลกได้ชื่นชมในชื่อ Please Please Me (1963) โดยอัลบั้มนี้เป็นเหมือนหมุดหมายแรกในการเริ่มต้นบอกเล่าเรื่องราวความยิ่งใหญ่ของ The Beatles ผ่านทางเสียงเพลง ไม่ใช่แค่ Please Please Me เท่านั้น แต่ยังรวมถึง With the Beatles (1963), A Hard Day’s Night (1964), Beatles for Sale (1964) และ Help! (1965) โดยทั้ง 5 อัลบั้มนี้ถึงจะไม่เหมือนกันเสียทีเดียว แต่ในภาพรวมมีความคล้ายคลึงกัน เป็นการแสดงอัตลักษณ์ทางดนตรีของ The Beatles ในยุคหนึ่ง ซึ่งเราขอเรียกมันว่า ‘The Beatles ยุคต้น’

The Beatles ยุคแรกก่อนที่ Ringo Starr จะเข้าเป็นสมาชิก

 

The Beatles เป็นวงดนตรีที่สร้างความโดดเด่นได้นับตั้งแต่เปิดตัว เพราะถึงแม้ในยุคนั้นจะพอมีวงดนตรีในลักษณะนี้เกิดขึ้นมาบ้างแล้วแต่ก็ยังไม่แพร่หลายนัก ส่วนใหญ่ศิลปินจะยังเป็นศิลปินเดี่ยว โดยมีวงดนตรีเป็นเพียงผู้สนับสนุนเท่านั้น อีกทั้ง The Beatles ยังเป็นวงดนตรีของเด็กหนุ่มหน้าตาดี แต่งตัวดี มักปรากฏกายในชุดสูท นอกจากนั้นเอกลักษณ์สำคัญของพวกเขาคือการแต่งเพลงเอง แตกต่างจากวงดนตรีทั่วไปในยุคนั้นซึ่งมักจะมีนักแต่งเพลงประจำวง

 

เมื่อภาพจำแรกของ The Beatles เป็นเช่นนี้ รวมถึงปรากฏการณ์ Beatlemania ที่เรามักจะได้เห็นกลุ่มแฟนคลับเพศหญิงพากันส่งเสียงกรี๊ดให้กับทั้ง 4 หนุ่มอย่างบ้าคลั่ง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้คนจะมองว่า The Beatles คือวงดนตรีแนวป๊อป ซึ่งก็ไม่ผิดนักเพราะบทเพลงของ The Beatles ในยุคแรกก็มีกลิ่นอายความป๊อปผสมอยู่จริงๆ อย่างไรก็ตามอีกหนึ่งกลิ่นอายที่เด่นชัดยิ่งกว่าความป๊อปคือ “ร็อกแอนด์โรล” ถึงจะไม่ใช่เซียนดนตรีหรือมีความรู้มากมาย แต่ก็น่าจะพอรู้ได้ว่า The Beatles ในยุคแรกนี้ได้รับอิทธิพลเรื่องดนตรีมาจากศิลปินร็อกแอนด์โรลในช่วงทศวรรษที่ 40-50 เช่น Buddy Holly, Chuck Berry หรือแม้กระทั่ง Elvis Presley เองก็ตาม เมื่อร็อกแอนด์โรลเข้ามาผสมผสานกับ “ทัศนคติวัยหนุ่ม” ของเหล่าสมาชิกสี่เต่าทอง ที่ในขณะนั้นยังอยู่ในวัยฉกรรจ์ อายุยี่สิบต้นๆ รวมถึง “แนวคิดธุรกิจดนตรีป๊อป” ของ Brian Epstein  ผู้จัดการวงคนแรก และผู้สร้างสรรค์ภาพลักษณ์ให้กับ The Beatles ผลลัพธ์ที่ได้จึงออกมาเป็นผลงานเพลงใน 5 อัลบั้มแรกให้ทุกคนได้สดับรับฟังกัน

 

กล่าวคือถึงแม้บทเพลงของ The Beatles ในยุคแรกจะมีความเป็นร็อกแอนด์โรล มีการปรับเสียงกีตาร์ให้แตก มีริฟฟ์ที่โดดเด่นติดหู ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเพลงแนวนี้ แต่ในแง่ของเนื้อหานั้น เหล่าสมาชิก The Beatles ซึ่งนำโดย John, Paul, และ George  กลับเลือกที่จะหยิบจับประเด็นง่ายๆ ใกล้ตัวเช่นความรักของหนุ่มสาวมาบอกเล่าผ่านท่วงทำนอง มากกว่าจะเป็นประเด็นเชิงสังคมอย่างที่ศิลปินร็อกแอนด์โรลยุคก่อนนิยม เนื่องจากในตอนนั้นพวกเขายังเป็นเพียงเด็กหนุ่มธรรมดา ที่ยังไม่ได้มีการมองโลกลึกซึ้ง หรือตกผลึกเรื่องราวในมิติที่ต่างออกไป และเมื่อรวมกับฉากหน้าที่เคลือบไว้ด้วยหน้าตาอันหล่อเหลา ชุดสูท ทรงผม Mop Top ดังนั้นถ้าเราจะนิยามบทเพลงของ The Beatles ในยุคแรก ว่าเป็น “ร็อกแอนด์โรลป๊อป” ก็คงไม่ผิดนัก จนกระทั่งการมาถึงของอัลบั้ม Rubber Soul…



WATCH




The Beatles ในช่วงแรกที่โดดเด่นด้วยร็อกแอนด์โรลป๊อป

 

การทดลองที่แหวกขนบดนตรีทั้งปวง

อาจจะกล่าวได้ไม่เต็มปากนักว่าอัลบั้ม Rubber Soul (1965) คือจุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลงในเรื่องแนวเพลงของ The Beatles เพราะในอัลบั้มนี้ก็ยังคงมีกลิ่นอายความเป็นร็อกแอนด์โรลป๊อปอยู่พอสมควร เพียงแต่มันเป็นร็อกแอนด์โรลป๊อปที่มีความสดใสน้อยลง แทนที่ด้วยห้วงอารมณ์ความรู้สึกที่ลึกซึ้งขึ้น เข้าถึงได้ยากขึ้น และมีการนำเครื่องดนตรีจากต่างประเทศเข้ามาผสมผสาน แต่เมื่ออัลบั้มลำดับที่ 7 อย่าง Revolver (1966) มาถึง นั่นแหละเราถึงจะพูดได้เต็มปากว่า บทเพลงของ The Beatles ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

 

มนุษย์ทุกคนใช้ชีวิตอยู่กับความเปลี่ยนแปลงและการแสวงหาสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา The Beatles เองก็เช่นเดียวกัน หลังจากที่ 5 อัลบั้มแรกวางจำหน่ายออกไป สิ่งที่ตามมาคือความสำเร็จ พวกเขาคือ “กลุ่มคนที่โดนทั้งโลกอิจฉา” เพราะไม่ว่าจะชื่อเสียง เงินทอง หน้าตา ฐานะทางสังคม เรียกว่าพวกเขามีพร้อมสมบูรณ์ทุกอย่าง ดังนั้นสิ่งที่ตามมาคือความเบื่อหน่ายและอยากเริ่มต้นแสวงหาสิ่งใหม่ๆ แน่นอนว่ารวมถึงเรื่องแนวเพลงด้วย เริ่มต้นจากการเดินทางไปอินเดียเพื่อศึกษาร่ำเรียนวิชาเครื่องดนตรีพื้นบ้านชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “ซีตาร์” กับ Ravi Shankarปรมาจารย์ชาวอินเดีย ของ George Harrison ทำให้หลังจากอัลบั้ม Rubber Soul (1965) เป็นต้นมา มีหลายต่อหลายเพลงที่มีการบรรเลงซีตาร์ผสมเข้าไปกับท่วงทำนอง ตัวอย่างเช่นในเพลง Norwegian Wood โดยเสียงของซีตาร์นั้นมีความกังวานเศร้าอยู่ในตัว มันจึงส่งผลต่ออารมณ์ของเพลง The Beatles โดยตรง

 

ในขณะที่ John และ Paul ซึ่งเป็นนักดนตรียอดฝีมืออยู่แล้วก็ได้ทดลองออกเดินทางในเส้นทางใหม่ๆ บนถนนแห่งท่วงทำนองดนตรี อีกทั้งการเข้ามามีอิทธิพลของ Yoko Ono ศิลปินแนว Conceptual Art อดีตสมาชิก The Fluxus Group วงดนตรีแนวทดลองจากมหานครนิวยอร์ก ผู้เป็นคู่รักของ John ก็มีส่วนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเช่นกัน ถึงแม้ว่าเธอจะถูกกล่าวหาว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ The Beatles ต้องยุติบทบาทในฐานะวงดนตรีก็ตาม

The Beatles เมื่อครั้งเดินทางไปยังประเทศอินเดีย

 

โยโกะ มาพร้อมกับแนวคิดแบบ อาว็อง-การ์ด (Avant-garde) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ปฏิเสธแนวทางและสุนทรียะต่อศิลปะและความบันเทิงแบบเก่าอย่างสุดขั้ว ให้ความสำคัญกับไอเดียการสร้างสรรค์ การท้าทายระบบความคิดแบบเดิมๆ และไม่ศรัทธาในเรื่องราวรักโรแมนติกซึ่งเป็นแก่นหลักที่เพลงของ The Beatles ยึดถือมาโดยตลอด จากบทสัมภาษณ์รวมถึงเรื่องราวต่างๆ จะเห็นได้ว่า John กับ Yoko แทบจะกลืนกินจนเป็นบุคคลคนเดียวกัน ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่อิทธิพลความคิดของ โยโกะ จะแทรกซึมเข้าสู่ จอห์น ผู้เป็นหัวหอกนักแต่งเพลงแห่ง The Beatles เมื่อต่างคนต่างออกแสงหาเส้นทางดนตรีของตัวเอง และนำสิ่งที่ได้กลับมาผสมเข้าด้วยกัน สร้างสรรค์ให้เกิดบทเพลงในนาม The Beatles กลิ่นอายดนตรีของคณะสี่เต่าทองจึงเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน พวกเขาไม่ใช่วงร็อกแอนด์โรลป๊อปอีกต่อไป

 

เริ่มจากอัลบั้ม Revolver (1966) กับแนวทางแบบ Psychedelic Rock ดนตรีร็อกที่เน้นการสร้างบรรยากาศล่องลอย ย้วยย้าย หนืดหนาด สีสันฉูดฉาดและบิดเบี้ยวเกินจริง แน่นอนว่าเป็นจินตภาพเกิดจากการใช้ยาเสพติด ซึ่ง The Beatles ก็เลือกที่จะไม่ปิดบัง และถ่ายทอดออกมาอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งถือเป็นการแหกขนบดนตรีในยุคสมัยนั้นเป็นอย่างมาก เช่นท่อนหนึ่งจากเพลง Tomorrow Never Knows ที่ขับขานไว้ว่า

“Turn off your mind relax and float down stream

It is not dying

It is not dying

Lay down all thoughts, surrender to the void

It is shining

It is shining”

Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band (1967) อัลบั้มถัดจาก Revolver (1966) ยิ่งตอกย้ำข้อเท็จจริงนี้ให้ชัดเจนขึ้น รวมถึงมีความหลากหลายยิ่งขึ้น เพิ่มกลิ่นความเป็น Progressive Rock ลงไป โดยอัลบั้มนี้ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในอัลบั้มที่ดีที่สุดของ The Beatles ประสบความสำเร็จทั้งในแง่ยอดขายและคำวิจารณ์

4 สมาชิก The Beatles และ Yoko Ono

 

ไม่ว่าจะเป็น Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band เพลงร็อกจังหวะหนักหน่วงบาดลึกถึงใจ, She’s Leaving Home เพลงหวานๆ ที่เรียบเรียงเสียงประสานด้วยเครื่องสายออร์เคสตราม Being for the Benefit of Mr. Kite! เพลงสไตล์โชว์ละครสัตว์ Within You Without You เพลงที่ผสมสานดนตรีอินเดียเข้าไป เหล่านี้คือความหลากหลายของแนวเพลงที่แสดงถึงการเติบโตขึ้นของ The Beatles อย่างแท้จริง ต่อเนื่องมาถึง Magical Mystery Tour (1967), The White Album (1968), Yellow Submarine (1969) ที่ยังคงเป็นดนตรีแนวทดลอง มีการใช้ซาวด์เอฟเฟกต์ต่างๆ เช่น เสียงของวงออร์เคสตราที่กำลังเทียบเสียง, เสียงบรรยากาศของคอนเสิร์ต, เสียงร้องของสัตว์ชนิดต่างๆ รวมถึงการนำเสียงนานาชนิดมาตัดต่อวนลูป, เพิ่มความก้องกังวาน, ปรับให้เสียงยาวขึ้นด้วยวิธีการแบบซาวด์คอลลาจ ซึ่งเป็นการสร้างเรื่องราวสร้างจินตนาการด้วยการใช้เสียง ก่อนที่ใน 2 อัลบั้มสุดท้ายอย่าง Abbey Road (1969) และ Let It Be (1970) ที่ราวกับพวกเขาเสร็จสิ้นการทดลอง และกลับสู่ดนตรีร็อกอีกครั้ง แต่มันก็ไม่ใช่ดนตรีร็อกแบบร็อกแอนด์โรลป๊อปเหมือน The Beatles ช่วงต้น แต่เป็นดนตรีร็อกที่หนักหน่วงขึ้น จริงจังขึ้น ทั้งในแง่เนื้อหาและดนตรี

 

The Beatles ยุติบทบาทลงในปี 1970 อย่างไรก็ตามช่วงเวลาเพียงทศวรรษเดียวก็เพียงพอแล้วในการแสดงให้เห็นว่าพวกเขาเติบโตขึ้นแค่ไหน มีวิวัฒนาการอย่างไร ในเส้นทางสายดนตรี

Paul McCartney และ Ringo Starr 2 สมาชิก The Beatles ที่ยังมีชีวิต

 

บทเพลงเหนือกาลเวลา

เมื่อรู้แล้วว่า The Beatles มีวิธีการสร้างสรรค์บทเพลงของพวกเขาอย่างไรในแต่ละช่วงเวลา ก็วนกลับมาที่คำถามตั้งต้นว่า “ทำไมบทเพลงของพวกเขาจึงยังตรึงใจผู้ฟัง ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคสมัย” คำตอบแรกคงเป็นเพราะความเป็น Iconic ที่ถึงแม้บทเพลงของ The Beatles ในช่วงแรกอาจจะฟังดูเรียบง่าย แต่ด้วยความเป็น Iconic ของวงดนตรีคณะนี้ ทำให้ความเรียบง่ายนั้นดูทรงพลังและมีความขลังขึ้นมา นอกจากนั้นถึงแม้เนื้อหาจะเล่าถึงความรักโรแมนติกหวานแหวว แต่ The Beatles ก็เลือกที่จะถ่ายทอดมันออกมาโดยไม่มีการนำปัจจัยด้านห้วงเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง ตัวอย่างเช่นเพลง All My Loving หรือ I Want to Hold Your Hand เพราะไม่ว่าจะยุคสมัยใด ความรักของหนุ่มสาวก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป ยังคงไว้ซึ่งรูปแบบที่ค่อนข้างตายตัว

 

ดังนั้นอาจจะกล่าวได้ว่าสำหรับบทเพลงของ The Beatles ในช่วงแรกยังคงโดดเด่นเหนือกาลเวลาก็เพราะความโด่งดังจนกลายเป็น Iconic ของพวกเขาช่วยให้บทเพลงที่เหมือนจะธรรมดา แต่เปิดฟังเมื่อไรก็ยังตราตรึง ในขณะที่บทเพลงของ The Beatles ตั้งแต่อัลบั้ม Rubber Soul (1965) เป็นต้นไปโดดเด่นด้วยการเป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้น แน่นอนว่า The Beatles ไม่ใช่ผู้คิดค้นแนวดนตรี Psychedelic Rock หรือ Progressive Rock แต่พวกเขานี่แหละคือผู้ทำให้บทเพลงแนวนี้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เป็นผู้ปักธงของดนตรีแนวนี้ลงบนหน้าประวัติศาสตร์วงการดนตรี เช่นการที่เพลง Helter Skelter ได้รับการยกย่องว่าเป็นบทเพลงเฮฟวี่เมทัลเพลงแรกของโลก หรือการที่มีศิลปินมากมายได้รับอิทธิพลจากบทเพลงของ The Beatles เช่น Nirvana, Billy Joel, KISS, หรือแม้กระทั่ง Oasis ดังนั้นต่อให้ไม่ได้เปิดเพลงของ The Beatles ฟัง แต่กลิ่นอายดนตรีแบบฉบับของสี่เต่าทองก็ยังคงโคจรอยู่รอบตัวทุกคน แม้ว่าจะไม่รู้สึกตัวเลยก็ตาม

 

ด้วยเหตุผลเหล่านี้จึงทำให้ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน บทเพลงของ The Beatles ก็ยังคงมีมนต์ขลังชวนให้ผู้ที่ได้ฟังตกสู่ห้วงแห่งความหลงใหล…

WATCH