บทเรียนด้านการทำงานที่ได้จากการชมสารคดี The Beatles: Get Back ที่ทุกคนสามารถนำมาปรับใช้ได้
นอกจากประวัติศาสตร์ด้านดนตรีที่น่าสนใจแล้ว สารคดีเรื่องนี้ยังให้แง่คิดเกี่ยวกับการทำงานที่สามารถใช้ได้จริง
เมื่อฟุตเทจที่ไม่เคยเผยแพร่สู่สาธารณะมาก่อนความยาวกว่า 60 ชั่วโมง รวมถึงบันทึกเสียงอีก 150 ชั่วโมง ในช่วงที่เวลาที่สมาชิก The Beatles มารวมตัวกันเพื่อสร้างสรรค์อัลบั้ม Let It Be มาอยู่ในมือสุดยอดผู้กำกับระดับตำนานอย่าง Peter Jackson ผลลัพธ์ที่ออกมาจึงเป็นสารคดีเรื่องเยี่ยมในชื่อ The Beatles: Get Back สารคดีชุดความยาว 7 ชั่วโมง ที่ออนแอร์ทางแพลตฟอร์ม Disney+ และสามารถโกยคำวิจารณ์ด้านบวกอย่างล้นหลาม หลายสื่อลงความเห็นตรงกันว่า ‘นี่คือสารคดี The Beatles ที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา’
นอกจากความเพลิดเพลินที่ดึงดูดผู้ชมให้รู้สึกใกล้ชิดกับ The Beatles ในมุมที่ไม่เคยเห็นมาก่อนราวกับเป็นสมาชิกอีกคนแล้ว การที่ The Beatles: Get Back มุ่งเน้นเล่าเรื่องในการสร้างสรรค์อัลบั้ม Let It Be ผู้ชมจึงได้รู้ถึงวิธีการทำงานของวงดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล ว่ากว่าที่ผลงานมาสเตอร์พีซจะออกมาให้ได้รับฟังกันนั้น ต้องผ่านขั้นต้อนแบบไหนกันบ้าง เป็นบทเรียนด้านการทำงานแสนล้ำค่า ที่ทุกคนสามารถนำไปปรับใช้ได้
ภาพ: denofgeek
การไม่มีผู้นำย่อมตามมาด้วยความโกลาหลวุ่นวาย
หลังจากที่ Brian Epstein ผู้ค้นพบ The Beatles และเป็นผู้จัดการที่คอยวางแนวทางให้กับวงมาโดยตลอดเสียชีวิตลงในปี 1967 The Beatles ก็เข้าสู่สภาวะ “สุญญากาศผู้นำ” ซึ่งส่งผลต่อการทำงานโดยตรง ยิ่งไปกว่านั้นความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกทั้ง 4 ในช่วงท้ายที่ไม่ค่อยดีนักอยู่แล้วก็ยิ่งแย่ลงไปอีก
ใน The Beatles: Get Back จะเห็นได้ว่าสัปดาห์แรกของการบันทึกเสียงอัลบั้ม Let It Be เต็มไปด้วยความวุ่นวาย และแทบจะไม่สามารถทำงานได้อย่างเป็นชิ้นเป็นอัน John Lennon ซึ่งเป็นหัวหอกนักแต่งเพลงให้กับ The Beatles คู่กับ Paul McCartney มาโดยตลอดรู้สึกหมดไฟ และอยากใช้เวลาร่วมกับคนรักอย่าง Yoko Ono มากกว่า Paul จึงพยายามขึ้นมาเป็นผู้นำของวงอย่างเต็มรูปแบบ
อย่างไรก็ตาม Paul ก็ทำหน้าที่ดังกล่าวได้ไม่ดีนัก เขามีความเผด็จการในตัวมากเกินไป พยายามควบคุมทุกขั้นตอนการทำงานจนสมาชิกคนอื่นรู้สึกอึดอัด โดยเฉพาะ George Harrison ที่ถึงขั้นมีการทะเลาะกันหลายครั้ง เนื่องจากเขารู้สึกว่าความเห็นของเขาไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควรจะเป็น ซึ่งหาก Brian Epstein ยังมีชีวิตอยู่ เหตุการณ์เช่นนี้ก็อาจไม่เกิดขึ้น
“สิ่งที่ 'Get Back' แสดงให้เห็นคือกลุ่มที่ไร้ผู้นำส่งผลโดยตรงแง่ของประสิทธิภาพการทำงาน ผมคิดว่าการตายของ Epstein เป็นตัวเร่งการล่มสลายของ The Beatles ที่ชัดเจน” Bobby Hoffman รองศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย Central Florida ผู้คลั่งไคล้ The Beatles แสดงความเห็น
ภาพ: paayya
งานไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบตั้งแต่แรก
The Beatles เป็นวงที่รวมอัจฉริยะด้านดนตรีมาอยู่ด้วยกัน ดังนั้นแฟนๆ จึงอาจคิดไปว่าการที่พวกเขาสร้างสรรค์บทเพลงแต่ละเพลงนั้นไม่น่าจะใช่เรื่องยากเท่าไรนัก แต่สิ่งที่ได้เห็นจาก The Beatles: Get Back คือกว่าที่อัลบั้ม Let It Be จะเป็นรูปเป็นร่าง มันก็เริ่มต้นมาจากการคิดไม่ออก ไม่รู้จะทำอย่างไร เช่นเดียวกับคนทำงานทุกคน
เพลงระดับมาสเตอร์พีซอย่าง I Got a Feeling ก็เริ่มจากการคิดจังหวะที่กระท่อนแท่น ที่ไม่ได้ใกล้เคียงกับการจะกลายเป็นเพลงดังเลยแม้แต่น้อย หรือแม้แต่ George Harrison อีกหนึ่งอัจฉริยะด้านการแต่งเพลง แต่กว่าที่เขาจะเขียนเพลง Something เสร็จสมบูรณ์และกลายเป็นตำนาน มันก็เริ่มมาจากการที่เขาพยายามคลำหาคำศัพท์ซ้ำไปซ้ำมา เพื่อจะได้ศัพท์ที่เหมาะสมลงตัวที่สุด
ดังนั้นไม่ว่างานที่ออกมาจะยอดเยี่ยมสมบูรณ์แบบขนาดไหน จุดเริ่มต้นของมันก็ไม่ได้สวยงามเสมอ แต่มันต้องค่อยๆ ขัดเกลาที่ละนิด ให้งานที่ดูไม่จืดค่อยๆ ส่องประกายออกมาทีละน้อย
WATCH
ภาพ: Oregon Live
อย่างมองข้ามความเห็นสมาชิกในทีม
George Harrison คือนักแต่งเพลงอัจฉริยะ บทเพลง Here Comes the Sun, Something, และการที่ All Things Must Pass อัลบั้มเดี่ยวของเขาหลังจากที่ The Beatles แยกทางกันประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลาย อีกทั้งยังได้รับคำชื่นชมล้นหลามจากนักวิจารณ์คือบทพิสูจน์ที่ชัดเจน
อย่างไรก็ตามในขณะที่เป็นสมาชิก The Beatles บทบาทในวงทำให้ George Harrison กลับไม่ได้เปล่งประกายเท่าที่ควร ความคิดเห็นของเขามักจะถูกมองข้ามเสมอ โดยเฉพาะจาก Paul McCartney ส่งผลให้เกิดการทะเลาะกันหลายครั้ง
“แม้ว่าในเวลาต่อมา Paul จะเคารพงานของ George แต่ในขณะที่อยู่ใน The Beatles Paul ทำเหมือนกับว่า George เป็นน้องชายคนเล็ก” Will Hines พิธีกรรายการ Screw It, We’re Just Gonna Talk About the Beatles แสดงความเห็น สิ่งนี้ส่งผลโดยตรงให้ George รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ จนอยากแยกทางกับ The Beatles ซึ่งหากย้อนเวลากลับไป และ Paul รับฟัง George มากก
ภาพ: Biography
ถ้าไอเดียถึงทางตัน คนนอกอาจจะมอบไอเดียที่ไม่คาดฝันให้
ในขณะที่การบันทึกเสียง Let It Be ยังไม่คืบหน้าเท่าไรนัก สวนทางกับสมาชิก The Beatles ที่เริ่มรู้สึกเหนื่อยล้า ไอเดียตีบตันไม่รู้ว่าควรจะทำอย่างไรต่อไป แต่แล้วโชคชะตาก็บันดาลอัศวินขี่ม้าขาวมาให้ เขาคนนั้นคือ Billy Preston นักเปียโนอัจฉริยะที่เคยร่วมงานกับศิลปินระดับตำนานอย่าง Little Richards มาแล้ว
Billy Preston เป็นเพื่อนกับ George Harrison และได้แวะมาที่สตูดิโอที่ The Beatles กำลังบันทึกเสียงอยู่โดยบังเอิญ ทันใดนั้นเองเหล่าสี่เต่าทองก็คิดได้ทันทีว่าหากได้เสียงเปียโนของ Billy Preston เข้ามาเป็นส่วนผสม จะทำให้เพลงในอัลบั้ม Let It Be สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น
“คุณช่วยเราได้มากจริงๆ Bill” Paul McCartney กล่าว
WATCH