thai music industry
LIFESTYLE

สำรวจอุตสาหกรรมดนตรีไทยยุคปัจจุบัน พร้อมคาดการณ์อนาคตแนวเพลงไทยจะเป็นอย่างไรต่อ...

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแวดวงดนตรีไทยสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม กล่าวคือแนวเพลงที่มีความแปลกใหม่และเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ดีมักจะเป็นที่นิยมมากกว่า ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ส่วนแนวเพลงดั้งเดิมหรือแนวที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับยุคสมัยใหม่ได้ความนิยมก็จะค่อยๆ ลดลง

เรื่อง: Sarid Noomahan 

 

     วงการดนตรีไทยนั้นมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอยู่เป็นช่วงๆ มีแนวเพลงเกิดขึ้นมากมายหลากหลาย รวมถึงกลุ่มผู้ฟังด้วย แต่ทุกแนวก็มีวาระของมัน ได้รับความนิยมแล้วก็เสื่อมความนิยมไปตามกาล Music Issue ฉบับนี้โว้กจะพาไปสำรวจกระแสดนตรีบ้านเรากันว่าช่วงนี้เป็นอย่างไร และในอนาคตมีแนวโน้มจะไปในทิศทางไหน

     T-Pop

     แนวเพลงที่ได้รับความนิยมอย่างมากและต่อเนื่องมาหลายปี เรียกว่ายึดครองทุกแพลตฟอร์มก็ว่าได้ ดนตรีป๊อปไทยมีจังหวะสนุกสนาน เนื้อหาเชื่อมโยงกับคนรุ่นใหม่ยุคนี้ซึ่งเป็นเจนวายและเจนซี เพลงส่วนใหญ่ผลิตออกมาให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายหลักกลุ่มนี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมดนตรีประเภทนี้ถึงขึ้นมาเป็นกระแสหลักได้ง่ายดาย ยุคนี้เป็นยุคที่ดนตรีป๊อปไทยเฟื่องฟูมาก เห็นได้จากมีการปั้นศิลปินขึ้นมาให้เติบโตในวงการไม่ขาดสายและเป็นไอดอลของเด็กยุคนี้ด้วย

     Hip-Hop & Rap

     แนวเพลงฮิปฮอปและแรปยังคงเป็นเทรนด์ที่มาแรง อาจจะแผ่วไปบ้างก็เล็กน้อย ตัวศิลปินเองก็มักจะมีวิธีการกระตุ้นกระแสให้ต่อเนื่องสร้างความแปลกใจอยู่เสมอ โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่ เพลงเหล่านี้มักมีเนื้อหาสะท้อนความจริงในชีวิตประจำวันและความรู้สึกของคนรุ่นใหม่ที่ขี้เล่น ช่างเย้าแหย่ แซวหรือแซะเพื่อให้เกิดรสชาติในการฟัง สร้างความสนุก สร้างรอยยิ้ม จนพากันร้องตามในหมู่เพื่อนฝูง

     Indie Pop

     เพลงอินดี้ได้รับความนิยมมากขึ้นหลังจากผ่านการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์มาตั้งแต่ช่วงบุกเบิกยุค 2000 ต้นๆ โดยค่ายเพลง Smallroom และศิลปินอิสระ คำว่า “Indie” มาจากคำว่า “Independent” คือการสร้างสรรค์บทเพลงที่เป็นอิสระ นอกกรอบและแหกกฎเกณฑ์ แตกต่างไปจากเพลงในกระแสหลัก เหมาะกับกลุ่มผู้ฟังที่ต้องการความแปลกใหม่และแตกต่าง แม้ศิลปินแนวนี้จะไม่ได้ดังเปรี้ยงปร้าง แต่ก็แทรกตัวอยู่ในกระแสหลักมานาน และมีแฟนคลับที่เหนียวแน่น

     ลูกทุ่งแนวใหม่

     แม้ว่าเพลงลูกทุ่งจะเป็นแนวเพลงดั้งเดิม แต่ก็มีการปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยโดยผสมผสานกับแนวเพลงป๊อปหรือฮิปฮอปเข้าไปเพื่อให้เกิดสิ่งใหม่และเข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น ศิลปินกลุ่มนี้สามารถทำรายได้สูงกว่าแนวเพลงอื่นๆ ด้วย

     EDM

     แนวเพลง Electronic Dance Music นี้ยังคงเป็นที่นิยมในงานเทศกาลและปาร์ตี้ต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบการเต้น แฮงเอาต์ ปาร์ตี้ และความสนุกสนาน อย่างงานเทศกาลดนตรี Road to Ultra Thailand หรือเทศกาลสงกรานต์อย่าง S2O เองก็สามารถดึงดูดผู้ฟังจำนวนมาก บัตรขายหมดทุกรอบ แต่สิ่งที่น่าแปลกใจคือกระแสเพลงประเภทนี้กลับเริ่มซบเซาในช่องทาง Streaming ยอดผู้ฟังลดลงไปอย่างน่าใจหาย หลายวงก็ยุบไปบ้าง บางวงก็เปลี่ยนแนวทางไปเป็น Electronic Pop และเล่นตามงานมิวสิกเฟสติวัล ซึ่งน่าจะเหมาะกับดนตรีแนวนี้มากกว่า

     Rock

     ในอดีตเพลงร็อกเป็นแนวเพลงที่ได้รับความนิยมอย่างมาก แต่ปัจจุบันความนิยมเริ่มลดลงเนื่องจากมีเพลงแนวใหม่ๆ เข้ามาแทน ประกอบกับรสนิยมการฟังเพลงที่เปลี่ยนไป คนยุคนี้ส่วนใหญ่ชอบเพลงฟังง่าย สบายๆ เสียงนุ่มนวลชวนให้หลงใหล ไม่ค่อยชอบเพลงที่เสียงดังมากเกินไป ต้องรอดูกันต่อไปว่ายุคสมัยของดนตรีร็อกจะดำเนินต่อไปหรือหยุดอยู่แค่ตรงนี้  

     การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแวดวงดนตรีไทยสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม กล่าวคือแนวเพลงที่มีความแปลกใหม่และเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ดีมักจะเป็นที่นิยมมากกว่า ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ส่วนแนวเพลงดั้งเดิมหรือแนวที่ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับยุคสมัยใหม่ได้ความนิยมก็จะค่อยๆ ลดลง แต่โลกของดนตรีนั้นก็ยังมีอีกหลายมิติให้ค้นหา ยกตัวอย่างแนวดนตรี Experimental ที่คนกลุ่มหนึ่งพยายามคิดค้นสรรค์สร้างแนวทางใหม่ๆ มีการลองผิดลองถูก แม้ว่าโลกดนตรีของพวกเขาอาจจะเล็กจนคนส่วนใหญ่มองไม่เห็น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าดนตรีแนวนี้สามารถช่วยปลดปล่อยอารมณ์และจินตนาการของผู้ฟังได้อย่างน่าอัศจรรย์ แถมยังกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ด้วย นอกจากนี้ยังมีแนวดนตรีประเภท Emotional อย่างเช่น Instrumental, Post Rock, Shoegaze, Psychedelic, Electronic Art และอีกหลากหลายแนวที่ค่อยๆ เริ่มผลิบานแตกหน่อออกผล สร้างสีสันใหม่ๆ ให้วงการดนตรีไม่จำเจ

ภาพ : สุดเขต จิ้วพานิช, ธนนนท์ ธนากรกานต์, Koonn Phattchakhun, Parkpuvin Thanachaibunyasil และ นาทนาม ไวยหงษ์

WATCH